การศึกษาไทยวันนี้


การศึกษาไทยในวันนี้


วิจารณ์ พานิช
……………………..

 

          ในภาพรวม การศึกษาไทยอยู่ในสภาพท้าทายคนไทยทั้งประเทศ ว่าจะช่วยกันฟื้นฟูสภาพที่ตกต่ำของ ผลลัพธ์ทางการศึกษาของเยาวชนไทยอย่างไร   หลักฐานของสภาพตกต่ำอยู่ที่ผลลัพธ์ทางการศึกษา   ที่ชัดเจน อย่างยิ่งยืนยันโดยผลการทดสอบ PISA ที่เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก   ผลการทดสอบเด็กไทยอยู่ในกลุ่ม ต่ำสุดทุกวิชา ในทุกๆ ๓ ปีที่มีการทดสอบ 

          การฟื้นฟูระบบการศึกษาของชาติต้องเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าเข้ามา ร่วมกันฟื้นฟู   การศึกษามีความสำคัญเกินไปที่จะปล่อยไว้ในความรับผิดชอบของนักการศึกษาและนักการเมือง เท่านั้น   ทุกคนต้องเข้าไปร่วมกันรับผิดชอบ   เพราะการศึกษาในวันนี้ต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ในการ ดำเนินการ   หลักวิชาด้านการศึกษาสมัยก่อนใช้ไม่ได้อีกต่อไป   เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของเทคโนโลยีเพื่อการ เรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงของคน

          การศึกษายุคใหม่จึงได้ชื่อว่า การเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งมีความหมายว่า แตกต่างจากการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ อย่างสิ้นเชิง   วิธีการหลายอย่างที่เคยใช้ได้ผลดีถือเป็นวิธีการที่ล้าสมัย เช่นการสอนแบบ สอนหน้าชั้นโดยครูบอกสาระวิชาให้นักเรียนจด   หรือการสอนแบบบรรยายหน้าชั้น (เล็กเชอร์) ในมหาวิทยาลัย  ซึ่งถือเป็นวิธีการเรียนแบบนักเรียนเป็นผู้รับถ่ายทอดสาระหรือเนื้อความรู้   ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ การเรียนรู้ที่ได้ผลดีต้องเป็นวิธีการที่นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำ (Learning by doing)   ไม่ใช่นักเรียนเป็นผู้ฟังและจด-จำ

          วิธีเรียนรู้แบบลงมือทำตกผลึกเป็น “การเรียนรู้แบบโครงงาน” (Project-Based Learning เรียกย่อว่า PBL)   ที่ใช้โจทย์และกิจกรรมทำโครงงานเป็นกุศโลบายให้นักเรียน (และนิสิตนักศึกษา) เรียนรู้อย่างลึกจาก สัมผัสตรงของตนเอง   เกิดการเรียนรู้งอกงามจากภายในตน เป็นความรู้มือหนึ่งของตนเอง   ไม่ใช่รับถ่ายทอด ความรู้มือสองมาจากครู

          เป้าหมายที่สำคัญของ PBL คือการเรียนรู้แบบที่เกิดการพัฒนาและสั่งสมทักษะ (และฉันทะ) ขึ้นภายในตัวผู้เรียน ไม่ใช่เพียงมีความรู้แบบจำได้อธิบายได้ตอบข้อสอบได้แต่ใช้ไม่เป็น แบบที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน   ย้ำว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องเลยการเรียนเนื้อวิชา (Content/Knowledge) ไปสู่การพัฒนาทักษะ(Skills)ที่หลากหลาย ที่เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีความซับซ้อนมาก   อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่ เพื่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21แปลโดยวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์ จากหนังสือ 21st Century Skills : Rethinking How Students Learn   จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openworlds  จัดจำหน่ายโดย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

          ครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากครูสอน ไปเป็นครูฝึก (โค้ช) หรือวิทยากรกระบวนการ(facilitator)   ซึ่งจะ ฝืนใจครูเป็นอย่างยิ่ง   ครูจะไม่คุ้นเคยกับการทำหน้าที่ใหม่นี้   หากไม่ระวังจะเป็นคล้ายๆ การลดบทบาทหรือความ สำคัญของครูลงไป   ซึ่งไม่จริง  จริงๆ แล้วบทบาทของครูยิ่งมากขึ้น สำคัญยิ่งขึ้น ท้าทายยิ่งขึ้น   โดยต้องทำหน้าที่คล้ายๆ “ผู้จัดการเรียนรู้” ของนักเรียน   เริ่มตั้งแต่การทำ SWOT Analysis ของกลุ่มนักเรียนในชั้นของตนหรือทำความรู้จักนักเรียนของตนนั่นเอง ทั้งด้านจุดแข็ง (Strength)  จุดอ่อน (Weakness)โอกาส (Opportunity)  และความท้าทาย (Threat)   เพื่อให้ครูทราบพื้นฐานความรู้ (และทักษะ)  รวมทั้งความแตกต่างหลากหลายของ นักเรียนในชั้นของตน   สำหรับนำมาใช้วางแผนการจัดกิจกรรมหรือออกแบบโจทย์ PBL ให้นักเรียนเรียนรู้โดยการ ลงมือทำ และทำเป็นทีม เพื่อให้ได้ทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะนำไปสู่ทักษะชีวิตอย่างอื่นอีกหลากหลายทักษะ   ดังเล่าในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ : สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง 56  เขียนโดยครูเรฟ เอสควิท แปลโดยกรรณิการ์ พรมเสาร์  จัดพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

          ครูเรฟในหนังสือดังกล่าว (ดูวิดีโอห้องเรียนของครูเรฟได้ทาง YouTube) เป็นข้อยกเว้น ที่กล้าแหวกแนวออกมาจากวิธีสอนที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยทำคนเดียว   แต่สำหรับครูโดยทั่วไป การเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21   ต้องการการรวมตัวกันของครู เพื่อปรึกษาหารือและแลก เปลี่ยนเรียนรู้วิธีการออกแบบการเรียนรู้ และทำความเข้าใจผลของการทำหน้าที่ใหม่ (โค้ชหรือวิทยากรกระบวนการ) ของตน   สำหรับพัฒนาวิธีทำหน้าที่ครูแนวใหม่ของตน   คือครูต้องเปลี่ยนแปลง ตนเองจาก “ผู้รู้” มาเป็น “ผู้เรียน” เรียนรู้วิธีทำงานแนวใหม่ของตนเอง   โดยรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้ของครูที่ในวงการศึกษาต่างประเทศเรียกว่า PLC (Professional Learning Community)   ซึ่งหัวใจคือ ครูต้องเลิกทำงาน แบบศิลปินเดี่ยว เปลี่ยนมาเป็นทำงานเป็นทีมและเรียนรู้เป็นทีม Richard DuFour และคณะ ผู้แต่งหนังสือ Learning by Doing ถึงกับแนะนำให้เปลี่ยนโรงเรียนเป็น PLC  และเปลี่ยนเขตการศึกษาเป็น PLC  คือเปลี่ยนจาก องค์กรที่มีการจัดการแบบกำหนดแผนและสั่งการจากเบื้องบน   มาเป็นองค์กรที่สมาชิกรวมตัวกันทำงานเป็นทีมและเรียนรู้ร่วมกัน มีการสื่อสารแนวราบมากกว่าแนวดิ่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          การศึกษาไทยในวันนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน   เปลี่ยนทั้งระดับกระบวนทัศน์ และระดับปฏิบัติ  การเรียนรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากการนั่งฟัง (และจด) นิ่งๆ   มาเป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู โดยอาศัยเครื่องมือสื่อสารสารพัดแบบ   เปลี่ยนจากการท่องจำเนื้อวิชา มาเป็นค้นหาความรู้เอามาทดลองใช้ เพื่อเรียนรู้ในมิติที่ลึกระดับใช้งานและสร้างนวัตกรรม  เปลี่ยนจากเรียนคนเดียว มองการเรียนรู้เป็นกิจกรรมเฉพาะตน มาเป็นเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านความร่วมมือ และความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ม.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 476206เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...ไชโยๆๆๆ...กับการเปลี่ยนแปลงแบบ "ถอนราก ถอนโคน"...ความรู้..การเรียน..จาก..ผู้รู้ เป็นผู้เรียน..เรียนรู้..อยู่ด้วยกันในความแตกต่าง..หลากหลาย..เข้าใจและ..ยอมรับ....(ขออย่าให้เป็นเพียง"ข้อเขียนและข้อคิด"และ..ฉากผ่าน..เท่านั้น..เจ้าค่ะ..ยายธี)

ผมใช้ สื่อ ICT สอน ให้เด็กสร้างบทเรียนเอง โดยสื่อ Drama เพื่อนครู ยังบอกว่า ไม่สอนเด็ก สบายไป หารู้ไม่ว่า กว่าจะคิดหากลวิธีได้

ในขณะที่ เขาบอกนักเรียน จด นั่นแหละคือการสอน จนเด็กบอก ว่าชั่วโมงต่อไป จะจดอะไร ทั้ง ๆ ที่ หนังสือ ก็ มี

แต่เขาเกษียณ แล้วครับ เชื่อไหม ทาง รร. ยังจ้างต่อ แล้วเมื่อไรการศึกษา จะเปลี่ยนแปลง แม้แต่เด็กตก ผู้บริหารยังบีบครู

ให้ครูแก้คะแนนเลยครับ มีจริงครับ รร.สังกัด สพม.ทางภาคอีสานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท