เยี่ยมบ้าน (ห้องเรียน) ครู


หากจะเปรียบเทียบกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ของคุณครู ที่จำเป็นต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลเสียก่อน การนิเทศก็เช่นเดียวกัน เราควรมีข้อมูลครูเป็นรายบุคคลเพื่อจะเลือกใช้เทคนิคการนิเทศให้เหมาะกับบริบทของครูท่านนั้นได้

          ตั้งแต่กลางเดือนมานี้  ดิฉันเดินสายพบผู้บริหารและคุณครูในพื้นที่ที่รับผิดชอบ  ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบใหม่   ตัวเองจึงต้องใช้เวลาในการคลุกคลีอยู่กับโรงเรียนนานสักหน่อย   และพยายามเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนบ่อย ๆ  ด้วยปรารถนาอยากให้ทุกคนในโรงเรียนรู้สึกว่าศึกษานิเทศก์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเขา  เป็นพี่  เป็นเพื่อน  เป็นน้องที่จะมาให้ความช่วยเหลือ  แลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน  รวมทั้งคอยให้กำลังใจ-ยั่วยุ-กระตุ้นทั้งผู้บริหารและคุณครูในการพัฒนาศิษย์

           ก่อนเข้าเยี่ยมโรงเรียนใด  จะโทรศัพท์ประสานผู้อำนวยการโรงเรียนให้รับทราบกำหนดเวลาและวัตถุประสงค์การเข้าไปนิเทศเสียก่อน  รวมถึงไม่ลืมที่จะขอเข้าไปในโรงเรียนแต่เช้า  เพื่อจะได้เห็นบรรยากาศของโรงเรียนตั้งแต่นักเรียนมาโรงเรียนจนกระทั่งถึงเวลากลับบ้าน  แน่นอน...กว่าดิฉันจะกลับออกมาจากโรงเรียนก็ราวห้าโมงเย็นเศษทุกครั้งไป

           หลังจากที่นักเรียนทำกิจกรรมหน้าเสาธงเสร็จสิ้นแล้ว  ก็ถึงเวลาที่จะได้พูดคุยกับผู้บริหารตามลำพัง  อันที่จริงแล้วการออกนิเทศคราวนี้พวกเราศึกษานิเทศก์มีประเด็นที่ต้องการเห็นพัฒนาการของโรงเรียนในเรื่องใดบ้าง  ซึ่งแบ่งเป็น 5 ด้าน  นั่นก็คือ  1) ด้านสภาพแวดล้อม  2) ด้านการบริหารจัดการ  3) ด้านการดำเนินงานตามนโยบาย  4) ด้านงานวิชาการ และ 5) ด้านผลงานและผลสำเร็จ....เป็นอันว่าต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารเสียก่อนว่า  ตัวดิฉันจะมาช่วยผู้บริหารทำงานตามประเด็นเหล่านี้  ไม่ใช่มาประเมินหรือมาจับผิดใด ๆ ทั้งสิ้น 

                                    

          ต่อจากการพูดคุย  สัมภาษณ์  สอบถามตามประเด็นของเครื่องมือนิเทศ  ดิฉันก็เริ่มเก็บข้อมูลของครูแต่ละคนจากผู้บริหาร  เพื่อรวบรวมข้อมูลรายบุคคลของคุณครูโดยครอบคลุมในเรื่องครองตน  ครองคน  ครองงาน  จากนั้นจึงค่อย ๆ เยี่ยมไปทีละชั้นเรียน  เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์สมทบกับข้อมูลที่ได้จากผู้บริหารมารอบหนึ่งแล้ว  ถึงเวลาพักกลางวันก็จะหยุดการเยี่ยมชั้นเรียนไว้ก่อน  พักรับประทานอาหารที่ดิฉันตั้งใจเตรียมใส่ปิ่นโตมารับประทานกับเพื่อนครู รับประทานไปพลาง ดูนักเรียนทำกิจกรรมช่วงพักกลางวันไปพลาง บ่ายจึงเยี่ยมชั้นเรียนต่อ  สุดท้าย...หลังเลิกเรียนนักเรียนกลับบ้านแล้ว  จะเชิญคุณครูทุกท่านร่วมพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง 

                                     

          ตลอดวันที่เราได้คลุกคลีตีโมงอยู่ในโรงเรียน ซึ่งหากเป็นโรงเรียนใหญ่  จะใช้เวลาอยู่กับเขาสองถึงสามวัน จะทำให้เราได้เห็นสภาพจริง  ได้พูดคุยสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกัน  ได้ทราบความต้องการของผู้บริหารและคุณครูว่าอยากให้เราช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้าง  มีอะไรดี ๆ ที่เราเห็นแต่คนในโรงเรียนไม่รู้ตัว  เราก็จะได้ช่วยชี้ช่อง  ต่อยอดให้กัน  การรวมตัวกันในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน  เป็นการเอื้อให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน  อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ตัวเองชวนคุณครูทำ PLC เล็ก ๆ ในโรงเรียนของตัวเอง  ในโอกาสหน้าดิฉันขอจับมือกับคุณครูทุกคนไว้ว่า  จะขอเข้าไปสังเกตการณ์สอนของครูแต่ละคน ๆ ละ 1 ชั่วโมงเมื่อคุณครูพร้อม  ถึงช่วงนั้นอาจจะได้ลองทำ Lesson Study กันดูบ้างสักตั้ง

           หากจะเปรียบเทียบกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ของคุณครู  ที่จำเป็นต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลเสียก่อน  การนิเทศก็เช่นเดียวกัน  เราควรมีข้อมูลครูเป็นรายบุคคลเพื่อจะเลือกใช้เทคนิคการนิเทศให้เหมาะกับบริบทของครูท่านนั้นได้  แม้จะทำได้ไม่ง่ายนักเพราะบริบทของครูซับซ้อนกว่านักเรียนหลายเท่า  มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากมายก็ตาม  แต่ถ้าเราไม่แสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับครูไว้บ้าง  รบร้อยครั้งก็อาจจะแพ้ทั้งร้อยครั้งก็ได้กระมัง... 

 

 

หมายเลขบันทึก: 472379เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2011 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 05:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังเลยครับพี่กุ้ง

ครูน่าจะลองทำ lesson learned ดูบ้าง

ครูที่สุพรรณบุรี

พัฒนาไปไกลมากกว่าที่อื่นๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท