ภาชนะดินเผากับการตกแต่งลวดลาย


โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ภาชนะดินเผากับการตกแต่งลวดลาย

โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร 

ภาชนะดินเผากับการตกแต่งลวดลาย

ภาชนะดินเผา(Pottery) คือ สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในการบรรจุของแข็งหรือของเหลวสำหรับใช้บริโภคหรือเก็บสะสมอาหาร เช่น หม้อ ไห จาน ชาม และถ้วย เป็นต้น  ต่อมาได้มีการดัดแปลงภาชนะให้เป็นเครื่องใช้ชนิดอื่นๆ เช่น แจกัน กุณโฑ และกุณฑี เป็นต้น ภาชนะดินเผามีส่วนประกอบหลัก คือ ดิน ซึ่งเป็นอนินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายยาก ด้วยเหตุนี้เราจึงพบเศษภาชนะดินเผาในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ เศษภาชนะดินเผาจึงเป็นหลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ได้

การจัดแบ่งประเภทของภาชนะดินเผานั้นขึ้นอยู่กับลักษณะดินที่ใช้ในการปั้นและอุณภูมิที่ใช้ในการเผา ซึ่งภาชนะดินเผาที่ได้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป และมีคำที่ใช้เรียกต่างกันออกไป เช่น “Earthenware” เป็นภาชนะดินเผาที่เผาในอุณภูมิ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส, “Stoneware” เป็นภาชนะดินเผาที่เผาในอุณภูมิ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ องศาเซลเซียส และ “Porcelain” เป็นภาชนะดินเผาที่เผาในอุณภูมิ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๕๐ องศา-เซลเซียส ทั้งนี้ในการจำแนกประเภทของภาชนะดินเผานั้นจะต้องพิจารณาจากลักษณะเนื้อดินที่ใช้ในการปั้นด้วย

         ขั้นตอนการทำภาชนะดินเผา ประกอบด้วยการเตรียมดิน การผสมดิน การปั้นขึ้นรูป การตกแต่งผิวภาชนะ การตกแต่งบนผิวภาชนะ การตากแห้ง และการเผา สำหรับการตกแต่งภาชนะดินเผาอาจจะทำเพื่อความสวยงาม และเพื่อความสะดวกในการจับติดมือไม่ลื่น  รูปแบบในการตกแต่งภาชนะดินเผามีหลากหลายและมีวิธีการตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป เช่น

-        การตีประทับ หรือการกดลวดลาย เป็นการนำเอาวัตถุที่มีลายมากดประทับหรือกดลงไปบนเนื้อภาชนะ วัตถุที่ใช้กดลายมีหลากหลาย เช่น เชือกพันไม้ เครื่องจักรสาน เปลือก-หอย และลูกกลิ้งดินเผาแกะสลักลวดลาย เป็นต้น 

-       การขูดขีด เป็นการใช้ของแหลมอาจจะเป็นไม้ปลายแหลมมาขูดลงไปบนเนื้อภาชนะ ซึ่งจะได้ลายโค้งเป็นคลื่น เป็นเส้นตรง วิธีการขูดขีดจะทำให้เกิดร่องลึกบนภาชนะเป็นรูปตัววี (V

-       การขุด วิธีการทำคล้ายกับการขูดขีด แต่จะต่างกันตรงที่การขุดจะเป็นการขุดเอาดินออกจากตัวภาชนะและร่องที่เกิดบนภาชนะจะเป็นรูปตัว(U)

-        การแต่งเติมดิน เป็นการปั้นดินให้เป็นเส้น หรืออาจจะปั้นเป็นรูปต่างๆ เช่น  ดอกไม้ ตัวตุ๊กตา และสัตว์ เป็นต้น แล้วจึงนำดินที่ปั้นมาติดลงไปบนภาชนะ   

ในการทำภาชนะดินเผาแต่ละใบ ช่างจะต้องมีความรู้และความชำนาญในทุกขั้นตอนของการผลิต เพราะถ้าหากมีการผิดพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งภาชนะ-ดินเผาที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์และใช้งานได้ไม่นาน การทำภาชนะดินเผาจึงเป็นความรู้ที่บรรพบุรุษของเราได้เรียนรู้และพัฒนาเรื่อยมาจนตกทอดสู่คนรุ่นหลัง ทำให้เรามีภาชนะดินเผาใช้มาจนทุกวันนี้   

ลายกดประทับ(โดยเครื่องจักรสาน)บนภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (ที่มา : "มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง" หน้า ๓๖)


ลายกดประทับ(โดยใช้เชือก)บนภาชนะดินเผา จากแหล่งโบราณคดีบ้านปังหวาน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร (ที่มา : "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร")


ลายปั้นแปะบนภาชนะดินเผา จากเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี (ที่มา : "เตาแม่น้ำน้อย ๒" หน้า ๗๐)


ลายขูดขีดบนภาชนะดินเผา จากเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี (ที่มา : "เตาแม่น้ำน้อย ๒" หน้า ๗๑)

 

ลายขุดบนภาชนะดินเผาบนภาชนะดินเผา จากแหล่งโบราณคดีในจ.ชุมพร (ที่มา : "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร")


ลายกดประทับ(โดยใช้เชือก)บนภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (ที่มา : "มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง" หน้า ๓๖)

 

 

เอกสารอ้างอิง        

พัชรี สาริกบุตร. เทคโนโลยี่สมัยโบราณ เครื่องมือหิน งานโลหะ เครื่องปั้นดิน เผา แก้ว และลูกปัด. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๓.

ศิลปากร, กรม. เตาแม่น้ำน้อย ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์ การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. ๒๕๓๓. 

ศิลปากร, กรม. มรดกวัฒนธรรมบ้านเชียง. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ. ๒๕๓๕.

หมายเลขบันทึก: 470815เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2011 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท