หลักศาสนากับการเมือง 2


พระพุทธศาสนากับการเมือง

พระพุทธศาสนากับการเมือง

ในความเข้าใจของคนเรามักมีความรู้สึกเมื่อพูดถึงศาสนาในสังคมไทยว่า  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย  เพราะมองไปทางไหนเห็นแต่วัดวาศิลปกรรมทางพระพุทธศาสนา  แม้แต่วิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ได้ถูกหล่อหลอมด้วยอิทธิพลทางหลักพุทธธรรม 

 การที่พระพุทธศาสนายังอยู่ยืนยงมาได้จนถึงบัดนี้  คงเป็นเพราะหลักสัจธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลถูกต้องเที่ยงธรรมและเหมาะสมกับวิถีชาวไทยที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  และเป็นองค์อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาสืบต่อแทนบรรพบุรุษตลอดมา

 

        หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นให้คนเราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข  ทุกคนต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน  โดยเฉพาะคนเราในสังคมประชาธิปไตยพึงรู้หลักที่ยึดถือเอาความเป็นใหญ่ดังนี้ ( ที.ปา. 11 / 228 ) ว่า

 

...อัตตาธิปไตย  คือ  ถือตนเป็นใหญ่  เอาตัวตนเป็นเครื่องวัดสรรพสิ่งอย่างหนึ่ง...โลกาธิปไตย  คือ  ถือโลกเป็นใหญ่  หรือที่เรียกว่าเสียงของประชาชนนั้นละคือเสียงสวรรค์  เพราะยึดถือเอาเสียงส่วนใหญ่บางทีก็พวกมากลากไปก็มีนะ...ธัมมาธิปไตย  คือ  ถือเอาธรรมเป็นใหญ่  เป็นการถือเอาตามความเป็นจริงที่ถูกต้องดีงามโดยได้พินิจวิเคราะห์ได้เที่ยงตรงแล้ว  ไม่ยึดถือตน  ไม่ยึดถือเสียงส่วนใหญ่

 

        ในหลักพุทธธรรมมุ่งให้ชาวโลกได้ตระหนักรู้และยึดถือหลักธัมมาธิปไตยนี้แล  เพื่อนำความเจริญมาสู่สังคม  และใช้หลักธรรมในการปกครองหมู่คณะด้วย  หลักอปริหานิยธรรมของกษัตริย์วัชชี 7 ข้อ( ที.ม.10 / 68 ).ว่าดังนี้...

1 . ต้องหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ

2 . ต้องพร้อมเพรียงกันประชุมไม่ใช่ต่างคนต่างทำการ

3 . ต้องยึดมั่นในกฎกติกาเดิม ๆ ที่ตราไว้ดีแล้ว

4 . ต้องรับฟังแนวคิดจากท่านผู้รู้ผู้มีประสบการณ์มาก

5 . ต้องให้เกียรติและคุ้มครองผู้หญิงไม่ให้ถูกข่มเหงรังแกได้

6 . ต้องมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเคารพศาสนสถานอนุสาวรีย์ประจำชาติให้คงอยู่สืบต่อไป

7 . ต้องอารักขาคุ้มครองป้องภัยให้ผู้ทรงศีลทรงธรรม  มีความเต็มใจต้อนรับหวังให้ท่านเป็นอยู่อย่างผาสุก

 

        นอกจากนั้นยังมีหลักธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันที่พึงน้อมนำมาปฏิบัติคือ

หลักสารณียธรรม 6 ข้อ ( ที.ปา. 11 / 317 ) ดังนี้.

1 . เมตตากายกรรม  คือ การเคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

2 . เมตตาวจีกรรม  คือ  การพูดจากันด้วยความหวังดีบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้

3 . เมตตามโนกรรม  คือ การตั้งจิตปรารถนาดีต่อกันเสมอ

4 . สาธารณโภคี  คือ  เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรมก็ไม่หวงของ  แต่นำออกมาแบ่งปันกัน

5 . สีลสามัญญตา  คือ  การมีความประพฤติถูกต้องดีงามไม่ทำให้ตนถูกรังเกียจจากหมู่คณะ

6 . ทิฏฐิสามัญญตา  คือ  การมีความเห็นชอบร่วมกัน

 

นอกจากนี้ยังมีหลักธรรมแห่งการสงเคราะห์คือ หลักสังคหวัตถุ 4 ข้อ ( องฺ. จตุกฺก. 21 / 32 ) เป็นหลักธรรมแห่งการยึดเหนี่ยวจิตใจคนเราดังนี้...

1 . ทาน  การรู้จักแบ่งปันให้สิ่งของแก่กันและกัน

2 . ปิยวาจา  การกล่าววาจาอันเป็นที่รักที่ชอบกัน

3 . อัตถจริยา  การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

4 . สมานัตตตา การทำตนเสมอต้นเสมอปลายที่ถูกต้องดีงาม

 

ลำหรับหลักธรรมที่ควรมีในจิตใจผู้ใหญ่หรือผู้บริหารหมู่คณะคือ หลักพรหมวิหาร 4  ข้อ ( ที.ม. 10 / 184 ) . ดังนี้

1 . เมตตา  2 . กรุณา  3 . มุทิตา  และ  4 .  อุเบกขา

 

ในท้ายสุดที่จะลืมเสียมิได้สำหรับหลักพุทธธรรมกับการเมืองเรื่องของชาวโลกนี้คือต้องใช้หลักทศพิธราชธรรม 10 ข้อ ( ขุ. ชา. 28 / 240 ) อันเป็นธรรมของผู้ปกครอง ตามคาถาพระบาลีว่า...ดังนี้

        ทานํ  สีลํ  ปริจฺจาคํ        อาชฺชวํ  มทฺทวํ  ตปํ

        อกฺโกธํ  อวิหึสญฺจ         ขนฺติญฺจ  อวิโรธนํ

1 .ทาน คือ การบำรุงเลี้ยงประชาชนให้อยู่ดีกินดี

2 . ศีล  คือ การประพฤติตนดีงามให้เป็นแบบอย่าง

3 . ปริจจาคะ  คือ  การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขต่อส่วนรวม

4 . อาชชวะ  คือ  การปฏิบัติภารกิจโดยความซื่อสัตย์สุจริต

5 . มัททวะ คือ  การมีอัธยาศัยอ่อนโยนสุภาพ

6 . ตปะ  คือ  การมุ่งมั่นทำความดีเพื่อความสำเร็จ

7 . อักโกธะ  คือ  การไม่ลุอำนาจแก่ความโกรธ

8 . อวิหิงสา  คือ  การไม่หลงอำนาจ  การไม่ลำเอียงด้วยอคติใด ๆ

9 . ขันติ  คือ  การไม่ท้อถอยต่องานที่ทำ

10 . อวิโรธนะ  คือ  การดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคมอย่างเที่ยงตรง

        หลักพุทธธรรมเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการบริหารคนในสังคมโลกที่พระพุทธศาสนาถือว่า  เป็นหัวใจของการปกครองบ้านเมืองเพื่อเป้าหมายคือความสงบสุขมีสันติภาพเกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคมนั้นเองแล.

หมายเลขบันทึก: 469211เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2011 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ คุณ ด.ร.อุทัย เอกสะพังขอบคุณครับที่ให้ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีๆ ก็ต้องช่วยกันแทรกซึมแนวปฏิบัติให้เข้าถึงมวลชน เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก ความรู้นั้นเผยแพร่ได้ไม่ยากนัก เมื่อเขารู้และเข้าใจจะให้เขาปฏิบัติตามความรู้นั้นยากมาก และชาวพุทธเดี๋ยวนี้เพียงแต่ลงทะเบียนเป็นชาวพุทธเท่านั้น จริงๆแล้วเขาไม่เชื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า(แม้แต่พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง)แต่จะเชื่อเทวดา,เทพเจ้าอื่นๆมากมายหลายองค์และคนที่ชี้นำ(ทำเป็นตัวอย่าง)ก็คนใหญ่คนโต,คที่มีอำนาจ จึงเป็นเหตุจูงใจให้คนทั่วไปนิยมทำตาม ด้วยอ้างว่า แม้แต่นายกยังทำให้ดู ต้องขออภัยหากขัดกับความรู้สึกของใครเข้า นะครับ.

สวัสดีครับ คุณเครื่องหมาย?คำถามเดียว

เราต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อนำแสงสว่างทางปัญญามาสู้สังคมคนเรานะครับผม

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท