ใช้ฮอร์โมนไข่บังการออกดอกนอกฤดู ทำมะนาวปลอดสารพิษ


ธรรมชาติการออกดอกของมะนาว เมื่อมีอาหารสะสมมากพอ มีความชื้นพอเหมาะพอดี มะนาวจะออกใบอ่อนและดอกพร้อมกัน กิ่งไหนหรือส่วนไหนของลำต้นพร้อมกว่าก็จะแตกก่อน

หลักการทำผลมะนาวขายหน้าแล้ง
                การผลิตมะนาวนอกฤดูของเกษตรกรจะบังคับให้มะนาวออกดอกตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม ผลผลิตของมะนาวก็จะออกในช่วงหน้าแล้งพอดี คือระยะเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน มะนาวจะมีราคาแพง เพราะมีผลมะนาวออกสู่ตลาดน้อย  โดยก่อนหน้านั้น 5 เดือน ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน อันเป็นช่วงฤดูฝน มะนาวตามฤดูยังต้องเลี้ยงผลอยู่เป็นจำนวนมากเต็มทั้งต้น ถือว่าเป็นภาระมากจนกระทั่งหมดกำลังที่จะออกดอกใหม่ หรือถ้ามีปุ๋ยไปให้ในขณะนั้น มะนาวจะนำไปเลี้ยงผลจนหมด ไม่ได้นำมาแตกใบอ่อนและออกดอก

สรุป การที่จะมีมะนาวไว้ขายหน้าแล้งจะต้องวางแผนให้มะนาวออกดอกล่วงหน้า 5 -6 เดือน ก่อนนั้น คือออกดอกระยะปลายฝน ถ้าปลายฝนมีผลมะนาวอยู่เต็มต้นก็จะทำให้ออกดอกได้ยากหรือไม่ออกดอก การที่จะทำให้มะนาวออกดอกง่ายปลายฝนต้องทำให้มะนาวไม่มีลูกคือว่างผลมาตั้งแต่ต้นฤดูฝน

การทำให้มะนาวว่างผลและสะสมอาหาร  

                แนวทางที่จะทำให้มีการออกดอกติดผลโดยเป็นรุ่นหรือเป็นงวดใหญ่ๆ เพื่อให้ทันขายตรงกับช่วงหน้าแล้ง จะนิยมผลิตมะนาวจะต้นที่ว่างผล ซึ่งจะมีแนวทางที่จะทำดังนี้

1. โดยใช้วิธีปลิดดอกและผลทิ้ง เกษตรกรรายย่อย มีจำนวนมะนาวไม่มากอาจจะใช้แรงงานในการค่อยๆ เก็บผลทิ้งไป อย่างไรก็ตามถ้าเด็ดผลเมื่อมะนาวมีขนาดใหญ่ก็แสดงว่ามะนาวต้องใช้อาหารที่มีอยู่มาสร้างผลจำนวนมาก การที่จะเด็ดผลทิ้งอยู่เสมอซึ่งจะต้องกระทำมาจนถึงเดือนกันยายนก็เปลืองแรงงาน แต่ในสวนที่ใหญ่ๆ การที่จะใช้แรงงานคอยเก็บผลทิ้งย่อมจะทำไม่ทันก็จะใช้วิธีทางสารเคมีเข้ามาช่วย

2. การทำลายดอก ที่นิยมคือการใช้สารฮอร์โมน อัลฟาแน็พธาลีน อะซีติค แอซิด (NAA)  ใช้สารนี้ในอัตราเข้มข้นกว่าปรกติทั่วไปตามอัตราที่แนะนำบนฉลาก  โดยปรกติจะใช้สารหรือฮอร์โมน เอ็น เอ เอ (NAA) นี้เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของผลอ่อน ทำให้มีการร่วงหล่นที่น้อยลง แต่ถ้าใช้สาร เอ็น เอ เอ (NAA) ตั้งแต่ระยะเป็นดอกเช่นเริ่มเกิดดอกหรือดอกตูมก็จะทำให้ดอกนั้นร่วงหล่น ถ้าไม่ได้ออกดอกทั้งต้นเราก็ใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีจ่อลงที่ดอก ซึ่งต่อมาดอกจะร่วงหล่น ถ้าดอกออกมาทั่วทั้งต้นเราก็มีความจำเป็นต้องฉีดให้ทั่วทั้งต้น ซึ่งดอกก็จะร่วงและใบก็อาจจะร่วงตามมาบ้างเล็กน้อย ต้นไม้คล้ายถูกบังคับให้หยุดชะงัก แต่ก็มีการสะสมอาหารต่อไปทำให้ต้นยังคงว่างอยู่ เมื่อมะนาวมีความพร้อมก็จะออกดอกอีกก็จำเป็นต้องทำลายดอกอีก ทำอย่างนี้ไปจนถึงระยะเวลาที่ต้องการให้ออกดอกคือ กันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ในระยะนี้ก็จะเปลี่ยนวิธีการกระตุ้นหรือบังคับเร่งเร้าให้มะนาวได้ออกดอกต่อไป

3. การใช้หินฟอสเฟต 

ฟอสเฟต เป็นกลุ่มวัสดุปูนที่ให้แร่ธาตุฟอสฟอรัสที่มีราคาต่ำที่สุด และค่อยๆ ละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชทีละน้อยตลอดเวลา อีกทั้งมีแคลเซียมอยู่ด้วยทำให้มะนาวได้รับธาตุรอง และในกรณีที่ดินเป็นกรดก็ยังช่วยแก้กรดของดินอีกด้วย การใช้หินฟอสเฟตอาจจะใช้ครึ่งกิโลกรัมต่ออายุ 1 ปี ของมะนาว อาจไม่ใส่คราวเดียวกันทั้งหมด การแบ่งใส่ทีละน้อย หลายๆครั้งจะได้ผลดีกว่า การใช้หินฟอสเฟตทำให้มะนาวมีความพร้อมต่อการออกดอกมากยิ่งขึ้น และสามารถทำให้ใช้ปุ๋ยเคมีตัวกลางต่ำ

4. การใช้โดโลไมท์ 

โดโลไมท์ ก็จะเป็นกลุ่มวัสดุปูนอีกชนิดหนึ่งมีชื่อว่า แคลเซียม แมกนีเซียม คาร์บอเนต ใช้แก้กรดในดินบริเวณใต้ทรงพุ่มและในสวน (ควรวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของดินอย่างน้อยปีละครั้ง) ใช้ได้ดีโดยใส่ในอัตราเดียวกันกับหินฟอสเฟตและสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ไม่ใส่พร้อมกับปุ๋ยเคมีที่มี ไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียหรือยูเรีย ตราบใดที่ดินมีค่า พีเอช ไม่เกิน7 ถ้าพีเอชน้อยกว่า7 ก็ยังคงใช้ต่อไปได้เรื่อยๆ ประโยชน์ที่มีมากก็คือ เมื่อพืชได้รับแมกนีเซียมเพียงพอจะมีคลอโรฟิลด์มากทำให้จับพลังงานจากแสงแดดมาใช้ประโยชน์ได้มาก พืชสร้างอาหารได้มาก ออกดอกได้ดี ผลโตเร็ว

5. การใช้หินแร่ภูเขาไฟ พูมิชซัลเฟอร์

ในปัจจุบันเกษตรกรจะใช้กลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ ซึ่งมีองค์ประกอบของแร่ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน และจุลธาตุต่างๆ อีกมากมาย ช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารตัวกลางเหมือนกับหินฟอสเฟต แต่ยังได้รับธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยอาจจะไม่ใช้ทั้งหินฟอสเฟต และโดโลไมท์เลยก็ได้  อีกทั้ง พูมิชซัลเฟอร์ยังมีแร่ธาตุซิลิก้า (Sio2)ที่ละลายน้ำได้จนแตกตัวเป็น ซิลิสิค แอซิด (H4Sio4 ) ที่พืชพร้อมจะดูดกินนำไปใช้ได้ทันที ช่วยทำให้ต้นมะนาวสมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี

6. การให้ปุ๋ยทางดิน 

   มะนาวหากมีอาหารสะสมมากเมื่อดินมีความชื้นก็จะแตกใบอ่อนและออกดอกตามมา เมื่อจัดการสมดุลของแร่ธาตุปุ๋ยให้พอเหมาะก็จะเกิดดอกได้ง่าย มะนาวที่มีความโน้มเอียงที่จะเฝือใบจะเกิดจากการได้รับไนโตรเจนเกินสมดุล การใส่ปุ๋ยทางดินนั้นต้องไม่ขาดไนโตรเจน แต่ต้องให้มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมมาก มีธาตุรองและจุลธาตุต่างๆ พอเหมาะโดยการเตรียมการล่วงหน้า โดยอาจจะใช้ปุ๋ยสูตรเสมออย่างเช่น 15-15-15, 16-16-16, 18-18-18 หรือจะร่วมกับปุ๋ยยูเรีย     46-0-0 ในกรณีที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอินทรีย์วัตถุหรือลักษณะของต้นมะนาวไม่สมบูรณ์เพียงพอ

การใช้ปุ๋ยตัวกลางสูง ในส่วนที่ไม่ใช้หินฟอสเฟตให้เพียงพอ และยิ่งถ้าดินเป็นกรด มิได้วัดค่าพีเอช ของดิน และไม่ได้ใส่โดโลไมท์ลงไปแก้ไข ทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ใส่ปุ๋ยตัวกลางสูงเช่น 12-24-12 หรือ 8-24-24 ซึ่งค่อนข้างแพงสักหน่อย แต่เมื่อไม่มีทางเลี่ยงก็จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ก็จะช่วยให้ต้นไม้มีความจำเป็นต้องพ่นปุ๋ยทางใบน้อยลง แต่เราก็มักใช้ปุ๋ยทางใบกันอยู่นั่นเอง เพราะเมื่อฉีดพ่นสารเคมีแก้ปัญหาโรคและแมลง เรามักจะเติมปุ๋ยทางใบลงไปด้วยโดยเห็นว่าไม่เสียค่าแรงงานเพิ่ม

การใช้ปุ๋ยตัวท้ายสูง หากมีการใช้วัตถุบำรุงดินพวกปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกในปริมาณมาก ดินจะมีการอุ้มน้ำได้เก่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมๆ กันนั้นจะแสดงอาการมีท่าทีตอบสนองต่อไนโตรเจนมากขึ้น หรือมากจนเฝือใบ พืชสนใจสร้างใบมากกว่าการออกดอกติดผล นับว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากผิดจังหวะ ควรไปใส่มากเมื่อติดผลแล้ว แก้ปัญหานี่โดยจัดสมดุลปุ๋ยด้วยการหยุดปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยไนโตรเจนต่างๆ แล้วใส่ปุ๋ยที่ขาดไนโตรเจนแทนคือ 0-3-0, 0-10-30, 0-0-50, 0-0-60 หรือจะใช้ กลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ เช่น ซีโอ-พูมิช (Zeo-Pumice) ซึ่งมีค่า ซีอีซี (Cation Exchange Capacity)  สูงถึง 100 -200 meq/100g. ช่วยควบคุมจับตรึงปริมาณของปุ๋ยไนโตรเจนมิให้พืชดูดกินไปมากจนเกินสมดุล ช่วยลดการเฝือใบ ต้นแข็งแรง

7. ปุ๋ยทางใบเพื่อการสะสมอาหาร

ปรกติการใช้ปุ๋ยทางดินจะเสียค่าใช้จ่ายต่ำแต่แสดงผลออกมาช้ากว่า และหากดินมีปัญหา เช่น ดินเปรี้ยวเพราะเป็นกรดจัดก็จับตรึงฟอสฟอรัสและจุลธาตุบางตัว ดินแน่นแข็งก็ทำให้น้ำและปุ๋ยไปถึงรากได้ยากและช้า ดินเนื้อหยาบก็ถูกน้ำชะพาปุ๋ยไปหมดได้ง่ายเวลาฝนตกหนักหรือให้น้ำมาก

ปุ๋ยทางใบเทียบราคาต่อกิโลกรัมแล้วจะแพงกว่า แต่พืชสามารถรับไปใช้ได้ทันที ปัจจุบันความสามารถเลือกสูตรต่างๆ ได้ตรงตามที่ต้องการทั้งธาตุหลัก ธาตุรองและจุลธาตุหรือธาตุอาหารเสริม

ถ้าดูสภาพใบยังต้องการไนโตรเจนอีกบ้างก็ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-20, 20-5-30, 6-32-32 ใช้ร่วมกับกลุ่มจุลธาตุรวมเช่น ซิลิโคเทรซ, ไรซ์กรีนพลัส, กรีนอมิโนพลัส ยูนิเลท หรือโปรวิต เป็นต้น  การฉีดพ่นบ่อยๆ ระยะใกล้การออกดอกก็จะทำให้มะนาวสะสมอาหารอย่างเต็มที่เช่นนี้จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงระยะมะนาวออกดอก

การทำให้มะนาวออกดอกในระยะที่ต้องการ (กันยายน ตุลาคมและพฤศจิการยน)

                ธรรมชาติการออกดอกของมะนาว เมื่อมีอาหารสะสมมากพอ มีความชื้นพอเหมาะพอดี มะนาวจะออกใบอ่อนและดอกพร้อมกัน กิ่งไหนหรือส่วนไหนของลำต้นพร้อมกว่าก็จะแตกก่อน ยกเว้นมะนาวที่ไม่ได้รับปุ๋ยที่สมดุล ซึ่งมักจะเกิดจากมีไนโตรเจนมากเกินไปทำให้เกิดสภาพเฝือใบ มะนาวอาจต่อยอดโดยไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อยเกินไป วิธีการแก้ไขและจัดการจะอธิบายในลำดับถัดไป

การทำมะนาวนอกฤดู โดยให้มะนาวอดน้ำจนใบสลด ห่อเหี่ยว เพื่อให้มะนาวออกดอกติดผล มีข้อดีอยู่บ้างก็คือเกษตรกรอาจได้ดอกง่ายขึ้นตามต้องการ  แต่ข้อเสียจากการทรมานต้นมะนาวที่จะตามมาก็คือ ทำให้ระบบรากเสียหาย หยุดการเจริญเติบโต หยุดหาอาหาร ต้นมะนาวโทรม เพราะการอดหรือทิ้งน้ำนานๆนั้น ทำให้มะนาวเครียดจัดรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตาย จึงรีบผลิดอกออกผลขยายพันธุ์ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป คือถ้าไม่ออกดอกติดผลก็มีหวังจะต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปเป็นแน่  อีกทั้งมะนาวเป็นพืชที่มีใบอ่อน ดอกและผลหลายรุ่นในต้นเดียวกัน แตกต่างจากมะม่วง เงาะ ทุเรียนและไม้ผลอื่นๆ การทิ้งน้ำนานๆอาจส่งผลเสียแก่ผลมะนาวในรุ่นก่อนๆได้ ข้อเสียอีกอย่างคือการดูแลจัดการมีความยุ่งยาก ยิ่งถ้าต้องการให้ออกดอกในระยะเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งโดยปกติเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกตลอดเวลายิ่งควบคุมได้ยาก ไม่สามารถปล่อยให้ดินแห้งสมความตั้งใจได้ ไม่ทันแห้งฝนก็ตกอีก ในน้ำฝนมีไนโตรเจนที่อยู่ในสภาพปุ๋ยละลายน้ำติดมาด้วยส่วนหนึ่งเสมอทำให้มะนาวต่อยอดอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น การงดน้ำจึงไม่ใช่ทางออกเพียงอย่างเดียว แต่การควบคุมกำหนดปริมาณการให้น้ำ มีส่วนสำคัญมากกว่าโดยให้สังเกตตามสภาพความเป็นจริงของต้นมะนาวเป็นเกณฑ์เช่น ใบสลด ใบเหี่ยว ใบมาก ใบน้อย เฝือใบ ใบเหลือง ฯลฯ แต่ไม่ใช่การทิ้งน้ำอย่างสิ้นเชิง  การควบคุมน้ำสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มบำรุงต้นในเดือนมิถุนายนจนกระทั่งเปิดตาดอก โดยจะต้องทำไปพร้อมๆกันกับการทำความสะอาดรอบโคนต้นใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหรือเศษอินทรีย์วัตถุหลงเหลืออยู่  ทั้งนี้เพื่อให้มะนาวมีความพร้อมในการเปิดตาดอกและมีความคุ้นเคยกับน้ำไปตลอดในช่วงที่ออกดอกจะช่วยให้มะนาวไม่สลัดดอกและผลทิ้งเมื่อเจอฝนหลงฤดูหรือเข้าสู่ระยะฝนชุก  โดยต้องทำควบคู่ไปกับการให้ฮอร์โมนไข่ เพื่อช่วยในการเพิ่มระดับของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับของไนโตรเจน ( ซี/เอ็นเรโช (C/N ratio) ของต้นมะนาวให้กว้างขึ้น

ความหมายของ ซีเอ็นเรโช (C : N Ratio) ซี = C     ย่อมาจากคาร์บอน, ส่วนเอ็น = N ย่อมาจากไนโตรเจน และ เรโช = ratio หมายถึงสัดส่วน, รวมแล้วจึงหมายถึงสัดส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจน ซึ่งใช้วิธีแสดงออกมาเป็นตัวเลข เช่น 15 : 1 คือคาร์บอน 15 ส่วน ต่อไนโตรเจน 1 ส่วน หรือตัวอย่าง 28 : 1 คือคาร์บอน 28 ส่วน ต่อไนโตรเจน 1 ส่วน ถ้าตัวเลขอยู่ใกล้กันเรียกว่าซีเอ็นเรโชแคบ ถ้าตัวเลขอยู่ห่างกันเรียกว่าซีเอ็นเรโชกว้าง ดังนั้นตามตัวอย่างนี้ ซีเอ็นเรโช 15 : 1 จึงแคบกว่า 28 : 1

ซี หรือคาร์บอนได้มาจากค่าวิเคราะห์คาร์โบฮัยเดรทในพืช ในที่นี้คือน้ำตาลและแป้งซึ่งมะนาวสร้างขึ้นเองหรือได้รับจากการฉีดพ่นก็ตาม แต่ก็อยู่ในต้นมะนาวแล้ว ส่วนไนโตรเจนนั้นได้มาจากการวิเคราะห์หาไนโตรเจนรวมในพืช ไม่ว่าจะได้มาจากการดูดขึ้นมาจากดินหรือได้รับจากการฉีดพ่นให้ทางใบก็ตาม

ซีเอ็นเรโชแคบ ตัวเลขของคาร์บอนและไนโตรเจนห่างกันไม่มาก ทำให้เกิดสภาพเช่นนี้ได้โดยการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนโดยไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ หรือฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีไนโตรเจนละลายอยู่ ปรกติพืชจะได้รับไนโตรเจนที่ละลายน้ำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งกว่าปุ๋ยอื่นๆ ทั้งในรูปของไนโตรเจน, แอมโมเนีย, ยูเรีย หรือที่ละลายน้ำในรูปอื่นก็ตาม แล้วทำให้ค่าไนโตรเจนเพิ่มขึ้นทันทีในขณะที่คาร์บอนหรือคาร์โบฮัยเดรทในต้นมะนาวเท่าเดิม หรืออาจถูกใช้ไปบ้างเพื่อเป็นพลังงานในการดึงปุ๋ยเข้าสู่รากพืช มีผลให้ค่า ซีเอ็นเรโชแคบอย่างรวดเร็ว

มีผลให้เกิดการเจริญทางใบคือแตกยอดและใบอ่อนง่าย ทำให้ผลอ่อนเจริญขึ้น ทำให้ออกดอกยาก ทำให้คุณภาพผลผลิตใก้แก่ต่ำลง ถ้ายังไม่เริ่มกระบวนการแก่ก็จะทำให้แก่ช้าออกไป หากซีเอ็นเรโชแคบอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ใบก็ยังแก่ช้าออกไปด้วย

ซีเอ็นเรโชกว้าง ตัวเลขของคาร์บอนและไนโตรเจนอยู่ห่างกันกว่า ทำให้เกิดสภาพเช่นนี้กับพืชต้นที่มีใบรุ่นใหม่สมบูรณ์และมากเพียงพอแล้วโดยการหยุดให้ปุ๋ยไนโตรเจนทุกชนิดทั้งทางดินและทางใบ พืชก็ยังจะสังเคราะห์แสงสะสมอาหารมากขึ้นตามลำดับ โดยสร้างเด็กซ์โทรส (หรือกลูโคส) จากนั้นเปลี่ยนเป็นซูโครส (น้ำตาลทราย) ซึ่งเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่า แล้วเปลี่ยนเป็นแป้งหรือคาร์โบฮัยเดรทอื่นสะสมอยู่ในกิ่ง ก้าน ลำต้น ราก หรือหัว ในธรรมชาติจะเกิดเมื่อฝนหยุดตก งดการให้น้ำ น้ำในดินจะลดน้อยลงจนเรื่อยๆ จะละลายไนโตรเจนออกมาได้น้อย และในที่สุดแทบจะไม่ได้ดูดไนโตรเจนเข้าลำต้นเลย แต่พืชยังคงสังเคราะห์แสงที่ใบทุกวันเมื่อมีแสงอาทิตย์ ซีเอ็นเรโชจึงกว้างขึ้นเป็นลำดับ ใบมะนาวจึงมีบทบาทที่สำคัญมากเพราะทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตอาหารสะสมให้ต้นมะนาว

ผลของการมีอาหารสะสมมาก มีซีเอ็นเรโชกว้างทำให้มะนาวออกดอกได้ง่าย ทำให้ผลอ่อนร่วงน้อย โตเร็ว ผลแก่มีคุณภาพดี เมื่อผลแก่แล้วก็สุกได้ง่าย ในมะนาวนั้นการทำให้ออกดอกง่ายเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อทำให้ซีเอ็นเรโชกว้างได้ในมะนาวต้นที่สมบูรณ์ดี ก็ง่ายต่อการชักจูงให้มะนาวออกดอกโดยไม่ต้องรอดินแห้งตามฤดูกาล

                ใช้ฮอร์โมนไข่ ไม่ต้องงดน้ำ ต้นไม่โทรม
                การทำมะนาวนอกฤดูเริ่มจากการเตรียมต้นมะนาว โดยต้องตัดแต่งกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวรุ่นแรกไปแล้ว แตกใบอ่อน 1 รุ่น จนเข้าสู่ระยะใบเพสลาด (ใบกลางอ่อนกลางแก่) การดูแลบำรุงต้น จนถึงจัดการทำให้ต้นว่างจากลูกหรือผลโดยวิธีการต่างๆ ข้างต้น ทั้งวิธีการเด็ดผลทิ้ง ทำลายดอก  แล้วจึงค่อยสู่ขั้นตอนการใช้ฮอร์โมนไข่ราดรดทางดิน ไปพร้อมๆ กับการฉีดพ่นฮอร์โมนทางใบ เพื่อเปิดตาดอก โดยใช้ระยะเวลา 2 – 3  เดือนจึงจะเริ่มมีดอก 
                ส่วนการเตรียมฮอร์โมนไข่นั้น มีขั้นตอนในการทำ คือ นำไข่ไก่สด 5 กิโลกรัม, กากน้ำตาล 5 ลิตร, ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก และสุดท้ายใช้บีทาเก้นหรือยาคูลย์ (ที่มีจุลินทรีย์แลตตาโบซิลลัส)  1 ขวด  ขั้นตอนการทำนำไข่ไก่สดนำไปบด ปั่น ทุบ ให้ละเอียดทั้งเปลือกใส่ถังกวนให้เข้ากันโดยไม่ต้องแยกเปลือกออก  จากนั้นเติมกากน้ำตาลลงไปแล้วคนให้เข้ากัน ตามด้วยบีทาเก้นและลูกแป้งข้าวหมากที่บี้จนละเอียดแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน    นำฝาหรือถุงพลาสติกคลุมแล้วเจาะรูเพื่อให้อากาศเข้า-ออกได้บ้างเล็กน้อย  จากนั้นทำการคนเช้า-เย็น ทิ้งไว้ 7-15 วัน จึงสามารถนำมาใช้  ทั้งนี้  ก่อนการใช้ให้เราสังเกตว่าฮอร์โมนไข่ที่เราหมักนั้นหนืดหรือเหลว ถ้าหนืดหรือแห้งมากให้ใช้น้ำมะพร้าวอ่อนเติมลงไปเพื่อลดความหนืดแล้วจึงตวงออกมาใช้
                ก่อนการใช้ฮอร์โมนไข้ให้เอาเศษหญ้า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกออกจากโคนต้นเพื่อไม่ให้ไนโตรเจนละลายไปเลี้ยงลำต้น จากนั้นใช้ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดลงที่โคนต้นที่เตรียมไว้แล้ว  พร้อมๆ กันกับผสมฮอร์โมนไข่ 10 ซีซี บวกกับน้ำตาลทราย 2-3 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นทางใบ  โดยอาจจะใช้ ร่วมกับปุ๋ย 0-52-34 อัตรา 10 กรัม, ไวตาไลเซอร์ 5 กรัม และ น้ำมะพร้าวอ่อน 100 ซี.ซี. เพิ่มเข้าไปอีกก็ได้เพื่อช่วยเสริมและกระตุ้นการเปิดตาดอกให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นโดยฉีดพ่นให้กระจายทั่วทรงพุ่มให้เปียกชุ่มโชก ฉีดอาทิตย์ละครั้งเพื่อให้กระตุ้นให้มะนาวเตรียมแตกใบอ่อนพร้อมต่อการออกดอก 
                อย่างไรก็ตาม การฉีดพ่นมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพต้น พื้นฐานการให้ปุ๋ยไนโตรเจน สภาพฝนที่ตกมามากน้อยแค่ไหน  หากมีปริมาณไนโตรเจนในดินมาก ฝนตกบ่อย ก็จะทำให้ต้องฉีดพ่นสูตรกระตุ้นตาดอกถี่ครั้งเพื่อกระตุ้นให้มะนาวออกในเดือนกันยายน-ตุลาคม หากฉีดสูตรเปิดตาดอกดังกล่าวข้างต้นเข้าไปใบอ่อนที่แตกมาในระหว่างนี้จะพาทยอยกันสะสมคาร์บอนจนมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าไนโตรเจน ส่วนใบที่แก่จัดอยู่ที่ต้นอาจจะเหลืองหลุดร่วงไปบ้างไม่ต้องตกใจเป็นเรื่องปกติของการเปิดตาดอกจะทำให้ใบแก่เร็วมาก โดยสูตรเปิดตาดอกให้ทำการหมักบีเอส-พลายแก้ว ผสมเข้าไปด้วยเพื่อป้องกันและกำจัดโรคแคงเกอร์ที่ระบาดในช่วงหน้าฝน

                นอกจากการฉีดพ่นฮอร์โมนไข่แล้วการทำมะนาวนอกฤดูยังจำเป็นต้องดูแลและใช้หลายๆ วิธีเข้าร่วมกันจึงจะได้ผลดี

การใช้จุลินทรีย์ปราบโรคแคงเกอร์
                ในส่วนของโรคและแมลงของมะนาวที่กลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับชาวสวนมะนาว คือ โรคแคงเกอร์ ที่สวนมะนาวทั่วไปต้องหันมาใช้สารเคมีเพื่อปราบศัตรูตัวร้ายนี้ ซึ่งคุณมนตรีได้บอกว่า สามารถที่จะทำการรักษาโรคแคงเกอร์นี้ได้แล้ว   
                คุณมนตรี เล่าให้ฟังว่า  การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งหลายรวมทั้งสารเคมีที่ชาวบ้านเรียกกันว่าผงเขียวหรือสารประกอบทองแดงเพื่อปราบแคงเกอร์นั้น ยิ่งใช้นานเข้าก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเลวร้ายให้แก่ดินและต้นมะนาวเพิ่มขึ้น เพราะต้นมะนาวจะยิ่งอ่อนแอจนถึงตายได้ แต่โรคแคงเกอร์นั้นก็ยังคงสะสมอยู่ตามกิ่งก้านและลำต้น ไม่หายไปไหน จึงควรเปลี่ยนมาใช้จุลินทรีย์ชีวภาพปราบโรคแคงเกอร์ ที่ชื่อว่า บีเอส พลายแก้ว ในปริมาณ 5 กรัม หมักกับน้ำมะพร้าวอ่อน 1 ผล โดยทำการเฉาะผลมะพร้าวอ่อนทำเป็นฝาแง้มเปิดหยอดเชื้อลงไปแล้วหมักทิ้งไว้ให้ได้ 24 ชั่วโมงและไม่เกิน 48 ชั่วโมง แล้วนำมาผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน ในช่วงระยะเวลาแดดอ่อน  หรือจะใช้นมยูเฮชที รสหวาน 1 กล่อง หรือ นมถั่วเหลือง (แลคตาซอย, ไวตามิ้ลท์)  1 กล่อง  นำมาเทใส่ถุงน้ำแข็งใส นำหนังยางมาผูกทำเป็นหูไว้ข้างหนึ่ง หยอดเชื้อลงไป 5 กรัม แล้วนำไปแขวนไว้ในที่ร่มทิ้งไว้โดยใช้ระยะเวลาเท่ากันกับวิธีหมักกับวิธีที่ใช้ผลของมะพร้าวอ่อน หลังจากหมักได้ที่แล้วก็นำมาผสมกับน้ำ  20 ลิตร ฉีดพ่นได้เหมือนกัน
                “ฮอร์โมนไข่” จากชมรมเกษตรปลอดสารพิษ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำมะนาวนอกฤดูและแคงเกอร์ปราบศัตรูตัวร้ายประจำสวนมะนาวที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการผลิตมะนาวและดูแลสวนของตนเองได้

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 470549เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2011 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีจังเลยเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรมากๆๆ

กำลังจะปลูกมะนาวครับ  บทความข้างต้นใช้กับมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ หรือมะนาวปลูกลงดินโดยไม่ใช้วงบ่อ หรือได้ทั้ง 2 อย่างครับ   ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

วรชาติ เพ็ญพันธุ์

เป็นแนวทางเป็นประโยชน์และความรู้สำหรับผู้สนใจการทำสวนมะนาวได้อย่างดีมากเลย

ครับ



ตอบคุณอภิมุข ขุนวิเศษ สามารถใช้ได้กับระบบการปลูกทั้ง 2 อย่างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท