การปลูกฝังคุณธรรม ๕ ขั้น


ใครก็ตามที่ได้เห็นบริเวณโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา จะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่าสะอาด ร่มรื่น ไม่มีขยะรกตาหรือมีก็น้อยชิ้นมาก ทั้งๆ ที่เรามีนักเรียนเกินหนึ่งพันคน  เมื่อได้ทราบว่าเรามีน้ำหมักชีวภาพใช้ในการทำความสะอาดบ้านและห้องน้ำ เรามีปุ๋ยดินจากการหมักอาหารเหลือ  จนโรงเรียนไม่ต้องซื้อหามานานปีก็ยิ่งประหลาดใจ และประหลาดใจยิ่งขึ้นเมื่อทราบว่าเราแจกจ่ายสู่ผู้ปกครองในหลายโอกาส  ทั้งนี้เพราะเรามีวิทยาการจัดการขยะจำนวนมากจากการศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ  แต่วัตถุดิบสำคัญคือภูมิคุ้มกันในจิตใจของครู บุคลากร แม่ค้า นักเรียน ที่ได้จาก ‘วิธีการปลูกฝังคุณธรรม ๕ ขั้น’

เป็นเวลาสองสามปีมาแล้ว ที่เราลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียนได้ด้วยการจัดการสิ่งที่เรียกว่าขยะ(ซึ่งอาจจะไม่ใช่ก็ได้)  เราไม่ได้ทำเฉพาะบางกลุ่มที่สนใจ  เราทำกิจกรรมนี้ทั้งโรงเรียนแต่ไม่ใช่การปูพรมหรือไฟไหม้ฟาง เราค่อยๆ ทำจากเล็กๆ ขยายตัวทางความรู้ความคิดมาตามลำดับ  เริ่มตั้งแต่ได้มีการนิเทศภายใน คือ กลุ่มงานพัฒนาการเรียนรู้(ทีมหมวดฯ)ฝึกอบรมครูทั้งโรงเรียนและเป็นวิทยากรเอง จากนั้นส่งครูที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าสู่โรงเรียนเล็ก  ใช้กลไกครูประจำชั้นโดยการจัดการของครูใหญ่จัดการเรียนรู้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนผ่านประสบการณ์ดีๆ เช่นเดียวกับครูและมีแรงบันดาลใจในการเผื่อแผ่ความดี ความงาม ความจริงแก่ผู้อื่นต่อไป

การเรียนรู้แบบนี้เป็น Active Learning ดิฉันสังเกตการณ์(และช่วยนิเทศกระบวนการแก่ทีมพัฒนาการเรียนรู้)อยู่ด้วย ตอนที่ฝึกอบรมครูทั้งโรงเรียน  สังเกตเห็นว่าครูที่เข้าอบรมสนุกสนานเฮฮากันที่เดียวโดยเฉพาะขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ เห็นความประหลาดใจในขั้นที่ ๓ เห็นแววตาที่ครุ่นคำนึงในขั้นที่ ๔ และเห็นความมุ่งมั่นในขั้นที่ ๕  ขอกล่าวถึงลำดับกิจกรรม ‘วิธีการปลูกฝังคุณธรรม ๕ ขั้น’ ที่ครูได้รับการฝึกอบรม ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ ดังนี้

ขั้นที่แรก วิทยากรแจ้งแก่ครูผู้เข้าอบรมว่า  ภาวะโลกร้อนเกิดจากความร้อนที่เกิดขึ้นบนโลกระบายออกไปสู่ชั้นบรรยากาศไม่ได้เนื่องจากมีบางสิ่งกั้นอยู่  วันนี้เราจะมาดูว่าถ้าเราเป็นโลกมีความรู้สึก เราจะร้อนเพียงใดถ้าไอตัวของเราระบายออกไปไม่ได้ เราจะอยู่ในเสื้อกันฝนนี่สัก 3-4 ชั่วโมง จนกว่าจะเสร็จสิ้นกิจกรรม จากนั้นก็ให้ใส่เสื้อกันฝน  ตอนนี้ ช่วยกันใส่ บางคนเสื้อกันฝนถ้าจะเล็กไปหน่อยเลยขาด แต่ไม่เป็นไปไม่ต้องหาใหม่ ขาดก็เรียนรู้ทั้งขาดๆ นี่แหละ  เมื่อเรียบร้อยดี เสียงสงบลงแล้ว วิทยากรก็ให้ทุกคนไปที่บ่อขยะของโรงเรียน ไปยืนที่บ่อจุดใดก็ได้ตามความพอใจ แล้วนับขยะในบริเวณด้านหน้า 180 องศา รัศมีประมาณ 1 เมตร จำแนกมาด้วยว่าเป็นกระดาษกี่ชิ้น พลาสติกกี่ชิ้น เศษพืชผักอาหารกี่ชิ้น เป็นต้น ดมมาด้วยว่ากลิ่นเป็นอย่างไร ระหว่างที่ไปทำกิจกรรมนี้จะทำอย่างไรก็ตามห้ามถอดเสื้อกันฝนออก  คณะครูเดินชักแถวกันไปหยอกล้อกันไป สักประมาณครึ่งชั่วโมงก็กลับมา

ขั้นที่สอง วิทยากรให้ครูสะท้อนเรื่องราวของตน โดยเล่าเป็นรายบุคคลว่าไปยืนตรงไหน(วาดรูปมาก็ได้) นับอะไรได้บ้าง รู้สึกอย่างไร เรียนรู้อะไร มองเห็นอะไร บรรดาครูๆ เล่าอย่างมีสีสัน ดิฉันฟังแล้วสนุกมาก  ความที่ได้ตรงกันก็คือ ไม่เคยทราบเลยว่าโรงเรียนเราผลิตขยะมากมายถึงเพียงนี้  ร้อนก็ร้อน แดดก็ร้อน ถอดเสื้อกันฝนไม่ได้ก็ยิ่งร้อน เหม็นก็เหม็น ระหว่างที่เล่าไปนั้นออกอาการด้วยทั้งสีหน้า ท่าทาง แม้ใจความจะเหมือนกันแต่ทุกคนก็มีความรู้สึกนึกคิดที่เป็นเฉพาะตน มีเสียงหยอกเย้ากันเป็นช่วงๆ ดิฉันเห็นอาการของผู้เรียนแล้วรู้สึกถึงการเรียนรู้ของเขาได้อย่างชัดเจนทีเดียว  วิทยากรให้ครูถอดเสื้อกันฝนออก พับเก็บก่อน(เพื่อจะนำไปซักภายหลัง) บางคนพับแล้วเล็กเท่ากับตอนแกะออกจากถุง  แต่บางคนพับแล้วใส่ถุงเดิมไม่ได้ จึงมีการถ่ายเทวิธีพับกันจนประสบความสำเร็จทุกคน  ทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มเพราะเนื้อตัวสบายขึ้นและประสบความสำเร็จในการพับเสื้อใส่ถุง

ขั้นที่สาม วิทยากรขอให้ผู้เล่าทั้งหลายเมื่อกี้นี้ระลึกย้อนไปถึงกิจกรรมต่างๆ เมื่อวานนี้ว่าได้ทำอะไรบ้างที่เป็นการสร้างขยะ ได้แก่ขยะอะไรบ้าง ขั้นนี้บรรดาครูๆ ก็เล่าอย่างมีประสบการณ์ตรง เห็นภาพจริงๆ จับความได้ตรงกัน คือ ไม่เคยทราบเลยว่าตัวเองผลิตขยะที่น่าจะไม่ใช่ขยะมากพอดู  ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รู้อยู่ โรงเรียนพาไปศึกษาดุงานหลายหน และตัวเองเคยบรรยายเรื่องภาวะโลกร้อนแก่นักเรียนบ่อยๆ แต่ก็ยังไม่เคยทราบเลยว่าตนเองเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย  ระหว่างที่เล่าไปนั้นก็เสียใจไปกับความไม่รู้ในหนหลังของตน

ขั้นที่สี่ วิทยากรให้ครูแต่ละคนอภิปรายกับตนเอง(คิดคนเดียว)ว่า การผลิตและทิ้งขยะของตนได้ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างไร  ภาวะโลกร้อนก็ร้อนอย่างที่พวกเรารู้สึกร้อน เหนียว อึดอัด ดังที่แต่ละคนสะท้อนมาเมื่อกี้นี้  หลังจากอภิปรายกับตนเองแล้วขอให้เลือกว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรที่จะลดหรือเพิ่มภาวะโลกร้อน ขอให้กำหนดกติกาสำหรับตนเองที่จะทำให้ได้เพียงประการเดียว (ถ้าหลายประการจะปฏิบัติยากและประเมินยาก)

ขั้นที่ห้า วิทยากรขอให้ครูนำกติกาที่ตนกำหนดขึ้นสำหรับตนเอง ไปใช้ที่บ้าน ทุกที่ในชีวิตประจำวัน

ลำดับสุดท้าย ไม่ได้อยู่ในกิจกรรมการฝึกอบรม ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน  ดิฉันได้ขอให้ครูสะท้อนความรู้สึกต่อกระบวนการเรียนรู้นี้ปรากฏว่าชอบ สนุก ได้รู้สึกจริง ร้อนจริง เหม็นจริง อึดอัดจริง รู้สึกไม่อยากทิ้งขยะอีกเลย  อยากให้คนอื่นได้สัมผัสจริงแบบนี้บ้าง  ดิฉันจึงได้ให้กำลังใจแก่ครูผู้ผ่านประสบการณ์ดีๆ นี้ว่าทุกคนทำได้แน่  และขอให้ทุกคนได้นำการสอนคุณธรรม ๕ ขั้น ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียนโดยให้ปรึกษาหารือกันเองในโรงเรียนเล็ก  เพื่อให้ครูทุกคนได้นำความรู้สึกดีๆ นี้ไปสู่นักเรียนตามที่ตั้งใจดีในวันนี้

                เท่าที่ดิฉันสดับตรับฟัง(และรายงานต่างๆ ตามแบบแผนราชการ)  ครูได้บูรณาการเรื่องภาวะโลกร้อนลงในวิชาต่างๆ ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังได้พานักเรียนไปศึกษาดูงานการจัดการขยะตามที่มีโอกาส  ถึงวันนี้เรามีกองปุ๋ยหญ้า มีถ่านและน้ำส้มควันไม้จากวัตถุดิบที่ได้จาดการตัดแต่งต้นไม้ มีปุ๋ยดินจากอาหารที่เหลือจากการรับประทาน มีน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยน้ำจากเศษอาหารสด ผลผลิตเหล่านี้ทำให้เรามีพืชอาหารที่ปลอดสารพิษและอร่อยมาก(นี่จะเล่าภายหลัง) เราพึ่งตนเองได้ เราลดภาระของโลก

เด็กๆ ภาคภูมิใจในตนเองมาก

                หลักการและ วิธีการปลูกฝังคุณธรรม ๕ ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ ๑ สัมผัสความรู้สึก ขั้นที่ ๒ ฟังเรื่องเล่า ขั้นที่ ๓ ทบทวนตัวเอง ขั้นที่ ๔ กำหนดกติกา และ ขั้นที่ ๕ ประยุกต์ใช้  ดังนี้

 ขั้นที่แรก สัมผัสความรู้สึกจริง เป็นขั้นที่ครูจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์จริงในชีวิตและได้รู้สึกจริงๆ จะเป็นรู้สึกรัก รู้สึกเกลียด รู้สึกชอบ รู้สึกชัง ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณธรรมที่ปลูกฝัง และขึ้นอยู่กับบริบทที่คุณธรรมนั้นปรากฏขึ้น ครูต้องออกแบบให้มีเหตุการณ์ที่สะท้อนคุณธรรมให้ผู้เรียนได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเองครบทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ(รูป-นามชุดนี้เกิดเกือบจะพร้อมกันในทุกครั้งที่คนประสบกับเหตุการณ์ การเรียนรู้จึงแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากกันไม่ได้)

ขั้นที่สอง ฟังเรื่องเล่า เป็นขั้นที่ครูจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้ฟังเรื่องเล่าที่สอดคล้องกับความรู้สึกที่นักเรียนกำลังรู้สึกอยู่ อาจจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรู้สึกของตนเอง หรือนิทานที่สะท้อนเรื่องราวสอดคล้องกับความรู้สึกดังกล่าว ถือว่าเป็นขั้นย้ำหรือเพิ่มน้ำหนักแก่ความรู้สึกที่กำลังรู้สึกอยู่  ทั้งนี้ย่อมมีบริบทของความรู้สึกนั้นประกอบอยู่  ขั้นนี้เป็นขั้นสะท้อนสิ่งที่รับรู้จากขั้นแรก  ครูต้องระวังไม่ให้ผู้เรียนเล่าตามหลักการหรือความรู้เดิม แต่ก็ไม่จำเป็นต้องซักถามให้ได้ในคราวเดียว เนื่องจากการสะท้อนนี้เป็นทักษะไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจ ควรตะล่อมให้สะท้อนออกมาให้ได้ 

ขั้นที่สาม ทบทวนตัวเอง เป็นขั้นที่ครูจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้ระลึกย้อนไปถึงการกระทำของตนในชีวิตที่ผ่านมาว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับความรู้สึกนั้น ขั้นนี้เป็นการให้ผู้เรียนวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ตนเกี่ยวข้องกับสภาพปัญหา(และ/หรือทางออก)ที่ประสบในขั้นแรกและขั้นที่สอง  ครูต้องคอยระวังที่จะให้อิสระแก่ผู้เรียนที่จะแตกต่างจากคนอื่น

ขั้นที่สี่ กำหนดกติกา เป็นขั้นที่ครูจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้อภิปรายกับตนเองว่า การกระทำใดของตนที่ก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้ตนรู้สึกทางลบ และการกระทำใดของตนที่ทำให้ปัญหานั้นมลายไป  ตนจะเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ  กระทำสิ่งใดหรือไม่กระทำสิ่งใด  กำหนดเป็นกติกาหรือหลักเกณฑ์ของตนในการปฏิบัติการในกรณีนั้นๆ(ไม่จำเป็นที่ผู้เรียนจะต้องใช้กติกาเดียวกัน)  ขั้นนี้ผู้เรียนจะใช้วัตถุดิบแห่งการเรียนรู้ที่สะสมได้จากสามขั้นข้างต้น มากำหนดเป็นทางเลือกสำหรับตนเอง แล้วเลือก เพื่อที่จะนำไปใช้ต่อไป

ขั้นที่ห้า ประยุกต์ใช้  เป็นขั้นที่ครูจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้นำกติกาที่ผู้เรียนกำหนดขึ้นสำหรับตนเอง เพื่อให้ได้ผลดีในบริบทหรือสถานการณ์ตามที่เรียนรู้แล้ว ขั้นนี้ผู้เรียนจะเตรียมการนำทางเลือกที่ตนเลือกแล้วไปใช้ในสถานการณ์ใหม่เพื่อให้ได้ผลใหม่ เป็นการทดลองสมมติฐานใหม่(ทางเลือกที่เลือก)  ครูอาจช่วยผู้เรียนด้วยการถามตัวกฎ กติกาที่ผู้เรียนตั้งไว้(เฉพาะตน ไม่ซ้ำกันแม้จะเป็นประเด็นเดียวกัน)  ถามแนวทางปฏิบัติ ถามสถานการณ์ที่ผุ้เรียนคิดว่าจะใช้ทางเลือกดังกล่าวได้ ถามผลลัพท์ที่ผู้เรียนต้องการ  ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นให้ได้ในหนนี้  ผู้เรียนบางคนจะค่อยๆ พัฒนาในวงจรการเรียนรู้ต่อๆ ไป

เมื่อเทียบทฤษฎีที่ใช้กับอยู่ประเทศไทย ดูจะใกล้ไปทาง CONSTRUCTIONISM เนื่องจากเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และสร้างความรู้ได้เอง  แต่จากประสบการณ์การใช้วิธีการนี้ที่กงไกรลาศวิทยา  ดิฉันคิดว่า ‘วิธีการปลูกฝังคุณธรรม ๕ ขั้น’ นี้น่าจะพัฒนาขึ้นจากการปฏิบัติจริงของบุคคลผู้ใฝ่ดี(ฉันทะ)ก่อน สัมผัสด้วยตนเอง รู้สึกด้วยตนเอง ใคร่ครวญด้วยตนเอง ทดลองด้วยตนเอง รับผลด้วยตนเอง  ครูแบบนี้จึงเป็นพี่เลี้ยงที่ดีเยี่ยมของผู้เรียนในการเดินทางด้วยตนเอง  ไม่ว่าผู้เรียนจะประสบอุปสรรคการเรียนรู้ในแง่มุมใด ครูก็จะช่วยแนะนำปัดเป่าได้ทั้งหมด  เนื่องจากครูเป็นผู้เดินทางมาก่อน เคยพบเอง เคยรู้สึกเอง เคยคิดเอง เคยทดลองเอง เคยรับผลเอง มาก่อนแล้ว ดิฉันนึกถึงคำพังเพยโบราณที่ว่า ‘ผู้ใหญ่กินเกลือมากกว่าเรากินน้ำ’ ‘สะพานที่ผู้ใหญ่ข้ามระยะทางยาวกว่าถนนที่เราเดิน’

ดิฉันมิได้คิด ‘วิธีการปลูกฝังคุณธรรม ๕ ขั้น’ ได้ด้วยตนเอง ดิฉันได้แนวทางนี้เมื่อไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิฉือจี้ ไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน  สำนักพัฒนานวัตกรรม สพฐ.พาไป  ครั้งนั้นดิฉันได้ความคิดทางการศึกษาหลายประการทีเดียว  และที่ชื่นชอบมากวิทยากรยกตัวอย่างวันรณรงค์เรื่องการกินเจกับภาวะโลกร้อนพร้อมภาพประกอบเป็นกิจกรรมนักเรียนโรงเรียนฉื้อจี้ ที่ดำเนินการตลอดวันผสมผสานไปกับกิจกรรมปกติของวันนั้น  วิทยากรและล่ามใช้เวลาสั้นๆ ในการบอกเล่า  ดิฉันฟังไปแล้วรู้สึกยิ่งใหญ่จนขนลุก  ดิฉันทราบด้วยตัวเองมานานแล้วว่าการเรียนรู้ที่แท้นั้นไม่ใช่การเรียนรู้เฉพาะมิติความรู้ความคิด  การเรียนรู้ที่ดิฉันเข้าใจต้องเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่มีทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อวิญาณรับรู้รูป(รูปในที่นี้ หมายถึง รูปทรงสัณฐาน รส กลิ่น เสียง และสัมผัส) คือรับรู้รูปใดรูปหนึ่งหรือทั้งหมดในห้ารูปนั้น รวมไปถึงการดึงเรื่องของรูปที่เคยจำไว้ขึ้นมารับรู้ใหม่ก็ตาม เวทนา(รู้สึก) สัญญา(หมายรู้) สังขาร(คลุกเคล้า-คิด-ปรุงแต่ง) ก็ตามมาติดๆ แทบจะเป็นขณะจิตเดียวกัน  สังขารจะทำให้จิตของผู้เรียนได้สิ่งใหม่ซึ่งจิตจะหมายรู้และเก็บไว้  สิ่งใหม่นั้นจะสร้างสรรค์หรือไม่ก็ได้ จะบุญหรือบาปก็ได้ จะมีวินัยหรือไร้ระเบียบก็ได้  ถ้ากล่าวอย่างสมัยปัจจุบันก็คือ การเรียนรู้ที่ดิฉันเข้าใจนั้น เป็นการเรียนรู้พร้อมๆกัน ทั้งด้านความรู้ความคิด ด้านความรู้สึก และด้านทักษะ โดยผู้เรียนรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าตนกำลังเรียนรู้อื่นไป เช่น การทำความดีเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้ แต่มีความรู้ประกอบอยู่ในทักษะนั้นด้วย  ดิฉันเห็นกิจกรรมที่โรงเรียนเป็นฉากๆ ทีเดียว

ดิฉันมิได้ดำเนินการตามที่คิดได้ในทันทีที่กลับจากฉื้อจี้  ดิฉันทำความเข้าใจเรื่องนี้กับครูอยู่นาน  จนได้เวลาทำแผนประจำปี  ในการประชุมปฏิบัติการจึงได้บรรจุกิจกรรมนี้เข้าในการพัฒนาบุคลากรและงานจัดการเรียนรู้  วันนี้เราทำได้แล้ว เป็นการพัฒนาคุณภาพงานการเรียนรู้ทั้งด้านความรู้ความติด ด้านอุปนิสัยใจคอ ด้านทักษะในการทำความดี

ขอบคุณ สพฐ. ที่พาไปพบสิ่งดีงาม

ขอบคุณมูลนิธิฉือจี้ ที่จุดประกายและให้แนวทางที่ดี

ขอบคุณคณาจารย์กงไกรลาศวิทยา ที่ทำให้ความดีงามเกิดขึ้นจริง

ขอบคุณนักเรียนที่ช่วยกันแสดงและยืนยันความจริงที่ดีงามนี้

ชอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยียนศึกษาดูงาน

 

หมายเลขบันทึก: 470424เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2011 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ดีจังเลยครับ
  • ได้แนวคิดจากโรงเรียนฉือจี้ด้วย
  • ขอบคุณมากครับ

จากการไปเยี่ยมชมโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา ได้พูดคุยกับคณาจารย์และนักเรียน ทำให้เห็นว่าทั้งคุณครูและนักเรียนมีความสุขที่มาโรงเรียน และมีความภูมิใจต่อโรงเรียนของตน

ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ จากกงไกรลาศวิทยา ค่ะ

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท