เปิดห้องนักวิจัย...R2R Newsletter... (I Can Fly)


 

            จากประสบการณ์การที่ผม หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ปู่สอน กล้าศึก...ผู้ปลูกต้นไม้ในใจทุกคน...ในการให้สัมภาษณ์ตามสื่อไปแล้ว....ก่อนที่จะเผยแพร่หรือตีพิมพ์...จะมีทีมงานให้ตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลเสมอ...

 

ผมรู้สึกว่า...ทีมงานให้เกียรติและมีความน่ารักมากครับ...เช่น ทีมงานของวารสารหมออนามัย...บริษัท พาโนราม่า รายการ คนค้นคน...รายการปราชญ์เดินดิน

 

            รวมถึงทีมงานล่าสุดที่ผมให้สัมภาษณ์.... R2R Newsletter

 

            ทีมงานส่งเมลล์บอกว่า ....ส่งต้นฉบับมาให้ตรวจทานความถูกต้องค่ะ ...ถ้ามีการแก้ไขตรงไหน รบกวนป้ายด้วยสีน้ำเงินนะคะ จะได้แก้ไขได้สะดวก เพราะตอนนี้...จัดอาร์ตเวิร์ครอไปก่อน เพื่อประหยัดเวลาค่ะ รบกวนขอต้นฉบับคืนทางอีเมลล์ภายในอาทิตย์นี้นะคะ...ขอบคุณค่ะ

 

            ผมเห็นความตั้งใจของทีมงานมากจึงรีบดำเนินการและเมลล์กลับโดยเร็ว....สวัสดีครับ… 
ขอบคุณมากนะครับ...เขียนได้ดี และจับประเด็นได้ลึกซึ้งมากครับ…ปรับชื่อและตำแหน่งเล็กน้อยเองนะครับ…ขอบคุณทีมงานทุกท่านด้วยครับ…ขอบคุณครับ 

 


            นี้คือข้อมูลที่ผมส่งกลับคืนครับ...รอให้วารสารตีพิมพ์...ผมจะเขียนบันทึกอีกบันทึกนะครับ...ส่วนรูปถ่ายทีมงานไม่ให้ผมคัดเลือกรูปถ่ายครับ...แต่ผมเห็นว่า..ดีแล้วครับ....เพราะเชื่อใจและเชื่อมือทีมงาน...และหน้าตาของผม...ไปวัดได้ตอนสาย ๆ เท่านั้นครับ....

 

 

++++++++++++++++++++++++++++

 

 

คอลัมน์: เปิดห้องนักวิจัย (I Can Fly) 

 

อดิเรก เร่งมานะวงษ์: เจ้าของรางวัลงานวิจัยแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา  

มีคนในแวดวง R2R กล่าวว่า ไม่ว่าปัญหาอะไรก็สามารถทำเป็นงานวิจัย R2R ได้ทั้งนั้น

 

นั่นจึงทำให้ อดิเรก เร่งมานะวงษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนเสลา อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัย “แรงงานอ้อยกับการดื่มสุรากรณีศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน” ขึ้น

 

ทำไมเขาจึงสนใจนำประเด็นนี้มาทำงานวิจัย แล้วผลที่ได้สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนได้แค่ไหน เขาพร้อมไขข้อสงสัยแล้ว

 

 

จุดประกายนักวิจัยมือรางวัล

แม้ว่าจะมีพื้นฐานการทำวิจัยจากการเรียนปริญญาโทอยู่บ้าง แต่กระนั้นอดิเรกก็ไม่เคยนึกอยากทำงานวิจัยแบบเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งเขาเห็นว่าในชุมชมมีปัญหาเรื่องการดื่มสุรา บวกกับได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ R2R จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อดิเรกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยให้ฟังว่า

 

“ผมมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ที่อำเภอภูเขียวมากว่าสิบปี ได้สัมผัสสภาพปัญหา รวมถึงผลกระทบทั้งทางสังคมและสุขภาพของแรงงานอ้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้ยังไง จนกระทั่งผมได้รู้จักกับ R2R ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ โดยการยกระดับการสร้างความรู้ในการทำงานประจำด้วยการกระโดดลงไปศึกษาผ่านกระบวนการวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ”

 

“แต่ก่อนที่ผมจะได้รู้จักกับ R2R ผมทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เรียกว่าทำงานไปวันๆ ก็ว่าได้ แต่พอรู้จัก R2R และย้อนคิดกลับไปเมื่อตอนเรียนวิทยาลัยการสาธารณสุขขอนแก่น  (เพิ่มได้ไหมครับ) ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมเห็นเกสรของชมพู่สีแดงที่หล่นลงพื้นอยู่หลังห้องพัก ตอนนั้นผมฉุกคิดได้ว่า ‘เราเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้’ นั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมมองเห็นโอกาสของการนำเรื่องราวที่เป็นปัญหาหน้างานมาแก้ไขด้วยกระบวนการวิจัย” 

 

 

เมื่อปัญหาถูกนำมาแก้ด้วยงานวิจัย R2R

จากข้อมูลที่อดิเรกรับรู้มาระบุว่า ภาคอีสานมีพื้นที่และแรงงานอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย และด้วยสภาพการทำงานที่หนักและเหนื่อยล้าของแรงงานเหล่านี้นี่เอง การดื่มสุราจึงเป็นส่วนหนึ่งของการผ่อนคลายจากการทำงาน อดิเรกเล่าว่า

 

“ผมต้องการศึกษามิติทางสุขภาพและสังคม และผลกระทบทางสุขภาพและสังคมจากการดื่มสุราของแรงงานอ้อย ซึ่งวิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ แรงงานอ้อยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอ้อย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกต และการสนทนากลุ่ม ระยะเวลาในตลอดทั้งปี 2552 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิควิธีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า” 

 

              “ผลการศึกษา พบว่า มิติทางสุขภาพและสังคมของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุราที่มีผลต่อการดื่มสุรา ได้แก่ เพื่อนแรงงานชักชวน สุราแก้เมื่อยและเป็นยา วัยและเพศกับสุรา เกรงใจภรรยาจึงไม่กล้าดื่ม และลักษณะงานเอื้อให้ดื่ม โดยแรงงานที่มีค่าใช้จ่ายในการดื่มสุรามากที่สุด คือ แรงงานพ่นยากำจัดวัชพืช คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ต่อวัน แรงงานหญิงดื่มสุรามากขึ้น เพราะมีรายได้จากการทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานเด็ก อายุ 13 ปีขึ้นไป ในช่วงปิดเทอม ดื่มสุรามากขึ้น เพราะสามารถหาเงินได้เอง นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพแวดล้อมของกลุ่มแรงงานขึ้นอ้อยเอื้อต่อการดื่มสุราเพราะเถ้าแก่อ้อยเอาสุราให้ดื่ม เพื่อกระตุ้นให้ทำงาน”

 

“ผลกระทบจากการดื่มสุรา ได้แก่ สุราก่อหนี้ให้ครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เชื่อมโยงสู่ความเสี่ยงทางเพศ และการทะเลาะวิวาท ทั้งนี้ แรงงานพ่นยากำจัดวัชพืช เป็นแรงงานที่ทำงานหนัก และเสี่ยงต่อสุขภาพ มีการดื่มสุราด้วยเชื่อว่า ดื่มก่อนทำงานเพื่อกันยาพ่นระหว่างทำงาน ดื่มสุราเพื่อให้เกิด ‘อาการสึม’ สามารถยกน้ำหนักของถังพ่นได้ง่าย และดื่มหลังจากการทำงานเพราะแก้ยาพ่น นอกจากนั้น พบว่า ชุมชนยังไม่มีบทบาทและกลไกในการจัดการสุขภาพของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา”

 

นอกจากปัญหาการดื่มสุราแล้ว ชุมชนแรงงานอ้อยยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพและสังคมด้วย เพราะหน้าโรงงานมีทั้งคาราโอเกะ และมีสถานบริการทางเพศด้วย อดิเรกและทีมงานจึงได้นำเสนอให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพและสังคมที่เกิดขึ้น

 

“เราดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูล และการพัฒนากติกานโยบายในการดื่มสุราของแรงงานอ้อยด้วย ด้านเจ้าของงานหรือเถ้าแก่อ้อยก็ต้องมีมาตรการในการควบคุมการดื่มสุรา และการป้องกันตนเองของแรงงานของตนเองด้วย ด้านหน่วยงานสาธารณสุข ควรนำข้อมูลที่ได้มาจัดกิจกรรมปฏิบัติการ เพื่อจัดการสุขภาพของแรงงานอ้อยกับการดื่มสุรา”

 

 

บทเรียนล้ำค่าจากงานวิจัย 

นอกจากผลงานวิจัยที่นำความภูมิใจมาให้แล้ว อดิเรกยังได้เรียนรู้อะไรจากการทำวิจัยหลายอย่าง

 

“เท่าที่ผ่านมาหมออนามัยมักถูกให้ทำงานตามกรอบที่ถูกวางไว้ ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของหมออนามัยมีโอกาสสร้างสรรค์มากมายแต่แล้วพลังแห่งความสร้างสรรค์ก็ถูกลิดรอนลงด้วยบรรทัดฐานที่เรามีความคิดความเชื่อว่าแบบนี้ดีแบบนั้นไม่ดี แต่ถ้าเมื่อไรหมออนามัยลุกขึ้นมาสร้างสรรค์และพัฒนางานของตนเองด้วยตนเอง จะพบว่าศักยภาพที่เขามีนั้นมากมายขนาดไหน”

 

“R2R ให้อะไรกับผมหลายอย่าง ทั้งความรัก ความฝัน และความคิด ตลอดจนความเข้มแข็งและความอ่อนโยน ผมเป็นแค่คนทำงานตัวเล็กๆ แต่เมื่อผลงานของผมสำเร็จผมรู้สึกภูมิใจมาก การได้ช่วยเหลือคนอื่นมันให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผม ส่วนรางวัลเป็นแค่ผลพลอยได้ เพราะเอาเข้าจริง ชื่อเสียงเงินทองที่ได้มาพร้อมกับรางวัลสุดท้ายมันก็คือความว่างเปล่า แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้ทำประโยชน์แก่โลกใบนี้ นี่คือสิ่งที่สัมผัสได้ เหนือสิ่งอื่นใด การทำวิจัย R2R ได้นำพาผมให้ก้าวย่างสู่ชุมชน ทำเพื่อชุมชน ทำเพื่อโลกอย่างไม่หวั่นไหว วิถีเช่นนี้ทำให้ผมย่างก้าวพาตนเองออกมาจากความหวาดกลัวได้ จริง ๆ แล้ว R2R ทำให้ผมเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกมากขึ้น”

 

“และผมยังได้เรียนรู้ที่จะมีสุนทรียภาพในงานที่ทำงานการ(ตัดคำว่าการออกดีไหมครับ) ทุกวันด้วย การทำงานด้วยความสนุกช่วยหล่อเลี้ยงใจให้ผมมีความสุขทุกวัน จนไม่ต้องไปหาความสุขจากที่อื่น เหมือนกับคำพูดของครูในดวงใจของผม อาจารย์นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ทำให้ผมรู้ว่า R2R ค้นพบความมหัศจรรย์ของชีวิต ว่าชีวิตเรามีไว้ให้ทุ่มเทอะไร และต้องพยายามทุ่มเทกับสิ่งนั้นให้เต็มที่”

 

“ผมอยากขอบคุณ สวรส. อีสาน รศ.นพ.สมพนธ์ ทัศนิยม   และ ผศ.ดร. ภัทระ แสนไชยสุริยา   สวรส. อีสาน ที่ให้โอกาส ให้ทุน และให้การเรียนรู้สู่การเป็นนักวิจัยระบบสุขภาพกับผม ขอบคุณ อาจารย์กะปุ๋ม-ดร.นิภาพร ลครวงศ์  ผู้ที่ทำให้ค้นพบความงามและความสุขในการเส้นทางของ R2R และการเขียนบันทึกผ่านบล็อก ขอบคุณ ผศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ และ ดร.สุเกสินี สุภธีระ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่คอยเป็นกำลังใจและคอยชี้แนะในฐานะครูเสมอมา”

 

“ผมเชื่อว่าคนเรานั้นมีแง่ดีงามเสมอ หลายสิ่งที่คนอื่นมี เราอาจจะไม่มี หรือหลายสิ่งที่คนอื่นไม่มี เราก็อาจจะมีก็ได้ ผมขอฝากเคล็ดลับในการทำ R2R ไว้ 3 อย่างคือ 1) ค้นหาสิ่งที่เรารัก เราทำแล้วสนุก 2) เติมเอกลักษณ์ลงไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และ 3) แบ่งปันความสุขให้กันและกัน หากใครอยากทราบข้อมูลของผมเพิ่มเติม สามารถติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ได้จากวารสารหมออนามัยใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/454772 หรือติดตามบล็อกของผมได้ที่ http://www.gotoknow.org/profiles/users/adirek_reng นะครับ” อดิเรกกล่าวทิ้งท้าย...

 

หมายเลขบันทึก: 468539เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 03:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ถึงเป็นเรื่องเล็กๆๆน้อย
  • แต่งดงามมาก
  • อันนี้
  • และหน้าตาของผม...ไปวัดได้ตอนสาย ๆ เท่านั้น
  • จริงๆก็ไปตอนเช้าได้ครับ
  • แต่ต้องเช้ามากๆๆ555

งดงามและมีประโยชน์มากค่ะ

ชอบบทสรุป เคล็ดลับ R2R

โดยเฉพาะ...เติมเอกลักษณ์ลงไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ

ขอบคุณมากนะคะ

Cheers!! ครับ

ขอให้มีอย่างนี้ในทุกถิ่น ทุกตำบลนะครับ ประเทศชาติจะไปไกลกว่าเดิมมากๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท