อุดมการณ์แห่งชาติและความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทย


ประเทศไทยไม่สามารถสังเคราะห์ความรู้ใหม่ในทางบริหารความมั่นคงภายในประเทศ เพื่อนำประเทศไปสู่จุดมุ่งหมาย หรืออุดมการณ์ของประเทศ

                           แผ่นดิน ( Land ) เชื้อชาติ ( Nation ) ประชาชน ( Citizens ) ชุมชน ( Community ) เหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นประเทศ ( Country ) ทุกประเทศในโลกล้วนมีความแตกต่างที่บ่งบอกคุณลักษณะของประเทศนั้น และย่อมมีรากฐานจากความคล้ายคลึงกันทางด้านเชื้อชาติ  คือเหล่าประชากรที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้น  ล้วนสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกันด้วยการสืบทอดเผ่าพันธุ์ในกลุ่มประชากรนั้น ๆ ภายในขอบเขตดินแดนที่จำกัดแน่นอน

                                ในอดีต แต่ละชนเผ่าหรือในความหมายที่กว้างกว่าคือเชื้อชาติหรือชนชาติ ต่างรบพุ่งแย่งชิงแผ่นดินที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการอยู่รอด ท่ามกลางภัยธรรมชาติและข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรหล่อเลี้ยงชีพ  ภายหลังเมื่อชนชาติเหล่านั้นมีความมั่นคงพอสมควรแล้วจึงพัฒนาความรู้ ที่ได้จากประสบการณ์ รวบรวมเป็นศาสตร์แห่งศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ด้วยหลักการพื้นฐานแห่งการสร้างความสะดวกสบาย  ปลอดภัย ให้แก่การดำรงชีวิตและพิชิตชัยชนะต่อธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่เห็นว่ามีคุณค่า หรือมูลค่า เป็นหลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด  ชนชาติต่างแย่งชิงเพื่อการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบที่เหมาะสมแห่งกาลเวลา และความสัมพันธ์ของมนุษย์

                                ความรู้สึกหนึ่งที่เป็นสัญชาติญาณของแต่ละชนชาติเพื่อการพิชิตชัยชนะหรือดำรงอยู่รอดท่ามกลางการแย่งชิงคือการยึดถือคุณค่าแห่งตนและของชนชาติเป็นศูนย์กลางแห่งทุกสิ่งทุกอย่างในโลก  เพื่อให้เกิดความภูมิใจ หยิ่งลำพองและหวงแหน ซึ่งเป็นพฤติกรรมธรรมชาติจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการความอยู่รอดปลอดภัย การยอมรับนับถือ การยึดถือคุณค่าแห่งชนชาติเช่นนี้เกิดเป็นความเชื่อ ค่านิยมและเป็นอุดมการณ์แห่งชนชาติในที่สุด  จนในภายหลังเกิดมีลัทธิชาตินิยม ( Nationalism ) ก็ด้วยพื้นฐานธรรมชาติแห่งพฤติกรรมมนุษย์ในลักษณะนี้  ด้วยอุดมการณ์แห่งชนชาติ ที่เป็นสิ่งจำเป็นเช่นนี้ ทุกชนชาติ ทุกประเทศจึงล้วนมุ่งปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมให้แก่ประชาชนแห่งตนจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อยังความเป็นอยู่ ยืนยันความดำรงอยู่ของชนชาติ ประเทศ ป้องกันการถูกรุกราน และเป็นการประกาศแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่แห่งชนชาติ

                                ชนชาติไทย สังคมไทย ประเทศไทย นับเริ่มจากแผ่นดินกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงยุคขอบเขตแผ่นดินที่มีกรุงรัตโกสินทร์ เป็นราชธานี นับว่าผ่านยุคสมัยมาเนิ่นนานเกินกว่า ๗๐๐ ปี  บรรพบุรุษของเราในบริบทของสังคมในเวลานั้นต้องรบพุ่งแย่งชิงหรือป้องกันสังคมชนชาติไทยให้อยู่รอดได้จนเป็นประเทศมาถึงทุกวันนี้  นอกเหนือจากชนชาติไทยต้องยึดถืออุดมการณ์พื้นฐานเรื่องคุณค่าของชนชาติแล้ว   อุดมการณ์สำคัญที่ชนชาติไทยยึดถือปฏิบัติด้วยความภาคภูมิใจอีกข้อหนึ่งคือ ความเป็นอิสระไม่อยู่ใต้อาณัติปกครองของชนชาติใด ดังปรากฏในเนื้อร้องของเพลงชาติไทยท่อนหนึ่งว่า “เอกราชจะไม่ให้ใคร่ข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี”  ประเทศไทยพัฒนามาตามลำดับ ดำรงอยู่เป็นชาติประเทศที่แสดงออกถึงอารยธรรมชนชาติไทย เป็นที่รับรู้ยอมรับของชนชาติอื่น ๆ ในโลก ว่าพื้นที่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่าดินแดนสุวรรณภูมิ คือประเทศไทยของชนชาติไทย คนไทยยึดโยงผูกพันกันทางสายเลือดและขอบเขตของดินแดน ภายใต้อุดมการณ์พื้นฐานชาตินิยม ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนาประจำชาติและการให้คุณค่าแห่งความจงรักภักดีต่อบุพกษัตริย์ผู้ทรงนำชนชาติและประเทศไทยให้ต่อสู้ยืนหยัดอยู่รอดปลอดภัยจากการรุกรานของต่างชนชาติ

                                สังคมไทยดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกหลายเหตุการณ์และยุคสมัย  ยุคสมัยล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจแถบยุโรป ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ได้เข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึง รัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งโดยพระปรีชาสามารถด้านการบริหารราชการแผ่นดินของทั้งสองพระองค์ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการสูญเสียดินแดน  แม้จะต้องแลกด้วยการยอมทำสนธิสัญญาบาวริ่ง ที่ให้คนต่างชาติในบังคับของประเทศอังกฤษได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และต้องยอมยกดินแดนในความปกครองของประเทศไทยบางส่วนให้แก่ประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษในสมัยรัชการที่ ๕ ก็ตาม แต่ สัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ปรากฏเป็น ธงไตรรงค์ ธงรูปเสมาธรรมจักร พระบรมสาทิสลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล และรูปแผนที่ประเทศไทยที่มองดูคล้ายขวาน ก็เสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ของประเทศไทยเรื่อยมา  จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกว่าครั้งไหน ๆ กระทบกระเทือนถึงหลักการของอำนาจปกครองบ้านเมือง ซึ่งแต่เดิมพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศไทย ในปีดังกล่าวกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร์ซึ่งประกอบด้วยบุคคลชั้นขุนนางและข้าราชการทหารเป็นส่วนใหญ่นั้น ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัชกาลที่ ๗ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศไทยโดยระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นว่าเพื่อให้ประเทศเข้ากับยุคสมัยใหม่เช่นเหล่าอาณาอารยประเทศ ยึดถือแนวทางการให้ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง สถาปนาอุดมการณ์เสรีนิยมและอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนขึ้นในสังคมไทยเป็นการเริ่มต้น   แต่ความเป็นจริงเหล่าบรรดาผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นต่างกลายเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศไทยในเวลาต่อมา  สังคมไทยจึงมีผู้ใช้อำนาจปกครองที่มาจากฝ่ายนายทหารที่กุมอำนาจและคุมกำลังรบในกองทัพ เป็นส่วนใหญ่เรื่อยมา  แตกต่างจากหลักการเริ่มต้นและอุดมการณ์ที่คณะราษฎร์สถาปนา  ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาทางการเมือง การปกครองในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

                                ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นยุคสงครามเย็น ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์การช่วงชิงพื้นที่อิทธิพลระหว่างค่ายความคิดอุดมการณ์สังคมนิยมโดยสหภาพโซเวียตรัสเซียและประเทศจีนที่แผ่ขยายอำนาจครอบคลุมกลุ่มประเทศแถบอินโดจีน ลาว กัมพูชา เวียตนาม และค่ายความคิดอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยโดยสหรัฐอเมริกาที่ใช้ไทยเป็นฐานการทำสงครามทั้งในและนอกรูปแบบ  รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงภายในประเทศเป็นหลักเพื่อสกัดกั้นแนวความคิดปฏิวัติสังคมนิยม ยุทธศาสตร์อุดมการณ์แห่งชาติที่ปลูกฝังแนวคิดต่อต้านสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และเชิดชูสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดผลสำเร็จอย่างสูง  ประเทศไทยล้มล้างกลุ่มแนวคิดสังคมนิยมสำเร็จในที่สุด ด้วยแนวคิดปรองดองแห่งชาติที่ปรากฏในเนื้อหาของ  ประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่   ๖๖ /  ๒๕๒๓ สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี  ที่ให้โอกาสประชาชนที่ร่วมกับกองทัพปฏิวัติสังคมนิยมหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเวลานั้นมอบตัวกับทางการในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยไม่มีความผิดใด ๆ เหลือเพียงร่องรอยปิศาจคอมมิวนิสต์ บอกเล่าแก่ชนรุ่นหลังเหมือนข่าวลือไร้เนื้อหาสาระ พร้อมกับการละเหือดหายแห่งอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์  และการดูแคลนแนวคิดชาตินิยมในทัศนะของนักคิดรุ่นใหม่

                                ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในอดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็ตาม  คนไทย สังคมไทย ยังคงขาดความชัดเจนของความคิดเห็นร่วมของคนในชาติ เนื่องจากคนไทยจำนวนมากและอาจเป็นส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำ ยังคงขาดความรู้ในทุก ๆ ด้าน มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำของระดับการศึกษา การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  โดยเฉพาะเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ  ขณะเดียวกันนั้นประเทศไทยก็ยังคงรักษาทิศทางในหลักการดั้งเดิมเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ภายใต้กรอบความคิดที่ล้าสมัย และนโยบายความมั่นคงต่างประเทศที่ผูกติดกับประเทศผู้นำทางเสรีนิยมประชาธิปไตยคือสหรัฐอเมริกา   เหล่านี้เป็นเหตุให้ประเทศไทยไม่สามารถสังเคราะห์ความรู้ใหม่ในทางบริหารความมั่นคงภายในประเทศ เพื่อนำประเทศไปสู่จุดมุ่งหมาย หรืออุดมการณ์ของประเทศไทยที่เหมาะสมกับยุคสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในทางการบริหารอำนาจการปกครองประเทศ  ซึ่งปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบไปถึงอุดมการณ์ เรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์  อย่างรุนแรง  การล้มลุกคลุกคลานอยู่กับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การเลือกตั้งที่ปราศจากความมุ่งหมายแห่งการออกเสียงลงคะแนน นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมส่งออก และปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย   กลายเป็นวงจรแห่งความเสื่อมถอย  ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อกันในระดับสังคมใหญ่ของประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อหลักการระดับปัจเจกบุคคล ที่สะท้อนให้เห็นได้จากปัญหาความขัดแย้งของผู้คนในสังคมไทยทั้งในด้านแนวคิดความเชื่อเรื่องความเป็นมาของชนชาติ อุดมการณ์ในทางการเมืองการปกครอง   การตีความศาสนา  และการให้คุณค่าความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาเรื่องความมั่นคงภายในประเทศที่ซับซ้อน และเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงภายในเป็นสาเหตุหลัก หยั่งลึกรากปัญหาถึงระดับบุคคลและมีแนวโน้มเกิดการรวมกลุ่มทางความคิดความเชื่อที่หลากหลายไร้ทิศทาง

                                แนวคิดการปฏิรูปการเมืองการปกครองเพียงเดี่ยว ๆ ไม่อาจแก้ไขปัญหาในระดับวิกฤตเช่นนี้  ส่วนการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจยังมองไม่เห็นทางเป็นไปได้ในระดับการปฏิบัติ ยิ่งการแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อนหลากหลายไร้ทิศทาง ยิ่งเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ทางความมั่นคงภายในที่ชัดเจน อันจะเป็นสิ่งกำหนดแนวนโยบายพื้นฐานในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความมั่นคงของสังคมไทย และเป็นหลักประกันของการดำเนินการพัฒนาประเทศในระยะยาว  ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช  ๒๕๕๐  ซึ่งกล่าวถึงเรื่องความมั่นคงของรัฐไว้เพียงมาตราเดียว คือในหมวดที่ ๕ ส่วนที่ ๒ แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗ “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ”  ซึ่งวิเคราะห์ตามตัวบทกฎหมายแล้ว  จุดมุ่งหมายของการสร้างความมั่นคงของประเทศ  ให้ความสำคัญเพียงการมีกำลังทหารและเทคโนโลยี เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ และดินแดน ผลประโยชน์ของประเทศเท่านั้น  ไม่ได้กล่าวถึงการปกป้องคุ้มครองศาสนา หรือการรักษาไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนประเพณีพิธีกรรมอันดีงาม หรือการพิทักษ์รักษาซึ่งสิ่งอันเป็นเอกลักษณ์ศูนย์รวมความเชื่อของคนในชาติ เช่น รูปเคารพ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ทรัพย์สมบัติอันมีค่าทั้งที่เป็นตัวทรัพย์สิน หรือวิชาการความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิม การไร้ทิศทางแรกเริ่มแห่งการดำเนินยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงภายในประเทศเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงภายในด้านต่าง ๆ ได้  และย่อมส่งผลต่ออุดมการณ์ที่มีคุณค่าดั้งเดิมที่เคยปลูกฝังคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น เรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้เลือนลางในทางความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

                                การสถาปนาอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยทิ้งเนื้อหาในเรื่องชาตินิยมและศาสนาออกไป อาจไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศไทย  และเป็นการลบเลือนความเป็นอัตลักษณ์ของชนชาติไทย บั่นทอนความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ไร้ความรู้สึกหวงแหนแผ่นดินเกิด จนอาจเกิดความแตกแยกทางด้านการดีความและให้คุณค่าของชนชาติไทยในที่สุด  หลังจากนั้น…….…ไม่อาจคาดเดาได้ว่า…..สังคมไทยจะกลับมาทบทวนความเป็นมาของชนชาติร่วมกัน   หรือจะเลือกเดินหน้าไปสู่จุดทางแยกแห่งอุดมการณ์ของชนชาติในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 476202เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท