บริหารจัดการไม่ได้เรื่อง!!


บางท่านหนักกว่านั้น บ้านก็ไม่ได้ประสบอุทกภัยใดๆ ยังมีน้ำใจในการ รับของแจกหรือถุงยังชีพมาเป็นของตัวเอง

          ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลางเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง เพียงแต่ทุกครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถป้องกันได้ ท่ามกลางความฉิวเฉียดหวาดเสียวไม่แพ้ชาติใดในโลก!

          พ.ศ. 2554 ประเทศไทยเจอภาวะน้ำท่วมจัด อุทกภัยจัดหนักเพื่อชาวไทยทุกคนโดยเฉพาะ ได้รับผลกันถ้วนหน้า ทำให้ย้อนถึงโบราณ กับการสร้างบ้านทรงไทย ยกใต้ถุนสูง สามารถถอดประกอบได้ เรียกว่า ท่านอยากจะไปตั้งรกรากที่ไหน เพียงมีที่ ก็นำบ้านหลังเดิมไปตั้งได้ทันที จะบอกว่าเป็นลักษณะของ “บ้านเคลื่อนที่” ก็คงไม่ผิดนัก!

          ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำมาก ดังนั้น “การก่อสร้างบ้านทรงไทยโบราณจึงเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย” แต่ปัจจุบันท่านผู้ปลูกสร้างบ้านอาจจะลืมนึกถึงเมื่อครั้งอดีตอันรุ่งโรจน์ของไทย เพราะเน้นรับวัฒนธรรมตะวันตก รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จึงทำให้พื้นที่ใต้ถุนสูง เริ่มเตี้ยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็อยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน โดยลืมเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตแทบหมดสิ้น

          และเพราะภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศมาเป็นเวลาช้านาน ชาวไทยจึงเกิดความวางใจ ตามประสา “คนไทยสบายๆ” แล้วเราๆ ท่านๆ ก็ได้สบายใจต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำมาถึง และมีการเตือน ให้เตรียมความพร้อม ก็ยังคงมีบางกลุ่มที่ต่อต้านและก่นด่าว่า “ชอบสร้างปัญหาทำให้แตกตื่น” เตรียมพร้อมเสมอ เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม จำเป็นต้องตระหนักและเตรียมพร้อมตลอดเวลา อย่ารอให้หน่วยงานราชการหรือแม้แต่เอกชนช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

          ไม่มีตื่นตระหนก ไม่เตรียมตัว ไม่วางแผนใดๆ แล้วเมื่อสถานการณ์มาเยี่ยมเยียนแท้จริง ก็เอาแต่กล่าวโทษว่า “ทำไมไม่บอกให้เตรียมตัว มันแย่มากๆ บริหารแบบนี้ได้ยังไง???”

          อือ...เข้าใจครับ เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานก็ต้องโยนความผิดให้กัน ตามภาษาคนไทยไร้รับผิด ถ้าชอบล่ะ...รับไว้ก่อนเลย...จริงหรือไม่?

          ท่านต้องเตรียมความพร้อมให้เต็มร้อย อย่ามัวต่อว่าหน่วยงานต่างๆ ว่า “บริหารจัดการน้ำไม่ดี” เพราะต่อให้ดีอย่างไร ก็ต้องมีผู้เดือดร้อน

          สถานการณ์น้ำท่วม เป็นสถานการณ์วัดใจ สถานการณ์แสดงความเป็นตัวตน ความเห็นแก่ตัวจะออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของ “อาหารบริโภค”

บริหารจัดการปากท้อง

          ใครเงินมากกว่า ย่อมกักตุนได้มากกว่า ก็กักตุนกันไปเถิดครับ! แล้วเป็นอย่างไรบ้างกับการกักตุนอาหารแห้ง ได้รับประทานหมดหรือไม่? หรือต้องจำใจจากออกมาจากบ้านก่อนที่ท่านจะรับประทานให้หมด...

          บางท่านหนักกว่านั้น บ้านก็ไม่ได้ประสบอุทกภัยใดๆ ยังมีน้ำใจในการ รับของแจกหรือถุงยังชีพมาเป็นของตัวเอง แหม...น้ำใจช่างประเสริฐจริงๆ ท่านไม่แบ่งแถมยังแย่ง ไม่ให้ผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริงได้รับถุงยังชีพ น่านับถือครับ! แบบนี้เข้าขั้นที่เรียกว่า “บริหารจัดการปากท้องตัวเองไม่ได้เรื่อง!”

          ที่ว่า “ไม่ได้เรื่อง” ก็เพราะเป็นการบริหารจัดการเรื่องปากท้องที่มากเกินพอดี และมากเกินความจำเป็น เลยส่งผลให้สิ่งของเครื่องใช้ที่ขาดตลาดเพราะกองกำลังมหากาฬเข้ากระชับพื้นที่ กลับยิ่งขาดแคลนหนักขึ้นเรื่อยๆ

          ท่านอาจจะเคยได้ยิน ยุค “ข้าวยากหมากแพง” ช่วงเกิดสงครามข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างล้วนแพงทั้งนั้น สถานการณ์แบบนั้นกำลังหวนกลับคืนมา “โกยได้โกย” เงินมากก็จ่ายได้บ่อย ใครเงินน้อยก็ “งดการจ่าย” ขึ้นกับกระแสของเศรษฐกิจขาขึ้น! (ขาขึ้นก่ายหน้าผาก!) ที่ทุกคนล้วนต้องการตัวรอด จึงทำให้การบริหารปากท้องของตัวเองไม่สมบูรณ์หรือสมบูรณ์เกินความพอดี

บทความโดย TrainerPatt

www.trainerpatt.com

หมายเลขบันทึก: 475112เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 01:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท