อริยะวาทะ


ถอดอริยสัจจากพุทธาจาโรวาท

พระองค์มุ่งหวังให้คนเราปฏิบัติบูชาภาวนา ไม่ได้มุ่งหวังให้มาติดมาข้องมาลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับความโกรธ ความโลภ ความหลง ต้องการให้พวกเราปฏิบัติกาย ปฏิบัติวาจา  ปฏิบัติดวงจิตดวงใจของตน ด้วยการภาวนามีพุทโธๆ เป็นต้น หรืออุบายอื่นใด เมื่อเราเอามานึกมาเจริญแล้ว พาให้จิตใจสงบตั้งมั่นจนเกิดปัญญา จนเกิดญาณความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เพื่อจะได้ละกิเลสความโกรธ โลภ หลง อันมีอยู่ในจิตในใจของตนนี้ให้หมดสิ้นไป จุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าก็มีอย่างนี้...

 

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาตรัสมาสอนก็ตาม ก็สอนให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ละกิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลง อันเก่านี้แหละ แต่จิตใจนั้นเป็นของแต่ละบุคคล เมื่อผู้ใดปฏิบัติภาวนาบารมีเต็มแล้ว ก็รู้แจ้งพระนิพพาน

 

การภาวนาไม่ใช่เป็นของหนัก เหมือนแบกไม้หามเสา เป็นของเบาที่สุด นึกภาวนาบทใดข้อใด ก็ให้เข้าถึงจิตถึงใจ จนจิตใจผ่องใสสะอาด ตั้งมั่นเที่ยงตรงคงที่อยู่ภายในจิตใจของตน  ใจก็สบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย ยืนไปมาที่ไหนก็สบายทั้งนั้น ในตัวคนเรานี้เมื่อจิตใจสบาย กายก็พลอยสบายไปด้วย อะไรๆ ทุกอย่างมันก็สบายไป มันแล้วแต่จิตใจ

 

คนดีก็เรียกว่าคนมีสติ คนไม่ดีก็คนไม่มีสตินั้นเอง

 

อันกิเลสในใจมนุษย์คนเราทุกๆ คนนั้น ผู้อื่นจะไปละไปถอน ไปปล่อยวางให้ไม่ได้ ผู้อื่นทำเพียงแต่ว่าแนะนำตักเตือน ผู้จะปฏิบัติจริงๆ ก็คือจิตใจของเราทุกคนนั้นเอง ตั้งใจบริกรรมภาวนาทำใจให้ตั้งมั่น

 

มรณกรรมฐานนี้ พระองค์กำชับนักหนาว่า สาวกทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงนึกภาวนา ให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก แม้เราตถาคต ก็นึกถึงมรณะความตาย ได้ทุกลมหายใจเข้าออก

 

เราจะต้องตายหนีความตายไปไม่พ้น ใครจะหลบหลีกไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร มีอะไรแก้ไขไม่ให้ความตายมาถึงตัว ในชั่วภายในร้อยปีนี้ ดูจะเป็นไปไม่ได้

 

ความตายนี้มันไล่ติดตามตัวเราอยู่เสมอ ท่านเปรียบอุปมาเหมือนหมาไล่เนื้อ ตามทันที่ไหนมันก็กัดเอาให้เนื้อนั้นตายฉันใด มรณความตายที่ตามเราท่านทั้งหลายมาตั้งแต่เกิด เกิดมาแล้วมันตาย มันไล่มา เท่ากันกับว่าเนื้อมันยังแข็งแรงอยู่ สุนัขมันไล่ยังไม่ทัน มันทันเวลาไหนก็เอาเนื้อนั้นตายที่นั่น ไม่เลือกสถานที่

 

จิตใจลุ่มหลง  มัวเมา ดีใจ เสียใจ โกรธให้สิ่งนั้นต้องมาพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งนั้นมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไปโกรธทำไม ไปโลภทำไม ไปหลงทำไม เพราะสิ่งทั้งหลายคนก็ตามสัตว์ก็ตาม มีความเกิดขึ้นชั่วระยะกาลหนึ่ง แล้วมันก็แตกดับไปตามธรรมดาอย่างนั้นเอง

 

อย่าไปนิ่งนอนใจ ลุกขึ้นตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญภาวนา อย่าให้มีความท้อถอยประการใด เมื่อจิตของเราไม่มีความท้อแท้อ่อนแอท้อถอยแล้ว ความเพียรตั้งลงไป ธรรมอันใดปฏิบัติอย่างไร ภาวนาบทใดก็ตาม ท่านให้มีความพากความเพียร เอาใจใส่ในสิ่งนั้นๆ ตลอดกาล ตลอดเวลา ทุกขณะทุกเวลา ไม่ให้พลั้งเผลอ พลั้งเผลอไปแล้วก็แล้วไป ตั้งจิตตั้งใจขึ้นมาใหม่

 

ความตายใกล้เข้ามาแล้ว เราใกล้เข้ามาแล้วซึ่งความตาย ไม่ควรประมาท ไม่ควรมัวเมา ไม่ควรไปดีใจเสียใจ กับเรื่องภายนอก เรื่องภายในเป็นเรื่องสิ่งสำคัญ ดวงใจของเรานี่แหละสำคัญกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหมด

 

สู้ด้วยการละทิ้ง อย่าไปยึดเอาถือเอา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา เสียงไม่ดีเข้าหูก็เพียรละออกไปให้มันหมดสิ้น มนุษย์มีปาก ห้ามมันไม่ให้พูดไม่ได้ มนุษย์มีตา ห้ามไม่ให้มันดูไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก ท่านจึงตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันเป็นความร้อน ความร้อน คือกิเลส กิเลสเหมือนกับไฟ ไฟมันเป็นของร้อน

 

วันคืนเดือนปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่าวันคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคลหมดไปสิ้นไป มันหมดไปทุก ลมหายใจเข้าออกฉะนั้น ภาวนาดูว่า วันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่ ทำบุญหรือทำบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนาใจสงบหรือยัง

 

ความเที่ยงแท้แน่นอนในโลกนี้ จะเอาที่ไหนไม่มี ผู้ปฏิบัติจงรู้เท่าทัน รู้เท่านั้นแล้วก็ปล่อยว่าง อย่าเข้าไปยึดไปถือ อย่าไปยึดว่าตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ตัวเราของเรา เราเป็นนั้นเป็นนี้ ตัวเราของเราไม่มี มีแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีแต่หลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งโลก

 

เท่านี้คงจะพอสำหรับผู้พอจะมีบารมีเห็นความจริงตามหลักที่แท้จริงได้นะครับ...ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่จำเป็นต้องรู้มากหรอก...แต่ขอให้รู้ให้ละเอียด...รู้ให้ลึก ...รู้ให้รอบ...แค่นี้ก็พอ

คำสำคัญ (Tags): #มหาสารคาม22
หมายเลขบันทึก: 473265เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2012 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

เนื้อความยาวใช้ได้เลยนะครับเนี่ย ;)...

ขอบพระคุณครับท่าน ;)...

ขอบคุณคำชี้แนะครับอาจารย์ Wasawat...

นมัสการพระคุณเจ้า

สาธุ สำหรับบันทึกนี้ครับ

ยินดีที่ได้แบ่งปัน..เช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท