การเรียนรู้ถึงปัจจัยหรือองค์ประกอบของการเกิดภัยพิบัติจะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่จะทำให้คนไทยเปลี่ยนท่าทีในการใช้ชีวิตกันใหม่ การเตรียมความพร้อมในระดับตนเอง ครอบครัว และชุมชนต้องเข้มแข็งมากขึ้น จึงจะช่วยลดความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก การพึ่งความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ซึ่งทุกคนควรมีส่วนร่วมกันป้องกันและแก้ไข

(ที่มา : chaoprayanews.com)
สำหรับปัจจัยหรือองค์ประกอบในการเกิดภัยพิบัติ หรือความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัตินั้นประกอบไปด้วย
1. ภัย (Hazard) หมายถึง อันตรายที่เกิดจากธรรมชาติหรือจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียหรือความเสียหาย
2. ความล่อแหลม (Vulnerability) หมายถึง ปัจจัยทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดผลกระทบจากภัยนั้นๆ มากยิ่งขึ้น
3. ศักยภาพหรือความสามารถในการจัดการกับภัย (Capacity) หมายถึง ความสามารถในการจัดการหรือรับมือกับภัยที่เกิดขึ้น โดยการใช้ทักษะ องค์ความรู้ และทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในการตอบสนองและเตรียมการรับมือกับภัย
ชุมชนใดที่ประสบภัยพิบัติและมีศักยภาพในการจัดการกับภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง ความเสียหายที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินก็จะน้อยลง แต่ถ้าหากชุมชนใดไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับภัยที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก
การที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการเตรียมความพร้อม มีความร่วมมือช่วยเหลือ มีจิตอาสา จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายหรือความสูญเสียให้น้อยลงได้ เห็นที่เราคนไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมกันมากขึ้นแล้วนะครับ เอาบทเรียนครั้งนี้มาเรียนรู้ แล้วการรับมือกับภัยพิบัติที่มีทีท่าว่าจะเกิดเพิ่มขึ้นให้มีประสิทธิภาพเถอะครับ
เอกสารอ้างอิง : Asian Disaster Preparedness Center et al ,2010, pp.12-13