โครงการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย


          วันที่ ๑๗ ธ.ค.๕๔ ผมไปร่วมประชุมพิจารณาโครงร่างคู่มือปฏิบัติการของโครงการที่มี ศ. พ.ญ.พรสวรรค์วสันต์เป็นหัวหน้าและมีทีมงานจาก ๘ โรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศจริงๆแล้วผมไปเรียนรู้ว่าสสส.ได้สนับสนุนโครงการ ๓ ปีโครงการนี้ที่ผมฝันอยากเห็นมา ๔๐ ปีเพิ่งเป็นจริง

          โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.

          ในด้านความรู้ทางเทคนิคหรือทางวิชาการเกี่ยวกับเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทยเราไม่ล้าหลังประเทศใดคือเราตามความก้าวหน้าได้ดีและให้การปฏิบัติดูแลผู้ป่วยที่มารับบริการเป็นรายๆได้ดี เนื่องจากเรามีนักวิชาการในโรงเรียนแพทย์และศูนย์การแพทย์ระดับตติยภูมิที่เก่งมากแต่ในเชิงระบบแล้วเราอ่อนแอมากหรือไม่มีการจัดระบบที่ดีไม่มีกลไกให้พัฒนาระบบเพื่อประโยชน์ของพลเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการป้องกันดังกรณีภาวะปัญญาอ่อนจากการขาดสารไอโอดีนซึ่งการป้องกันทำง่ายและได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เราก็ยังมีปัญหานี้

          โครงการนี้มีเป้าหมายพัฒนาระบบข้อมูล/จดทะเบียนผู้พิการแต่กำเนิดที่เมื่อฟังจากทีมงานจากสปสช.แล้วน่าจะบูรณาการข้อมูลความพิการ (แบบไม่ลงรายละเอียด) เข้าไปได้โดยใส่ในเอกสารการเกิดซึ่งจะทำให้ข้อมูลนี้เข้าไปอยู่ในทะเบียนบุคคลที่มีหมายเลข ๑๓ หลักของมหาดไทยและระบบข้อมูลของสปสช.เชื่อมโยงอยู่แล้วดังนั้นระบบจดทะเบียนผู้พิการแต่กำเนิด (birth defect registry – BDR) ต้องหาทางให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเอกสาร การเกิดซึ่งทีมงานของ ศ. พญ.พรสวรรค์ ต้องหาทีมงานเพิ่มจากคนที่ทำงานด้านพัฒนาระบบข้อมูลการเกิดอยู่แล้ว หาทางทำให้ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตกผลึกเป็นวิธีการและข้อมูลง่ายๆบูรณาการเข้าไปในทะเบียนบุคคล

          เป้าหมายที่สองและสามของโครงการคือรูปแบบการป้องกันและรูปแบบการดูแลผู้พิการแต่กำเนิดที่ใช้ได้ในระบบสุขภาพของประเทศก็เป็นกระบวนการหาทางทำให้ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตกผลึกเป็นวิธีการง่ายๆที่เหมาะสมต่อการบูรณาการในระบบสุขภาพระดับชุมชนและระดับบริการปฐมภูมิ

          ผมไปพบแชมเปี้ยนของกระบวนการสานพลังของนักวิชาการระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาร่วมกันทำงานเพื่อสร้างระบบบริการด้านความพิการแต่กำเนิดให้แก่ประเทศแชมเปี้ยนท่านนี้คือนพ.มานิตย์ประพันธ์ศิลป์แห่งสสส.งานนี้ต้องใช้ความอดทนและใช้เวลาโดยต้องปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญคิดกันเอง อ. หมอมานิตย์ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ต่อการคิดเชิงระบบเชิงการบูรณาการเทคนิคชั้นสูงเข้าสู่ระบบที่ทำได้ในระดับชุมชนหรือบริการปฐมภูมิที่ต้องทำให้เทตนิคชั้นสูงกลายเป็นเทคนิคง่ายๆ

          ผมไปเห็นกระบวนการ change management หลายชั้นซ้อนกันอยู่ ทั้งที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลง (พัฒนา) ระบบดูแลผู้พิการแต่กำเนิดที่ทั่วถึงและไม่แพง ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระบบสุขภาพ ให้ทำงานพัฒนาภาพใหญ่เป็น คือคิดและปฏิบัติเชิงการจัดการระบบเป็น นอกเหนือจากจัดการดูแลผู้ป่วยเป็นรายๆ

          ผมไปเห็นมิติของความเป็นมนุษย์ ที่การทำงานรวมทีม ๘ โรงเรียนแพทย์ต้องมีการรอมชอมอดทนต่อกัน เพื่อทำงานระยะยาวที่มีเป้าหมายร่วมกันได้ คือเพื่อเป้าหมาย ๓ ข้อข้างบน

          อ.หมอมานิตย์ ชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้มี ๒ ส่วนซ้อนกันอยู่ คือส่วนพัฒนา (ระบบ) กับส่วนวิจัย ส่วนหลัง เป็นกิจกรรมที่อาจารย์แพทย์ (หมอเด็ก หมอสูติ นักพันธุศาสตร์) เหล่านี้ชำนาญและชอบ ส่วนแรกเป็นส่วนที่ท่าน เหล่านี้ไม่ถนัดแต่ก็มีใจอยากทำให้แก่สังคม เป็นจิตใจสูงส่งน่าสรรเสริญยิ่งนักในสายตาของผม แต่ก็ไม่ควรคาดหวัง การลงเวลาและลงแรงมากนักจากท่านเหล่านี้ในงานส่วนแรก ผมจึงคิดว่าน่าจะหา partner มาทำส่วนแรกในลักษณะที่ เข้าไปทำงานเชื่อมระหว่างระบบที่มีอยู่แล้วกับวิชาการของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ โดยตามแผนของ อ. มานิตย์ เป็นงานของ สปสช.

          โครงการนี้มีลักษณะเป็นโครงการนำร่องใน ๑๘ จังหวัด รับผิดชอบโดย ๘ ทีม จากแต่ละโรงเรียนแพทย์ทั่ว ประเทศ จึงต้องมีการตกลงวิธีทำงานที่นำข้อมูลมารวมหรือเปรียบเทียบกันได้ การประชุมในวันที่ ๑๗ ธ.ค. ๕๔ ช่วงที่ผมอยู่ร่วมประชุมยังปนๆ กันระหว่างงานส่วนพัฒนากับส่วนวิจัย ยังไม่แยกกันชัดเจน ผมหวังว่าการช่วย แนะนำและ facilitate วิธีคิดเชิงระบบของ อ. หมอมานิตย์ จะช่วยให้นักวิชาการเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกลุ่มนี้ได้ทำงาน ด้านกว้างเชิงระบบให้แก่ประเทศสำเร็จสมตามปณิธาน

          ที่สำคัญมากคือ ประสบการณ์ของท่านเหล่านี้ จะนำไปสู่การคิดกำหนดทักษะหรือ competencies ของแพทย์ที่จะออกไปทำงานในระบบสุขภาพยุคใหม่ ตามแนวทาง Health Professional Education for the 21st Century

 

 

วิจารณ์  พานิช

๒๑ ธ.ค. ๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 473526เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2012 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • 
  • ผมไปประชุมที่มหิดล
  • ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดเรื่องการประชุม
  • อันนี้ด้วยครับ
  • 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท