คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาวอยู่พราวพราย


คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาวอยู่พราวพราย


 

"Two men look out the same prison bars, one sees mud and the other stars"

Frederick Langbridge

"สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย"

เฟรเดริก แลงบริดจ์

 

ทุกวันนี้คงจะไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาดอีกต่อไปแล้ว ที่ว่าคนเรามีความเห็นแตกต่างกัน เหลืออีกอย่างที่ยังทำใจไม่ได้ก็คือ "ก็แล้วทำไม เอ็งไม่เปลี่ยนใจมาเห็นเหมือนข้า" เท่านั้นเอง ที่เป็นปัญหา (สำคัญคนบางคน)

คนเราเห็นความต่างเป็นปัญหา แต่ที่จริงมนุษย์ถูกออกแบบมาให้ต่างกัน เพื่อเสริมขยายศักยภาพของเผ่าพันธุ์ให้กว้างออกไปต่างหาก และความที่เราเป็นสัตว์สังคม เราสามารถหยิบยืมอะไรที่เราไม่มีมาจากคนรอบๆข้าง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันเราก็ให้คนรอบๆข้างหยิบยืมสิ่งที่เรามีแต่เขาไม่มี เอาไปทำให้เขามีความสุขเหมือนกัน

ถ้าเราเห็น "ความรุ่มรวย" เป็น "ความยากจน" นั่นคงจะก่อให้เกิดปัญหาแน่นอน

อันนี้ไม่เหมือนกับไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหาร แม้นอยู่ท่ามกลางเพชรพลอย แต่หินมีค่าเหล่านี้ (ต่อมนุษย์) ก็หาได้มีประโยชน์เท่าเมล็ดข้าวเปลือกแม้เพียงเมล็ดเดียวไม่ แต่จะเหมือนกับในคำพังเพยเบื้องต้นมากกว่าที่ว่า "สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย" คือคนเหมือนกัน มองไปทางช่องเดียวกัน แต่ "เลือก" ที่จะเห็นคนละอย่าง และก่อให้เกิดความทุกข์ ความสุข พฤติกรรมที่แตกต่างกัน

มนุษย์มีสิ่งที่พอจะประมาณเป็น "ความสามารถพิเศษ" คือการเลือกที่จะรับรู้ เลือกที่จะรู้สึก และเลือกที่จะตีความ เราไม่ได้ใช้เหตุการณ์ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตและรับรู้จนหมด หากแต่เรา "กรอง" คัดเลือกรับมาก่อน การกรองนี้เกิดขึ้นเร็วมาก จนเกือบจะไม่รู้สติก็ทำได้ ไม่เพียงแค่นั้นหลังจากกรอง เรายังทำอีกขั้นตอน คือเอาเรื่องที่เรา "เลือก" มาแล้ว (รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) เอามาสร้างเป็นพล็อต เป็นเนื้อเรื่อง เรื่องราว และสิ่งที่แปลผลเสร็จ ก็จะหล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของ new-เรา มีผลต่อพฤติกรรม คำพูด ความคิด ทั้งหมดเลย

ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งอยู่ใน office อาจจะมีเสียงแอร์ เสียงพิมพ์ดีด เสียงคนคุยกันเบาๆ ฯลฯ แต่เราอาจจะเลือกที่จะฟังเฉพาะเสียงเพลงจาก iPad ฟังเฉพาะเสียงซุบซิบนินทาทันทีที่มีชื่อคนที่เราสนใจผุดขึ้นมา นั่นก็จะนำไปสู่การกระทำ พฤติกรรมต่อๆไป

แต่หากเราเปลี่ยนใจ เปิดสวิทช์ฟังเสียงแอร์ ฟังไปฟังมา พบว่าท่อแอร๋รั่ว ต้องตามช่างมาซ่อม งานก็เลิกทำ ต้องกลับบ้านหรือไปทำอะไรอย่างอื่นแทน การจะเลือกฟังแล้วได้ยินแต่เสียงเพลง หรือยังได้ยินเสียงอื่นๆมากน้อยแค่ไหน เราเองเป็นผู้ควบคุมได้

คำ "พอเพียง" ง่ายๆนี่ไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน ไม่เพียงแต่แยกแยะไม่เหมือนกัน ของที่ควรต่างกันเป็นตรงกันข้ามก็กลับกลายเป็นแยกไม่ได้ก็มี เช่น บางคนเห็นของดี มีบารมี มีคุณานุประโยชน์อย่างยิ่งก็กลายเป็นของเชย ของโบราณ ทำให้ไม่เทียบเท่าต่างชาติ (จะ "เท่า" ไปทำไม?)

หรือจะขอให้เห็นต่างไว้ก่อน จะได้ดูเท่ห์ แต่ว่ามนุษย์นั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อความเท่ห์ จนต้องกระเสือกกระสนทำตัวเรียกร้องความสนใจอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยในเรื่องนี้ ก็คือการขาดการศึกษาที่ดี เรียนให้รู้แต่ไม่ได้เรียนให้เฉลียว เจอของใหม่ก็เอาแต่ลอกเลียนแบบ ไม่มีการปรับปรุงพัฒนาและหล่อหลอมดึงเอาข้อดีเข้า กรองเอาของเสียออก

คนเราทุกคนมี "ลูกกรง" คุมขังอยู่กันทั้งนั้น นั่นคือ "กรอบ" ความคิด ส่งผลไปยังการพูด การอ่าน การกระทำ บ้างก็มีข้อจำกัดด้านภาษา ด้านวัฒนธรรม แต่กรอบที่สำคัญึคืออัตตา และตัวล่อที่สำคัญคือ "อวิชชา" ต่างๆ ไม่ทราบว่าที่เรามีในปัจจุบันนี่้ก็เพราะมีอดีตเช่นนั้น และที่เราจะได้มาในอนาคตก็ต้องขึ้นกับปัจจุบันตอนนี้ด้วย แต่ถึงแม้มีกรอบครอบอยู่ คนหนึ่งก็ยังเลือกที่จะเห็น จะรับรู้ได้ จะเลือกเอาโคลนตมก็ได้ จะเลือกเอาดวงดาวก็ได้ แต่คงจะเกิดแรงบันดาลใจไปคนละขนานกัน

คำสำคัญ (Tags): #สองคนยลตามช่อง
หมายเลขบันทึก: 476362เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Attention และ Memory จะต่ำลงไปเรื่อยๆ ค่ะ ถ้าไม่ได้พัฒนาทักษะ สุ จิ ปุ ลิ เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีมาและกำลังจะเข้ามาจะดึง Attention ของผู้ใช้ไปอยู่ตลอดเวลาค่ะ

ต้องระวังมากๆ ค่ะ หากไม่ร่วมกันสร้างความเข้าใจในเด็กไทยในการใช้เทคโนโลยีอย่างมี discipline เด็กไทยจะกลายเป็นเด็กสมาธิสั้นความจำสั้นไปหมดค่ะอาจารย์

Devices ในปัจจุบัน มันต้องการแค่ input. แล้วคำตอบก็จะไหลออกมาเอง

ก็ไม่แปลกอะไรที่เด็กๆ (หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่) จะไม่รู้จักคำ "โยนิโสมนสิการ" และขาดทักษะในการพิเคราะห์เรื่องราวหลายๆมุมมอง มองมายังไงก็เห็นแต่มุมนั้น ก็เลยไม่เข้าใจเวลามีคนเห็นไม่ตรงกัน ข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า บังคับม้าขึ้นต้นไม้ให้จงได้

ชอบคะ.....ถือเป็นข้อคิดเตือนใจ

และนำบทความนี้ไว้อบรมสั่งสอนลูกหลานได้เ็นอย่างมากเลยคะ

และเข้าใจว่าคนเราจะมองว่าเป็นโคลนตมหรือดวงดาวนั้น อยู่ที่ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เขาได้รับ เลยไม่ถือโทษโกรธคนที่มองต่างจากเรา และน่าเสียดายหากเราหวังดีแต่เขากลับมองร้าย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท