ทางเลือก หรือ ทางรอด ?


การสอนเพื่อให้เกิดทักษะในตัวนักเรียน จะมีค่าที่สุดที่ครูจะมอบให้ลูกศิษย์นำติดตัวนำไปใช้ในชีวิตจริงตราบเท่าที่เขามีลมหายใจ

          จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทยคราวนี้ ทำให้เราได้เห็นภาพความโกลาหลของผู้คนที่ประสบปัญหา บ้างก็ฟูมฟายตัดพ้อรอคอยความช่วยเหลือ บ้างก็ถกเถียงขัดแย้งไม่ยอมรับฟัง ยิ่งน้ำท่วมขังยาวนานก็ยิ่งเห็นว่าคนในยุคนี้ยังขาดทักษะการดำรงชีวิตอยู่พอควร เห็นได้จากข่าวคนเสียชีวิตจากสาเหตุการจมน้ำ ถูกไฟดูด ติดเชื้อจากน้ำสกปรก บาดเจ็บจากบาดแผลที่ถูกสัตว์ทำร้าย หรือแม้แต่เกิดความเครียดรับไม่ได้กับปัญหาน้ำท่วมบ้าน

          ในภาพของความทดท้อ ก็ยังมีอีกด้านให้เราได้เห็นบุคคลที่มีจิตใจเข้มแข็ง เช่น คุณตัน ภาสกรนที (ตัน อิชิตัน) ผู้สูญเสียทรัพย์สินกว่าสองพันล้านในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ แต่เขาไม่เคยทดท้อและพร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับผู้อื่นได้ในขณะที่ตัวเองก็กำลังประสบปัญหา บุคคลที่มีจิตใจต่อสู้ พร้อมเผชิญปัญหาอุปสรรค มีสติตั้งมั่นที่จะก้าวเดินต่อไป จะต้องเป็นคนที่ได้รับการหล่อหลอมพัฒนาให้มีทักษะการดำรงชีวิตที่ดีมาแต่เยาว์วัย เราจะทำอย่างไรกับการเตรียมเด็ก ๆ ในยุคนี้ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต  ให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกในวันข้างหน้า เด็ก ๆ จะต้องมีทักษะอะไรบ้าง จึงจะเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ทักษะที่จะนำเสนอต่อไปนี้อาจเป็นหนทางสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เราเรียกว่า “ทักษะเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21” ซึ่งครูจะต้องเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะสำคัญ ประกอบด้วย

             1. ทักษะการเรียนรู้และการคิด นอกจากเรียนรู้เนื้อหาทางวิชาการแล้ว ผู้เรียนจะต้องรู้จักวิธีเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รู้จักใช้สิ่งที่เรียนมาอย่างมีประสิทธิผลและสร้างสรรค์ ทักษะการเรียนรู้และการคิด ได้แก่
                  1.1 การคิดเชิงวิพากษ์และทักษะการแก้ปัญหา
                  1.2 ทักษะการสื่อสาร
                  1.3 ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการผลิตนวัตกรรม
                  1.4 ทักษะการทำงานร่วมกัน

             2. ทักษะชีวิตและการทำงาน ครูที่ดีย่อมรู้จักสอดแทรกทักษะชีวิตในบทเรียน ความท้าทายในปัจจุบันโดยผสานทักษะที่จำเป็น อย่างจงใจ แยบคายและรอบด้าน ทักษะชีวิตและการทำงาน ได้แก่
                 2.1 ความเป็นผู้นำ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ
                 2.2 ความสามารถในการปรับตัว
                 2.3 การรู้จักเพิ่มพูนประสิทธิผลของตนเอง
                 2.4 ความรับผิดชอบต่อตนเอง
                 2.5 ทักษะในการเข้าถึงคน
                 2.6 ความสามารถในการชี้นำตนเอง
                 2.7 ความรับผิดชอบต่อสังคม

              3. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความรู้ นักเรียนต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพื่อเรียนรู้เนื้อหา ทักษะ และรู้จักวิธีเรียนรู้ ได้แก่
                 3.1 ความรู้พื้นฐานด้านสารสนเทศ
                 3.2 ความรู้พื้นฐานด้านสื่อ
                 3.3 ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


          ทักษะที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อครูจัดการเรียนรู้ผ่านเนื้อหาวิชาที่เรียกว่าวิชาแกน ประกอบด้วย ภาษา การอ่าน ศิลปะการใช้ภาษา ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หน้าที่พลเมือง การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้แก่ จิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง และความตระหนักในสุขภาพ สวัสดิภาพ และสิ่งแวดล้อม


          ในโลกของวันข้างหน้า การสอนความรู้ ดูจะเป็นเรื่องรอง เพราะมีแหล่งความรู้มากมายที่นักเรียนเข้าถึงได้เอง เขาสามารถศึกษาได้จากตำรา เอกสาร สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ได้ทุกเมื่อทุกช่วงเวลาที่ต้องการ แต่การสอนเพื่อให้เกิดทักษะในตัวนักเรียน จะมีค่าที่สุดที่ครูจะมอบให้ลูกศิษย์นำติดตัวนำไปใช้ในชีวิตจริงตราบเท่าที่เขามีลมหายใจ


          การสอนเพื่อให้เกิดทักษะสำคัญทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมาข้างต้น ผ่านเนื้อหาวิชาที่เหล่านักวิชาการทั้งหลายลงความเห็นว่า เป็นเนื้อหาวิชาที่จำเป็นสำหรับผู้คนในศตวรรษที่ 21 นั้น ครูต้องออกแบบการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการปฏิบัติจริง การเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning) หรือการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน นั่นเอง ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้นี้จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของนักเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติ  โดยครูใช้คำถามสำคัญเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ให้นักเรียนค้นหาวิธีการแก้ปัญหาหรือตอบข้อสงสัยอย่างเป็นระบบ ฝึกการคิดวิเคราะห์วางแผน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในเรื่องนี้ถือเป็นความโชคดีที่ สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาครูจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ในการจัดการความรู้ครู ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community) เพื่อให้ครูมีโอกาสพัฒนาตนเองสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิด “ทักษะเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21” โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ตรงในการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ระหว่างครูด้วยกัน  


          ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างแท้จริงเสียที ทำอย่างไรให้ครูสอนน้อยลง แต่นักเรียนได้เรียนรู้มากขึ้น ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตจริง ไม่มีใครถูกทอดทิ้งหรือแยกกลุ่ม ทุกคนจะได้ร่วมกันทำกิจกรรมให้สำเร็จและมีการเรียนรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรให้ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ได้เรียนรู้พัฒนาตนไปพร้อมกันกับนักเรียน ท่านคิดว่า PBL และ PLC จะเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้ได้หรือไม่ ?

อ้างอิง

          วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์. ทักษะแห่งอนาคต : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 แปลจากเรื่อง 21st century skills : Rethinking how students learn.กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส, 2554.

ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์. โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษา : กรอบแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน. มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2554.
เข้าถึงใน http://learning.thaissf.org/UserFiles/PLC_readingtext_Ps_110217(1).pdf

          http://www.gotoknow.org/blog/thaikm/414362

          http://www.gotoknow.org/blog/thaikm/421673

หมายเลขบันทึก: 471005เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2011 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตูลขอแชร์นะค่ะ ขอบคุณคะ ^^

  • พี่กุ้งครับ
  • น้องเพิ่งเห็นบันทึกนี้ 555
  • ขอบคุณน้องตูล และ อ.แอ๊ด ผู้สนับสนุน สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 ทั้งสองท่านค่ะ
  • พี่กุ้งยังมีสรุปสาระสำคัญจากการฟังสัมมนาฯ เรื่องอาเซียน ที่ ม.เกษตรฯ เมื่อวันที่ได้พบกับ อ.แอ๊ด
  • และรวบรวมจากการสืบค้นเพิ่มเติมในเว็บไซต์ที่วิทยากรแนะนำเพิ่มเติมด้วย
  • คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครูด้วยเหมือนกัน
  • จะลองนำเสนอดูค่ะ

พี่กุ้ง ลองอ่านบทความของคุณหมอประเสริฐ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในมติชน นี้นะคะ

http://learning.thaissf.org/?module=article&page=detail&id=528 สพป.สุพรรณ อาจปิ๊งได้หัวข้อ PBL ขนาดใหญ่ดีๆ ที่สามารถร่วมกันออกแบบให้ นร. คุณครู โรงเรียน ชุมชน เรียนรู้ 21st Century skills ร่วมกันได้ทั้งหมด ปีหน้าอาจจัดมหกรรมประกวด PBL น้ำท่วม คงคึกคักดีไม่น้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท