ป้าอ้วน...ครูใหญ่ขี้บ่น


ผู้บริหารให้การสนับสนุนครูได้ทำงานร่วมกัน เปิดโอกาสให้ครูฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม (Teamwork) สอดรับกับคุณลักษณะที่ควรเกิดของครูในศตวรรษที่ 21

          “ป้าอ้วน”  หรือ ผอ.ธีรจิต  พัฒนกิตติเวทย์  มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพลับพลาไชย  ของ สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 เป็นหนึ่งในผู้บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นผู้หญิงของเขตเรา  ด้วยความอาวุโสบวกกับรูปพรรณสัณฐาน  จึงได้รับการขนานนามว่า  “ป้าอ้วน”

          ป้าเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนนี้มาตั้งแต่ปี 2520  นับถึงบัดนี้ก็ปาเข้าไปร่วม 35 ปีแล้ว  เป็นที่รู้กันของบรรดาศึกษานิเทศก์ว่าป้าแกขี้บ่น  เวลาขอความร่วมมือหรือชวนให้แกทำอะไร  จะได้ยินป้าบ่นกระปอดกระแปดเสียก่อน  แต่พอกลับไปโรงเรียนป้าจะตั้งอกตั้งใจทำงานจนสำเร็จ  เป็นที่รู้กันของพวกเรา  เวลาที่อยู่ในโรงเรียนป้าจะเป็นทั้งพี่ทั้งเพื่อนของครู  ถึงแม้วัยของแกจะเทียบชั้นคุณแม่-คุณป้า-คุณน้า-คุณอาแล้วก็ตาม  เพราะในระยะหลังมีครูรุ่นใหม่อายุน้อย ๆ ในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

          ถึงแม้ป้าจะเป็นผู้บริหารอาวุโส  แต่ก็เป็นคนที่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ไม่ยาก  เรียกว่าปรับตัวปรับใจไปตามยุคสมัย  แต่ป้าก็มีจุดยืนของตัวเอง  หากเรื่องเดิม ๆ ยังส่งผลดีกับนักเรียนก็จะไม่ทิ้ง  สิ่งทีป้าเป็นห่วงเป็นใยอยู่ในตอนนี้  คือความเอาใจใส่ของครูที่มีต่อเด็ก  การทำหน้าที่ครูด้วยจิตวิญญาณ  และการมีจิตวิทยาในการสอน  ยิ่งในยุคนี้ที่การศึกษากำลังเจอปัญหาขาดแคลนบุคลากร  ทำให้ต้องเปิดรับผู้ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางวิชาชีพครูโดยตรงเข้ามาทำหน้าที่ครู  จึงเป็นปัญหาสำหรับบางคนที่อาจยังไม่เข้าใจในวิชาชีพครูดีพอ

          การชักชวนให้ครูเอาใจใส่ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดของป้านั้น  นอกจากจะคอยย้ำเตือนครูแล้ว  ป้าจะทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยเสมอ  เช้า-กลางวัน-เย็นหากไม่มีงานราชการนอกโรงเรียน  ป้าก็จะอยู่โรงเรียนตลอด  ว่างเว้นจากงานเอกสารก็จะลงมาช่วยดูแลนักเรียน  โดยเฉพาะช่วงที่นักเรียนอยู่นอกห้อง  เช่น  ก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ  ช่วงพักกลางวัน  หรือช่วงหลังเลิกเรียนที่จะมีนักเรียนมัธยมฯ ต้น  ลงเล่นกีฬาในสนามของโรงเรียน 

          นักเรียนราวสี่ร้อยคนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3  ทุกคนจะเรียกป้าว่า  “ครูใหญ่” ป้าอ้วนเป็นครูใหญ่ที่ค่อนข้างเข้มงวดกับนักเรียนในเรื่องกิริยามารยาท  ดิฉันอดขำไม่ได้ที่ดูขัดแย้งกับบุคลิกของแกเสียจริง  แม้ครูใหญ่จะพูดไม่ค่อยไพเราะอ่อนหวาน  แต่นักเรียนก็มีสัมมาคารวะดี  เย็นวันหนึ่งที่ดิฉันไปเยี่ยมโรงเรียนของป้า  หลังจากที่นักเรียนมัธยมฯ เล่นฟุตบอลเสร็จแล้ว ทุกคนยังวิ่งมาหาป้าซึ่งยืนคุยอยู่กับดิฉันเพื่อสวัสดีก่อนกลับบ้าน  ป้าบอกว่านักเรียนมัธยมฯ จะสนิทสนมกับป้าดี  หลังวันนั้น ดิฉันไปแอบถามนักเรียน ๆ บอกว่า  “ครูใหญ่ขี้บ่นแต่ใจดีครับ”  ดิฉันยิ้มในใจและสงสัยว่าเวลาอยู่บ้านแกขี้บ่นด้วยหรือเปล่า  แต่แกต้องมีเทคนิคครองใจดี ๆ ให้ค้นหาอยู่หรอก  เพราะครอบครัวดี  สามีดี  ลูกดี

                        

          ในแง่ของการบริหาร  ดิฉันเห็นแววของผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนครูได้ทำงานร่วมกัน  เปิดโอกาสให้ครูฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม (Teamwork) สอดรับกับคุณลักษณะที่ควรเกิดของครูในศตวรรษที่ 21

          ดิฉันสัมผัสบรรยากาศในการทำงานเป็นทีมของคุณครูได้จากภารกิจในแต่ละวัน โดยในแต่ละวันนั้นจะมีครูเวรประจำวันทำหน้าที่ดูแลนักเรียนตลอดทั้งวันอยู่แล้ว  แต่ก็สังเกตว่าคุณครูทุกคนยังลงมาดูแลนักเรียนในชั้นของตัวเองทำความสะอาดเขตสีในช่วงเช้า  พักกลางวันก็มารุมทำกิจกรรมซึ่งแตกต่างกันไปที่โรงอาหาร  ห้องสหกรณ์  ห้องสมุดและสนามเด็กเล่น  ในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระหลัก  ป้าจะวางครูที่จบเอกโดยตรงสอนตลอดแนว  ครูประจำชั้นรับผิดชอบกลุ่มสาระที่เหลือ  ในชั่วโมงลูกเสือครูทุกคนต้องลงสนามทั้งหมด  และยังมีกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  ที่ครูร่วมมือกันทั้งโรงเรียนพานักเรียนออกไปศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน

          การทำงานร่วมกันแบบนี้ทำให้ครูไม่โดดเดี่ยว  ครูที่มีประสบการณ์มากจะช่วยเสริมให้ครูที่ยังมีประสบการณ์น้อย  คำว่า “ประสบการณ์” ในโรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้ผูกติดอยู่กับวัยวุฒิ  หากแต่อยู่ที่ความรู้  ความสามารถ  ความชำนาญและความเหมาะสม  ครูจะยอมรับกันผลัดกันเป็นผู้นำผู้ตาม  ติงอยู่นิดตรงที่ครูยังขาดการทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันแบบ PLC ซึ่งเป็นโจทย์ที่ดิฉันต้องหาช่องทางปรับเวลาชวนทำกิจกรรมนี้ต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 472385เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2011 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

  - การชักชวนให้ครู  เอาใจใส่ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด

  - แสดงความ  เป็นครู ด้วยใจจริงๆ

  - ขอชื่นชมด้วยใจจริง

  • ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นบุคคลสำคัญในการผลักดัน กระตุ้นให้ครูพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
  • โรงเรียนใดที่ผู้บริหารใส่ใจ ศึกษานิเทศก์ก็วางใจได้ หากผู้บริหารละทิ้ง พวกเราก็หนักใจค่ะ ซ้ำยังทำให้เราทำงานกับครูยากขึ้น
  • ขอบพระคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนค่ะ

พี่กุ้ง มาเชียร์ป้าอ้วนด้วยคน

งง ว่าพลาดบันทึกนี้

พี่กุ้งสบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท