เอสเอ็มอีไทย รอดตายอย่างไรในเศรษฐกิจแบบนี้


อยากให้ผู้ประกอบการที่เริ่มไม่มั่นใจในการลงทุนประชาสัมพันธ์หรือพัฒนาสินค้าในปีนี้กลับมาตั้งหลักแล้วพิจารณาทำการบ้านก่อนออกตัวอีกครั้งในปีใหม่ กลยุทธ์ในแบบเดิมที่เคยทำเมื่อตอนเศรษฐกิจเฟื่องฟูอาจใช้ในการเข้าถึงหรือเรื่องลูกค้าไม่ได้ดีเท่าเดิมในภาวะแบบนี้

เดินงานแสดงสินค้าบ่อยจนแทบจะเป็นอาชีพหนึ่งไปแล้ว ไปหาซัพพลายเออร์บ้าง ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ อัพเดตเทรนตลาดบ้าง เดินงานแสดงสินค้าในเมืองไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้หลายงาน รู้สึกโหว่งๆ ที่เห็นคนจับจ่ายใช้สอยน้อยกว่าที่ควรเป็น ถ้ามองในแง่งานที่มีการเจรจาธุรกิจก็เห็นนักธุรกิจชาวต่างชาติเดินน้อยเสียจนเสียดายแทนคนจัด ว่าคงโดนผู้ประกอบการที่คาดหวังการเจรจาธุรกิจต่อว่าบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าในแง่ค้าปลีกมองด้วยตาแล้วก็เห็นคนถือถุงในมือน้อยลงเมื่อเทียบกับงานลักษณะขายปลีกสินค้าแบบนี้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แทบไม่ต้องคิดว่าเมื่อคำนวณ ROI (Return On Investment) ต่อการเปิดบูธจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการส่วนใหญ่แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ในใจในฐานะนักการตลาดและที่ปรึกษาของ SME คนหนึ่งก็อดคิดแก้ปัญหาในมุมของตัวเองว่าถ้าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่เจอผลกระทบกำลังซื้อภายในประเทศลดลง น้ำมันอยู่ในสภาวะไม่แน่นอนในแบบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เสถียรภาพของรัฐบาลในประเทศก็ถูกสั่นคลอนจากม็อบหรือการชุมนุมประท้วงตลอด เพราะถึงเวลาที่รัฐบาลทำงานมาพอสมควรที่จะทวงถามถึงนโยบายประชานิยมหลายอย่างที่หาเสียงไว้แล้ว เศรษฐกิจยุโรปมีปัญหา ค่าเงินดอลล่าร์ก็อ่อนค่าลงเรื่อยๆ แล้วในฐานะผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็กต้องทำอย่างไร ค้าขายตรงไหน กับใครที่จะพอทำให้กิจการประคองตัวและยังทำกำไรไปได้ท่ามกลางปัจจัยความผันผวนหลายอย่างรอบๆ ตัว

อยากให้ผู้ประกอบการที่เริ่มไม่มั่นใจในการลงทุนประชาสัมพันธ์หรือพัฒนาสินค้าในปีนี้กลับมาตั้งหลักแล้วพิจารณาทำการบ้านก่อนออกตัวอีกครั้งในปีใหม่ กลยุทธ์ในแบบเดิมที่เคยทำเมื่อตอนเศรษฐกิจเฟื่องฟูอาจใช้ในการเข้าถึงหรือเรื่องลูกค้าไม่ได้ดีเท่าเดิมในภาวะแบบนี้ ทางไหนเป็นทางใหม่หรือทางเก่าที่เคยทำได้สำเร็จเมื่อช่วงฟองสบู่แตกรอบที่แล้วอาจลองนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้เวลาช่วงหนึ่งกับการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของกลุ่มสินค้าที่มีอยู่ในธุรกิจว่าตัวไหนยังเป็นตัวทำเงิน ตัวไหนสามารถนำกลับมาทำใหม่ หรือต้องพัฒนาสินค้าไหนเพิ่มเติมให้เหมาะกับภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยให้ความสำคัญกับ ROI ของแต่ละโครงการที่คิดจะทำจะลงทุนเพิ่มเติม ระแวดระวังและรอบคอบให้มากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะ 1 บาทกับการลงทุนในวันนี้อาจจะไม่ได้ให้ผลเป็น 1.5 บาทขึ้นไปเหมือนช่วงเศรษฐกิจเฟื้องฟู

ที่น่าอุ่นใจอยู่บ้างคือมีหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประกอบการด้วยเงื่อนไขที่พิเศษกว่าในภาวะปรกติ เพียงแต่ตัวผู้ประกอบการเองต้องวิเคราะห์โอกาส ความเสี่ยง จุดแข็ง จุดอ่อนในสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเองให้ได้ก่อนเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 474194เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2012 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท