กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๕๑) : สนุกกับกลโคลง (๒)


 

โคลงประดิดเดกเหล้นบทที่นำมาเรียนไม่ปรากฏนามผู้แต่ง  บ้างก็ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามใหม่

 

และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรสรรพวิทยาการมาจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ตามเสาพระระเบียง ผนังพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลารายรอบวัด ทั้ง ๑๖ หลัง โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดตำรายา ตำรานวด ฤษีดัดตน ตำนาน ประวัติศาสตร์ การปกครอง วรรณคดี สุภาษิต เป็นต้น  เพื่อเปิดโอกาสให้กุลบุตรได้เข้ามาเรียนรู้ได้โดยเสรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย

 

โคลงกลบทจัดอยู่ในหมวดวรรณคดี จารึกอยู่ที่เสาข้างประตูพระระเบียงพระอุโบสถชั้นนอก  ศิลาจารึกแผ่นที่มีตัวโคลงประดิดเดกเหล้น ปรากฏอยู่ที่พระระเบียงทิศตะวันออกประตูที่ ๑ ด้านซ้าย  โคลงที่จารึกอยู่บนศิลาแผ่นเดียวกัน ได้แก่ โคลงจัตวาทันทีโท  โคลงประดิดนักเลง  โคลงประดิดคนเขลา และมีโคลงประดิดเดกเหล้น จารึกไว้ตรงตำแหน่งล่างสุด

 

ในช่วงออกแบบแผนการเรียนรู้ คุณครูผู้สอนช่วยกันทบทวน met before ของผู้เรียนแล้วก็พบว่ามีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอที่จะเรียนรู้กลโคลง ดังนั้น ครูจึงต้องกลับไปช่วยให้นักเรียนทั้งห้องเกิดความเข้าใจในฉันทลักษณ์ของโคลงเสียก่อน ฉะนั้น ในขณะที่นักเรียนกำลังเรียนคำโคลงโลกนิติ ครูต้องจัดเวลาให้นักเรียนได้เรียนรู้ฉันทลักษณ์ของโคลง และต้องมั่นใจว่านักเรียนทั้งห้องรู้จักฉันทลักษณ์โคลง

 

met before อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ นักเรียนต้องมีคลังคำซ้อน ๒ พยางค์ และ ๔ พยางค์ ฉะนั้น ครูต้องดึงคลังคำที่นักเรียนมีอยู่ออกมาให้มากที่สุด และนำคลังคำเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยการวางบันไดการเรียนรู้ไว้เป็นลำดับขั้นว่า

 

-          ให้นักเรียนดูภาพแล้วนำเสนอคำจากภาพออกมา

-          แต่งเติมให้คำเหล่านั้นกลายเป็นคำซ้อน ๒ พยางค์

-          ทำคำ ๒ พยางค์ให้กลายเป็นช่อคำที่มี ๔ พยางค์

 

ในขั้นของการเล่นกับช่อคำที่มี ๔ พยางค์นั้นเป็นเรื่องยาก ครูจึงต้องวางทางเดินให้

 

คุณครูตั๊ก – รัตดารา คุณครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยช่วงชั้นที่ ๑ แบ่งปันประสบการณ์ว่า ที่ช่วงชั้นมีการสร้างแบบฝึกขึ้นมาเป็นเล่ม ให้นักเรียนเล่นกับคำที่เป็นคำซ้อน ตั้งแต่คำ ๒ พยางค์ แล้วต่อให้เป็น ๔ พยางค์  พร้อมทั้งตั้งคำถามว่ากับนักเรียนชั้น ๕ จะฝึกอย่างไรดี

 

ดิฉันจึงเกิดความคิดว่า เราน่าจะเอาช่อคำ ๔ พยางค์ ที่มีความไพเราะมาให้นักเรียนได้เล่นกับคำ และเดินทางไปกับมนต์ของคำ จนกระทั่งคุ้นเคยกับสัมผัส และจังหวะของเสียงคำ เพื่อให้นักเรียนพาตัวเองเดินทางเข้าไปในทางเดินของกลโคลงประดิดเด็กเหล้นที่มีช่อคำ ๔ พยางค์เป็นมีหัวใจของโคลง

 

ทุกคนจึงช่วยกันนำคำ ๔ พยางค์ ที่มีเสียงสัมผัสระหว่างคำที่ ๒ และ ๓ และลองสลับที่คำตามทางเดินที่กลโคลงบังคับไว้ ไปลองคลี่ดูทีละช่อ ก็พบกับความอัศจรรย์ว่า ไม่ใช่ว่ทุกช่อคำที่ไพเราะจะสามารถนำมาสลับที่กันแล้วลงตัวพอดีกับตัวกลโคลง แต่เมื่อได้ช่อคำที่มีมาแล้วก็ยังต้องเฟ้นหาเฉพาะช่อคำที่สลับที่คำแล้วมีความงามหมดจดทั้ง ๔ บท และเมื่องามแล้วยังจะต้องเลือกใช้เฉพาะที่มีความเหมาะสมกับคำกระทู้ และคำ ๒ พยางค์ ที่เลือกมาใช้ดำเนินเรื่องด้วย

 

ดังนั้น กระบวนการลองผิดลองถูก การสร้างความรู้ และการคิดสร้างสรรค์ จึงทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ สุดท้ายจึงปรากฏผลออกมาเป็นการสร้างสุนทรียภาพด้วยเสียงและลีลาของคำ เมื่อครูประจักษ์ด้วยตัวเองดังนี้แล้ว จึงสามารถที่จะประสิทธิ์ประสาทและสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้แก่ศิษย์ได้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 474114เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2012 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สรุปว่า ผู้แต่งคือครูใช่ไหมครับ

วิจารณ์

โคลงบทที่นำมาให้เรียนนี้ เป็นบทที่ครูโบราณที่มีชีวิตร่วมสมัยกับการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ครั้งใหญ่แต่งเอาไว้แล้วจารึกไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวค่ะ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท