การวิเคราะห์การทดสอบการพัฒนาบทเรียนโปรแกรม


                 การวิเคราะห์การทดสอบการพัฒนาบทเรียนโปรแกรม

                      บทเรียนโปรแกรมที่สร้างขึ้นนั้น  ถึงแม้ว่าจะตั้งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเพื่อให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ในผู้เรียนแล้วก็ตาม  ด้วยตัวของบทเรียนเองเราไม่สามารถทราบถึงระดับผลสัมฤทธิ์หรือการบรรลุวัตถุประสงค์ได้เลย  เพราะจากสภาพการเรียน  การประกอบกิจกรรม  และการย้อนกลับไปอ่านและประกอบกิจกรรมใหม่ตามแบบบทเรียนโปรแกรมชนิดเส้นตรงนั้น  ดูคล้ายกับว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ 100 เปอร์เซ็นต์  แต่โดยความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  การที่ทราบได้ว่าบทเรียนโปรแกรมบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่  จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือเพื่อการทดสอบและดำเนินการวิเคราะห์ตามแบบกรรมวิธีของการวิเคราะห์บทเรียนโปรแกรม  แล้วนำเอาผลวิเคราะห์มากำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน  โดยปกติการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเพื่อเป็นเครื่องมือตัดสินว่าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลทางการเรียน  และบทเรียนโปรแกรมที่สร้างขึ้นบรรลุวัตถุประสงค์ คือ เกณฑ์มาตรฐาน 90/90 (90/90 Standard)

                      เกณฑ์มาตรฐาน 90/90  ที่กำหนดกันขึ้นมานั้น  มีความหมายแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของผู้เขียนหรือผู้สร้างบทเรียนโปรแกรมแต่ละคน  โดยปกติผู้สร้างบทเรียนโปรแกรมจะมีเกณฑ์การวัดของตนเอง  และกำหนดเอาเองว่าถ้าบทเรียนโปรแกรมที่เราสร้างขึ้นได้ตามเกณฑ์ในระดับที่ผู้สร้างพอใจ  ผู้สร้างจะเลิกสนใจที่จะทำการทดลองเพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนเกณฑ์  แต่จะลงมือพิมพ์บทเรียนโปรแกรมเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนต่อไป

                      จากเกณฑ์มาตรฐาน 90/90  ที่ผู้สร้างส่วนใหญ่กำหนดเป็นบรรทัดฐานที่จะชี้ว่าบรรลุผลสำเร็จนั้น  ได้กำหนดแนวทางการแปลความหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้ คือ

                      90  ตัวแรก มีความหมายถึง จำนวนร้อยละของจำนวนเฟรมทั้งหมดที่ผู้เรียนสามารถตอบได้ถูกต้อง  หรือผู้เรียนแต่ละคนสามารถตอบได้ถูก 90 เฟรมใน 100 เฟรม

                      90  ตัวที่สอง มีความหมายถึง จำนวนร้อยละของจำนวนผู้เรียนที่ตอบถูกในแต่ละเฟรมหรือในแต่ละเฟรมจะต้องมีผู้ตอบถูก 90 คนใน 100 คน

                      หลักเกณฑ์การพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานบทเรียนโปรแกรมอีกวิธีการหนึ่ง คือ เกณฑ์มาตรฐาน 90/90 ที่มีความหมายแตกต่างไปจากวิธีแรก วิธีนี้ไม่คิดจากจำนวนเฟรมแต่คิดจากแบบทดสอบที่สร้างขึ้นเพื่อวัดและประเมินผลตามวัตถุประสงค์  ดังนั้นเกณฑ์มาตรฐานในลักษณะนี้จึงมีความหมาย ดังนี้

                      90  ตัวแรก หมายถึง จำนวนร้อยละของผู้ทำแบบประเมินผลที่ทำได้ถูกต้องเกิน 90 ข้อใน 100 ข้อ

                      90  ตัวหลัง หมายถึง จำนวนร้อยละของจำนวนผู้ทำแบบประเมินที่ทำถูกในแต่ละข้อของแบบประเมิน  หรือในแต่ละข้อที่วัดผลนั้นจะต้องมีผู้ตอบถูกอย่างน้อย  90 คนใน 100 คน

                      เนื่องจากวิธีแรกดังที่กล่าวมาแล้วมีปัญหาที่ทำให้ผู้สร้างบทเรียนโปรแกรมนำมาคิดและหาวิธีการอธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ประการหนึ่งก็คือ จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ที่ขาดไป  ยอมให้ขาดไปโดยไม่สนใจได้หรือไม่  โดยผู้สร้างยกปัญหาขึ้นมาเป็นตัวอย่างถ้าวัตถุประสงค์ข้อหนึ่ง 10 ข้อ  ผู้ทดสอบและผู้เรียนกับบทเรียนโปรแกรมไม่บรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้เลย  เราจะถือว่าบทเรียนโปรแกรมนี้เข้าเกณฑ์มาตรฐานตามที่กล่าวอ้างหรือไม่  โดยเหตุและผลแล้ววัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนนั้นจำเป็นต้องสัมฤทธิ์ผลทุกข้อ  จากปัญหาดังที่ได้กล่าวมาแล้วนักสร้างบทเรียนโปรแกรมจึงคิดหาวิธีการที่จะอธิบายเรื่องเกณฑ์มาตรฐาน 90/90 ไว้อีกวิธีการหนึ่งดังนี้

                      สมมุติว่านักเรียนทั้งชั้นทำคะแนนทดสอบก่อนเรียนได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็น 30 คะแนนและได้คะแนนทดสอบหลังเรียนเฉลี่ยคิดเป็น 85 คะแนน จำนวนคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นคิดเทียบเป็นร้อยละก็อาจจะคิดได้ดังนี้

                       คะแนนที่เพิ่มขึ้น 60 คะแนน คิดเป็น 100 %

                      (90-30 คิดจากเกณฑ์มาตรฐาน 90)

                      คะแนนที่เพิ่มขึ้น 55 คะแนน คิดเป็น

                      (85-30 ผลต่างของการทดสอบ) = 91.6 %

                       ถ้าใช้วิธีการคิดอย่างนี้จะเห็นได้ว่า เกณฑ์มาตรฐานกำหนดก็น่าจะใช้ได้และเป็นวิธีการอธิบายที่มีเหตุและผลพอสมควร  แต่อย่างไรก็ตามวิธีการคิดผลสัมฤทธิ์ตามเกณฑ์มาตรฐานดังที่กล่าวมาแล้วนี้  จะมีปัญหาถ้าหากว่าผู้เรียนสามารถทำคะแนนทดสอบก่อนเรียนได้สูง เช่น ทำคะแนนก่อนเรียนได้ 50 % จะต้องทำคะแนนทดสอบหลังเรียนได้ 90 % จึงจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานและปัญหาที่เกิดจากการทดสอบก่อนเรียน ถ้าผู้เรียนได้คะแนนทดสอบก่อนเรียนต่ำ เช่น ได้ 20% คะแนนผู้เรียนต้องทำหลังเรียนได้เพียง 82% ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน  ในกรณีเช่นนี้จึงมีคำถามที่ฝากให้นักสร้างบทเรียนโปรแกรมคิดว่าช่วงของคะแนนที่จะนำมาคิดเทียบหรือกล่าวอีกในหนึ่งก็คือ พัฒนาการหลังเรียนกับบทเรียนโปรแกรมจะใช้ช่วงคะแนนประมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมและถือว่าบทเรียนโปรแกรมได้มาตรฐาน 90/90

                      แนวทางการพิจารณาในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานตามที่กล่าวมาแล้ว  ความคิดเห็นในแต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุมีผลของตนเอง  และไม่มีการพิจารณาการตัดสินชี้ขาดว่าอย่างไหนดีกว่าและดีที่สุด  เป็นเรื่องที่อภิปรายกันไม่รู้จบสิ้น  ฉะนั้นเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับผู้สร้างเป็นสำคัญ

 

เอกสารอ้างอิง

วิเชียร  ชิวพิมาย. บทเรียนแบบโปรแกรม. ขอนแก่น : คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #บทเรียนโปรแกรม
หมายเลขบันทึก: 470822เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2011 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท