พราหมณ์ : พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๗



จิตรกรรมฝาผนังการโล้ชิงช้าที่วัด มหาเจดีย์ บ้านกรูด จใประจวบคีรีขันธ์ 

รัตนโกสินทร์ในแรกเริ่ม (พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา) เป็นช่วงเวลาที่กำลังสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่  ประกอบกับยังอยู่ในภาวะสงครามที่ยังคงติดพันมาจากสมัยกรุงธนบุรี ดังนั้นความเชื่อในลัทธิและพิธีกรรมแบบพราหมณ์ยังคงมีความสำคัญ  ต้องสร้างความมั่นคงให้แก่พระราชอาณาจักร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างเสาชิงช้าเพื่อเป็นศูนย์กลางของพระนคร ที่สร้างขึ้นใหม่  และสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวพระนคร

           ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้กล่าวได้ว่าครั้งใดที่มีงานพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  บริเวณเสาชิงช้า  ประชาชนชาวพระนครต่างตั้งตารอคอย  เนื่องจากงานพระราชพิธีและเป็นงานเทศกาลที่สนุกสนาน  และชวนให้ตื่นตาตื่นใจต่อขบวนแห่พระยายืนชิงช้า ผู้คนชาวพระนครต่างมาชุมนุมเพื่อดูกระบวนแห่หนาแน่น  ตลอดจนเฝ้าชมการโล้ชิงช้าและรำเสนง อาจมองภาพความสนุกสนานครึกครื้นได้จากนิราศรำพึงของพระอยู่ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนฯ ซึ่งแต่งขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนี้ 

 

 “แล้วคิดไปถึงเดือนยี่พิธีไสย                มีงานใหญ่แห่ชิงช้าเมื่อหน้าหนาว

พวกหญิงชายมาดูกันกรูกราว                ทั้งเจ๊กลาวแขกฝรั่งทั้งญวนมอญ

เราติดพาพวกเหล่าเมียสาวสวย             ทั้งรูปรวยเดินหลามตามสลอน

ไปดูแห่ตามระหว่างหนทางจร               กรรมกรตามหลังออกพรั่งพรู

เราจะเดินออกหน้าวางท่าใหญ่              มิให้ใครรอดเลี้ยวเกี้ยวแม่หนู

คอยระวังดูเหล่าพวกเจ้าชู้                     เกี้ยวแม่กูเตะให้คว่ำขะมำดิน

พาเมียดูหยุดชิงช้าหน้าตลาด                ใครไม่อาจเข้ามาขวางกลัวคางบิ่น

แสนสบายมิได้มีราคิน                          เลิกงานลินมาบ้านเบิกบานใจ” (ดูใน ส.พลายน้อย, ๒๕๑๘ : ๑๗๐)    

 

           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มแทรกพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้าไปในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์  โดยเฉพาะในพระราชพิธี  ๑๒  เดือน  หากเดิมพระราชพิธีใดเป็นแต่พิธีพราหมณ์  ทรงให้แทรกพิธีกรรมทางศาสนาพุทธเข้าไปด้วย  เช่น  ให้มีพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์เพิ่มเติมเข้าไปในการพิธีนั้นๆ  นอกจากนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติบางอย่างให้เหมาะสมกับการปฏิบัติด้วย  (สมอตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ, กรมพระ, ๒๕๐๘ : ๑๕๘ – ๑๖๕)

           ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดกับพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลัดเปลี่ยนพระยายืนชิงช้าในแต่ละปี  ให้หมุนเวียนกันในกลุ่มขุนนางชั้นพระยาพานทอง  ซึ่งแต่เดิมนั้นเจ้าพระยาพลเทพ  เสนาบดีจตุสดมภ์  กรมนา  เป็นผู้รับหน้าที่พระยายืนชิงช้าแต่เพียงผู้เดียว  ต้องสิ้นทรัพย์สินเงินทองในการจัดขบวนแห่พระยายืนชิงช้าปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก  ทั้งค่าเสื้อผ้าเครื่องประกอบในขบวนแห่  ตลอดจนเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้เข้าร่วมกระบวนแห่  ประกอบกับต้องการให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้มีโอกาสแห่แหนเพื่อเป็นเกียรติยศ  ที่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จะได้จัดกระบวนแห่แหนเช่นนั้นได้  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทองเป็นพระยายืนชิงช้า  โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละปี

           รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายเกือบถูกยกเลิกไปเป็นการถาวรกล่าวคือ บริเวณเสาชิงช้าซึ่งแต่เดิมเสาชิงช้านั้นตั้งอยู่หน้าบริเวณโบสถ์พราหมณ์ (บริเวณลานคนเมือง ปัจจุบัน) ได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งเป็นตลอดของชาวพระนคร  ที่เรียกว่า “ตลาดเสาชิงช้า”  และเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์สำหรับพระนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ขยายถนนให้กว้างขวางขึ้น แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนบำรุงเมือง” สืบมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายบำรุงเมืองให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก พร้อมทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตึกและบ้านเรือนที่อยู่ริมถนนบำรุงเมืองแล้วสร้างขึ้นใหม่ตามแบบที่กำหนด ซึ่งถ่ายแบบมาจากเมืองสิงคโปร์  (สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๑ : ๑๔)   ย่านเสาชิงช้าในสมัยนี้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่กลางพระนคร เป็นศูนย์รวมของสินค้ามากมายเช่น อาหาร เครื่องทอง เครื่องเหล็ก เครื่องอัฐบริขาร

          พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย เกือบถูกยกเลิกไปจากจุดนี้เอง ซึ่งพระยาอนุมานราชธน (สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๑ : ๑๔ - ๑๗) ได้บันทึกเรื่องราวไว้ดังนี้

              

             “...สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระเมตตาตรัสเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยะมหาราช มีพระราชประสงค์จะให้สร้างตึกแถวและตลาดสดขึ้น ณ ที่ซึ่งเป็นบริเวณเสาชิงช้าเดิม ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าบริเวณแถวนั้นคงมีราษฎรปลูกเรือนอยู่รอบ ๆ อย่างเบียดเสียดกัน และคงรกรุงรัง ดั่งที่เรียกกันว่า “แหล่งเสื่อมโทรม” จึงจำเป็นจะต้องรื้อถอนรวมทั้งเสาชิงช้าด้วย ซึ่งตั้งอยู่หน้าโบสถ์พราหม แต่เมื่อรื้อถอนเสาชิงช้าออกแล้วควรจะย้ายไปตั้งที่ใหม่ ณ ที่อื่นหรือว่าควรจะเลิกงานพิธีโล้ชิงช้าเสียทีเดียว ถ้าเห็นว่าควรเลิก เมื้อรื้อเสาชิงช้าออกแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นใหม่ มีพระราชปรารภเรื่องนี้ในที่ประชุมเสนาบดี...พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชมีพระราชวินิจฉัยว่ายังไม่ควรเลิกเสียทีเดียวอย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้ราษฎรมีความสนุกสนาน... ที่ประชุมเสานาบดีจึงประชุมมีดำริให้สร้างเสาชิงช้าใหม่ ตรงกับที่ซึ่งมีเสาชิงช้าตั้งอยู่ ณ บัดนี้...”

               

            ครั้งนั้นบริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับสัมปทานทำป่าไม้ในประเทศไทยจึงได้น้อมเกล้าถวายไม่สักขนาดใหญ่ ๒ ต้น เพื่อให้ทางการได้นำมาสร้างเป็นเสาชิงช้าขึ้นใหม่บริเวณหน้าวัดสุทัศเทพวรารามราชวรวิหาร การสร้างเสาชิงช้าครั้งใหม่นี้ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้งนี้ได้สร้างเสาชิงช้าให้ใหญ่เท่ากับขนาดปัจจุบัน 

           เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. ๒๔๗๕  จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  ประกอบกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ไม่แน่นอนอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกยังผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟยในพระราชสำนักที่มีมาแต่ในรัชกาลที่ ๖   ภาวะการคลังของประเทศเข้าขั้นวิกฤติ  ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น ลดเงินเดือนส่วนพระองค์ ยุบจำนวนทหารมหาเล็ก ยุบ,รวมกรมกองต่าง ๆ ที่ไม่สำคัญ ลด ยกเลิกบำเหน็จ บำนานและจำนวนข้าราชการลง อีกทั้งธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างจึงมีความจำเป็นต้องลดทอนลงตามความเหมาะสม  ทำให้บทบาทของพราหมณ์ในราชสำนักถูกลดลงด้วย 

            สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายด้วยเช่นกัน  เพราะการประกอบพระราชพิธีแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ต้องใช้ในการจัดกระบวนแห่ในพิธี  ทั้งในส่วนเครื่องแต่งกายและค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้เข้าร่วมขบวนแห่พระยายืนชิงช้า  อีกทั้งเป็นพระราชพิธีที่จะต้องกระทำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน  ทำให้ไม่เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น  ดังนั้นใน  พ.ศ. ๒๔๗๗  จึงได้มีการยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายไปในที่สุด 

                พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายถึงแม้ว่าได้ยกเลิกไปแล้ว แต่พราหมณ์ยังคงประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ได้ถูกย่อขนาดลง ไม่ทำอย่างใหญ่โตเหมือนในครั้งก่อน เป็นการทำพิธีภายในเทวสถานเท่านั้น จำนวนวันในการประกอบพิธีถูกลดจำนวนลงจาก เดิมคือ ๑๐ วัน เหลือเพียง ๔ วันเท่านั้น  และไม่มีการโล้ชิงช้าใหญ่  มีการจ่ายเงินให้พราหมณ์ประกอบพิธีเองปีละ ๔๐๐ บาท (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ : ๗๗)

          การประกอบพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายภายยังคงสืบเนื่องมาจนถึงรัชการปัจจุบัน  โดยชุมชนพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์ประจำราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้ประกอบพิธี รวมถึงพราหมณ์ในจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศเช่น นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ฯลฯ ก็ยังคงประกอบพิธีนี้อยู่ด้วย แต่ได้ลดขนาดของพิธีลงตามความเหมาะสม  ไม่ได้ยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์และโบราณราชประเพณีที่ควนจะสืบทอดเอาไปต่อไป  และอาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ไว้ 

           รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. ๒๔๙๓ - ) รัชกาลปัจจุบัน ทรงรับพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ไม่ได้จัดอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พิธีนี้ถูกจัดขึ้นในเดือน ธันวาคม – มกราคม (ศิลปากร, กรม, ๒๕๕๑ : ๒๗๒)

          สืบเนื่องจากการปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าครั้งใหญ่แล้วเสร็จในปี ๒๕๕๑ พระราชพิธีตรียัมปวาย -   ตรีปวายได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ถูกประกอบขึ้นในวันที่ ๒ – ๑๖ มกราคม คือ วันขึ้น ๖ ค่ำเดือนยี่ ถึงวันแรม ๑๖ เดือนยี่  มีการรักษารูปแบบของพิธีกรรม เช่น ลำดับของพิธี บทสวดต่าง ๆ เครื่องใช้ในพิธี การโล้ชิงช้าใหญ่ รวมถึงพิธีโกนจุกให้เหมือนอย่างเดิมแทบทุกประการ (รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๗)  ขาดแต่เพียงขบวนแห่งพระยายืนชิงช้าเท่านั้น เพื่อเป็นการสืบทอดความรู้ของการประกอบพิธีเพื่อสืบต่อยังพราหมณ์รุ่นหลัง  อีกทั้งยังเป็นสืบสารพระราชพิธีสำคัญของแผ่นดินให้อยู่คู่กับลูกหลานสืบไป

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง
 
อ้างอิง
 

ส. พลายน้อย. เรื่องเล่าบางกอก. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๘.

สมมตอมรพันธุ์ ฯ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ, กรมพระ. ประกาศพระราชพิธีเล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร :  องค์การค้าคุรุสภา. ๒๕๐๘.

สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า พุทธศักราช ๒๕๔๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (หนึ่งในกลุ่มบริษัททีม). ๒๕๕๑.

ท.กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์พิเศษ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อัมรินทร์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

ศิลปากร, กรม. สารานุกรมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ ๖๐ ปีแห่งการครองราชย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลากร. ๒๕๕๑. 

 

 
คำสำคัญ (Tags): #เสาชิงช้า
หมายเลขบันทึก: 475528เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2012 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท