สติปัฏฐาน 4 ในชีวิตประจำวัน 2 ระดับ (ตอน 2)


http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/577/449/original_IMG_3883-rose4-6ws.JPG

ตอนที่แล้ว (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/475522)ได้เรียนว่าการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 มี 2 ระดับ คือระดับโลกิยะ และ ระดับโลกุตตระ หากเราไม่รู้จักสติปัฏฐานตามความเป็นจริง ก็อาจตัดโอกาสที่จะหลุดพ้นจากวัฏฏะได้ (10)

การปฏิบัติอีกลักษณะคือ การตั้งสติติดตามดูเช่นเดียวกับในลักษณะแรก หากเมื่อพิจารณาลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม จนจิตสงบดีแล้ว มีการนำจิตที่เหมาะจะใช้งานนั้นมาพิจาณาหาความจริงต่อ โดยน้อมการพิจารณานั้นๆลงสู่ไตรลักษณ์ และปฏิจจสมุปบาทต่อ

Tiny_img_5049-part-pic

เช่น เมื่อพิจารณากายอันประกอบด้วยธาตุ 4 หรือลักษณะที่ไม่งามภายในร่างกาย หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการตายไปจนจิตสงบลง ก็พิจารณากายด้วยไตรลักษณ์เพื่อให้เห็นความจริงตามธรรมดาของกายต่อไป (11)

หรือในขณะที่จิตสงบ มีการสอดส่องธรรม (ธัมมวิจยะ) หยิบทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรมขึ้นมาพิจารณา

หรือเมื่อเผชิญเวทนาเฉพาะหน้า สติระลึกได้ (ธัมมวิจยะ 12) ว่ามีเวทนาใดเกิดขึ้น เมื่อดับเวทนานั้นได้แล้ว จึงหาพิจารณาหาเหตุผลต่อ

โดยใช้โยนิโสมนสิการวิธีใดวิธีหนึ่งใน 10 วิธี เช่น การคิดแบบสืบสวนต้นเค้า คือ คิดสืบสาวย้อนไปหาถึงสาเหตุที่ทยอยเกิดขึ้นจนส่งให้เกิดธรรมใดธรรมหนึ่งในจิต หรือเกิดเวทนาในปัจจุบัน (ปฏิจจสมุปบาท) พิจารณาถึงผล ว่าหากปฏิบัติต่อธรรม หรือเวทนานั้นด้วยปัญญา ผลจะเป็นอย่างไร หากปฏิบัติด้วยความหลง ผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนค่ะ ผลที่ได้ย่อมแยกกันไปเป็นคนละทางรวมถึงพิจารณาธรรม (ในความหมายว่า ทุกสิ่ง) โดยน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา )

จนเห็นทั้งคุณและโทษ และเห็นว่า ไม่ว่าจะคุณหรือโทษ สุดท้ายก็นำไปสู่ความยึดถือมั่น เพียงแต่ยึดกันคนละแบบเท่านั้น และสุดท้าย ไม่ว่าจะยึดมั่นไปทางใดก็นำไปสู่ความทุกข์ทั้งนั้น (เช่น ทำความดีแล้วยึดว่าเป็นความดีของตน จึงอยากให้มีผลตอบแทน เช่น การสรรเสริญ เมื่อไม่ได้รับการสรรเสริญก็ท้อ และ ทุกข์ )

Tiny_img_5049-repaint3-pic

เมื่อเห็นชัดว่าธรรม ใดๆล้วนยึดถือไม่ได้ และไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดถือ จึงวางเฉยกับธรรมนั้น (อุเบกขา)

จิตจึงค่อยๆคลายความยึดถือมั่นในสิ่งต่างๆนั้นลง

การปฏิบัติสติปัฏฐานในลักษณะนี้ จึงจะพร้อมด้วยสมถะและวิปัสสนา

ผลลัพธ์คือ นอกจากจะมีอินทรียสังวรที่ช่วยคุ้มครองจิตจากอกุศลกรรมใหม่แล้ว ยังค่อยๆขัดเกลาอกุศลธรรมเดิม ทั้งอนุสัย กิเลส อาสวะ (13 )จิตจึงค่อยๆสงบเพราะความจางคลายจากความยึดถือมั่น ไม่ใช่สงบเพราะถูกกดไว้ด้วยสมาธิเหมือนการปฏิบัติตามลักษณะแรก

เช่น ถ้าเราเป็นคนโกรธง่าย เมื่อฝึกการพิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ เพราะเข้าใจถึงความเป็นไปในไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาท เราก็จะโกรธยากขึ้น หรือเมื่อโกรธแล้ว ความโกรธจะดับได้เร็วขึ้น พร้อมกับที่มีการสังวรว่าจะไม่พยายามไม่ให้อกุศลธรรมอย่างนั้นเกิดขึ้นอีก และมีความพยายามตามนั้นจริงๆ

การปฏิบัติสติปัฏฐานในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน (ซึ่งนอกเหนือไปจากสติปัฏฐานที่ปฏิบัติในกรรมฐานตามแนวอานาปานสติ) พร้อมด้วยองค์ธรรมอื่นๆอีก 37 ประการ ในโพธิปักขิยธรรม จึงจะเป็นทางสายเอกตามที่ประสงค์

เราปฏิบัติฝ่ายไหน ก็ได้รับผลไปตามนั้น

จึงควรพิจารณาค่ะ ว่าที่ปฏิบัติอยู่นั้น ได้ปฏิบัติเพียงพอหรือไม่

เพื่อให้ได้รับผลอย่างที่ใจเราต้องการค่ะ

...............................................................................................................

อ้างอิง

Tiny_img_5191

(10) ไม่รู้สติปัฏฐาน 4 ตามความเป็นจริง หมายถึง ไม่รู้ว่า สติปัฏฐานอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นดลกุตตระ เมื่อไม่รู้ ก็จะน้อมญาณของตนเข้าไปในฐานที่ละเอียด แล้วปักใจอยู่ในสติปัฏฐานที่เป็นโลกิยะเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สติปัฏฐานส่วนที่เป็นโลกุตตระเกิดขึ้นได้

องฺ.เอกาทส.อ. ๓/๑๗/๓๙๕

Tiny_img_5878-2

(11) อย่างที่ 2 ตั้งสติอย่างวิปัสสนา หรือปัญญา ตอนนี้เมื่อใจคอปกติดีแล้ว ก็พิจารณากายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ; กายเนื้อนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ลมหายใจนั้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชาวบ้านเรียกว่า ยกพระไตรลักษณ์ขึ้นมาจับ หรือว่า ยกอารมณ์ขึ้นไปสู่พระไตรลักษณ์ก็ได้เหมือนกัน ยกพระไตรลักษณ์มาใส่ หรือว่ายกอารมณ์นี้ไปหาพระไตรลักษณ์ก็ได้เหมือนกัน ให้มาพบกันกับพระไตรลักษณ์ คือเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แล้วกัน ถ้าเพ่งอย่างนี้ เพ่งกายนั่นแหละ แต่เพ่งอย่างนี้ ก็เรียกตั้งสติอย่างปัญญา หรืออย่างวิปัสสนา

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งความรู้แจ้ง 37 ประการ ธรรมสภา 1 /4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ (หน้า 64)

Tiny_img_5189

(12) เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์ สิตที่เป็นองค์ของความรู้ขึ้น ก็จะวิจัย คือ เลือกเฟ้นธรรมได้ถูกต้อง คือเลือกเฟ้นธรรมะได้ว่า นี่เป็นกุศล ส่วนที่ดี นี่เป็นอกุศล ส่วนที่ไม่ดี นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่เลว นี่ประณีต นี่เป็นส่วนดำ นี่เป็นส่วนขาว ความที่รู้จักเลือกเฟ้นธรรมะดังกล่าวนี้ เรียกว่า ธรรมวิจยโพชฌงค์ ความวิจัยเลือกเฟ้นธรรมที่เป็นองค์ของความรู้ ธรรมะในจิตของเรานี่เอง กุศล อกุศลในจิตนี้เอง ธรรมะที่มีโทษ ไม่มีโทษ ดีหรือเลว ก็ในจิตนี้เอง

ตัวอย่างที่เลือกเฟ้นไม่ทัน ก็คือเมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้ว เรื่องสงบไปแล้ว ทำดีหรือไม่ดีไปแล้ว จึงมีสติระลึกขึ้นได้ นี่แปลว่าสติเกิดไม่ทัน เรื่องเกิดขึ้นเสียก่อนแล้ว จึงได้รู้ทีหลังว่าได้ทำพูดไปดีหรือไม่ดี แต่ว่าถ้ามีสติดูรู้ทัน ก็จะเกิดวิจัย คือเลือกเฟ้นธรรมะได้ทันว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ดี หรือไม่ดี อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ถือเอาแต่ส่วนที่ดีไว้ ส่วนที่ไม่ดีก็ละไป เว้นไปเสีย

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน สำนักพิมพ์พระพุทธศาสนาประกาศ 170/30-31 ถนนชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพ (หน้า 92-93)

Tiny_img_5157wl

(13 ) ถ้าใช้อินทรีเป็น ก็ใช้ด้วยสติ และก่อให้เกิดปัญญา ให้เข้าหลักสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า จะดู จะฟังอะไรก็ให้ได้ 2 อย่างคือ ได้ญาณ คือได้ความรู้ความเข้าใจ เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ จับสาระได้ และได้สติ คือได้ข้อมูลไว้สำหรับระลึกใช้ประโยชน์ ได้ 2 อย่าง คือได้ความรู้ความเข้าใจ และได้ข้อมูล ไม่ไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ติดอยู่แค่ถูกใจเพลิดเพลิน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) คู่มือชีวิต มูลนิธิพุทธธรรม 87/126 ถ.เทศบาลสงเคราะห์ ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพ (หน้า 24)

หมายเลขบันทึก: 475571เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2012 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

..สาธุ..เจ้าค่ะ.....สุข..สงบ..สว่าง..ว่าง..วาง..สบายๆๆ..ตลอดไป..นะเจ้า..ยายธี

ขอบพระคุณคุณยายธี และ อ.นุ ค่ะ

ที่มาเยี่ยมกัน

Large_chineseny-banner 

ภาพจากสายบริหารงานสื่อสารองค์กร SCB

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่

ขอบคุณที่มาให้กำลังใจค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท