ผชช.ว.ตาก (๒๘): การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพจังหวัดตาก


ปัญหากำลังคนด้านสุขภาพจังหวัดตากไม่ได้แค่ขาดแคลนบุคลากรแต่มีปัญหาเรื่องการหมุนเวียนที่บ่อยมากเกินไปด้วย

ดร.นงลักษณ์ พะไกยะและทีมงานจากสำนักวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพได้ให้ความสนใจการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพจังหวัดตากและได้มาสัมภาษณ์ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยผมได้ให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้

จากประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารทั้งระดับอำเภอและจังหวัดรวม ๑๔ ปี ร่วมกับการวิจัย (วิทยานิพนธ์)ที่ทำช่วงเรียนปริญญาโทที่เบลเยียม ทำให้ผมสรุปปัญหาใหญ่ๆของงานสาธารณสุขในจังหวัดตาก ได้ ๓ ประเด็น คือ
๑. สภาพภูมิประเทศ เป็นภูเขา ที่สูง ห่างไกล ชายแดน ทุรกันดารและที่สำคัญส่วนใหญ่เข้าถึงยาก มีชนเผ่าและต่างด้าวมาก
๒. สภาพการเงินการคลัง ได้รับงบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอต่อการจัดบริการเนื่องจากมีประชากรที่ไม่สามารถลงทะเบียนของบUCได้มาก
๓. สภาพปัญหาบุคคลากร มี ๒ แง่มุมสำคัญคือ ๑) ขาดแคลนบุคคลากร (Lack of staff) และ ๒) โยกย้ายเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย (Lack of stability)

จากสภาพปัญหาที่เผชิญหลักๆข้างต้น ข้อ ๑ เป็นสภาพที่ต้องยอมรับและแก้ไขไม่ได้ ข้อ ๒ แก้ไขได้ยากเพราะการจัดสรรเงินเป็นตามหลักเกณฑ์ทั่วไปของ สปสช. ที่ไม่เอื้อต่อพื้นที่เฉพาะแบบตาก แต่ข้อที่พอมีแนวทางแก้ไขได้และเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในทางการบริหารรวมทั้งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการทำงานสาธารณสุขคือข้อ ๓ เรื่องบุคคลากร

การแก้ปัญหาเรื่องบุคคลากร ประเด็นที่ ๑ ขาดคน แก้ไม่ยากนัก เพราะมีหลายมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนด้านสุขภาพออกมาเยอะ แต่ประเด็น ๒ ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน แก้ไม่ได้จากการจ้างคนนอกพื้นที่มาทำงาน และอีกอย่าง การจ้างบุคคลากรหลายประเภทที่จบจากหลายมหาวิทยาลัย ไม่สามารถทำงานได้ดีนักเนื่องจากหลักสูตรที่เรียนกับลักษณะงานที่ทำ ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข ที่จบมาทางสาธารณสุขศาสตร์ ที่มักเป็นนักวิชาการ (แต่ก็ไม่เก่งนักเำราะยังวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขตามหลักวิชาการไม่ได้) แต่ไม่ค่อยเป็นนักปฏิบัติ (ที่ต้องดูแลประชาชนทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู รวมทั้งทำงานกับชุมชน)

จากเป้าหมายสำคัญของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ทำอย่างไรให้ประชาชนชาวตากในทุกพื้นที่ทั้งใกล้และไกล ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญ ๒ ประการที่บุคคลากรทางด้านสุขภาพมีผลอย่างมาก คือ
๑. การเข้าถึงบริการ (Accessibility)
๒. การบริการที่มีคุณภาพ (Quality of Care&Services)

โจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางทีมงานของผมได้รับมอบหมายจากท่านนายแพทย์ สสจ.ตาก (นพ.ปัจจุบัน เหมหงษา) ให้ช่วยกันหาแนวทางในการแก้ไขพัฒนา ในที่สุดก็ได้หลักการสำคัญในการพัฒนาบุคคลากรของจังหวัดตาก จะต้องเน้น


๑. Rural recruitment, Rural training, Hometown working คัดคนถิ่น เรียนในท้องถิ่น ทำงานในท้องถิ่น
๒. Context-based training เรียนเนื้อหาหลักสูตรที่สอดคล้องกับพื้นที่ คิดโดยคนพื้นที่หรือคนที่เข้าใจพื้นที่
๓. Work integrated training จัดการฝึกอบรมที่แนบแน่นกับการทำงานจริงในพื้นที่
๔. Practical-based training เป็นการฝึกอบรมที่เน้นทำเป็นมากกว่าอัดเนื้อหาวิชาการ

การที่จะทำตามแนวทาง ๔ อย่างนี้ได้จริง เป็นไปได้ยากที่จะส่งคนไปเรียนที่สถาบันการศึกษาใดนอกจังหวัดซึ่งมักเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการมากกว่าเน้นการเป็นคนของประชาชน ทางที่จะทำได้คือการมองหาสถาบันการศึกษาในจังหวัดหรือใกล้เคียง ถ้าไม่ได้จริงๆก้ต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่มีแนวคิดแบบนี้และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนร่วมหัวจมท้ายกับเรา "ไม่บีบเราด้วยแนวคิดของมาตรฐานทางเอกสารวิชาการ แต่เปิดโอกาสให้เราทำตามความต้องการของคนพื้นที่" และก็โชคดีที่มีวิทยาลัยชุมชนตาก สถาบันการศึกษาที่เปิดโอกาสให้แก่คนด้อยโอกาสทางสังคมได้เข้าศึกษาทั้งการเข้าเป็นนักศึกษษที่ง่ายและรายจ่ายที่ถูก และอีกสถาบันหนึ่งคือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีคณาจารย์ที่เข้าใจการพัฒนาคนที่สอดคล้องกับภาระงานจริง

การทำเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ จะคิดแบบ "District focus" แบบที่ สปสช.คิดไม่เพียงพอ เพราะขอบเขตมันแคบไปและการโยกย้ายเกี่ยวโยงกันไปทั้งจังหวัด ต้องให้ความสนใจกับ "Provicial focus" ด้วย จะมีEconomy of scale ดีกว่า จึงต้องเน้นการบริหารระบบสุขภาพจังหวัด (Provincial Health System Management) โดยจังหวัดตาก ได้ดำเนินการดังนี้


๑. ระดับ รพ.สต. มีการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพโดย


- หลักสูตรหมออนามัยติดปีกหรือนักบริการปฐมภูมิสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. เป็นหลักสูตรร่วมกับคณะแพทย์ มน. เน้นแนวคิดทางเวชปฏิบัติครอบครัว ใช้เวลา ๑๘ สัปดาห์ (คล้ายหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ) ฝึกอบรมไปแล้ว ๑ รุ่น (๒ ห้องเรียน) จำนวน ๗๘ คน ปีนี้ทาง สปสช.เขต ๑๗ จะตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาทั้งเขตจำนวน ๒ รุ่น


-หลักสูตรอนุปริญญาการแพทย์แผนไทย (๓ปี)ของ วชช.ตาก เรียนนอกเวลา เปิดรับทั้งจากเจ้าหน้าที่ในรพ. รพ.สต.และประชาชนภายนอก ดำเนินการมาแล้ว ๔ รุ่น จบไปทำงานแล้ว ๒ รุ่น


-หลักสูตรอนุปริญญาสาธารณสุขชุมชน (๓ปี) ของ วชช.ตาก เรียนนอกเวลา เปิดรับพนักงานสุขภาพชุมชนเรียนต่อยอดและเจ้าหน้าที่อื่นๆใน รพ.และรพ.สต. รวมทั้ง อสม.และบุคคลภายนอก กำลังรับสมัคร จะเปิดเรียนรุ่นแรกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี้ เปิด ๒ ห้องๆละ ๓๕ คน


๒. ระดับสถานบริการสุขภาพชุมชน (สสช.) มีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมร่วมกับ วชช.ตาก จำนวน ๑ หลักสูตรคือ


- หลักสูตรประกาศนียบัตร ๑ ปีสาขาพนักงานสุขภาพชุมชน (พสช) เปิดฝึกอบรมและจบไปทำงานแล้ว ๑ รุ่น จำนวน ๓ ห้องเรียน ทั้งหมด ๘๑ คน มีจากแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย มาร่วมฝึกอบรมด้วย

๓. ระดับสุขศาลาหรือHealth postหรือMalaria post มีการจัดการฝึกอบรมร่วมกับ วชช.ตาก ๓ หลักสูตร คือ


-วุฒิบัตรฝึกอบรมระยะสั้น ๖ เดือนสาขาพนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน (พสชช) จัดฝึกอบรมจบไปทำงานแล้ว ๔ รุ่น จำนวน ๘๐ คน


-วุฒิบัตรฝึกอบรมระยะสั้น ๖ เดือนสาขาผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดฝึกอบรมไปแล้ว ๑ รุ่น จำนวน ๓๐ คน


-วุฒิบัตรฝึกอบรมระยะสั้น ๓ เดือนสาขาพนักงานมาลาเรียชุมชน จัดฝึกอบรมไปแล้ว ๒ รุ่น จำนวน ๙๐ คน

๔. ระดับชุมชน มีการจัดฝึกอบรมร่วมกับ วชช.ตาก จำนวน ๑ หลักสูตร คือ


-วุฒิบัตฝึกอบรมระยะสั้น ๓ เดือนหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ฝึกอบรมไปแล้ว ๑ รุ่น ๙ ห้องเรียน จำนวน ๓๘๔ คน

ยังมีหลักสูตรที่ได้จัดทำไว้เพื่อเตรียมพัฒนาบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพ แต่ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญนักในระดับประเทศ ทาง สสจ.ตากร่วมกับ วชช.ตาก ได้จัดทำหลักสูตรเตรียมไว้แล้ว อีก ๒ หลักสูตร คือ


๑. หลักสูตรประกาศนียบัตร ๑ ปี สาขาพนักงานช่วยเหลือคนไข้ สำหรับปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป


๒. หลักสูตรประกาศนียบัตร ๑ ปี สาขาพนักงานบันทึกข้อมูล สำหรับปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

อีกหลักสูตรหนึ่ง จะเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับFTA เป็นหลักสูตรประกาสนียบัตร ๑ ปี พนักงานสุขภาพชุมชนภาคภาษาอังกฤษ (International Certificate Program in Community Health Worker) กำลังรออนุมัติหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่

จากการนิเทศงานของ สสจ.ตาก ท่าน นพ.สสจ.ตากมีดำริเรื่องจะพัฒนา"นักวิชาการสาธารณสุข" ในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยรวมทั้งสาธารณสุขอำเภอ ให้มีความเป็นนักวิชาการที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสาธารณสุขได้มากขึ้น ขณะนี้กำลังมอบหมายให้ฝ่ายพัฒน์ จัดทำหลักสูตรอยู่

เพื่อให้ได้ข้อมูลการสัมภาษณ์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เกี่ยวกับสิ่งที่ผมได้เล่ามานี้ ผมขอแนะนำบุคคลที่ควรไปสัมภาษณ์เพิ่มเติม ดังนี้


๑. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ศ.ดร.น.พ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย คณบดี
- พ.อ. น.พ.ทวีศักดิ์ นพเกษร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน


๒. องค์กรIRCแม่สอด เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดฝึกอบรมและสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรม
- Dr. Naing Nyunt หรือหมอนาย
- น.ส.วรรณ๊ ฤทธิวงศาสกุล
- นายณัธนันท์ ธนสาร (ไปเรียนต่างประเทศแล้ว แต่ติดต่อทางอีเมล์ได้)


๓. วิทยาลัยชุมชนตาก
-นายชวพันธ์ ชวเจริญพันธ์ ประะานสภาวิทยาลัยชุมชนตาก
-นายปิยศักดิ์ ตัณเจริญรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตาก


๔. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก
-น.พ.ปัจจุบัน เหมหงษา นพ.สสจ.ตาก
-นายประเสริฐ สอนเจริญทรัพย์ สสอ.แม่สอด
-นายเฉลิม กล่อมเกลี้ยง สสอ.บ้านตาก
-นายขวัญชัย กันทะใจ ผู้ช่วย สสอ.แม่ระมาด
-นางสมร เพ็ชรอัมพร งานกิจการพิเศษ สสจ.ตาก
-นางกิรตา คงเมือง งานกิจการพิเศษ สสจ.ตาก
-นางสุภาภรณ์ บัญญัติ งานกิจการพิเศษ สสจ.ตาก
-ดร.กิตติพัทธ์ เอี่ยมรอด ฝ่ายพัฒนาบุคคลากรฯ สสจ.ตาก
-ท.พ. ชัยทัต สุดเกตุ ผอ. ร.พ. สามเงา
-นางวรวรรณ เล้าชัยวัฒน์ ร.พ.บ้านตาก

การสัมภาษณ์ได้เสร็จสิ้นไปเมื่อ ๖ มกราคม ๒๕๕๕ และจะมีการนำส่วนหนึ่งของเนื้อหาสัมภาษณ์ลงในวารสารผีเสื้อขยับปีก

พิเชฐบัญญัติ

๒๒ มกราคม ๒๕๕๕

๒๐.๕๙ น.

ร้านเน็ตย่านประตูน้ำ

หมายเลขบันทึก: 475681เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2012 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท