วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : 41. ประชาพิจารณ์ร่างคำจำกัดความและแนวทางประเมิน


จะเป็นสภาพอุดมคติหากผลงานวิชาการรับใช้สังคมชิ้นหนึ่ง มีผู้ร่วมมือกัน ๔ คน เป็นนักสังคมศาสตร์ ๑ นักเทคโนโลยี ๑ นักเคมี ๑ และนักชีววิทยา ๑ มีการเก็บข้อมูลภาพรวม และแต่ละคนเก็บข้อมูลเฉพาะด้านของตนและ วิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้เชิงวิชาการในสาขาของตนที่ได้จากการทำโครงการเขียนรายงานเผยแพร่แยกคนละรายงาน หรือเขียนเป็นรายงานเดียวแต่แยกคนละตอนอย่างเด่นชัด ในกรณีเช่นนี้แต่ละท่านก็จะได้ผลงานตามสาขาวิชาของตน จากการทำงานรับใช้สังคมโดยใช้ความรู้หลายสาขาวิชามาทำร่วมกัน

วิชาการสายรับใช้สังคมไทย  : 41. ประชาพิจารณ์ร่างคำจำกัดความและแนวทางประเมิน

เมื่อวันที่ ๒๐ - ๒๑ ธ.ค.​ ๕๔ มีการประชุมคณะทำงานยกร่างคำจำกัดความและการประเมิน “ผลงานวิชาการรับใช้สังคม” ของ สกอ.   ผมได้รับเชิญแต่ไปร่วมไม่ได้   มีคนส่งร่างมาให้ดังนี้     

 

                                     เอกสารประกอบการประชุม 3

 

คำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ลักษณะการเผยแพร่และผลงานทางวิชาการ

ที่จำแนกตามระดับคุณภาพ

 

 

ผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม

คำนิยาม

 

 

 

 

 

 

รูปแบบ

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่เกิดขึ้นโดยใช้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง และปรากฏผลลัพธ์ที่สามารถประเมินได้เป็นรูปธรรมโดยประจักษ์           ต่อสาธารณะ

     ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนี้ต้องเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่งเกี่ยวกับ ชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ  การเมืองการปกครอง  คุณภาพชีวิต หรือสุขภาพ  

 

จัดทำเป็นเอกสาร  โดยมีคำอธิบาย/ชี้แจงโดยชัดเจนประกอบผลงานนั้น                เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นผลงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเสริมสร้างความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาหนึ่งๆ หรือหลายสาขาวิชาได้อย่างไร ในแง่ใด โดยต้องปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในประเด็นต่อไปนี้

  • การมีส่วนร่วมและการยอมรับของสังคมเป้าหมาย
  • สภาพการณ์ปัจจุบันก่อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
  • ความรู้หรือความเชี่ยวชาญที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น
  • การคาดการณ์สิ่งที่ตามมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
  • การประเมินผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • แนวทางการติดตามและธำรงรักษาพัฒนาการที่เกิดขึ้นให้คงอยู่ต่อไป

 

          ทั้งนี้ นอกจากเอกสารแสดงผลงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว  อาจแสดงหลักฐานเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับผลงาน เช่น รูปภาพ หรือการบันทึกเป็นภาพยนตร์ หรือแถบเสียง หรือวีดีทัศน์ ประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำจำกัดความของผลงานทางวิชาการ ลักษณะการเผยแพร่และผลงานทางวิชาการ

ที่จำแนกตามระดับคุณภาพ

 

 

ผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม

การเผยแพร่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ลักษณะคุณภาพ

 

เผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สอดคล้องกับลักษณะของผลงาน  เช่น

     ๑. การจัดเวทีนำเสนอผลงานในพื้นที่ หรือการเปิดให้เยี่ยมชมพื้นที่

     ๒. การเผยแพร่โดยการจัดนิทรรศการ การจัดแสดง การจัดการแสดง หรือโดยมีการคงนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย

     ๓. การเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนที่หลากหลาย (Mass Media)

     ๔. เผยแพร่ในรูปของบทความทางวิชาการหรือบทความวิจัยในวารสารทางวิชาการ     ทั้งนี้วารสารทางวิชาการนั้น อาจเผยแพร่เป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน

     ๕. เผยแพร่ในหนังสือรวมบทความทางวิชาการหรือบทความวิจัยในรูปแบบอื่นที่มีการบรรณาธิการประเมินและตรวจสอบคุณภาพ

     ๖. นำเสนอต่อที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติซึ่งมีการบรรณาธิการและนำไปรวมเล่มเผยแพร่ในหนังสือประมวลผลการประชุมทางวิชาการ (Proceedings)         หรือเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน

 

ระดับดี  มีการรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศที่ชัดเจน  มีการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  หรือทำความเข้าใจสถานการณ์  จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ หรือก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนหรือ          สังคมนั้น 

ระดับดีมาก  ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดี   และต้อง

  1. สามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา หรือทำความเข้าใจสถานการณ์  จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์ หรือก่อให้เกิดการพัฒนา ให้กับสังคมอื่นได้ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับจังหวัดหรือประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
  2. เป็นผลงานที่เป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ

ระดับดีเด่น   ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับดีมาก และต้องส่งผลกระทบต่อสังคมหรือแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวาง  เป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ หรือได้รับรางวัลจากองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น UNESCO    WHO    UNICEF  เป็นต้น

 

 

 

 

 

ลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ

 

๓.๑ …

 

๓.๒ …

๓.๓ ในกรณีผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม ซึ่งมีการดำเนินงานเป็นคณะ ให้ระบุบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในผลงานนั้นของผู้ร่วมงานทุกคน และบทบาทหน้าที่หลักของผู้ขอกำหนดตำแหน่ง โดยให้ผู้ร่วมงานทุกคนลงนามรับรอง ทั้งนี้  อาจไม่ต้องระบุสัดส่วนการมีส่วนร่วมเป็นร้อยละ        ก็ได้

๓.๔ …

๓.๕ …

 

แนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม

 

แนวทางการกำหนดสาขาวิชาที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

         ให้ระบุชื่อสาขาวิชาที่จะแต่งตั้ง โดยระบุชื่อสาขาวิชาที่แสดงความรู้ความเชี่ยวชาญหลักของผู้ขอ และต่อท้ายด้วย “เพื่อรับใช้สังคม”  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะในกระบวนการศึกษาและสร้างผลงานที่แก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคม  เช่น  สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคมเพื่อรับใช้สังคม   สาขาวิชาปฐพีวิทยาเพื่อรับใช้สังคม   สาขาวิชานิติศาสตร์เพื่อรับใช้สังคม  เป็นต้น

 

แนวทางการรับรองการใช้ประโยชน์ต่อสังคม

         ให้มีการรับรองการใช้ประโยชน์ต่อสังคมของผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

         ๑. ให้สถาบันอุดมศึกษาหรือคณะ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่รับรองการใช้ประโยชน์ต่อสังคมของผลงานทางวิชาการรับใช้สังคมนั้น

         ๒. ผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่งแสดงหลักฐานการรับรองการใช้ประโยชน์ต่อสังคมของผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม จากผลการประเมินของสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  เป็นต้น

 

แนวทางการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม

ให้คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ พิจารณาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ   จากบัญชีรายชื่อที่ ก.พ.อ. กำหนด ประกอบด้วย

                  ๑.  ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เสนอขอ

                  ๒.  ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรับใช้สังคม

 

แนวทางการประเมินผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม

         ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ประเมินผลงานทางวิชาการรับใช้สังคมโดยใช้แนวทางในการประเมินดังต่อไปนี้

                  ๑. ประเมินจากเอกสารและหลักฐานประกอบการเสนอผลงาน

                  ๒. ประเมินจากการตรวจสอบสภาพจริงที่มีอยู่ในพื้นที่

                  ๓. ประเมินจากหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง หรือสารสนเทศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

         ทั้งนี้ ให้เน้นถึงการมีส่วนร่วมและการยอมรับของสังคมเป้าหมาย

เพื่อช่วยกันทำให้ฝันนี้เป็นจริง   และเป็นจริงอย่างสวยงาม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม  และเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์วิชาการแนว translational หรือแนวประยุกต์   ไม่ใช่วิชาการชั้นสอง หรือวิชาการคุณภาพต่ำ   ผมจึงขอร่วมประชาพิจารณ์ทาง สื่อออนไลน์ ดังต่อไปนี้

  • ขอเสนอให้คณะทำงานทำประชาพิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์ด้วย  เช่นทาง บล็อก และทางเฟสบุ๊ก
  • เกณฑ์คุณภาพ ควรใช้ ๒ อย่างประกอบกัน คือ (๑) ผลกระทบต่อสังคม  (๒) ผลกระทบต่อวงวิชาการ (เน้นวงวิชาการสายประยุกต์ใช้ความรู้ ไม่ใช่สายสร้างความรู้)
  • ผลกระทบต่อวงวิชาการสายประยุกต์ใช้ความรู้ ดูที่การเผยแพร่ และเน้นที่การให้คำอธิบาย ตอบคำถาม why (ทำไม)  ไม่ใช่ what และ how   คือต้องอธิบายโดยใช้ทฤษฎีประกอบว่าทำไมการดำเนินการบางวิธีจึงไม่ได้ผล  ทำไมวิธีที่ใช้จึงได้ผล  ทำไมจึงได้ผลดีกว่าผลงานอื่นๆ ที่มีคนเคยทำมาแล้ว   คือต้องแสดง power of explanation   ไม่ใช่เผยแพร่แบบ descriptive เท่านั้น   ระดับคุณภาพทางวิชาการควรพิจารณาจากประเด็นนี้เป็นหลัก
  • การกำหนดสาขาวิชา ต่อผลงานวิชาการรับใช้สังคมเป็นเรื่องพึงระมัดระวัง   เพราะธรรมชาติของผลงานแบบนี้มักจะต้องเป็นการทำงานวิชาการร่วมมือกันหลายสาขาวิชา หรือใช้ความรู้หลายสาขามาประกอบกัน   ดังนั้น จึงน่าจะมีการกำหนดสาขาวิชาของตำแหน่งวิชาการเป็น “สหสาขา” หากนักวิชาการท่านนั้นเขียนเผยแพร่ผลงานวิชาการรับใช้สังคมโดยมีคำอธิบายอิง หลายทฤษฎีในหลายสาขาวิชา
  • จะเป็นสภาพอุดมคติหากผลงานวิชาการรับใช้สังคมชิ้นหนึ่ง มีผู้ร่วมมือกัน ๔ คน เป็นนักสังคมศาสตร์ ๑  นักเทคโนโลยี ๑  นักเคมี ๑  และนักชีววิทยา ๑   มีการเก็บข้อมูลภาพรวม   และแต่ละคนเก็บข้อมูลเฉพาะด้านของตนและ วิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้เชิงวิชาการในสาขาของตนที่ได้จากการทำโครงการเขียนรายงานเผยแพร่แยกคนละรายงาน   หรือเขียนเป็นรายงานเดียวแต่แยกคนละตอนอย่างเด่นชัด   ในกรณีเช่นนี้แต่ละท่านก็จะได้ผลงานตามสาขาวิชาของตน จากการทำงานรับใช้สังคมโดยใช้ความรู้หลายสาขาวิชามาทำร่วมกัน

       รูปแบบนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้นักวิชาการต่างศาสตร์เข้ามาร่วมมือกันทำงาน วิชาการเพื่อสร้างสรรค์โอกาสพัฒนา หรือแก้ปัญหายากๆ ของสังคม   วิธีการประเมินจะช่วยกระตุ้นส่งเสริมการทำงานร่วมศาสตร์ขึ้นในวงวิชาการ

  • หากเป็นไปตามสภาพอุดมคติข้างบน การหาผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินจะง่าย   แต่ถ้าเป็นกรณีนักวิชาการคนเดียวเสนอผลงานหลายสาขาตามธรรมชาติของผลงานวิชาการรับใช้สังคม   ต้องระมัดระวังเลือกผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินที่เข้าใจธรรมชาติสหสาขาวิชาของผลงานวิชาการชนิด (ประยุกต์) นี้
  • การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่ดีหรือมีความแปลกใหม่แก่ศิษย์ และแก่คนบางกลุ่ม หรือแก่คนทั่วไป ก็น่าจะทำเป็นผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมได้

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 473080เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2011 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

ขออำนาจคุณงามความดีที่อาจารย์ได้สั่งสมไว้ให้สังคมไทย

จงดลบันดาลให้อาจารย์และครอบครัว

อยู่ดีมีสุข อยู่รอดปลอดภัย และมีสุขภาพกายใจแข็งแรงตลอดปีใหม่ ๒๕๕๕ นะครับ

ด้วยความเคารพ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท