มนุษย์กับการเรียนรู้ คาบเรียนที่ 6


เมื่อวาน (ศุกร์ที่ 6 มกราคม 2555) เป็นท้ายสุดที่ผมเข้าสอนก่อนจะเข้าช่วงสอบกลางภาค (7-15 มกราคม) มีนิสิตเข้าเรียนเพียง 28 คน จาก 100 คน.... เหตุการณ์ดังกล่าวนี้กลายเป็น "วัฒนธรรม" ของทั้งอาจารย์และนิสิตไปแล้ว ผมขอเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "เกรงใจในระบบ" มักเกิดตอนเปิดเรียนอาทิตย์แรก ช่วงก่อนสอบ หรือหลังสอบ หรือก่อนหยุดยาว หรือหลังหยุดยาว

คาบเรียนที่ 4 เป็นคาบเรียนหลังจากที่ให้นิสิตไปฟังหลวงพ่อปราโมทย์ คราวนั้นได้มอบโจทย์ให้นิสิตเขียนเรียงความสรุป เกี่ยวกับธรรมะที่ได้ฟังวันนั้น หากใครยังไม่ได้ฟังก็ให้เข้าไปฟังอีกรอบได้ที่นี่

คาบเรียนที่ 5 ตั้งใจว่าจะเข้าไปสอนเรื่อง "หลักการพื้นฐานของจิตตปัญญาศึกษา" แต่ดูเหมือนว่า นิสิตจะยังไม่พร้อม อาจาารย์ (ผมเอง) ก็ไม่พอ เลยขอให้นิสิตรอมาเรียนในคาบที่ 6 นี้ วันนั้นเราทำกิจกรรม "จั้มการคิด" คือไม่ให้จิตคิด อ่านรายละเอียดกิจกรรมได้จากที่นี่

ก่อนจะสอน (แบบบรรยาย) ผมทำกิจกรรม นำสติรวบรวมสมาธิอย่างมีส่วนร่วมด้วยกิจกรรม "นับตบให้ครบถ้วนโดยต้องนับทวนเมื่อทำผิดหรือทำพร้อม" ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมแรกให้นิสิตแต่ละคนนับลำดับตัวเอง ใครอยู่ลำดับ 3 หรือ 7 หรือที่ลงท้ายด้วย 3 หรือ 7 ให้ปรบมือแทนการออกเสียง กิจกรรมที่สองให้นิสิตช่วยกันนับจำนวนนิสิตทังหมด คนหนึ่งนับได้หมายเลขเดียว คนที่นั่งข้างกันห้ามนับตัวเลขติดกัน โดยไม่บอกว่าใครจะเริ่มก่อนหลัง นิสิตต้องคอยฟังและเดาใจเพื่อนคนอื่น เพราะถ้าเปล่งเสียงนับขึ้นมาพร้อมคนอื่น จะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ทันที 

อยากให้นิสิตที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ สะท้อนว่า "ได้" หรือ "เห็น" อะไรบ้างจาก 2 กิจกรรมนี้ 

ต่อจากกิจกรรม ผมนำเข้าสู่บทเรียน ด้วยการย้ำเตือนในนิสิตเข้าใจ ว่าเรากำลังเรียนแบบ "คิด" เพื่อจะให้จิต "รู้" โดยยกคำสอนของหลวงปู่ชา คำว่า "ลูบคลำ" (ผมไม่ได้บอกพวกเขาว่าเป็นคำสอนของใคร ด้วยเพราะกังวลในใจว่าพวกเขาจะไม่ยินดี หากมีแต่พูดเรื่องพระ)  ผมเล่านิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง ผมสาธิตการ "ลูบคลำ" ด้วยการทำทีเดินไปเตะเอาขอบโต๊ะอย่างจัง แล้วต้องนั่งลง "ลูบคลำ" ว่าเจ็บซ้ำตรงไหน อธิบายอุปมาอุปมัยเหมือนที่หลวงปู่ชาแก้ข้อสงสัยของพระลูกศิษย์ฝรั่งทั้ง 3 ฟังได้ที่นี่ ว่า ที่ต้อง "ลูบคลำ" เพราะยังไม่รู้ ความอยากรู้ในเรื่องที่ยังไม่ "แจ้ง" จึง "สงสัย" ฉันใดก็เช่นกัน "หลักการพื้นฐาน" ที่ผมจะสอนต่อไปนี้ ก็เป็นเพียงการ "ลูบคลำ" 

ผมเริ่มบรรยายตาม เพาเวอร์พอยท์ ที่ทีมผู้สอนช่วยกันทำมา โดยไม่ผิดแม้แต่นิด แต่ที่รู้สึกผิดก็คือ ผมผู้สอนเองยัง "จำไม่ได้" ถึงสิ่งที่พวกเราเองรวบรวมไว้ในหนังสือ (ผมว่าวงการศึกษาในปัจจุบัน มีลักษณะเหมือนกันนี้ไม่น้อยทีเดียว) ผมบอกนิสิตให้เรียนเหมือน คนๆ หนึ่งที่ถูกส่งไปเรียนด้วยความหวังของคนข้างหลัง ยังประเทศที่ใช้ภาษาที่เขาไม่รู้ สิ่งที่เขาทำได้ก็เพียง ดู ฟัง ดมกลิ่น ชิม สัมผัส และลงมือปฏิบัติ อย่างใคร่ครวญด้วยใจ ซึ่งต้องใช้สติ สมาธิ ถึงจะทำให้เขาเกิดปัญญาที่ปรารถนาทั้งทางโลกและทางธรรม 

หลักที่ปราญช์คิดสังเคราะห์ไว้ มี 2 แท่ง คือหลักแห่งความเป็นมนุษย์ และหลักแห่งองค์รวม......หากให้ผมวิจารณ์ คนคิดแบ่งและแสดงไว้คง แปลออกมาจาก 2 หลักคือ หลักความดีงาม และหลักแห่งความจริง หรือมองจากสองมุมคือ คนกับธรรมชาติ หรืออาจคิดประหลาดจากการแบ่ง ความรักออกจากทรัพยกร ก็อาจเป็นได้..... ดังนั้น อย่าได้ไปใส่ใจกับ "ทฤษฎี" ใดๆ มากนัก..... สิ่งเหล่านี้ทางพุทธเราเรียกว่า สีลัพพตปรามาส  ถ้าฉลาดเราจะไม่ยึดติดกับมัน 

ฉันใดก็เช่นกัน หลัก 7 C's ก็ไม่ควรยึดไว้ แต่ควรใส่ใจเรียนรู้นำมาพิจารณา ใคร่ครวญด้วยใจของทุกผู้หมู่คน 

หมายเลขบันทึก: 473753เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

๐ ตาดีย่อมพบพ้อง ......... ปัญญา
ขบคิดพิจารณ์หา ........... เหตุรู้
กิจกรรมสื่อออกมา ......... มองอย่าง ซึ้งแฮ
ถึงยากหากยังสู้ ............. สบข้อความหวัง

๐ สั่งใจอย่าเกียจคร้าน ..... ขยันเรียน
ครูท่านตามต่อเพียร ........ เพิ่มให้
นิสิตคิดหันเหียน ............ เหิ่มจิต ฤาแม่
เอเกรดบ่กลายใกล้ .........  กลับเศร้าเสียศรี

๐ มีครูคอยชี้แนะ ........... แนวทาง
ดีกว่าเดินหลงทาง .......... ทุกก้าว
รีบเร่งอย่าเผลอพลาง ...... เพลินเล่น สนุกพ่อ
คราสอบจะปวดร้าว ......... ลอบเร้นลอกเขา

๐ เราเองก็เก่งกล้า .......... หากขยัน
พลาดผิดย่อมมีกัน .......... ทุกผู้
เพียงจิตคิดเท่าทัน .......... ทางถูก ต้องแม่
ทุกสิ่งบ่เกินกู้ ................ กลับร้ายกลายดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท