๒๑๗.คนเฒ่าเล่าความหลังและภาพฝันของละอ่อน...


หากเราเปรียบกว๊านพะเยาเป็นคนไข้ เราในฐานะผู้ศึกษาวิชาการด้านนี้มาเราจะรักษาอย่างไร? หากกว๊านพะเยาเป็นหัวใจ หายใจโรยระรินอยู่ควรจะทำอย่างไร? หากกว๊านพะเยาเป็นเส้นเลือด เราจะทำอย่างไรให้กว๊านพะเยามีเลือดไปหล่อเลี้ยงทุกภาคส่วนได้ เป็นโจทย์ที่นักศึกษาต้องเอาไปคิด และหาทางช่วยกันดูแลรักษาให้คงอยู่ และใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างถาวรให้เหมือนคนรุ่นก่อน ๆ โดยส่งต่อไปให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า...อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

     วันนี้ ผู้เขียนไปร่วมเสวนาเรื่อง “คนเฒ่าเล่าความหลัง และภาพฝันของละอ่อนฮักกว๊านพะเยา” หลังจากพิธีการทางศาสนา เช่น การสืบชาตาแม่น้ำ การบวชต้นไม้ การปล่อยพันธุ์ปลา ฯลฯ จบสิ้นลงไป โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ (ไมตรี อินทุสุต) เป็นประธาน ซึ่งจัด ณ ท่าเรือโบราณ บ้านทุ่งกิ่ว (ริมกว๊านพะเยา) ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา

                งานเสวนาครั้งนี้ มีชุมชนในเขตตำบลบ้านตุ่น ส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ เช่น คณะสงฆ์ วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี กลุ่ม NGO เป็นต้น เข้าร่วมเสวนา โดยมี ดร.รัชตระ อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีพ่อป้อมเพชร  กาพึง ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เขียน เป็นวิทยากร

                ในการนี้ ผู้เขียนได้เสนอความคิด ดังนี้

                ๑.สายน้ำ ๑๒ สายที่ไหลลงสู่กว๊าน เมื่อไหลลงมาแล้ว ต้องวนรอบหรือหมุนรอบเพื่อหล่อมรวมกันเป็นน้ำที่มีเนื้อเดียวกัน เหมือนการกวนหรือคนให้ผสมเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน คนท้องถิ่นเรียก ลักษณะกิริยาดังกล่าวนี้ว่า “กว๊าน หรือน้ำกว๊าน”  ดังนั้น ใครก็ตาม อาจจะมาจากทิศไหนของประเทศไทย หรือจากซีกโลกไหนก็ตาม เมื่อมาอาศัย ดื่มกิน น้ำแห่งนี้เราจึงขอเรียกว่า “คนพะเยา”

                ๒.ตามหัวข้อที่เสวนาในวันนี้คือ “คนเฒ่าเล่าความหลัง และภาพฝันของละอ่อนฮักกว๊านพะเยา” ผู้เขียนไม่ทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มคนไหนระหว่างกลุ่มคนเฒ่าและกลุ่มละอ่อน(เด็กเยาวชน) ดังนั้น จึงขอพูดในฐานะคนอยู่ระหว่างกลางก้นแล้วกัน

                ประเด็นนี้แยกเป็นสองกาละ คือ วงเสวนาของคนเฒ่า ซึ่งมักจะเล่าถึงความหลังว่า อดีตนั้นสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมในบริเวณนี้เป็นอย่างไร? ส่วนวงสนทนาของละอ่อน(เยาวชน) กลับมองมุ่งตรงไปข้างหน้าสู่อนาคตเสมอ ปัญหาจึงมีอยู่ว่าจะทำอย่างไร? ให้ความคิดของผู้ใหญ่ ไหลไปสู่คนรุ่นลูกหลานในเชิงของการอนุรักษ์และพัฒนาต่อที่ยั่งยืน

                ๓.หากใช้หลักการทางพระพุทธศาสนา ผู้เขียนเสนอ ๔ ขั้นตอนในการก้าวสู่การอนุรักษ์และพัฒนา คือ

          ๑)การเสียสละเพื่อส่วนรวม นั่นหมายถึงการน้อมนำภาระของสาธารณะมาเป็นภารกิจของตนเอง ไม่ละเลย เพิกเฉยต่อสิ่งที่ควรจะทำ

          ๒)การเจรจาหรือการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมื่อเกิดข้อขัดแย้งหรือแย่งชิงผลประโยชน์กัน คนมักจะสาดโคลน พ่นน้ำลาย หรือทำสงครามต่อกัน ในเมื่อชีวิตเรามีค่ากว่า และผลประโยชน์นั้นไม่มีใครได้รับโดยส่วนเดียวหรอก ดังนั้น มันต้องเจรจา โดยการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เรียกว่า win win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

          ๓)ต้องวางท่าที่ที่เหมาะสมและมั่นคงไม่โลเล หรือกลับคำ โดยมีสัจจะหรือการวางท่าที่ให้ถูกต้องเสมอต้นเสมอปลายต่อสถานการณ์ และ

          ๔) ต้องทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่เกี่ยงงอน ไม่คิดเล็กคิดน้อยว่าใครได้มาก-ใครได้น้อยกว่ากัน แต่มองสังคมด้วยการอุทิศ ไม่ใช่เพื่อมุ่งเอาอย่างเดียวเท่านั้น

        ๔.การบริหารจัดการกว๊านพะเยา ต้องใช้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เข้ามาบริหารจัดการ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนรุ่นก่อนใช้ภูมิปัญญา ปัญหาจึงได้รับการแก้ไขร่วมกัน แต่คนปัจจุบันมุ่งนำเอาทฤษฎีตะวันตกมาใช้ ซึ่งไม่ถูกจริตของคนท้องถิ่นปัญหาจึงเกิดอย่างต่อเนื่อง

     เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสีย คนก็ไปแก้ที่การเก็บผักตบชวา ก็เสนอไปที่จังหวัด ๆ จังหวัดก็จัดสรรงบประมาณมา คนก็นำงบประมาณนั้นไปละลาย ไม่ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริง ปัญหาเก่าก็ยังคงอยู่ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่มีวันจบ

                แต่การนำภูมิปัญญามาใช้กับได้ผล คนโบราณได้ตั้งน้ำไว้ในฐานะ “แม่” เราเรียกว่า “แม่พระคงคา” เราเรียกแผ่นดินว่า “แม่พระธรณี” และเรียกข้าวว่า “แม่โพสพ” การเรียกชื่อคนโบราณ หากมองให้ดีไม่ใช่การงมงาย แต่เป็นความรัก-ความเคารพ-การให้ความสำคัญ-และใส่ใจในสิ่งที่เรากระทำต่อ

                กรณีของกว๊านพะเยา เราใช้ประโยชน์จากน้ำแล้ว ทำไมเราจึงเรียกว่า “แม่พระคงคา” เพราะเราอาศัยน้ำกว๊านในการล่อเลี้ยงชีวิต ดังคำขวัญของจังหวัดพะเยาว่า “กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต  ศักดิ์พระเจ้าตนหลวง.............” ใช่หรือไม่?

     ดังนั้น เมื่อเรานับถือคนที่ให้ชีวิตเราว่ามีพระคุณดุจแม่นั้น เราต้องให้ความรัก ความศรัทธาต่อท่าน นอกจากนั้นแล้วเราต้องให้ความเคารพ ย่ำเกรงไม่มักง่ายทิ้งสิ่งของลงในแม่น้ำลำธาร เมื่อเราให้ความสำคัญกับแม่น้ำอย่างคนโบราณแล้ว จึงทำให้เกิดการเอาใจใส่และดูแล ซึ่งเราจะเห็นกระบวนการในการกระทำต่อๆ ๆ ๆไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี้ต่างหากที่คนรุ่นปู่ย่าตายายต้องการจะบอกสอนให้ลูกหลานได้สืบต่อไปอีก

                ๕.สุดท้ายที่เห็นมานั่งฟังนี้โดยมากเป็นนักศึกษาพยาบาล จากวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนีพะเยา ดังนั้น ต้องเข้าใจว่า พยา มาจาก ภัย หรือ โรคภัย พยาธิ  คำว่า บาล มาจากคำว่า ปาละ ซึ่งแปลว่าผู้ให้การรักษาดูแลภัยที่เกิดมาจากโรคร้ายหรือพยาธินั่นเอง

     หากเราเปรียบกว๊านพะเยาเป็นคนไข้ เราในฐานะผู้ศึกษาวิชาการด้านนี้มาเราจะรักษาอย่างไร? หากกว๊านพะเยาเป็นหัวใจ หายใจโรยระรินอยู่ควรจะทำอย่างไร? หากกว๊านพะเยาเป็นเส้นเลือด เราจะทำอย่างไรให้กว๊านพะเยามีเลือดไปหล่อเลี้ยงทุกภาคส่วนได้ เป็นโจทย์ที่นักศึกษาต้องเอาไปคิด และหาทางช่วยกันดูแลรักษาให้คงอยู่ และใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างถาวรให้เหมือนคนรุ่นก่อน ๆ โดยส่งต่อไปให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า...อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

                นี้คือข้อเสนอที่ผู้เขียนได้ให้แก่วงเสวนาในตอนเที่ยงที่ผ่านมา...

               

หมายเลขบันทึก: 470100เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2011 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการครับ

I think your regard of environment as a living being is absolute correct.

All living things need food, space, protection and care -- even when they are not sick. And we should not wait until they are sick first before we care for them. Being a rescuer may be very heroic, but being friends is much nicer.

Let us make friends with our environment now.

เจริญพรคุณโยม Sr อาตมาเห็นด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราจะมองธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างทะนุถนอม และอยู่ด้วยกันอย่างมิตรผู้เกื้อกูลมากกว่าใช้อย่างไร้จิตสำนึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท