หน้าบันวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


ที่ตั้ง          

          วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นวัดชั้นเอก ราชวรวิหาร พระอารามหลวง ตั้งอยู่ริมถนนนครปฐม (ถนนฮกเก่า) และคลองเปรมประชากร ฝั่งตะวันตก อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เขตของวัด ทิศตะวันออก วัดแต่กำแพงด้านเหนือไปจดคลองคูด้านใต้ ยาว 5  เส้น 10 วา ทิศตะวันตกวัดกำแพงด้านเหนือไปจดคลองคูด้านใต้ ยาว 5 เส้น 10 วา เท่ากัน ทิศเหนือวัดแต่กำแพงด้านตะวันออกไปจดกำแพงด้านตะวันตก กว้าง 4 เส้น 19 วา ทิศใต้ วัดแต่กำแพงด้านตะวันออกไปจดกำแพงด้านตะวันตก กว้าง 4 เส้น 13 วา 1 คืบ คิดเป็นตารางวาได้ 10566 ตารางวา 14 ศอก

การปฏิรูปการปกครองกับสถาปัตยกรรมวัดเบ็ญจมบพิตรดุสิตวนาราม

          การปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2435 เป็นจุดเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมของการเริ่มดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าส่วนกลางเพื่อสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็จะพบว่าภายใต้ช่วงเวลานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถ้าพิจารณาเฉพาะในงานสถาปัตยกรรมแบบจารีตจะพบว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงใส่พระทัยในการสร้างงานสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนามากที่สุดเพียงแห่งเดียวคือวัดเบญจมบพิตร ซึ่งได้เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2422 จวบ จนสิ้นรัชกาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจากหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ยังเหลืออยู่จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเข้ามาดูแลในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดแทบจะทุกขั้นตอนในการออกแบบ (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2547 : 165)

          วัดเบญจมบพิตร ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ.2442 เป็นช่วงกลางถึงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5  ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นอย่างมากจากตอนต้นที่พระองค์ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โลกทรรศน์ ความคิด และความเชื่อของผู้คนและของสังคมในสมัยนี้ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากในอดีต มีการดำรงชีวิตเป็นตะวันตก และความรู้แบบตะวันตก ซึ่งเริ่มจากชนชั้นนำและแพร่จะจายลงมาตั้งแต่ชั้นพ่อค้าจนถึงประชาชน ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงคติว่าด้วยรัฐที่เปลี่ยนไปส่งได้ ผลสะท้อนลงในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ที่เด่นชัดที่สุดคือวัดเบญจมบพิตร

          วัดเบญจมบพิตรยังได้รับการออกแบบโดย สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับการกล่าวขวัญว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ผู้ซึ่งยึดถือแนวความคิดในการออกแบบมากกว่าจะยึดอิงกับกรอบจารีตประเพณีเดิม หรือที่เรียกว่าแนวประยุกต์ ทำให้งานของพระองค์มีลักษณะเป็นงานสถาปัตยกรรมแนวใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะตัวยิ่ง

          วัดเบญจมบพิตรก็เป็นเสมือนกระจกบานที่สามารถสะท้อนความคิดและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้กระบวนการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ดีที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระอุโบสถ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการออกแบบวางผังทางสถาปัตยกรรม ที่เน้นความสมดุลทั้งสองฝั่ง (Symmetrical or Formal Balance) พระประธานในพระอุโบสถ ภาพจิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ พระพุทธรูปภายในพระระเบียง ลวดลายประดับบนหน้าบัน จนกล่าวได้ว่าพระอุโบสถแห่งนี้สะท้อนอุดมคติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด ในที่นี้ะขอกล่าวถึงหน้าบันบริเวณพระอุโบสถ

หน้าบันพระระเบียงคด

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

(http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้าจิตรเจริญ_กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์.สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน2554.)

           สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระระเบียง ให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ 2 ประตู บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บริเวณหลังพระอุโบสถ เป็นลานกว้าง ปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

          หน้าบันทั้งหมดของพระอุโบสถและพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรมีอยู่ทั้งหมด 14 ด้าน แบ่งเป็นหน้าบันของพระอุโบสถ 4 ด้าน และของพระระเบียง 10 ด้าน โดยหน้าบันทั้งหมดของพระระเบียงได้รับการออกแบบโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ซึ่งเป็นการนำตราประจำกระทรวงต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มา ประยุกต์ผูกลายขึ้นใหม่จนเป็นหน้าบันทั้ง 10 ด้าน อันเป็นสัญลักษณ์แทนกระทรวงทั้ง 10 กระทรวง ในสมัยนั้น

          ส่วนหน้าบันของพระอุโบสถ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบผูกลายขึ้นใหม่โดยนำตราพระราชลัญจกรที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ประทับสั่งว่าราชการต่างๆ 4 แบบ มาเป็นต้นแบบในการผูกลายหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ซึ่งตราพระราชลัญจกรทั้งสี่ มีดังนี้

1. พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์

ใช้ประทับผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญาต่างประเทศ  

2.พระราชลัญจกรมหาอุณาโลม

ใช้ประทับพระราชสาส์นกำกับพระสุพรรณบัฏเกี่ยวกับเจ้าประเทศราช

3.พระราชลัญจกรไอยราพต ใช้ประทับพระราชสาส์นและประกาศตั้งกรม 

ที่มา : ชาตรี ประกิตนนทการ (2551 :  62)

4.พระราชลัญจกรจักรรถ

ใช้ประทับเรือนเลขในหนังสือซึ่งประทับตราพระราชลัญจกรมหาโองการและพระบรมราชโองการแล้ว ที่มา : ชาตรี ประกิตนนทการ (2551 :  62)

           ที่หน้าบัน เป็นภาพจำหลักลายไทยประกอบตราประจำกระทรวงต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่ได้ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินเป็น 10 กระทรวง

          ดูจากด้านทิศใต้ (ริมคลอง) มุขตะวันออกวนไปทิศใต้และทิศตะวันตก ตามลำดับ 

          หน้าบัน เป็นภาพจำหลักลายไทยประกอบตราประจำกระทรวงต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่ได้ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินเป็น 10 กระทรวงดังนี้

1.ตราราชสีห์ ประจำกระทรวงมหาดไทย 

ที่มา : ชาตรี ประกิตนนทการ (2551 :  62)

2. ตราพระยมทรงสิงห์ ประจำกระทรวงนครบาล 

3. ตราพระสุริยมณฑล (ใหญ่) มีนกยูงรำแพนอยู่ท้ายรถที่เทียมราชสีห์

ประจำกระทรวงคลังมหาสมบัติ 

4. ตราพระเพลิงทรงระมาด ประจำกระทรวงธรรมการ 

 

5. ตราบัวแก้ว (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านนอก) ประจำกระทรวงต่างประเทศ

  

6. ตราพระพิรุณทรงนาค  (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านใน)  ประจำกระทรวงเกษตราธิการ  ที่มา : ชาตรี ประกิตนนทการ (2551:  65)

7. ตราพระรามทรงรถ ประจำกระทรวงโยธาธิการ (ต่อมาเป็นกระทรวงคมนาคม)

  

8. ตราจันทรมณฑล (มีกระต่ายนั่งท้ายรถ) ประจำกระทรวงยุติธรรม

9. ตราพระราม (?) ทรงยักษ์ ตรานี้น่าจะประจำกระทรวงวังที่เหลืออยู่เพียงกระทรวงเดียว เพราะกระทรวงที่ 10 ต่อไปก็ทราบแน่ชัดแล้ว แต่ตามเอกสารยืนยันว่า กระทรวงวังใช้ตราพระมหาเทพทรงนนทิกร (พระโคเผือก) จึงอาจเป็นไปได้ว่า เป็นตราประจำกระทรวงวังเดิม (http://www.watbencha.com/history/cloister.html. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2554.) 


 10. ตราคชสีห์ ประจำกระทรวงกลาโหม 

          การออกแบบลายหน้าบันทั้งหมดหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่าล้วนสอดคล้องกับเนื้อหาและความหมายที่ได้วิเคราะห์มาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับนัยของการรวบรวมพระพุทธรูปในพระระเบียง

           หน้าบันทั้งหมดล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา หน้าบันพระระเบียงทั้ง 10 ด้าน เป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงต่างๆ ที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ในระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ที่มีการแบ่งกรมกองและหน้าที่ในการทำงานแบบตะวันตก และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือกระทรวงต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและเข้าสู่องค์พระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่าถ้าดูโยทั่วไปภาพลวดลายเหล่านั้นจะเป็นเพียงรูปเทพเทวดาต่างๆ อันชวนให้คิดว่าเป็นการสะท้อนเรื่องราวในคติความเชื่อแบบเก่าที่อิงอยู่กับเทพเทวดา ตำนาน และความเชื่อต่างๆ ในไตรภูมิ แต่แท้จริงแล้วลวดลายหน้าบันเหล่านี้มิได้สร้างขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในการสะท้อนความเชื่อแบบดั้งเดิมแต่อย่างใด

           ตามโครงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชอำนาจของกษัตริย์จะถูกใช้ผ่านระบบราชการแบบใหม่ซึ่งอยู่ในรูปของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ 10 กระทรวง ดังนั้นการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรจึงได้สะท้อนโครงสร้างการบริหารและใช้พระราชอำนาจดังกล่าวผ่านรูปสัญลักษณ์ของลายหน้าบันทั้ง 10 แห่ง ที่อยู่เหนือพระระเบียงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ โดยที่ลายแต่ละหน้าบันถอดแบบมาจากตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวงทั้ง ๑๐ กระทรวง ในสมัยรัชกาลที่ 5

             ในขณะที่พระราชอำนาจขององค์กษัตริย์จะถูกสะท้อนผ่านตัวอุโบสถวัดเบญจมบพิตรโดยใช้สัญลักษณ์ลายหน้าบันพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เป็นสื่อแสดงสำคัญ ซึ่งถอดแบบมาจากตราพระราชลัญจกรสำคัญ 4 แบบ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ในการประทับสั่งว่าราชการต่างๆ ภายใต้ระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ของรัฐสมัยใหม่

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

อ้างอิง

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม : สยามสมัย ไทยประยุกต์ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน. 2547.

__________. พระพุทธชินราช ในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.

ชลธีร์ ธรรมวรางกูร, ทรงวิทย์ แก้วศรี, บรรณาธิการ. ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

__________.  ประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม,2543.

__________. “พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม,” ใน ศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2. (มีนาคม – เมษายน 2543)

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. [สื่อออนไลน์]. http://www.watbencha.com/. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน2554.

วิกิพีเดีย.[สื่อออนไลน์]. http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้าจิตรเจริญ_กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์.สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน2554.

หมายเลขบันทึก: 468538เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท