ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี


หน้าที่ของคณะกรรมการสรรหามี ๒ แบบใหญ่ๆ คือทำหน้าที่กลั่นกรองแล้วเสนอให้สภาฯ เลือก แบบหนึ่ง กับทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเลือกอธิการบดีแทนสภาฯ แล้วเสนอให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบ อีกแบบหนึ่ง

ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี

มหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งยกร่างข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี มีคณะกรรมการยกร่าง แล้วเอามาอภิปรายกันในสภามหาวิทยาลัย ทำให้ผมได้ความรู้มาก   จึงนำมาบันทึกไว้เพื่อการ ลปรร.

ข้อถกเถียงกันในสภาฯ มีมากมาย หลากหลาย ซับซ้อน   หลากหลายวิธีคิดมาก    ผมจะไล่ไปทีละประเด็นสำคัญ

  1. คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่อะไร
  2. องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา
  3. กรรมการสรรหากับสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหา
  4. กรรมการสรรหาที่เป็นกรรมการสภาด้วยมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกอธิการบดีตอนสภามหาวิทยาลัยลงมติหรือไม่
  5. การสรรหากับการเลือกตั้งแตกต่างกันอย่างไร
  6. การเสนอชื่อกับการสมัคร
  7. คุณสมบัติของอธิการบดี
  8. เวลา
  9. การรักษาความลับ

คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่อะไร

หน้าที่ของคณะกรรมการสรรหามี ๒ แบบใหญ่ๆ  คือทำหน้าที่กลั่นกรองแล้วเสนอให้สภาฯ เลือก แบบหนึ่ง    กับทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเลือกอธิการบดีแทนสภาฯ แล้วเสนอให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบ อีกแบบหนึ่ง

จะเห็นว่าแบบหลัง คณะกรรมการสรรหาต้องรับผิดชอบมาก ต้องรอบคอบและใช้วิจารณญาณอย่างดียิ่ง    ส่วนแบบแรกคณะกรรมการสรรหาสบาย คือทำเพียงกระบวนการให้ได้รายชื่อจำนวนน้อย (เช่น ๒ - ๓ คน) เสนอให้สภาตัดสิน

เรื่องแบบนี้ไม่มีถูกไม่มีผิด ขึ้นกับความเชื่อ การให้น้ำหนัก และประสบการณ์ของแต่ละคน    จึงถกเถียงกันได้มาก และหาข้อยุติยาก 

คนที่ชอบแบบกรรมการสรรหาทำหน้าที่กลั่นกรองอาจให้เหตุผลว่า    หากมอบอำนาจให้คณะกรรมการ สรรหาตัดสิน   ก็เท่ากับกรรมการสภาฯ ไม่มีอำนาจ    เพื่อดำรงอำนาจสูงสุดของสภาฯ คณะกรรมการสรรหาต้อง เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการพิจารณาเกิน ๑ ชื่อ ให้สภาฯ ตัดสิน

ประสบการณ์บอกผมว่า วิธีเสนอหลายชื่อให้สภาฯ ตัดสินนั้น   นำไปสู่การวิ่งเต้น ขอเสียง หรือรวมพวก แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน    แทนที่จะเป็นระบบพิจารณาตามความสามารถของบุคคล มักกลายเป็นระบบ พวกพ้อง 

แต่วิธีที่มอบให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาเลือกเพียง ๑ ชื่อ เสนอให้สภาฯ มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็น ชอบ จะช่วยลดการวิ่งเต้นหาเสียง    แต่วิธีนี้จะดีต่อเมื่อในมหาวิทยาลัยนั้นผู้คนเชื่อถือไว้เนื้อเชื่อใจกัน   ยอมรับว่า กรรมการสรรหาแต่ละคนเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีความมั่นคงทางคุณธรรม (integrity)    และมั่นคงต่อการทำ หน้าที่เพื่อผลประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยส่วนรวม และแก่สังคม   รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาก็มีความพร้อมที่จะ รับแรงบีบคั้นที่อาจเกิดขึ้น 

สรุปว่า โดยส่วนตัวของผม ผมชอบรูปแบบที่คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่ตัดสินเบื้องต้น    เลือกไว้คนเดียว แล้วเสนอให้สภาฯ ลงมติรับ/ไม่รับ

 

องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา

หลักการคือ ผู้เป็นกรรมการสรรหาต้องเป็นผู้มีวุฒิภาวะสูง มีวิจารณญาณสูง และมุ่งที่ผลประโยชน์ของ องค์กร (มหาวิทยาลัย) และบ้านเมืองเป็นหลัก    ไม่ใช่ทำเพื่อหาพวกพ้องของตนเอง    รวมทั้งต้องมั่นคงต่อแรง บีบคั้นที่ไม่ถูกต้อง

อีกหลักการหนึ่งสำหรับสังคมมหาวิทยาลัยคือ participatory governance   ดังนั้น จึงต้องมีตัวแทนจาก หลายภาคส่วนในมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมเป็นกรรมการสรรหา    โดยต้องมีการทำความเข้าใจว่า คนเหล่านี้มา ทำงานนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพื่อกลุ่มที่ตนเป็นตัวแทน    ตัวบุคคลที่เข้ามาเป็น ตัวแทนจึงต้องเลือกอย่างพิถีพิถันในด้านคุณสมบัติ ดังระบุในย่อหน้าที่แล้ว

หากใช้หลักการ ให้คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่ตัดสินเบื้องต้น    ผมมีความเห็นว่าคณะกรรมการ สรรหาควรมีกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากหน่อย   พูดง่ายๆ ว่า ให้เสียงคนนอกเป็น majority   แต่ก็มีคนในมาช่วยให้มุมมองจากภายในด้วย    โดยที่จากประสบการณ์ของผม คนนอกมักจะมองใหญ่ มองแบบ outside – in ได้ดีกว่าคนใน   และอิทธิพลจากความคุ้นเคยกันกับผู้ได้รับการพิจารณาก็น้อยกว่า

ประเด็นกรรมการสรรหานี้ นอกจากเรื่ององค์ประกอบ แล้วยังมีประเด็นเรื่ององค์คณะ   คือต้องทำงาน เป็นองค์คณะ รับผิดชอบร่วมกัน ทำงานร่วมกัน    ไม่ใช่เป็นที่ทะเลาะโต้แย้งหาข้อได้เปรียบของบางคนหรือ บางกลุ่ม

คณะกรรมการสรรหาต้องแสวงหาข้อมูลสำหรับนำมาใช้ในการตัดสินใจ    ทั้งที่เป็นข้อมูลที่เปิดเผย และข้อมูลเชิงลับที่หากแพร่งพรายอาจเกิดผลเสียหายต่อบุคคล    ดังนั้น การพูดจาให้ความเห็นของกรรมการ ต้องถือเป็นความลับที่ผู้เกี่ยวข้องต้องไม่นำไปเปิดเผยนอกห้องประชุม   คณะกรรมการสรรหาจึงต้องมีข้อตกลง เรื่องการรักษาความลับ   และผู้นำไปเผยแพร่ต้องถือว่ามีความผิด

คณะกรรมการสรรหาต้องทำงานอย่าง evidence-based ที่สุดเท่าที่จะทำได้   โดยหาข้อมูลหลักฐาน หลายแบบ จากหลายแหล่ง    และแหล่งหนึ่งคือรับฟังจากตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม  

คณะกรรมการสรรหาในอุดมคติ ต้องมีความเป็นทีมหรือองค์คณะ   ทำงานร่วมกันอย่างเชื่อถือไว้วางใจ ต่อกันและกัน   กล้านำเอาเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อน (sensitive) มาเสนอในที่ประชุม   โดยเชื่อมั่นว่า ตนเองจะไม่เดือดร้อน เพราะจะไม่มีใครนำออกไปแพร่งพราย    รวมทั้งเมื่อมีการลงมติ ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ ยอมรับหรือเคารพมติ และถือว่าเป็นมติร่วมของทั้งองค์คณะ    ไม่ออกไปพูดข้างนอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับมตินั้น 

 

กรรมการสรรหากับสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้เข้ารับการสรรหา

ต้องให้ชัดเจนว่า เมื่อมีชื่อได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาแล้ว เป็นอันว่าหมดสิทธิ์ในการเป็นผู้สมัคร หรือเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดี   แม้จะลาออกในภายหลัง ก็จะยังไม่มีสิทธิ์

และโดยมรรยาท กรรมการสรรหาไม่ควรเข้าไปเป็นทีมบริหารเช่นรองอธิการบดี ของท่านที่ได้รับการ แต่งตั้งครั้งนั้น   

 

กรรมการสรรหาที่เป็นกรรมการสภาด้วยมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกอธิการบดีตอนสภามหาวิทยาลัยลงมติหรือไม่

เรื่องนี้เรามักไม่นึกถึงกัน   แต่ได้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นแล้ว    นักกฎหมายบอกว่ามีการฟ้องไปถึงศาลปกครอง    ว่าการที่กรรมการสภาฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาฯ ลงมติในฐานะกรรมการสรรหาไปครั้งหนึ่งแล้ว    พอเรื่องเข้าสภาฯ ก็มาลงมติอีกครั้งหนึ่งในสภาฯ    ถือว่าเป็นการออกเสียง ๒ ครั้ง ไม่ถูกต้อง   และศาลปกครอง เห็นด้วยกับผู้ร้อง ยกเว้นสภาฯ ในการประชุมครั้งนั้น มีมติให้ท่านเหล่านั้นลงมติได้อีกครั้งหนึ่ง

จะเห็นว่า คนเรามีมุมมองต่อกติกาต่างๆ แตกต่างกัน   บางคนมองที่อำนาจ หรือสิทธิ   แต่ผมมองต่าง   ผมมองว่าเรื่องแบบนี้ผู้ต้องเข้าไปทำหน้าที่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ   เน้นที่ภาระ ไม่ใช่ที่อำนาจหรือสิทธิ

 

การสรรหากับการเลือกตั้งแตกต่างกันอย่างไร

กล่าวให้ง่ายและสั้นที่สุด การสรรหาไม่ใช่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง    ไม่ใช้คะแนนนิยมรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้นในการตัดสิน   แต่ใช้ความเหมาะสมต่อการทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยนั้นๆ ในสถานการณ์นั้นๆ เป็นหลัก 

กรรมการจัดการเลือกตั้งไม่ต้องใช้วิจารณญาณ ยกวิจารณญาณให้แก่ผู้ออกเสียงลงคะแนน    แต่กรรมการสรรหาต้องใช้วิจารณญาณรอบด้าน   เพื่อตัดสินใจตามระดับความรับผิดชอบที่คณะกรรมการ สรรหาได้รับมอบจากสภาฯ

มักมีผู้สับสน ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย   เราจึงต้องเคารพการเลือกตั้ง เคารพสิทธิเสียงของ “ประชาคม”   และเมื่อย่อประเทศไทยลงไปเป็น “มหาวิทยาลัย ก” ประชาคมมหาวิทยาลัย ก ก็คือคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัย ก    ดังนั้น การได้มาซึ่งอธิการบดีจึงต้องไปถามประชาคม    โดยจัดให้มีการลงคะแนนเสียง โดยคณาจารย์ อย่างน้อยก็ทางอ้อม   มิฉนั้นถือว่าสภามหาวิทยาลัยเป็นเผด็จการ 

วิธีคิดตามย่อหน้าที่แล้วผิดโดยสิ้นเชิง   เป็นมิจฉาทิฐิ   เป็นทางแห่งความเสื่อม   วิธีคิดว่าอาจารย์คือ เจ้าของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ผูกขาดการเลือกตั้งอธิการบดีนั้นผิด

แต่แนวคิดว่า คณาจารย์ควรมีส่วนแสดงความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลและการบริหารมหาวิทยาลัยนั้น ถูกต้อง    และคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีควรหาทางรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย

 

การเสนอชื่อกับการสมัคร

ชื่อของผู้สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้ง (โปรดเกล้าฯ) เป็นอธิการบดีอาจได้มาจาก ๒ ทาง    คือโดยการเสนอชื่อ   และโดยการสมัคร

การเสนอชื่อหมายความว่าเจ้าตัวไม่รู้เห็น (หรืออาจรู้เห็นลับๆ)    การสมัครแปลว่าเจ้าตัวอยากเป็น   ข้อบังคับของบางมหาวิทยาลัยระบุวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง    และบางมหาวิทยาลัยเปิดช่องให้ใช้ทั้ง ๒ แบบ

การเสนอชื่อถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาคมภายในมหาวิทยาลัย   จึงต้องระบุ ว่ากลไกเสนอชื่อเป็นอย่างไร   มักกำหนดตามหน่วยงาน และระบุว่าสมาชิกของหน่วยงานที่มีสิทธิ์ร่วมเสนอชื่อ เป็นใครบ้าง ที่มีคุณสมบัติอย่างไร  ระบุวิธีการเสนอชื่อและรวบรวมความเห็นและตัดสินใจเสนอชื่อใครบ้าง    และระบุให้แต่ละหน่วยเสนอชื่อได้ไม่เกินกี่ชื่อ 

การเสนอชื่อนี้มีลักษณะคล้ายการลงคะแนน   นำไปสู่ความรู้สึกว่ามีคะแนนเสียง    และไปสู่เสียงเล่าลือ ว่าใครคะแนนเสียงดีกว่าใคร   ใครได้รับการเสนอจากมากหน่วยงานที่สุด ฯลฯ    และมีการพยายามนำเอาข้อมูล เหล่านี้มากดดันคณะกรรมการสรรหา และ/หรือ สภามหาวิทยาลัย    โดยหลายกรณีเอาไปใช้ผ่านสื่อมวลชน

ข้อบังคับของบางมหาวิทยาลัย กำหนดเรียกการเสนอชื่อของหน่วยงานว่าเป็น “การลงคะแนน”   ยิ่งเป็นการชักจูงให้มีคนคิดว่าการลงคะแนนนั้นจะมีน้ำหนักต่อการสนับสนุนผู้เข้ารับการแข่งขันคนไหน   ซึ่งที่จริงแล้ว ในการสรรหาต้องไม่มีการแข่งขัน   ไม่มีการหาเสียง

จึงมีบางมหาวิทยาลัยพยายามกำหนดโทษ ว่าผู้ที่มีพฤติกรรมหาเสียง หรือหาการสนับสนุน เป็นการทำผิด   ถ้าเป็นตัวบุคคลที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ลงมือทำหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง    ผู้นั้นหมดสิทธิ์ ในการเข้ารับการสรรหาทันที 

 

คุณสมบัติของอธิการบดี

เรื่องนี้ผมว่าไม่ค่อยมีปัญหา    โดยต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจน   สำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาของ คณะกรรมการสรรหา    เรื่องที่ต้องไม่ลืมคือต้องไม่เป็นคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลประโยชน์ของ มหาวิทยาลัย   และต้องไม่เป็นผู้ที่ฝักใฝ่การเมือง

มีประเด็นเรื่องต้องทำงานเต็มเวลา โดยไม่มีภารกิจอื่นๆ มารบกวนสมอง    ซึ่งก็ควรระบุไว้    แต่ผมก็เคยเห็นอธิการบดีที่สมองดีเยี่ยม ทำงานเป็นอธิการบดีไปเล่นหุ้นไป รายได้จากการเล่นหุ้นมากกว่า เงินเดือนอธิการบดีมากมาย    เท่าที่ผมรู้จักมีมากกว่า ๑ ราย    และผมสงสัยเสมอว่า หากผมรู้ล่วงหน้าว่า เขาจะมีพฤติกรรมนี้ และผมเป็นกรมการสรรหา ผมจะเลือกเขาหรือไม่    ผมมีความเชื่อว่าสภาพเช่นนั้น ไม่ใช่ทำงานอธิการบดีเต็มเวลา    แต่ผมอาจเคร่งครัดเกินไปก็ได้

เพื่อประกอบการกำหนดคุณสมบัติหรือความสามารถที่จำเพาะสำหรับหาอธิการบดีที่จะมาทำงานเป็นผู้นำ และบริหารให้บรรลุผลใน ๔ - ๘ ปีข้างหน้า    สภามหาวิทยาลัยจึงต้องกำหนดให้ชัดว่าในเวลาข้างหน้านั้น ต้องการให้บรรลุผลอะไรบ้างเป็นประเด็นใหญ่ๆ    แล้วมอบให้คณะกรรมการสรรหาใช้ข้อกำหนดนั้นในการ พิจารณาความสามารถจำเพาะของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อหรือสมัครเป็นอธิการบดี

จะเห็นว่า คุณสมบัติของอธิการบดี ต้องมีทั้งคุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงเวลา ข้างหน้าตอนดำรงตำแหน่ง

 

เวลา

เวลาในที่นี้หมายถึงเวลาเริ่มกระบวนการสรรหา    ต้องให้เสร็จเผื่อเวลาโปรดเกล้าฯ ไว้อย่างน้อย ๒ เดือน    และต้องมีเวลาให้ดำเนินการขั้นตอนอย่างรอบคอบระมัดระวัง    เพราะหากมีคนขัดแย้ง เอาไปฟ้องศาลปกครอง ต้องยืนยันได้ว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอน (conformance) และระมัดระวังรอบคอบ (care)    บางมหาวิทยาลัยกำหนดเวลาเริ่มกระบวนการสรรหา ๑๘๐ วันก่อนอธิการบดีท่านปัจจุบันจะหมดวาระ   บางแห่งให้เวลาถึง ๒๔๐ วัน

เวลาที่ต้องระมัดระวังอย่างมากคือช่วงห่างระหว่างคณะกรรมการสรรหาลงมติ ถึงเวลาที่นำเรื่องเข้าสู่สภามหาวิทยาลัย    ยิ่งทิ้งช่วงน้อยเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น    เพราะข่าวจะแพร่งพรายยากหน่อย    กรรมการบางชุดใช้วิธีประชุมคณะกรรมการสรรหาตอนเช้า เสร็จเที่ยง แล้วเอาเข้าสภาฯ ตอนบ่ายเลย

 

การรักษาความลับ

เรื่องนี้ได้กล่าวแทรกไว้ในหลายตอนข้างบนแล้ว   แต่นำมาย้ำไว้เป็นตอนแยกต่างหากด้วย   เพราะเคย มีคนมาให้ความเห็นใน บล็อก ของผม ว่ากระบวนการสรรหาทั้งหมดควรเปิดเผย    ไม่ควรถือเป็น ความลับ   ซึ่งผมคิดว่าวิธีคิดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง    การทำงานที่สำคัญหลายเรื่องต้องทำแบบมิดชิด เพื่อป้องกันการกระทบ กระเทือนเรื่องส่วนตัวของบุคคล    การรักษาความลับ กับความโปร่งใสในการทำงานเป็นคนละเรื่องกัน   แต่มีเป้าหมายเดียวกันที่ผลประโยชน์ของหน่วยงาน และความซื่อสัตย์ในสังคม

ยิ่งมอบความรับผิดชอบให้แก่คณะกรรมการสรรหาสูงเพียงใด   คณะกรรมการสรรหาก็ยิ่งต้องหา ข้อมูลมาพิจารณาให้รอบคอบมากเพียงนั้น   และข้อมูลบางส่วนต้องถือเป็นความลับ เพราะหากแพร่งพรายไป จะก่อผลเสียหายต่อบุคคล   และหากแหล่งข้อมูลไม่เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการฯ จะรักษาความลับได้ เขาก็ไม่ให้ ข้อมูล   คณะกรรมการฯ ก้จะทำงานตัดสินใจในสภาพที่มีข้อมูลขาดๆ วิ่นๆ ไม่ครบถ้วน

คณะกรรมการสรรหาที่ดี จึงต้องเอาเรื่องลับมาตีแผ่พิจารณาร่วมกันได้   และไว้วางใจซึ่งกันและกันว่า เมื่อให้ความเห็นอย่างไรแล้ว จะไม่มีผู้นำไปแพร่งพราย   หากไม่มีความไว้วางใจต่อกันในระดับนี้   การพิจารณาประเด็นที่ละเอียดอ่อนจะไม่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการสรรหาก่อนมีการลงมติ    การทำหน้าที่อย่างเป็นองค์คณะอย่างแท้จริงจึงไม่เกิด

วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 469905เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2011 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบขอบพระคุณค่ะท่านอาจารย์หมอสาระดีๆ ว่าด้วย ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี

ข้อคิดที่ท่านให้ดีมากค่ะ โดยเฉพาะการปกปิดบางเรื่องเพราะอาจกระทบกระทั่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท