มะเร็งเม็ดเลือดขาว เรื้อรัง มัยอีลอยด์


มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง มัยอีลอยด์

ตรวจพบเร็ว รีบรักษา ลดความเสี่ยง

 

 

    เมื่อตรวจพบความผิดปกติของเม็ดเลือด อย่าชะล่าใจ อาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ ได้โดยไม่รู้ตัว
    ศ.พญ. แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง แบบมัยอีลอยด์ อธิบายลักษณะของโรคให้ฟังว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ หรือซีเอ็มแอล (Chronic myeloid lcukemia:CML) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของโครโมโซมที่เรียกว่า ฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนบางส่วนกันระหว่างแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 9 และคู่ที่ 22  ทำให้เกิดโปรตีนที่ชื่อว่า BCR-Abl ไปกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากขึ้น และสร้างสารขึ้นมาที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดโรคนี้
   โรคนี้มีผู้ป่วยเพิ่มมากเรื่อยๆ โดยจะพบผู้ป่วยตั้งแต่อายุ 15-50 ปี ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ พบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยเฉลี่ยประมาณ 36-45 ปี  ซึ่งเป็นโรคที่พบในเพศชายมากกว่าหญิงในอัตรา 1.7 ต่อประชากร 100,000 คน โดยในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วย  1-2 คน ต่อแสนประชากร
   โรคซีเอ็มแอลเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบเพียงความปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคดังกล่าว คือ สารกัมมันตรังสี โดยผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับสารอะตอมมิกบอม มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังสูงกว่าคนปกติถึง 4- 5 เท่า
   ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักไม่มีอาการ จึงไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้ แต่ในในบางรายจะแสดงอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด อึดอัดแน่นท้อง คลำพบก้อนที่ชายโครงซ้าย โดยผู้ป่วยมักจะพบโรคโดยบังเอิญ จากการตรวจร่างกายทั่วไปหรือ การตรวจร่างกายประจำปี โดยจะพบอาการม้ามโต  มีจำนวนเม็ดเลือด สูงกว่าปกติ โดยจะพบเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยซีเอ็มแอล 500,000-800,000 ลบ.ซม. โดยคนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000-10,000 ลบ.ซม. รวมทั้ง  พบตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวปนมาในเลือด
  ศ.พญ. แสงสุรีย์ จูฑา กล่าวเพิ่มเติมว่า  โรคนี้มีอยู่ 3 ระยะด้วยกัน  คือ  ระยะเรื้อรัง  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในระยะนี้เมื่อมาพบแพทย์ครั้งแรก และเมื่อได้รับการรักษาแล้ว  ผู้ป่วยมักเข้าสู่ระยะที่โรคสงบ  ตับม้ามมักจะยุบหมด  เม็ดเลือดกลับปกติ  แต่ยังต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่ 
    ต่อมาเป็นระยะลุกลาม เมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่ง ผู้ป่วยบางคนเข้าสู่ระยะลุกลาม  เริ่มไม่ได้ผลจากการรักษา  มีอาการซีด  อาจต้องให้เลือด หรือส่วนประกอบของเลือด  บางรายเกล็ดเลือดต่ำ  ถ้าต่ำมากก็อาจทำให้มีจุดเลือดออกตามตัว หรือเลือดออกตามไรฟันได้  รวมทั้งมีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น  ม้ามเริ่มโตขึ้น  ทำให้แน่นท้องมากขึ้น 
    ระยะเฉียบพลัน  เป็นระยะสุดท้ายของโรคนี้  มีอาการคล้าย ๆ กับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน   คือมีไข้  ตัวซีดมาก  เพลีย  มีอาการเลือดออกง่าย  หรือมีจุดเลือดออกตามตัว  หรือแขนขา  มีเลือดออกตามไรฟัน  การรักษาในระยะนี้ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้ผล 
    ด้านการวินิจฉัย  ทำได้โดยการตรวจหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี ( com-plete blood count:CBC )เพื่อตรวจดูจำนวนเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด รวมทั้งการตรวจไขกระดูก เพื่อดูว่ามีโครโมโซมที่ผิดปกติ ที่เรียกว่าฟิลาเดลเฟียโครโมโซมอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้แน่นอน
   สำหรับแนวทางการรักษา โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีหลายวิธี การใช้ยาทานในปัจจุบันมีหลายตัวยาในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังโดยยาที่เป็นที่ยอมรับซึ่งเป็นยามาตรฐานในการรักษาสมัยใหม่คือ ยาอิมมาตินิบ โดยทานวันละ 1 เม็ด ขนาด 400 มิลลิกรัม ซึ่งมีผลการรักษาคลินิกเป็นเวลา 8 ปี พบว่ามีอัตรารอดชีวิตถึง 85 % แต่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้โรคกลับมาใหม่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องห้าม รับประทานผลไม้จำพวก ส้ม มะเฟือง และทับทิม เพราะผลไม้ ทั้ง 3 ชนิดนี้จะไปทำปฎิกิริยากับยาทำให้ผลของยาเปลี่ยนไป 
    หากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้องรังดื้อยาหรือไม่สามารถทนต่อการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบได้ ยังมียาอีกชนิดหนึ่งมีประสิทธิภาพสูง และมีความเฉพาะเจาะจงในการรักษามากกว่า คือ ยานิโลตินิบ
    ส่วนวิธีการรักษาอื่น ๆ มีหลายวิธี เช่น การรักษาโดยการใช้ยา เคมีบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กันมานานแต่หากใช้ยาเกินขนนาด อาจมีการกดไขกระดูก และอาจมีพังผืดที่ปอด และมีผิวหนังสีคล้ำลงซึ่งการใช้ ยาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และจำนวนเม็ดเลือกขาวลดลง แต่โรคไม่หายขาด  และระยะหลังโรคจะเปลี่ยนเป็นระยะเฉียบพลันได้ 
       นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาโดย  การปลูกถ่ายไขกระดูก  ซึ่งเป็นการรักษาวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้  โดยจะต้องรอการบริจาค จากพี่น้องท้องเดียวกันเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดการต่อต้าน  แต่มีข้อจำกัดที่จะต้องหาผู้บริจาคเซลล์ไขกระดูก ที่มีเอช แอล เอ  ตรงกับผู้ป่วย และอายุผู้ป่วยไม่เกิน 55 ปี  ซึ่งมีโอกาสที่ มี  เอช  แอล  เอ  เหมือนกัน 25 เปอร์เซ็นต์  และหลังจากการผ่าตัดมักมีอาการแทรกซ้อนได้ง่าย   การปลูกถ่ายไขกระดูก  โดยการทำการปลูกถ่ายไขกระดูกภายใน 1 ปีแรก  หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จะได้ผลดีที่สุด 
   ทั้งนี้  ผู้ป่วยที่มีอายุมากจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการรักษาวิธีนี้ค่อนข้างสูงจากข้อจำกัดนี้ทำให้มีเพียงร้อยละ  20  ของผู้ป่วยเท่านั้น  ที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก 
   อย่างไรก็ตาม  ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อย่าท้อแท้ใจ  เพราะขณะนี้มียาดี ๆ ที่รักษาให้โรคสงบได้  สิ่งสำคัญคือปฏิบัติตัวตามที่หมอแนะนำ ทานยาอย่างสม่ำเสมอ  ก็จะสามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติได้
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์เดลินิวส์วาไรตี้
อาทิตย์สุขภาพ วันที่ 18 ธค.54  
ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี
หมายเลขบันทึก: 471698เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2011 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เพื่อนผมกำลังเป็นโรคนี้อยู่ เขาบอกทานยาได้เจ็ดปี ค่ายาเดือนละแสน จากนั้น...

สวัสดีค่ะพี่ดาที่คิดถึง

  • ขอบคุณที่นำเรื่องราวที่มีประโยชน์มาแบ่งปันนะคะ
  • มีความสุขมากๆค่ะพี่

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

  • ได้ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะผลไม้ต้องห้าม...
  • ขอบพระคุณมากครับ สำหรับสาระดีๆ ที่นำมาเผยแพร่

 
                             
        
                         A Very Happy Christmas & A Happy New Year 2012

สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ดอกไม้และกำลังใจ

ที่มอบให้ บันทึก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัยอีลอยด์


สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ดอกไม้และกำลังใจ

ที่มอบให้ บันทึก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัยอีลอยด์


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท