หลักสูตร"ค่ายอาสา" โรงเรียนนี้ไม่มีปิดเทอม


ค่ายอาสา
หลักสูตร"ค่ายอาสา" 
โรงเรียนนี้ไม่มีปิดเทอม

ต่อให้น้ำท่วม ดินถล่ม ฝนตกหนัก แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีวันปิด นั่นเพราะหลักสูตรที่ร่ำเรียนหาใช่ตำราหรือต้องพึ่งพาครูผู้สอน หากมันคือใจที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลานั่นเอง 

ถ้อยความข้างตนจึงน่าจะเป็นทั้งเหตุผลและหลักปรัชญาที่พวกเขา- เยาวชนค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต ยึดถือเป็นแบบ และใช้เป็นแรงใจร่วมทำกิจกรรม เพราะแน่นอนว่านอกจากเสียงหัวเราะ บางครั้งต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ

จากหนึ่งเป็นสอง สาม…และสี่ ค่ายอาสาฯก็เช่นกัน นอกจากเรื่องของการสร้างสุขภาวะใน4ประการ(กาย ใจ สังคม ปัญญา) การมุ่งเน้นให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตัวเองตามแบบฉบับที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิโกมลคีมทอง วางเป็นแนวทางในช่วงแรกๆแล้ว วันนี้กิจกรรมได้ตอบโตขึ้นและขยายขอบเขตการพัฒนาในประเด็นอื่นๆ ไม่เว้นกระทั่งการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะ

 

 

ทว่ากับบทเรียน ที่เหล่าเยาวชนได้มาล้วนสลักสำคัญ จนน่าฟังอย่างตั้งใจว่า ระหว่างที่สถาบันการศึกษาปิดภาคเรียนอยู่นั้น ใจที่แสวงหาความรู้ของพวกเขา ได้เปิดรับสิ่งใดเข้ามาแทนที่บ้าง



 

 


“กัลยา เพ็ชรเรือง”ผู้ประสานงานโครงการมหกรรมเด็กค่ายสัญจรภาคอีสาน น.ศ.ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหาสารคาม

สิ่งที่คิดว่าได้จากกิจกรรม ทำให้รู้จักเพื่อนต่างภาค และการทำงานกับผู้อื่นโดยที่เราไม่เคยรู้จักกัน มีการวางแผนกิจกรรมไว้ล่วงหน้าเป็นระบบ เหมือนกับการทำงานเป็นแบบแผน ขณะเดียวกัน ก็รู้จัดการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ยกตัวอย่างงาน มหกรรมค่ายสร้างสุขสัญจร ตอน บทเรียนนอกรั้วมหาวิทยาลัย” ที่ จ.กาฬสินธุ์ที่ทำให้พวกเรามาเจอกันในครั้งนี้

ตอนแรกเราอยากทำเรื่องน้ำท่วม แต่สถานที่ที่จัดกิจกรรมไม่ได้รับผลกระทบอะไร จึงต้องปรับกิจกรรมให้เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ โดยเอากิจกรรมเกี่ยวข้าวเข้ามา เพื่อสื่อถึงวิถีชีวิตของชาวอีสานว่าเป็นอย่างไร เป็นการทำความเข้าใจชุมชน จากคนที่ไม่เคยเกี่ยวข้าวเลย ก็มาลองดูเพราะเขาจะได้รู้ว่ากว่าชาวนาจะได้ข้าวแต่ละเม็ดมามันยากลำบากอย่างไร เผื่อมีแนวทางให้เยาวชนได้ตระหนักว่าการที่ชาวนาโดนกดราคามากๆ มันสมเหตุสมผลไหม อาจเป็นแนวทางให้เยาวชนได้คิดและให้ความสำคัญกับอาชีพชาวนา เพราะเด็กค่ายก็มีลูกชาวนา เราอยากให้เขามีความภาคภูมิใจในอาชีพชาวนาด้วย เหมือนกับสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน และร่วมกันวางแนวทาง เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา

พลอยชมพู ชมภูวิเศษ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มนิติศาสตร์สัมพันธ์

 เวลาลงพื้นที่ เราแบ่งกลุ่มกันกระจายออกไปให้ไปสำรวจแล้วมาคุยกันว่าพื้นที่ไหนน่าสนใจ จะเลือกพื้นที่ที่มีจำนวนครัวเรือนน้อยและไม่ค่อยมีความเข้มแข็ง เพื่อไปประสานให้เขาเข้มแข็งขึ้น

การทำกิจกรรมมันก็ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง เรารู้จักหน้าที่ของเรามากขึ้น รู้จักความรับผิดชอบมากขึ้นรู้สึกว่าไปอยู่ค่ายแล้วมีสาระ น้องๆ สามารถปรึกษาได้ เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้เราประเมินคนได้ มองคนออก

 

 

รัฐภูมิ เวียงสมุทร กลุ่มข้าวเหนียวปั้นน้อย ม.อุบลราชธานี

ปัญหาการออกค่าย บางครั้งเวลาไปถามชาวบ้านว่าอยากได้อะไร บางครั้งเขาขออะไรที่ใหญ่เกินความสามารถของเรา เช่นอยากได้สะพานข้ามห้วย ซึ่งเป็นห้วยที่ใหญ่มากบ้าง สุดท้ายเราไปได้การสร้างสนามเด็กเล่นที่โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนใน อ.เมือง แต่ต้องขึ้นเขาไปไกลมา วันเด็ก เด็กๆ นั่งรถมาร่วมงานที่โรงเรียนในเมือง เสียค่ารถคนละ 20 บาทแต่ได้ขนม ห่อละ บาทกลับบ้านไป เราก็เลยเข้าไปช่วยจัดงานวันเด็กให้เขา ทั้งนี้มันเป็นไปตามความเหมาะสม เราจะไปช่วยอะไรที่เกิดกำลังคงไม่ได้


พอเข้ามหาวิทยาลัย เราจะเข้าชมรมอาสา เพราะคิดว่ามันเป็นค่านิยม พอได้ไปทำค่ายสร้างมันไม่ใช่เรา เราไปค่ายอื่นมาเยอะ แต่พอมาอยู่กับข้าวเหนียว ก็ชอบ แต่แม่ไม่อยากให้ทำเพราะว่าเกรดเราก็ไม่ค่อยดี เราก็พยายามตั้งใจเรียน และทำงานอาสา แม่ก็เริ่มเห็นว่าเกรดดีขึ้น ก็เลยปล่อย เรียกว่าค่ายสร้างคน ก็ว่าได้ จากเด็กที่มีปัญหามาก หนีเที่ยวไม่อยู่บ้านเป็นอาทิตย์กลับมาอีกทีก็วันแม่เลยก็เริ่มมีความรับผิดชอบขึ้น 

ถามว่าอะไรคือสิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรม ที่เห็นคงเป็นความรู้สึกถึงความอบอุ่นเป็นพี่น้องกันมากกว่า เวลาทำกับข้าวก็ทำด้วยกัน ไม่มีเงิน ซักบาทอยู่ได้เป็นเดือน ไปเก็บผักบุ้งกินก็อยู่กันได้เป็นเดือน ความประทับใจหนึ่งคือตอนไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม แต่เพื่อนก็ช่วยเราได้ เราก็ไม่รู้ว่าเขาเอาเงินมาจากไหน ตอนหลังเราก็รู้ว่าเขาเอาโน๊ตบุ๊คไปจำนำ เอามือถือไปจำนำเพื่อเอาเงินมาช่วยเราจ่ายค่าเทอมไปก่อน มันก็ได้ใจ

 

 ปัญญา หลักคำ กลุ่มหญ้ารักนา ค่ายพัฒนาตลาดเพื่อสุขภาวะ (ค่ายต่อเนื่อง) สมาชิกกลุ่ม ศึกษาที่ ราชภัฎอุดร ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ  

การทำค่ายพัฒนาเรามีหลักคือการไปคุยกับแกนนำว่าในหมู่บ้านมีอะไรบกพร่อง มีอะไรขาดแคลน หรือมีอะไรติดขัดบ้าง เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว เราจะมาคุยกันว่าจะทำอะไรก่อน เมื่อคุยเสร็จจะไปสำรวจกับชาวบ้านว่า ชาวบ้านกับแกนนำอยากได้อย่างไร ก่อนนำมาซึ่งการวางแผนต่างๆตามมา สำหรับตัวผมการเปลี่ยนแปลง จากที่เราไม่ค่อยพูด พอมาเข้าร่วมค่ายเราเรากล้าแสดงออก กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีความเป็นผู้นำขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ค่ายสร้างให้

ภาวดี ประเสริฐสิงข์ ชมรมฅนสร้างฝัน จ.มหาสารคาม

การเปลี่ยนแปลงในตัวเอง คือการเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เห็นใจคนรอบข้างมากขึ้น ได้เพื่อน บางคนเป็นเพื่อนแท้ ได้เห็นความคิดของคนแต่ละกลุ่ม ได้เห็นความยากลำบากสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีมันก็มีจริงๆ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงในกลุ่ม เด็ก ๆตอนแรกที่เราชวนมา เขาก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่พอเราอธิบายให้เขาลงชุมชนลงพื้นที่ พอมานั่งคุยกัน เขาสามารถเสนอความคิดเห็น ได้ว่า เป็นปัญหาอะไร และควรจะแก้ไขอย่างไร 

บางชุมชนที่ไม่เคยมีค่ายเข้ามาพัฒนาเลย จะได้รับการตอบรับจากชาวบ้านดีมาก ทุกคนจะออกมาช่วยกัน คนละเล็กคนละน้อย จนเด็กค่ายรู้สึกว่า รักเรามากกว่าลูกอีก เพราะชาวบ้านยินดีฆ่าเป็ดฆ่าไก่มาทำอาหารให้ทาน บางแห่งฆ่าหมู ซึ่งตัวใหญ่มาก มาทำอาหารให้กิน (แต่ไปกัน 20 คน พวกเราก็กินกันจนหมด)

 

ก่อนลงค่ายเราเคยไปถามว่าลูกหลานพอจบ ม.3 แล้วจะให้เรียนต่อไหม ตอนแรกเขาก็ว่าจะให้เรียนทำไม เราก็พูดคุยกับเขาว่า เราก็เด็กบ้านนอกเราก็เรียน เราเลยขอน้องๆ มาทำงานค่าย เสร็จ หลังจากนั้น พ่อแม่เขาส่งให้เรียน เราก็ดีใจที่งานค่ายของเรานอกจากเปลี่ยนความคิดวิธีการของเด็กแล้ว ยังทำให้เปลี่ยนชีวิตคนที่เกือบจะไม่ได้เรียน มาเป็นได้เรียน เพราะพ่อแม่เปิดใจและเห็นความสำคัญในการเรียนมากขึ้น ชุมชนเขาก็ได้คุยกันมากขึ้น

สุพรรษา วิชาธร น.ศ.ปี 4 คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ กลุ่มระบายฝัน ม.นเรศวร พิษณุโลก มาร่วมกิจกรรมเพราะเคยร่วมค่ายสร้างสุขปีที่แล้ว ก่อนทำยอมรับเลยว่ามองเรื่องการทำค่ายเป็นอีกอย่าง คือมองว่าไม่เข้าท่า อะไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อได้มาทำจริงๆมันก็ทำให้เราเปลี่ยนไป ทำให้เรามองเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม มีความเป็นจิตอาสา 

อย่างเรื่องการประท้วงก็เช่นกัน แต่ก่อนมองการประท้วงของชาวบ้านเป็นเรื่องความรุนแรง ความที่ไม่ยอมเข้าใจอะไรเลย แต่พอได้ลงพื้นที่ ได้ร่วมงานกับชาวบ้าน ได้ร่วมเรียกร้อง ในประเด็นอย่างเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น โฉนดชุมชน สิ่งแวดล้อม มันก็ทำให้เรามีมุมมองกับเรื่องนี้เปลี่ยนไป มองถึงการใช้เหตุผล แทนการใช้อารมณ์มากขึ้น

นนทวัฒน์ บุญบา ปี 3 คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ

ผมภูมิใจกับการได้เป็นจิตอาสา ได้รู้สึกว่าวันหนึ่งเราเปลี่ยนไปที่เราเห็นความสำคัญในเรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา สิ่งนี้มันทำให้เรามีคุณค่า นอกจากนี้งานค่ายยังฝึกให้เราทำงานกับคนหมู่มาก ที่ต้องอยู่รวมกันโดยใช้เหตุผล ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ

  
 
คำสำคัญ (Tags): #ค่ายอาสา
หมายเลขบันทึก: 470600เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2011 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท