แล้วอย่างนี้อนาคตประเทศไทยจะไปรอดหรือ


คิดไปแล้วก็ให้รู้สึกสังเวชใจว่า ในวันนี้การประกวดหมาเขาตัดสินโดยกรรมการผู้ชำนาญการด้านหมา แต่ในการประกวดคนเพื่อคัดเลือกให้ชนะเลิศเข้าไปบริหารประเทศเราตัดสินลงคะแนนโดยกรรมการที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเมืองแม้สักนิดก็ยังได้

เมืองไทยใหม่เอี่ยม (๔ ปชต.ใหม่เอี่ยม)

 

ระบบการเมืองคือต้นธารของการพัฒนาประเทศ ถ้าระบบการเมืองไม่สอดคล้องกับลักษณะสังคมเสียแล้วก็คงเป็นการยากที่ประเทศชาติจะพัฒนาได้  แต่ที่ผ่านมา ๘๐ ปีเราไปลอกระบบการเมืองฝรั่งมาใช้แบบทั้งดุ้น (ที่เราเรียกกันสวยหรูว่าประชาธิปไตย) ทั้งลักษณะนิสัยของตนไทยต่างจากฝรั่งมาก

 

ระบบการเมืองแบบตะวันตก (ปชต.ตต.) นั้นผมวิเคราะห์ว่าเป็นวิวัฒนาการทางสังคม ตามเหตุปัจจัยบีบคั้นโดยธรรมชาติของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสัยปัจเจกชนนิยม (individualism)  การที่เราไปลอกเขามาใช้ทั้งดุ้นนั้น อุปมาไม่ต่างอะไรกับเอาไปขุดเอาแอปเปิ้ลเขามาปลูกในบ้านเราซึ่งเป็นเมืองร้อน  มันอาจจะพอแตกใบบ้างแต่จะให้ออกดอกผลดกอร่อยให้เรารับประทานนั้นคงยาก เพราะมันไม่สอดคล้องกับภูมิอากาศบ้านเรา ทางที่ดีต้องหาทางปรับปรุงบำรุงพันธุ์เสียก่อน ก่อนเอามาปลูก

 

ว่าแล้วคนไทยเราก็เทิดทูนระบบการเมืองแบบนั้นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเลยก็มี ผู้ใดเสนอระบบอะไรที่ต่างไปจากนี้ก็จะถูกรุมจิกจากหลายฝ่าย

 

ที่ผ่านมา ๒๐ ปีผมได้ลองคิดและเขียนเสนอรูปแบบการเมืองแบบใหม่ออกไปหลายรูป โดยยังยึดหลักการปชต.อยู่ เพียงแต่ว่าวิธีการนั้นได้คิดปรับให้เข้ากับลักษณะสังคมไทย โดยผมพยายามมองแบบบูรณาการครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

 

ต้นน้ำหมายถึงประชาชนผู้ทำการเลือกตั้งและวิธีการเลือกตั้ง   กลางน้ำหมายถึงวิธีการปฏิบัติงานของนักการเมือง  ปลายน้ำหมายถึงการติดตามตรวจสอบนักการเมือง

 

ทุกวันนี้เราให้สิทธิ์ปชช.เกือบทุกคนที่มีอายุเกิน 18 ปีสามารถออกเสียงเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน (ลอกฝรั่ง)  ซึ่งผมเห็นว่าไม่ดีเพราะคนไทยเรามีนิสัยไม่ใส่ใจเรื่องการเมืองเหมือนฝรั่ง ส่งผลให้ได้คะแนนเสียงที่ไม่มีคุณภาพ ยิ่งกฎหมายไปบังคับว่าการออกเสียงเป็น”หน้าที่” (ลอกฝรั่งอีกแล้ว)  ก็ยิ่งไปกันใหญ่

 

ผมเห็นว่าคุณภาพของเสียงสำคัญกว่าปริมาณมาก ในเขตเลือกตั้งหนึ่งถ้ามีคะแนนคุณภาพจริงๆ สัก 1000 คะแนนก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ได้สส. สว. ที่ดี ตรงข้ามถ้ามีคะแนนมั่วๆสัก 50,000 คะแนนที่ถูกซื้อมา มันจะมีความหมายอะไรหรือ นอกเสียจากเป็นการสร้างภาพปชต.หลอกตนเองไปวันๆ

 

การจะคัดเอาคะแนนคุณภาพนั้นไม่ยาก มีได้หลากหลายวิธี ลองไปค้นหาอ่านเอาในไฟล์เก่าๆของผมนะครับ (ถ้าหาไม่เจอก็เมล์ไปหาผมได้) ...ถ้าต้นน้ำดี ก็จะเลือกเอาสส. สว. ดีๆ เข้าสภา ก็แทบจะจบเกมส์ได้เลย

 

แต่นั่นแหละ สส. สว. ดีๆ ที่เลือกเข้าไปอาจดีแตกในภายหลัง จึงต้องมีระบบคานอำนาจกันเอง ระหว่าง สส. กับ สว. ก็มีได้หลายวิธีอีก วิธีหนึ่งที่ผมคิดเองชอบเองคือ ให้สส. มาจากเลือกตั้งทั่วไป (โดยต้นน้ำที่ดี) ส่วนสว. นั้นมาจากการกำหนดตำแหน่งจากทุกอาชีพสัก 70% และโดยการคัดสรรทั่วไปอีกสัก 30% 

 

ซึ่งวิธีเลือกสว. ดังกล่าวนี้แท้จริงแล้วยังเป็นปชต.อยู่ แต่เป็นปชต. “แบบธรรมชาติ” กล่าวคือ บุคคลเหล่านี้แท้จริงได้รับการคัดสรรโดยธรรมชาติจากสาขาอาชีพของตนมาเป็นเวลานานแล้ว จนได้ขึ้นมาเป็นยอดของสาขาอาชีพนั้นๆ ซึ่งดูให้ดีแล้วเป็นปชต. ยิ่งกว่าการเลือกตั้งทางตรงเสียอีก เพราะต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ใช่แค่หาเสียงประชานิยมกันเพียง 2 เดือน ก็ได้แล้ว

 

โดยวิธีนี้ สว. จะเป็นอิสระจากสส. และสามารถคานอำนาจสส.ได้เป็นอย่างดี เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น อาจให้สส. ทำหน้าที่อภิปราย แต่การโหวตให้สว.เท่านั้นเป็นผู้โหวต แบบนี้แม้รัฐบาลมีเสียงข้างมากเพียงใด ก็ไม่สามารถเป็นเผด็จการโดยรัฐสภาได้ ตรงข้ามแม้รัฐบาลมีเสียงข้างน้อยแต่หากทำดี ก็ไม่อาจถูกโหวตออกได้โดยพรรคฝ่ายตรงข้าม ก็จะทำให้เกิดการคานอำนาจอย่างบริสุทธิ์ และรัฐบาล(ที่ดี)ก็มีเสถียรภาพ ส่วนรัฐบาลเลวก็ง่อนแง่น (ซึ่งก็ดีแล้ว)

 

หรืออาจปรับใหญ่ ให้สว. ฟอร์มรัฐบาล แต่กลับให้สส. เป็นผู้คอยควบคุมดูแลการทำงานยังได้เลย เพราะสว. มาจากสาขาอาชีพต่างๆ มีความเชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ ถ้าให้ไปบริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คงทำงานได้ดีกว่า สส. เป็นไหน ๆ เพราะสส.เหล่านี้จำนวนมากที่เข้าไปเป็น รมต. โดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานกระทรวงนั้นๆ เลย เท่ากับเอาประเทศเป็นที่ลองงาน ซึ่งทำความเสียหายกันมานักต่อนักแล้วมิใช่หรือ

 

หรืออาจกำหนดให้สว. ไปทำหน้าที่ “สภากระทรวง” คอยกำกับดูแลการทำงานของรมต.ก็ได้ เพราะการโกงกินนั้นส่วนใหญ่กระทำกันในระดับกระทรวงนี่แหละ

 

เรื่องปลายน้ำนั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้ก็มีกฎหมายคอยจัดการหลายชั้น เสียแต่ว่าการคัดสรรบุคคลเข้าไปปฏิบัติงานนั้นยังอาจมีการซ้อนทับกันแบบหลายชั้น

 

หวนกลับมาที่ต้นน้ำใหม่ ..คิดไปแล้วก็ให้รู้สึกสังเวชใจว่า ในวันนี้การประกวดหมาเขาตัดสินโดยกรรมการผู้ชำนาญการด้านหมา แต่ในการประกวดคนเพื่อคัดเลือกให้ชนะเลิศเข้าไปบริหารประเทศเราตัดสินลงคะแนนโดยกรรมการที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเมืองแม้สักนิดก็ยังได้ ... แล้วอย่างนี้อนาคตประเทศไทยจะไปรอดหรือ

หมายเลขบันทึก: 471717เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2011 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมเห็นเป็นตรงกันข้ามนะครับ 80 กว่าปีมานี้การเมืองไทยไม่พัฒนา เพราะเราลอกฝรั่งมาไม่ทั้งดุ้นนะครับ เราไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างแท้จริง แต่กลับปล่อยให้กลไกลอำนาจอื่นเข้ามาควบคุมการเมือง ประชาชนจะเลือกใครช่างหัวประชาชนเดี๋ยวสภาก็เลือกนายทหารใหญ่ๆมาปกครองประเทศ หรือไม่จัดฉากให้สวยหน่อยก็สร้างพักการเมืองตัวแทนอำนาจมืดเข้ามาเล่นการเมือง สร้างภาพพรรคนั้นให้สวยงาม ทำลายภาพพรรคการเมืองอื่นๆ และให้พรรคนั้นปกครองประเทศแทนอำนาจควบคุม บางสมัยหัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี กลับโดนสอนค้างกลางเวหาซะงั้น การเมืองแบบนี้ละครับ การเมืองแบบไทย ที่ไม่ได้ลอกชาติใดมา แต่ตอนนี้พม่าเอย ภูฐานเอย เขาเหมือนจะลอกการเมืองแบบของเราไปใช้ ผมเชื่อว่าถ้าเมื่อ 80 ปีก่อน เราลอกการเมืองฝรั่งมาทั้งดุ้นจริงๆ วันนี้ประชาชนจะได้เรียนรู้คำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่เราทุกคนสามารถเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศได้ คนที่เขาเลือกจะได้ปกครองประเทศนี้ได้จริงๆ และบ้านเมืองคงไม่ล้าหลังตามใครไม่ทันแบบที่เป็นอยู่จนในวันนี้

และคำว่า เสียงคุณภาพ ซึ่งแปลว่า เสียงบางส่วนไม่มีคุณภาพ เป็นคำที่ดูถูกคุณค่าความเป็นคน และสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกันของคนไทยครับ การเสนอแนวคิดเช่นนี้ เป็นการสร้างความแตกแยกครับ เป็นเรื่องที่สวนทางกับกระแสโลก

ขอบคุณท่านนกขมิ้นที่มาช่วยคิดต่างมุม

คือเราลอก "รูปแบบ" เขามาทั้งดุ้นครับ แต่มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทยไงล่ะครับ มันถึงได้เป็นอย่างที่คุณว่า ทั้งนี้เพราะของเขามัน "วิวัฒนาการมาโดยธรรมชาติ" ส่วนของเราไปขุดมาปลูกดื้อๆ ต้นปชต. มันเลยตายไงครับ เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพ "ภูมิอากาศ"

ส่วนที่ว่าสร้างความแตกแยกนั้น ผมถามว่ายังงั้นไปแบ่งแยกเด็กกะผู้ใหญ่ทำไมครับ ทำไมไม่ให้ทุกคนไทย ไม่ว่าอายุเท่าไร ก็เลือกตั้งได้หมดสิครับ การให้คนอายุเกิน 18 เลือกตั้ง ก็ลอกฝรั่งมาอีก ส่วนวิธีของผม อายุ 5 ขวบก็เลือกได้นะครับ ถ้ามีคุณภาพ แล้วแบบไหนเป็น ปชต.กว่ากันล่ะครับ

ผมเสริมนะครับ ปชต. นั้นผมเคยประดิษฐ์ประโยคฝรั่งไว้ว่า democracy was created and has been maintained by INDIVIDUALISM ผมเชื่อเช่นนั้น และเคยเขียนบทความขนาดยาวขยายความมาแล้ว ...ฝรั่งเขามี individualism ส่วนคนไทยเราไม่มี individualism แต่เป็นระบบตรงกันข้ามเลย คือ "เกาะผู้มีอำนาจ" (หรืออำนาจนิยมนั่นเอง )..ดังนั้นถ้าขืนเราใช้ระบบ ปชต.ตต. ต่อไป ผมว่าอย่างดีก็แกร็นแบบนี้แหละ

ญี่ปุ่นก็เป็นระบบอำนาจนิยมเหมือนไทย แต่ญี่ป่นเขามีวินัย มีความรักชาติ มาถ่วงดุล ก็พอไปไหว

นึกถึงบทความเมื่อหลายปีมาแล้วเกี่ยวกับ ผู้มีคุณสมบัติในการเลือกตั้ง ที่เขียนโดย พี่ตู้ เลยค่ะ

เพราะบ้านเรายังอิง ระบบอุปถัมภ์ มากไป รวมถึงปัจเจกชน ยังไม่มีจุดยืน ไม่ได้ถูกปลูกฝังเรื่อง ความเป็นตัวของตัวเอง ศักดิ์ศรี บนหลักการพื้นฐานความดี และยึดประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ

คนที่มีอำนาจ ก็ไม่กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง มองแต่พรรคพวก ยังอิงๆ กลัวๆ ระบบสังคม กฏหมาย ที่เอื้อแต่นายทุนและคนมีเบี้ย โดยมิเคยเหลียวแล ว่าชาติจะเป็นอย่างไร น่าละอายค่ะ

ค้นหาไฟล์เก่าๆ ที่ว่าไม่เจอเลย

ผมเคยเขียนบทความว่า ระบบอุปถัมป์ อิงอำนาจ ก็มีจุดดีนะครับ ดีกว่าปัจเจกในหลายประการ ถ้าจำเป็นต้องเลือกระหว่างสองระบบนี้ ผมว่าผมเลือกอุปถัมป์ด้วยซ้ำไป ปัญหาคือ เราจะทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจเป็นคนดี ซึ่งผมว่ามันมีน้อย ง่ายกว่าการทำให้ปัจเจกทุกคนเป็นคนดีเสียอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท