การวิเคราะห์องค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา


การเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

 

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุกัลยา ปริญโญกุล (Sukulya Parinyokul)

.พูลสุข บุญก่อเกื้อ(Poonsuk  Boonkorkua) และ อ. บุปผา ภิภพ (Buppa Bhipob)

คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี

บทคัดย่อ 

        การวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์องค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา และเพื่อสร้างแบบประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามวัดความสำคัญขององค์ประกอบในการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นแบบมาตรส่วนประมาณค่า 5 ระดับ กลุ่มตัวอย่างคืออาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ ปีการศึกษา 2552 จำนวน 961 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Random Sampling)   การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์องค์ประกอบ โดยสกัดองค์ประกอบด้วยวิธีองค์ประกอบหลัก (Principal Component) และหมุนแกน องค์ประกอบแบบออโธกอนอล (Othogonal) ด้วยวิธีวาริแมกซ์ (Varimax)  ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบในการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษามีองค์ประกอบที่สำคัญ 10 องค์ประกอบ คือ บรรยากาศในชั้นเรียน   คุณธรรมจริยธรรม การประเมินผลการเรียนการสอน   คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพที่เหมาะสม  การใช้สื่อในการเรียนการสอน ความสามารถด้านวิชาการ  กลวิธีในการสอน  ความสัมพันธ์กับผู้เรียน การเตรียมการสอน  และ  ความมั่นคงทางอารมณ์

คำสำคัญ : การประเมินประสิทธิภาพการการเรียนการสอน, การวิเคราะห์องค์ประกอบ,  การศึกษาระดับอุดมศึกษา.

Abstract

The objectives of this study were to analyze the element of the evaluation teaching effectiveness in higher education and to create the assessment form for evaluation teaching effectiveness in higher education. The tools used in this study were the inquiry of the importance of the elements evaluation teaching effectiveness assessment in higher education which is individual Likert-type items. The subjects participating in this study were 961 instructors who taught in the state universities in academic year 2009, selected by Multi - State Random Sampling method. Mean, S.D., Rank Difference Method (Correlation) and also the element analysis method which the elements were extracted by using the methods of Principal Component and Turning the Orthogonal elements core by Varimax method were used to analyze the data in this study. The results revealed that there were 10 important elements in evaluation teaching effectiveness in Higher Education which are classroom environment, virtue and morality, instructional assessment, suitable personality, using instructional medias, academic competence, teaching tactics, relationship with students, teaching preparation, and emotional stability.

Keyword :  Evaluation Teaching Effectiveness, Element Analyzing, Higher Education

e-mail: [email protected]

 

คำนำ 

         ปัญหาและความสำคัญ  การพัฒนาประสิทธิภาพการสอนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบหรือการประเมินประสิทธิภาพการสอนจะทำให้ทราบถึงศักยภาพการสอนของอาจารย์ เป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพซึ่ง สถานศึกษาต่าง ๆ ได้ดำเนินการการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอน โดยกรอบของการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษานั้นแตกต่างกันไปตามสภาพและและความสะดวกในการประเมิน ซึ่งผลที่ได้จากการประเมินนั้นอาจไม่สอดคล้องและครอบคลุมตามบริบทของสิ่งที่ต้องการประเมินไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการเรียนการสอนตามสภาพการณ์จริงได้ และอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างแท้จริง

         การทบทวนวรรณกรรม  มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่สอนและถ่ายทอดความรู่ให้แก่เยาวชน สิ่งที่สังคมควรได้รับคือบัณฑิตที่มีความรู้ สามารถเข้าสู่ชีวิตการทำงาน เป็นพลเมืองที่ได้รับการขัดเกลาทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างดี การจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพโดยเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสม

         พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 กำหนดไว้ว่าครูควรมีลักษณะดังนี้ 1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน 2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา 3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง 4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานความรู้ด้านต่าง ๆ ได้สัดส่วนสมดุลกัน ปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา     5) จัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ 6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาร่วมมือกับบุคคลและชุมชนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ 7) มีความสามารถด้านสติปัญญา มีความรู้ดีทั้งทั้งในด้านความรู้ในวิชาการทั่วไป ทันเหตุการณ์บ้านเมือง มีทักษะในการสอน สามารถสอนวิชาการที่ดีและถูกต้องแม่นยำด้วยสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่น่าเรียน ตลอดจนสามารถชี้นำทางความคิดให้ผู้เรียนดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 8) มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียนตลอดจนประชาชนทั่วไป ดูแลสุขภาพและการแต่งกายที่เรียบร้อยเหมาะสม กิริยาท่าทางสง่าผ่าเผย วาจาอ่อนหวาน มีระเบียบวินัย 9) มีความสามารถด้านอารมณ์ มีอารมณ์ที่มั่นคงสม่ำเสมอ ปรับตัวได้ดี มีความประพฤติดีประพฤติชอบ

         ประสิทธิภาพการสอนเป็นความสามารถของผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายตามความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคล ผู้สอนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดังที่ชาญชัย อาจินสมาจาร (2528) ได้จำแนกขอบข่ายคุณลักษณะการสอนที่มีประสิทธิภาพและมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้ 1) การสอนที่แจ่มแจ้ง มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่สอน โดยให้คำแนะนำที่ชัดเจน มีการยกตัวอย่างและใช้อุปกรณ์เพื่อนำมโนทัศน์ที่เป็นนามธรรม 2) มีความกระตือรือร้น สร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุก และมีแรงจูงใจในตนเอง รวมทั้งก่อให้เกิดแรงจูงใจในตัวผู้อื่น 3) การเน้นในเรื่องงาน ควรสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนอย่างเป็นการเป็นงานโดยจัดเวลาสำหรับการฝึกทักษะใหม่ ๆ ให้เพียงพอ มีการกำหนดจุดมุ่งหมายของงานให้ชัดเจน 4) กลยุทธ์ในการสอน ควรใช้วิธีการสอนรูปแบบต่าง ๆ  เช่น การฝึกความคิดการทำงานที่ถูกต้องให้ผู้เรียนใช้สติปัญญาระดับสูงขึ้น การให้ฝึกแบบฝึกหัดทบทวน 5) ปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน แสดงให้ผู้เรียนมีความคิดว่าตัวผู้เรียนมีคุณค่า แสดงความเป็นกันเอง และยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินการสอนด้วย  6) ใช้คำถามที่น่าสนใจ เตรียมคำถามในแต่ละบทเรียน เพื่อให้ผู้เรียนคิดและและมีส่วนร่วมในการเรียน

การประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนเป็นกระบวนการตัดสินคุณค่าของการสอนตามมาตรฐานที่แต่ละสถานศึกษากำหนด นักวิชาการหรือองค์กรทางการศึกษา ได้กำหนดกรอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนไว้ในลักษณะต่าง ๆ กันดังนี้

อาร์มสตรอง (1973) เสนอประเด็นการประเมินประสิทธิภาพการสอนไว้ 21 รายการดังนี้ 1)ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้หลักการทางจิตวิทยาในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียน 2) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ทําให้เกิดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างจํานวนผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ในระดับ “ผ่าน” และผู้มีผลสัมฤทธิ์ในระดับ “ไม่ผ่าน” 3) ทักษะในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 4) การเลือกวิธีสอนได้อย่างเหมาะสม 5) ทักษะในการเสริมสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ของผู้เรียน 6) ทักษะในการพัฒนาเชาวน์ปัญญาของผู้เรียน 7) การพัฒนาทักษะทางกายภาพของผู้เรียน 8) การเสริมแรงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นผู้เรียนในกระบวนการจัดการเรียนการสอน 9) ประสิทธิภาพในการกําหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมและประเมินผลตามวัตถุประสงค์ที่กําหนด 10) ทักษะในการแปลความหมายของคะแนนจากการวัดผลระหว่างเรียนและนําผลที่ได้จากการวัดมาเป็นส่วนในการจัดการเรียนการสอน  11) ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้หลักการหรือทฤษฎีการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ 12) การสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตยในการเรียนการสอน 13)ประสิทธิภาพในการแนะนํากลุ่มผู้เรียนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการเรียน14)การจัดกิจกรรมทางสังคมเพื่อชุมชน 15 การพัฒนากิจกรรมในชั้นเรียนที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนที่ขาดทักษะทางสังคม 16)การพัฒนาคุณลักษณะและพฤติกรรมทางด้านจริยธรรมของผู้เรียน 17)การช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหาในเรื่องการปรับตัวในการเรียน 18)การจัดสถานการณ์ในชั้นเรียนเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของผู้เรียน 19)การช่วยเหลือผู้ที่เรียนอ่อนเพื่อพัฒนาระดับการเรียนรู้ 20)การประยุกต์ใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน และ21)แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนให้ผู้ปกครองหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้เรียนทราบ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (nst.mcu.ac.th :  21 มีนาคม 2551) มีรายการประเมินดังนี้1) มีความรู้เหมาะสมกับรายวิชาที่สอน 2) มีการแจ้งรายละเอียดในการสอน 3 มีเทคนิคการสอนให้นิสิตเข้าใจง่าย 4) มีเอกสาร/สื่อประกอบการสอนทุกครั้ง 5) มีการประเมินผลการเรียนอย่างยุติธรรม 6) มีความอดทนต่อผู้เรียนที่ไม่เข้าใจ หรือติดตามเนื้อหาไม่ทันได้ซักถาม 7) ตรงต่อเวลาในการเข้าสอน/เลิกสอนทุกครั้ง 8) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนเสมอ 9) มีการตรวจงานที่มอบหมายและแจ้งให้นิสิตทราบ 10) มีเวลานอกชั้นให้นิสิตเข้าพบ 11) มีความประพฤติและปฏิบัติตนน่าเคารพทั้งในเวลาสอนและนอกเวลาสอน 12) มีการแนะนำแหล่งค้นคว้าที่เป็นประโยชน์ต่อการสอน 13) มีภาคปฏิบัติเสริมการเรียนหรือประสบการณ์

การวิเคราะห์องค์ประกอบ หรือการวิเคราะห์ปัจจัย เป็นวิธีการทางสถิติที่นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อค้นหาลักษณะของตัวแปรหลาย ๆ ตัวที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นการลดตัวแปรให้น้อยลงเพื่อง่ายต่อการเลือกศึกษา ช่วยอธิบายความหมายและลักษณะของตัวแปรทำให้คำจำกัดความของตัวแปรชัดเจนยิ่งขึ้น 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 

    1.เพื่อศึกษาระดับความสำคัญขององค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

    2. เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

    3. เพื่อสร้างแบบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

  กรอบแนวคิดในการวิจัย   การศึกษาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและศึกษาแบบประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่าง ๆ นำมากำหนดกรอบแนวคิดของการวิจัยดังนี้ 

คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพ

ความมั่นคงทางอารมณ์

ทัศนคติของผู้สอน

คุณธรรมจริยธรรม

การใช้ภาษาในการสื่อสาร

ด้านวิชาการ

การใช้จิตวิทยาในการสอน

การเตรียมการสอน

การใช้สื่อในการเรียนการสอน

กลวิธีในการสอน

กิจกรรมการเรียนการสอน

บรรยากาศในชั้นเรียน

ความสัมพันธ์กับผู้เรียน

การประเมินผลการเรียนการสอน


 วิธีดำเนินการวิจัย

      ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ประชากร ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คืออาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษา สังกัดมหาวิทยาของรัฐ จำนวน 78 แห่ง รวมจำนวนอาจารย์ทั้งสิ้น  46,648 คน  นำมากำหนดเป็นกลุ่มตัวอย่างได้ 961 คน ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน(Multi-Stage Random Sampling) โดยแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐตามภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก จากนั้นจึงใช้วิธีเลือกสุ่มรายชื่อมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค และสุ่มในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อเลือกคณะและจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม

      การรวบรวมข้อมูล   ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์เก็บรวบรวมข้อมูลไปยังหน่วยงานระดับคณะในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง  และมหาวิทยาลัยบางแห่งทีมงานวิจัยได้เดินทางไปประสานการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง

      เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)  5 ระดับ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาในด้านต่าง ๆ  14 ด้าน จำนวน115 ข้อ

     การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักพิจารณาองค์ประกอบที่มีค่าไอเกน (Eigen Value) มากกว่า 1 และเพื่อให้ได้องค์ประกอบที่ชัดเจน จึงคัดเลือกตัวแปรที่มีน้ำหนักเกิน 0.50 ขึ้นไป ส่วนตัวแปรที่มีน้ำหนักองค์ประกอบไม่ถึง 0.50 ไม่นำมาพิจารณา

ผลการวิจัย จากผลการวิจัย สามารถสรุปได้ดังนี้

       1. ผลการศึกษาระดับความสำคัญขององค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนพบว่ามีความสำคัญอยู่ในระดับมากทั้ง 14 ด้าน

       2.  ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาเรียงตามน้ำหนักความสำคัญ มี 10 ด้าน และมีองค์ประกอบย่อยของแต่ละด้าน 69 รายการ ดังนี้

     ด้านบรรยากาศในชั้นเรียน ประกอบด้วย การจัดสภาพห้องเรียนโดยคำนึงถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน  การจัดช่วงเวลาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดและแสดงออกอย่างกว้างขวาง  การจัดสถานการณ์ในชั้นเรียนเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของผู้เรียน  การดูแลห้องเรียนสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย  การจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในชั้นเรียน  การจัดสภาพภายในห้องเรียนให้พร้อมต่อการเรียนการสอน  การใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  การแนะนํากลุ่มผู้เรียนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการเรียน  ความกระตือรือร้นสร้างบรรยากาศของการเรียนให้สนุก   และการส่งเสริมผู้เรียนในการทำงานเป็นกลุ่ม

     ด้าน คุณธรรม จริยธรรม  ประกอบด้วย การประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพนับถือของผู้เรียนทั้งในเวลาและนอกเวลา  การเป็นกัลยาณมิตร และเอื้ออาทรต่อผู้เรียนโดยเสมอภาค  การชี้แนะแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนที่เหมาะสมแก่ผู้เรียน การปลูกจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมแก่ผู้เรียน  ความเมตตากรุณา ยุติธรรม ปราศจากอคติต่อผู้เรียน  ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ปฏิบัติงานได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์  การเสียสละอุทิศเวลาให้กับงานที่ได้รับมอบหมายและงานอื่น ๆ  การสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมในขณะสอน  การส่งเสริมการพัฒนาคุณลักษณะและพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้เรียน  ความเต็มใจถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถเต็มเวลา  และการกระตุ้นให้ผู้เรียนสำนึกในหน้าที่ที่ควรจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

       ด้านการประเมินผลการเรียนการสอน ประกอบด้วย การชี้แจงเกณฑ์การประเมินผลให้ทราบล่วงหน้า การวินิจฉัยเพื่อทราบจุดเด่นจุดด้อยและข้อผิดพลาดของผู้เรียนแต่ละคน การนำการวัดและประเมินผลมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน  ความเข้าใจของผู้สอนในเรื่องเทคนิคการออกข้อสอบหรือการวัดและประเมินผล  การใช้คำถามหลายรูปแบบเพื่อตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน การใช้วิธีประเมินผลหลาย ๆ รูปแบบได้อย่างเหมาะสม    การตรวจสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนก่อนสอนเนื้อหาใหม่    การจัดกิจกรรมวัดและประเมินผลอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม  การวิพากษ์วิจารณ์งานที่ให้ผู้เรียนทำในทางสร้างสรรค์    การออกข้อสอบสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสอน

       คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพที่เหมาะสม ประกอบด้วย  ผู้สอนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ บุคลิกภาพความเป็นผู้นำ การแสดงกิริยาท่าทางสง่าน่าเชื่อถือศรัทธา การพูดจาไพเราะสุภาพ เข้าใจง่าย มีความรู้กว้างขวางและทันต่อเหตุการณ์  มีความเชื่อมั่นในการถ่ายทอดความรู้   ความกระตือรือร้นและคล่องตัวในการทำงาน  บุคลิกดีแต่งกายสุภาพ สะอาดเรียบร้อย กล้าแสดงความคิดเห็นและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

       ด้านการใช้สื่อในการเรียนการสอน ประกอบด้วยการใช้สื่อการสอนและอุปกรณ์ช่วยสอนสอดคล้องกับเนื้อหา  สื่อการสอนเหมาะกับสภาพการเรียนการสอน  สอดแทรกการใช้สื่อการสอนได้เหมาะสม  สื่อการสอนทันสมัยเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การใช้สื่อการสอนประกอบการบรรยายที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น  การคิดค้นผลิตสื่อการสอนและใช้วิธีสอนใหม่ ๆอยู่เสมอ

       ด้านวิชาการ ประกอบด้วย การนำผลการวิจัยหรือข้อมูลที่ทันสมัยมาใช้ประกอบการสอน      การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการในสาขาวิชาที่ทำการสอนอยู่เสมอ การติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาวิชาที่สอน แนะนำให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งที่จะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม มีความสามารถอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิชาการ  การนำเทคนิควิธีการสอนใหม่ ๆ ที่จูงใจผู้เรียนมาใช้   มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

       ด้านกลวิธีการสอน ประกอบด้วย การ ฝึกความคิดในการทำงานที่ให้ผู้เรียนใช้สติปัญญา ความสามารถในการสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ วิจารณ์  การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

      ด้านความสัมพันธ์กับผู้เรียน ประกอบด้วย การให้ความสนใจต่อผู้เรียนเท่าเทียมกันทุกคน การพูดด้วยความสุภาพอ่อนโยนสร้างความเป็นกันเองกับผู้เรียน การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนและเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสม การให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือผู้เรียนที่มีปัญหาทางการเรียน และความอดทนต่อความบกพร่องบางอย่างของผู้เรียน

       ด้านการเตรียมการสอน ประกอบด้วย การจัดทำแผนการสอนที่มีคุณภาพไว้ล่วงหน้า การวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผลการสอนเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้  การกำหนดรูปแบบการวัดผลและประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์อย่างมีลำดับขั้นตอน

       ด้านความมั่นคงทางอารมณ์ ประกอบด้วย ความ  อดทนอดกลั้นไม่โกรธง่ายจิตใจหนักแน่น มีเหตุผลมองโลกในแง่ดี  มีอารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ อารมณ์มั่นคงสม่ำเสมอและปรับตัวได้ดี  และ  สุขภาพจิตดีและมีความฉลาดทางอารมณ์

การอภิปรายผล 

องค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพทางการศึกษาที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดคือองค์ประกอบ ด้านบรรยากาศในชั้นเรียน มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบตั้งแต่  0.520 ถึง 0.752 สามารถอธิบายความแปรปรวนได้ ร้อยละ 10.048 เมื่อพิจารณาเป็นรายการประเมินย่อย พบว่า รายการประเมินที่มีค่าองค์ประกอบมากสามลำดับแรก คือ จัดสภาพห้องเรียนโดยคำนึงถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน (.752) จัดช่วง เวลาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดและแสดงออกอย่างกว้างขวาง   (.706)  จัดสถานการณ์ในชั้นเรียนเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของผู้เรียน (.691)  ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนที่จะต้องจัดสภาพบรรยากาศในห้องเรียนให้สอดคล้องและส่งเสริมการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกรอบการประเมินของอาร์มสตรอง (Armstrong. 1973) ด้านการจัดสถานการณ์ในชั้นเรียนเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของผู้เรียน และการประเมินของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (2551) ในด้านการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ซึ่งตรงกับที่กับชาญชัย  อินทรประวัติ (2523)  ที่ได้เสนอคุณลักษณะด้านการสอนที่พึงประสงค์ในด้านการจัดสภาพการสอนให้คล้ายคลึงกับสภาพความเป็นจริง และการสร้างแรงจูงใจทั้งภายในภายนอกให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนการสอนและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอน และชาญชัย อาจินสมาจาร (2528)ได้จําแนกขอบข่ายคุณลักษณะการสอนที่มีประสิทธิภาพและมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการเรียนรู้ของนักเรียน ในการที่ผู้สอนควรสร้างบรรยากาศของการเรียนให้สนุก เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในตนเอง รวมทั้งก่อให้เกิดแรงจูงใจในตัวผู้อื่น ตลอดจนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอน บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนจะช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและมีความเป็นระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน

ข้อเสนอแนะ

       ข้อเสนอแนะในการวิจัย 

      1. ควรมีการศึกษาองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างอื่น เช่น นักศึกษา ผู้ปกครอง องค์การหน่วยงานผู้ใช้บัณฑิต

    2. ควรมีการศึกษาองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการเสนอระดับอุดมศึกษาโดยการสัมภาษณ์นักการศึกษา นักวิชาการ ผู้บริหาร เพื่อ หาองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นไป 

       ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้

       1. จากผลการวิจัยพบว่าองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาด้านบรรยากาศในชั้นเรียนมีความสำคัญที่สุด หน่วยงานสถาบันการศึกษาที่ประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้านนี้

        2. จากผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพการเรียนการสอนประกอบด้วยรายการความสำคัญ 10 องค์ประกอบหลักและรายการองค์ประกอบย่อย 69 รายการ ดังนั้นผู้บริหารและผู้สอนควรนำแนวทางดังกล่าวไปพัฒนาเพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไป

        ผู้วิจัยขอเสนอแบบองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนระดับ     อุดม ศึกษา 10 องค์ประกอบหลักได้แก่

  1. ด้านบรรยากาศในการเรียน
  2. คุณธรรมจริยธรรมของผู้สอน
  3. การประเมินผลการเรียนการสอน
  4. คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพที่เหมาะสม
  5. การใช้สื่อในการเรียนการสอน
  6. ความสามารถด้านวิชาการ
  7. กลวิธีการสอน
  8. ความสัมพันธ์กับผู้เรียน
  9. การเตรียมการสอน
  10. ความมั่นคงทางอารมณ์

บรรณานุกรม

จันทร์ชลี มาพุทธ. 2546.การประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนของอาจารย์ระดับบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ตามกรอบการประกันคุณภาพของทบวงมหาวิทยาลัย. ชลบุรี : มหาวิทยาลัยบูรพา.

ชาญชัย อินทรประวัติ.(2523). วิธีสอนทั่วไปและการสอนแบบจุลภาค(พิมพ์ครั้งที่ 3). สงขลา: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา.

นันทพงศ์ ศักดิ์เรืองรอง. 2548. องค์ประกอบพฤติกรรมการสอนของอาจารย์คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใน วารสารวิทยาการจัดการ. ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 ก.ค.- ธ.ค. 2548.

บุญเลิศ   จันทร์ไสย์, 2544. รายงานวิจัยสถาบันเรื่อง การประเมินประสิทธิภาพการสอนอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา :คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

วิยะดา ตันวัฒนากูล.(2546) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ สมการถดถอยชนิดต่าง ๆ และการวิเคราะห์ปัจจัย. เชียงใหม่ : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ.2538. รายงานการวิจัยฉบับย่อ เรื่อง การวิเคราะห์องค์ประกอบที่เหมาะสมในการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูสายการสอน. กรุงเทพฯ : สำนักนโยบายและระบบบริหารงาน บุคคล สำนักงานก.ค.

อนันต์ ศรีโสภา. 2521. การวิเคราะห์องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการสอนของอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.

หมายเลขบันทึก: 470650เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท