ศูนย์สาธิตปุ๋ยหมักชีวภาพ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14


การจัดการขยะอินทรีย์ประเภทเศษพืช ใบไม้ กิ่งไม้ขนาดเล็ก

1. ที่มา

            สืบเนื่องจากกลุ่มงานแผนสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนารูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นและสภาพท้องที่ หรือพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับท้องถิ่น กลุ่มงานแผนสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการศูนย์สาธิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อจัดการขยะอินทรีย์ภายในบ้านพักราชการและบริเวณสำนักงาน ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ประเภทใบไม้ เศษหญ้า กิ่งไม้ขนาดเล็ก และขยะอินทรีย์ทีไม่เหมาะสมสำหรับการกำจัดโดยไส้เดือนดินและการทำน้ำหมักชีวภาพ

            โดยการดำเนินการศูนย์สาธิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานในการให้คำปรึกษาและเสนอแนะทางวิชาการ ในการจัดการขยะอินทรีย์ให้กับชุมชนและหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้อง

            การจัดทำศูนย์สาธิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นการดำเนินงานการจัดการขยะอินทรีย์ภายในสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ที่ต่อเนื่องจากการแปรรูปขยะอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือนดิน การแปรรูปขยะอินทรีย์โดยการทำน้ำหมักชีวภาพ และการจัดการขยะอินทรีย์ประเภทเศษไม้กิ่งไม้ขนาดเล็กโดยการเผาด้วยเตาเผาถ่านต้นแบบของกระทรวงพลังงาน เพื่อผลิตถ่านไม้ และน้ำส้มควันไม้

2. วัสดุ อุปกรณ์

            2.1 การทำซองปุ๋ย ได้แก่ อิฐบล็อกประสาน วว. เนื่องจากมีความคงทน และจัดเรียงเป็นซองได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปูนซีเมนต์ และมีความสะดวกหากมีการย้ายสถานที่ดำเนินการ

            2.2 การหมักปุ๋ย ได้แก่ พลั่ว จอบ บุ้งกี๋ บัวรดน้ำ รองเท้าบู๊ต มูลวัว เศษพืช

            2.3 การเร่งการย่อยสลาย ได้แก่ ท่อพีวีซีเจาะรูระบายอากาศ น้ำหมักชีวภาพ

3. การดำเนินงาน

3.1 การเลือกพื้นที่

            การเลือกพื้นที่ บริเวณที่จะตั้งกองปุ๋ยควรเป็นที่ๆ น้ำไม่ท่วม แต่ก็อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้รดกองปุ๋ยพอสมควร และควรเป็นบริเวณ ที่สามารถขนย้ายเศษพืชมาใช้หมักได้ง่าย รวมทั้งเอาปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้วไปใช้ได้สะดวก บริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้ปรับให้เรียบไม่เป็นแอ่งให้น้ำขังได้

3.2 การก่อสร้างซองปุ๋ยหมัก

            ขนาดที่เหมาะสมของซองปุ๋ยหมัก มีหลายขนาด ซึ่งขึ้นกับพื้นที่ในการทำซองปุ๋ยหมักด้วย สำหรับศูนย์สาธิตปุ๋ยหมักชีวภาพ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 กำหนดขนาดของซองปุ๋ยหมัก กว้าง 2 ม. ยาว 3 ม. และสูง 0.7 ม. โดยเจ้าหน้าที่ สสภ.14 ช่วยกันสร้างซองปุ๋ยโดยเรียงก้อนอิฐบล็อกประสาน วว. แถวเดียว จำนวน 7 ชั้น ก่อสร้างซองปุ๋ยจำนวน 2 ซอง โดยใช้ผนังกลางร่วมกัน ใช้ก้อนอิฐไปทั้งสินจำนวน  378  ก้อน

3.3 การขึ้นกองปุ๋ยหมัก

     1) บริเวณที่ทำซองปุ๋ยเป็นจุดกองปุ๋ยหมักเก่าของสำนักงานฯ เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ได้ช่วยกันโกยปุ๋ยหมักเข้าซองปุ๋ยที่ก่อสร้างเสร็จ โดยนำท่อพีวีซีขนาด 2.5 นิ้ว ความยาว 3 เมตร ที่เจาะรูระบายอากาศแล้ว มาวางที่พื้น จำนวน 2 ท่อน ห่างกันประมาณ 1 เมตร จากนั้นจึงโกยเศษพืชใส่ในซองปุ๋ยหมัก โดยเกลี่ยให้เสมอ มีความหนาประมาณ 6-8 นิ้ว

     2) โรยมูลวัวให้ทั่ว โดยใช้มูลวัว 1 บุ้งกี้ ต่อพื้นที่ 1 - 2 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้มูลวัวเข้ากับเศษพืช และรดน้ำหมักชีวภาพเพื่อช่วยการย่อยสลายให้เร็วขึ้น และรดน้ำให้ทั่วกองปุ๋ยหมักโดยให้มีความชื้นประมาณ 60%

     3) การขึ้นกองปุ๋ยชั้นที่สอง ทำการโกยเศษพืชทับชั้นแรกให้มีความหนาประมาณ 6-8 นิ้ว และทำตามขั้นตอนในข้อที่ 2)

     4) ปักท่อพีวีซีขนาด 2.5 นิ้ว ความยาว 1 เมตร ที่เจาะรูระบายอากาศแล้ว จำนวน 2 ท่อน ห่างกันประมาณ 1 เมตร ลงที่กลางกองปุ๋ยหมักเพื่อช่วยระบายอากาศ

4. การปฏิบัติดูแล

     4.1 รดน้ำ หมั่นตรวจตราคอยรดน้ำกองปุ๋ยอยู่เสมอ อย่าให้กองปุ๋ย แห้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 วัน หลังจากเริ่มตั้งกอง เศษพืชบางส่วน อาจจะยังค่อนข้างแห้ง อาจต้องรดน้ำให้เศษพืชเปียกชื้นอย่างทั่วถึงกัน เสียก่อน จากนั้น จึงค่อยตรวจตราเป็นระยะๆ แต่ก็ต้องระวังอย่ารดน้ำจนแฉะ เกินไป (ความชื้นประมาณ 50-60 %)

     4.2 การกลับกองปุ๋ย หลังจากตั้งกองปุ๋ยหมักแล้ว ต้องทำการกลับ กองปุ๋ยหมักอยู่เสมอ ยิ่งกลับกองบ่อยครั้งจะยิ่งเร่งให้เศษพืชแปรสภาพไปเป็น ปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น อย่างน้อยที่สุดควรได้กลับกองปุ๋ยสัก 3 4 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อ ประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มตั้งกองปุ๋ย ครั้งที่สองก็ประมาณ 15 วัน หลังจาก กลับกองครั้งแรก ต่อไปก็กลับกองทุกๆ 20 วัน จนเศษพืชแปรสภาพไปเป็น ปุ๋ยหมักทั้งกอง

     4.3 ถ้าฝนตกชุก ต้องระวังอย่าให้กองปุ๋ยเปียกแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศษพืชย่อยสลายไปมากแล้ว ควรพูนด้านบนของกองให้โค้งนูน และหาวัสดุคลุมไว้บ้าง ไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าในกองปุ๋ยมากเกินไป

     4.4 เมื่อหมักไปได้ซักระยะจะมีสัตว์ที่เป็นผู้ย่อยสลายเข้ามาช่วยย่อย เช่น ไส้เดือนดิน กิ้งกือ ด้วงกว่าง เป็นต้น ทำให้กระบวนการในการย่อยสลายเร็วขึ้น

5. การเก็บรักษา

     หลังจากหมักเศษพืชไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ความร้อนภายในกองปุ๋ยจะค่อยๆ ลดลง เศษพืชก็เปื่อยยุ่ย สีคล้ำขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดกองปุ๋ยก็เย็นตัวลงเศษพืชก็แปรสภาพไปกลายเป็นปุ๋ยหมักที่มีเนื้อปุ๋ยร่วนๆ เป็นขุย ยุ่ย นุ่มมือ สีน้ำตาลเข้ม ไม่มีกลิ่นเหม็นระยะเวลาตั้งแต่ เริ่มตั้งกองจนถึงระยะที่กองปุ๋ยไม่ร้อนสามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัยนี้ ใช้เวลาประมาณสองเดือนครึ่งถึงสามเดือนครึ่ง อาจเร็วหรือช้าไปกว่านี้บ้าง ถ้ายังไม่นำปุ๋ยหมักนี้ไปใช้ทันทีควรเก็บรักษาไว้ไนที่ร่ม มีหลังคากันแดดกันฝน หรือหาวัสดุคลุมไว้ไม่ให้ถูกฝนชะ ควรรักษาให้กองปุ๋ยชื้นและอัดกองปุ๋ยให้แน่น

6. วิธีการใช้ปุ๋ยหมัก

     6.1 การใช้ปุ๋ยหมัก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงสภาพของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ถ้าจะให้ผลดีควรใส่ในปริมาณที่มากเพียงพอและใส่อย่างสม่ำเสมอทุกปี ในเนื้อของปุ๋ยหมักแม้ว่าจะมีธาตุอาหารพืชอยู่แต่ก็มีไม่มากเหมือนกับปุ๋ยเคมี ดังนั้นถ้าต้องการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการเพิ่มเติมธาตุอาหารพืชลงไปจึงควรใส่ปุ๋ยเคมีร่วมไปกับการใส่ปุ๋ยหมักด้วยจะให้ผลดีที่สุด ทั้งนี้ปุ๋ยหมักไม่เพียงแต่จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาจำนวนหนึ่งเท่านั้น ยังมีบทบาทสำคัญช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อัตราการใส่ปุ๋ยหมักในดินแต่ละแห่งก็แตกต่างกันไป แล้วแต่สภาพของดินและชนิดของพืชที่ปลูก ถ้าดินเป็นดินที่เสื่อมโทรมมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หรือดินที่มีเนื้อดินเป็นดินทรายจัด ก็ควรต้องใส่ปุ๋ยหมักให้มากกว่าปกติ ปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วจัดเป็นปุ๋ยที่สามารถใส่ให้กับพืชในปริมาณมากๆ ได้โดยไม่เกิดอันตราย ดังนั้นถ้าผลิตปุ๋ยหมักได้มากพอแล้ว เราสามารถใส่ลงไปในดินให้มากเท่าที่ต้องการได้ แด่ก็ไม่ควรใส่มากเกินอัตราปีละ 20 ตันต่อไร่ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อดินได้

     6.2 การใช้ปุ๋ยหมักกับพืชผัก พืชผักส่วนใหญ่เป็นพืชที่มีระบบราก แบบรากฝอย รากสั้นอยู่ตื้นๆ ใกล้ผิวดิน การใส่ปุ๋ยหมักจะมีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้ดินร่วนซุยขึ้น ทำให้รากของพืชผักเจริญเติบโตได้รวดเร็ว แตกแขนงแพร่กระจายไปได้มาก มีระบบรากที่สมบูรณ์ ทำให้สามารถดูดซับ แร่ธาตุอาหารได้รวดเร็ว ทนต่อการแห้งแล้งได้ดีขึ้น วิธีการใส่ปุ๋ยหมักใน แปลงผักอาจใช้วิธีโรยปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุมแปลงให้หนาประมาณ 1-3 นิ้ว ใช้จอบสับผสมคลุกเคล้าลงไปในดินให้ลึกประมาณ 4 นิ้ว หรือลึกกว่านี้ ถ้าเป็นพืชที่ลงหัวพืชผักเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว ต้องการแร่ธาตุอาหารจาก ดินเป็นปริมาณมาก ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ถ้าจะให้ผลผลิตที่ดีควรใส่ปุ๋ยเคมี ร่วมไปกับการใส่ปุ๋ยหมักด้วย

     6.3 การใช้ปุ๋ยหมักกับไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เป็นพวกที่มีระบบรากลึก การเตรียมดินในหลุมปลูกให้ดีจะมีผลต่อระบบรากและการเจริญตั้งตัวของต้นไม้ในช่วงแรกเป็นอย่างมาก ในการเตรียมหลุมปลูกควร ขุดหลุมให้ลึก แล้วใช้ปุ๋ยหมักผสมคลุกเคล้ากับดินที่ขุดจากหลุมในอัดราส่วน ดิน 2-3 ส่วน กับปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ใส่กลับลงไปในหลุมเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ ต่อไป

     การใส่ปุ๋ยหมักสำหรับไม้ผลที่เจริญเติบโตแล้วอาจทำโดยการพรวน ดินรอบๆ ต้น ห่างจากโคนต้นประมาณ 2-3 ฟุต ออกไปจนถึงนอกทรงพุ่มของ ต้นประมาณ 1 ฟุต พรวนดินให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว โรยปุ๋ยหมักให้หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือมากกว่า ใช้จอบผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน แล้วรดน้ำหรือจะใช้ วิธีขุดร่องรอบๆ ทรงพุ่มของต้นให้ลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร แล้วใส่ปุ๋ย หมักลงไปในร่องประมาณ 40-50 กิโลกรัมต่อต้น ใช้ดินกลบแล้วรดน้ำ ถ้าจะ ใส่ปุ๋ยเคมีด้วยก็ผสมปุ๋ยเคมีคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักให้ดีแล้วใส่ลงไปพร้อมกัน การใส่ปุ๋ยหมักตามวิธีดังกล่าวมานี้ เป็นการใส่ปีละครั้ง และเมื่อต้นไม้ มีขนาดโตขึ้นก็ควรเพิ่มปริมาณปุ๋ยหมักตามขนาดของต้นไม้ด้วย

 

     6.4 การใส่ปุ๋ยหมักกับพืชไร่ หรือนาข้าว ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง แนะนำให้ใส่ปุ๋ยหมักในอัดราอย่างน้อยปีละ 1.5-2.5 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลงแล้วไถหรือคราดกลบก่อนการปลูกพืช ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือผืนดินเสื่อมโทรม อาจต้องใส่ปุ๋ยหมักในอัตราที่มากกว่านี้ เช่นปีละ 2-3 ตันต่อไร่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและปริมาณการผลิตปุ๋ยหมัก พื้นที่ใช้ปลูกพืชไร่ หรือทำนาเป็นพื้นที่กว้าง ปริมาณปุ๋ยหมักที่ใส่ลงไปในแต่ละปีอาจไม่เพียงพอ ถ้าดินนั้นไม่อุดมสมบูรณ์การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินควรต้องใช้ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี หรือการจัดการดินวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นต้น

     6.5 การใช้ปุ๋ยหมักกับพืชอื่นๆ นอกจากจะใช้กับพวกพืชไร่ พืชสวน ดังกล่าวมาแล้ว ปุ๋ยหมักยังสามารถใช้กับพวกไม้ดอกไม้ประดับได้เป็นอย่างดี ถ้าปลูกเป็นแปลงใช้อัตราเดียวกันกับที่ใช้ในแปลงผัก คือโรยปุ๋ยหมักคลุม แปลงให้หนาประมาณ 1-3 นิ้ว แล้วใช้จอบสับผสมลงไปในดินให้ลึก ประมาณ 4 นิ้ว

     6.6 การใช้ทำวัสดุปลูกสำหรับไม้กระถาง ใช้ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ผสม กับดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ 2 ส่วน ถ้าผสมปุ๋ยหมักในอัตราส่วนมากๆ วัสดุปลูก มักจะแห้งเร็วเกินไป และมีปัญหาเรื่องวัสดุปลูกยุบตัวมาก

     6.7 การเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดหรือปลูกต้นกล้า ใช้อัตราส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน แกลบ 1 ส่วน และดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ 2 ส่วน ถ้าใช้เพาะเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็กๆ ก็ใช้เมล็ดโรยหรือวางบนวัสดุเพาะดังกล่าว จากนั้นใช้ ปุ๋ยหมักโรยบางๆ ทับลงไปแล้วรดน้ำ

หมายเลขบันทึก: 476213เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชุมชนนี้ก็ยังแจ๋วเหมือนเดิม ไม่เคยต้องให้ทวงถาม รอบหน้าคงได้เห็นการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมักที่ได้ กับแปลงผักของเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท