กรณีศึกษา : นายอภิสิทธิ์ คนสองสัญชาติซึ่งมีบุพการีสัญชาติไทย


------------------------------------------------------------ 
กรณีศึกษา : นายอภิสิทธิ์ คนสองสัญชาติซึ่งมีบุพการีสัญชาติไทย
จากพันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิต ศูนย์ลำปาง ปีการศึกษา 2553 ภาคที่ 2 และดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ข้อสอบปลายภาค วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคการศึกษาที่ 2/2553 วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 
----------------------------------------------------------

   นายอภิสิทธิ์ เกิดจากบิดาและมารดาสัญชาติไทย ซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย โดยมารดาคลอดนายอภิสิทธิ์ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 ซึ่งการเกิดในประเทศอังกฤษนั้นส่งผลให้นายอภิสิทธิ์มีสิทธิในสัญชาติอังกฤษตามหลักดินแดนภายใต้กฎหมายสัญชาติของอังกฤษที่มีผลบังคับใช้ขณะที่ด.ช.อภิสิทธิ์เกิด

   ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บิดามารดาของนายอภิสิทธิ์ได้การแจ้งเกิดของด.ช.อภิสิทธิ์ต่อรัฐไทย ณ สถานทูตลอนดอนเมื่อ พ.ศ.2507 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้กงสุลไทย หรือข้าราชการสถานทูตไทยซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งเป็นนายทะเบียน มีหน้าที่รับจดทะเบียนสำหรับผู้มีสัญชาติไทย ในกรณีคนเกิด คนตาย และลูกตายในท้องนอกราชอาณาจักร”

    ไม่ปรากฏว่า ด.ช.อภิสิทธิ์เคยใช้สิทธิเพิ่มชื่อในทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรอังกฤษ แต่ปรากฏว่า General register office ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรอังกฤษ ได้ออกหนังสือรับรองการเกิดซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า “entry of birth” ให้แก่ ด.ช.อภิสิทธิ์

    ใน พ.ศ.2508 บิดามารดาได้นำ ด.ช.อภิสิทธิ์ เดินทางกลับมายังประเทศไทยและได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.14) ทำ ณ อำเภอบางรักหรือเขตบางรักในปัจจุบัน

      ต่อมา ด.ช.อภิสิทธิ์ ได้เข้าเรียนหนังสือที่ประเทศไทย จนถึงระดับมัธยมศึกษาจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบปริญญาโท โดยถือหนังสือเดินทางซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยมาโดยตลอด และขออนุญาตเข้าเมือง (visa) จากประเทศอังกฤษทุกครั้ง รวมถึงเสียค่าเล่าเรียนในประเทศอังกฤษในอัตราของนักศึกษาต่างชาติ

       หลังจากจบการศึกษานายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางกลับประเทศไทยและลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

       ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นายอภิสิทธิ์ ถูกตั้งข้อสังเกตโดยพรรค ฝ่ายค้านของประเทศไทยว่านายอภิสิทธิ์ ขาดคุณสมบัติ ในการดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเพราะนายอภิสิทธิ์ เป็นบุคคลที่มีสองสัญชาติ คือ มีสัญชาติของประเทศอังกฤษด้วย

 

---------------------------------------------------------- 
คำถามที่ 1  ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นายอภิสิทธิ มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใดบ้าง? เพราะเหตุ? จงอธิบาย?
----------------------------------------------------------
แนวคำตอบ 

 โดยพิจารณาธรรมชาติของหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของรัฐ เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงอันอาจทำให้ได้สัญชาติไทยกับรัฐใดรัฐหนึ่งได้ใน 2 ช่วงเวลา กล่าวคือ

ในขณะที่เกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใน 3 ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ (1) รัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด (2) รัฐเจ้าของสัญชาติของบิดา และ (3) รัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา

ต่อมา ภายหลังการเกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใน 2 สถานะ กล่าวคือ (1) รัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สมรส และ (2) รัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับเอกชนโดยข้อเท็จจริง กล่าวคือ (1) มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐเป็นระยะเวลานานพอที่จะมีความกลมกลืนกับสังคมของรัฐนั้นได้ (2) มีครอบครัวเป็นบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐนั้นได้ (3) ทำคุณประโยชน์ให้กับรัฐนั้น และ (4) อาศัยอยู่ในดินแดนที่รัฐได้มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตแห่งรัฐ

 

จึงสรุปได้ว่า นายอภิสิทธิ์มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับ 2 รัฐ กล่าวคือ

ในประการแรก นายอภิสิทธิ์มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล ประเภทหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา ทั้งนี้ เพราะเขามีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่เกิด  นอกจากนั้น จุดเกาะเกี่ยวดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดและเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐไทย อันทำให้นายอภิสิทธิ์อาจ “มี” สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา แต่จะได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กฎหมายของรัฐไทยในขณะที่นายอภิสิทธิ์มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย กล่าวคือ ในขณะที่เขาเกิด แต่สถานะคนสัญชาติไทยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยบุพการีของเขาในขณะที่เขายังเป็นผู้เยาว์หรือโดยตัวเขาเองในเวลาต่อมา และมีการรับรองสิทธิดังกล่าวโดยหน่วยงานของรัฐไทยที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการทะเบียนบุคคลของรัฐไทย ซึ่งตามกฎหมายไทย เรียกว่า “ทะเบียนราษฎร”

ในประการที่สอง นายอภิสิทธิ์มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศอังกฤษโดยหลักดินแดน  ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในประเทศอังกฤษ  จะเห็นว่า  จุดเกาะเกี่ยวดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดและเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐอังกฤษ อันทำให้นายอภิสิทธิ์อาจ “มี” สิทธิในสัญชาติอังกฤษโดยการเกิดโดยหลักดินแดน แต่จะได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กฎหมายของรัฐอังกฤษในขณะที่นายอภิสิทธิ์มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศดังกล่าว กล่าวคือ ในขณะที่เขาเกิดเช่นกัน แต่สถานะคนสัญชาติอังกฤษจะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษโดยบุพการีของเขาในขณะที่เขายังเป็นผู้เยาว์หรือโดยตัวเขาเองในเวลาต่อมา และมีการรับรองสิทธิดังกล่าวโดยหน่วยงานของรัฐอังกฤษที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการทะเบียนบุคคลของรัฐอังกฤษ

จะเห็นว่า นายอภิสิทธิ์มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงจริงโดยการเกิดกับ 2 รัฐ ซึ่งทั้งสองจุดเกาะเกี่ยวอาจนำไปสู่สิทธิที่จะมีและใช้สัญชาติของทั้งสองรัฐ แต่การรับรองการใช้สิทธิดังกล่าวย่อมเป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐเจ้าของสัญชาติทั้งสอง ซึ่งสถานะคนสัญชาติ (national status) ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้สิทธิของเอกชนเจ้าของสัญชาติและการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย มิฉะนั้น สัญชาติที่มีประสิทธิภาพ (Effective Nationality) ย่อมไม่อาจเกิดแก่ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติได้เลย และอาจนำไปสู่สภาวะความไร้สัญชาติก็เป็นได้หากมิได้มีการดำเนินการให้ครบขั้นตอนที่กำหนดในกฎหมายของรัฐทั้งสองที่เกี่ยวข้อง

โดยสรุป นายอภิสิทธิ์จึงมีจุดเกาะเกี่ยวกับสองรัฐ กล่าวคือ ประเทศไทยและประเทศอังกฤษมาตั้งแต่เกิด ทั้งสองประเทศย่อมอำนาจฮิปไตยเหนือนายอภิสิทธิ์ และเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติของทั้งสองรัฐยอมรับสิทธิในสัญชาติของตนแก่นายอภิสิทธิ์ เขาจึงมีสิทธิที่จะมีทั้งสองสัญชาติ ส่วนการที่นายอภิสิทธิ์จะไม่ใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษในเวลาต่อมา ก็เป็นเสรีภาพของเขา แต่การไม่ใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษของเขา ก็ไม่ได้ทำให้สัมพันธภาพระหว่างนายอภิสิทธิ์และประเทศอังกฤษสิ้นสุดลง นายอภิสิทธิ์จะกลับมาใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษได้ ตราบเท่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐอังกฤษยังคงรับรองสิทธิในสัญชาติของเขา

อ่านเพิ่มเติมในกรณีศึกษานาอภิศกดิ์ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ตามลิงค์นี้ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=550&d_id=549 และสามารถดาวน์โหลดไฟล์พีดีเอฟฉบับเต็มได้ที่นี่ http://cdn.learners.in.th/assets/media/files/000/342/696/original_ABhisak-Stories-2554-07-16.pdf?1310830450

หมายเลขบันทึก: 470823เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2011 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เทวดาขาดคุณสมบัติก็เป็นนายกได้ครับ คนธรรมดาต่อให้ชนะการเลือกตั้งก็โดนสอยลงมาได้ง่ายๆ

สวัสดีค่ะ 

Ico64

แวะมาอ่านกรณีศึกษา : นายอภิสิทธิ์ คนสองสัญชาติซึ่งมีบุพการีสัญชาติไทย
  สรุปได้ว่า ช่วงก่อนและระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนั้นมีสัญชาติไทย...ถือได้ว่านายอภิสิทธิ์มีสัญชาติเดียว...เพราะยังไม่ใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษ...นายอภิสิทธิ์จึงไม่ได้เป็นบุคคลที่มีสองสัญชาติ...เข้าใจถูกต้องหรือไม่ค่ะ...

เกิดที่ใหนไม่ว่า

แต่บิดามารดาและบรรพบุรุษเป็นคนไทย

ลูกก็เป็นไทยหาใช่ลูกฝรั่งไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท