ความประหยัดจากใจ ของท่านพุทธทาสภิกขุ


ขอยกงานเขียนอันทรงคุณค่าของท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ท่านเขียนถึง พระอาจารย์พุทธทาส ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือการประหยัด ทำให้เราได้ทราบถึง การเห็นคุณค่าของสิ่งของ ที่เชื่อว่าเมื่อหลายๆท่านได้อ่านแล้ว นำมาเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้บ้าง

ความประหยัดจากใจ

ของท่านพระอาจารย์พุทธทาส

โดย พระไพศาล วิสาโล

       นิสัยความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น เป็นที่รับรู้อย่างชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้ใกล้ชิด ท่านอาจารย์เองเคยเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ เล่าไว้เมื่อวันสนธยาว่า ลักษณะนิสัยดังกล่าวรับถ่ายทอด และฝึกฝนมาจากโยมมารดาของท่านตั้งแต่เด็ก มีผลให้ท่านเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ใช้และมีความละเอียดลออรอบคอบอีกด้วย

       ท่านอาจารย์โพธิ์พูดถึงเรื่องความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “อาตมาเห็นว่าท่านประหยัดทุกเรื่อง ท่านพูดชัดเจนว่า ทำอะไรต้องประหยัดให้มากที่สุด ความเป็นอยู่ของท่านอาจารย์ เราจะเห็นว่าท่านประหยัดมาก อาหาร ที่อยู่ ที่หลับที่นอน อะไร ๆ ก็เรียกว่าไม่ต้องใช้ของแพง มีอะไรใช้ได้ก็ให้ใช้ อะไรที่ยังใช้ได้ก็ไม่ค่อยจะรื้อทิ้งพยายามที่จะรักษาและใช้มันก่อน ท่านมีนิสัยอย่างนี้ตลอดเวลาเท่าที่อาตมาสังเกตเห็นจากท่าน”

       ในขณะที่ พระสิงห์ทอง เขมิโยพระอุปัฏฐาก เล่าว่าท่านเองได้รับการฝึกฝนเรื่องดังกล่าวจากท่านอาจารย์โดยตรง จากวิธีการใช้ห่อพัสดุต่าง ๆ คือ “ห่อพัสดุหรือห่ออะไรที่เขาส่งมาถึงท่าน ท่านอาจารย์จะบอกอาตมา ไม่ให้ฉีกไม่ให้ตัด ท่านจะให้แก้ออกโดยเอาส้อมแทงเข้าไปในเชือกที่เขาผูก แล้วก็แก้ออกมา เพื่อจะเอาไปใช้ได้อย่างเดิมอีก คือท่านจะไม่เคยให้ซื้อของใช้ที่เป็นพวกวัสดุห่อของ กระดาษเชือกเลย เพราะจะมีครบหมดเลย เวลาจะห่อของให้ใคร หรือส่งอะไรก็แล้วแต่ จะเอาวัสดุที่เขาใช้ส่งมานั่นแหละ ห่อกลับคืนไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปซื้อไปหาที่อื่นอีก ใช้การเก็บเอาจากของเดิมนั้นเอง ท่านหัดเรามาอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ ๆ โดยท่านจะแนะนำจนกว่าเห็นว่าเราจะทำเป็น ท่านจึงวางมือให้เราจัดการต่อ”

        การใช้เครื่องนุ่งห่มของท่านก็ประหยัดมาก ถ้าต้องรับแขกหรือในพิธีการ เช่น รับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช รับถวายปริญญาบัตรอะไรต่าง ๆ ท่านก็จะนุ่งห่มของที่ใหม่หน่อย แต่ถ้าเป็นเวลาปกติแล้วท่านอาจารย์จะนุ่งห่มผ้าเก่า บอกว่าสบายตัว ท่านจะใช้จนเก่ามาก ขนาดว่าเปื่อยจนนั่งขาด ทำอะไรไม่ได้แล้วจึงจะทิ้งอย่างนั้นทุก ๆ ผืน อย่างผ้าสรงน้ำของท่านนั้น ใช้เก่าจนขนาดตากไว้ มีคนแถวกุฏิที่ไม่รู้ถือวิสาสะเข้ามาหยิบไปใช้ นึกว่าเป็นผ้าขี้ริ้ว เราต้องไปวิ่งตามเอาคืน บอกว่าเป็นผ้าสรงน้ำของท่านอาจารย์ ผ้าอย่างดีที่มีคนเอามาถวาย ท่านก็ไม่ใช้ แต่จะเอาชนิดปานกลางพื้น ๆ เท่านั้น

       พระเลขานุการ พระพรเทพ ฐิตปัญโญ ซึ่งใกล้ชิดในการทำงานเล่าว่า “ในการทำงานท่านอาจารย์ใช้ข้าวของประหยัดมากอย่างไม่น่าเชื่อเลย อย่างพิมพ์จดหมาย ซึ่งต้องพิมพ์ก๊อปปี้ด้วยเมื่อพิมพ์เสร็จ ท่านอาจารย์อ่านทวนใหม่ แล้วบอกว่าจะเปลี่ยนตรงนี้อีกหน่อย อาตมาบอกท่านว่า เดี๋ยวผมพิมพ์เปลี่ยนให้ใหม่ ท่านไม่เอาบอกว่าเสียดายกระดาษ มันพิมพ์ไปแล้วผิดอย่างนี้ ช่างมันเถอะเราก็พยายามคะยั้นคะยอท่าน บอกท่านอาจารย์ครับ ผมพิมพ์แก้ใหม่ให้ครับ คะยั้นคะยอเท่าไหร่ท่านก็ไม่พิมพ์ใหม่ บอกว่าปล่อยผิดอย่างนี้ไป อย่างมากก็ให้เขาคิดว่าเราโง่ ดีกว่าเสียกระดาษ เสียพลังงาน เสียทรัพยากร ก็ส่งไปอย่างนั้น ถ้าเป็นเราเอาใหม่แล้วใช่ไหม แต่บางงานท่านก็ให้พิมพ์ใหม่เหมือนกัน แล้วแต่กรณีและความเหมาะสม คือถ้าไม่จำเป็นท่านจะยึดหลักประหยัดไว้ก่อน 

        อย่างกระดาษหรือสมุดโน๊ตใหม่ ๆ ดี ๆ ท่านไม่ค่อยได้ใช้หรอกเคยถามท่านเหมือนกัน ท่านอาจารย์บอกว่ามันดีเกินไปเสียดายแล้วท่านไปโน๊ตใส่อะไรรู้ไหม ? ท่านใช้กระดาษปฏิทิน ที่ท่านฉีกแล้วห้ามทิ้งนะ ท่านจะสั่งว่า คุณเอามาเก็บตรงนี้ แล้วท่านก็เอาด้านหลังมาโน๊ตอีก แล้วข้อความสำคัญทั้งนั้นเลยนะที่โน๊ตในเศษกระดาษพวกนั้นน่ะ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ มีเป็นกล่อง ๆ เลย ท่านเป็นคนประหยัดขนาดนี้ ประหยัดมาก

       บนโต๊ะทำงานซึ่งเป็นโต๊ะฉันของท่านด้วยนั้น พอท่านฉันอาหารเสร็จ กระดาษชำระที่ใช้แล้วก็เอามาเช็ดโต๊ะ แล้วจึงทิ้งมีบางครั้งท่านเช็ดแล้วไม่ทิ้ง เราไปเห็นเข้า เราบอกท่านอาจารย์ครับ อันนี้ทิ้งนะครับ ท่านบอกไม่ทิ้ง มันไม่เลอะอะไร เอาเช็ดน้ำเฉย ๆ ให้เอาไว้ตรงนั้น เดี๋ยวมันแห้ง เอามาเช็ดได้ใหม่ ท่านประหยัดและละเอียดขนาดนี้เลย ปกติพวกเรานั้น เช็ดทิ้ง ๆ”

       เรื่องการติดเครื่องปรับอากาศในห้องพักของท่านอาจารย์ได้มีผู้เสนอไว้หลายครั้ง แต่ท่านปฏิเสธตลอดบอกว่าไม่เหมาะสมไม่ควรจนกระทั่งเมื่อท่านมีปัญหาสุขภาพ แพทย์แนะนำว่าต้องติดเครื่องปรับอากาศในห้องของท่าน เพราะถ้าอากาศร้อนจัดและท่านเสียเหงื่อมาก ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อกราบเรียนความจำเป็นในเรื่องนี้ ท่านจึงอนุญาต แต่เอาเข้าจริง ๆ ท่านก็ไม่ค่อยเปิดใช้ นายเมตตา พานิช หลายชายของท่านเล่าว่าเคยมาพบเมื่อท่านเรียกหา เห็นท่านอาจารย์เปิดพัดลมแทน เปิดเครื่องปรับอากาศ จึงกราบเรียนถามท่านว่า ทำไมไม่เปิดแอร์ ท่านอาจารย์บอกสั้น ๆ เพียงว่า “มันเปลือง” *******

ปลายชอล์ก http://www.visalo.org

คำสำคัญ (Tags): #พุทธทาส
หมายเลขบันทึก: 476115เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2012 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ท่านเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมค่ะ..

อ่านหนังสือพระไพศาลหลายเล่มชอบมาก ท่านเคยมาที่มหาวิทยาลัยด้วยครับ

ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเป็นพระที่เรากราบได้สนิทมากๆ

  • สาธุค่ะ
  • ความประหยัด ขัดเกลาให้เรารู้คุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัวและเพียงพอกับสิ่งนั้น ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท