เมื่อพ่อเข้ารพ.ยามน้ำท่วม


ขอบคุณมิตรแท้ของดร.ป๊อป ที่ช่วยนำพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่งและได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลได้ดีพอสมควร

เวลา 15.45 น.

คุณพ่อ: ป๊อป...มาดูนี่ซิ พ่อไอออกมาเป็นเลือดในอ่างล้างหน้า

ดร.ป๊อป: พ่อไปโรงพยาบาลกันดีกว่า...เอาโรงพยาบาลไหนดี...ที่ใกล้บ้านก็น้ำท่วมสูงมาก เกรงว่ารถจะเข้าไม่ได้ อืม...ไปโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ดีกว่าไหม ขึ้นทางด่วนฟรีน่าจะดีนะ

เวลา 16.45 น.

ดร.ป๊อป ยื่นบัตรของคุณพ่อที่ห้องเล็กๆ หน้าห้องตรวจฉุกเฉิน ที่เขียนว่า "ทำบัตร-ติดต่อสอบถาม" โชคดีที่คุณพ่อเคยมาทำฟันที่โรงพยาบาลแห่งนี้เลยทำบัตรไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งได้รับสิทธิ์จากน้องชายของดร.ป๊อป ที่เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบตรงได้เลย (ไม่ต้องจ่ายเงินสด แต่เรียกเก็บจากหน่วยงานที่น้องชายของดร.ป๊อป สังกัดโดยตรง)

ผมมองเห็นคนไข้รอคิวอยู่เยอะมากๆ ทำให้คุณพ่อและดร.ป๊อป นั่งรอนานกว่า 20 นาทีกว่าจะโดนเรียกไปที่โต๊ะคัดกรอง ก่อนหน้านี้คุณพ่อเดินไปขอหน้ากากเพื่อป้องกันอากาศเย็นจากแอร์เข้าจมูกขณะนั่งรอ ก็ดีหน่อยที่พยาบาลได้ให้หน้ากาก จากนั้นก็สอบถามอาการ วัดความดันโลหิต-ชีพจรได้ปกติ วัดไข้แล้วไม่มี แล้วก็ให้นั่งรออีก 10 นาทีกว่าจะโดนเรียกเข้าตรวจกับแพทย์ฝึกหัด

เวลา 17.15 น.

แพทย์ให้ดร.ป๊อป นำรถนั่งล้อเข็นมาให้คุณพ่อนั่ง และแพทย์ได้ซักประวัติของคุณพ่ออย่างละเอียดโดยขอข้อมูลผ่านการสนทนากับดร.ป๊อป (คุณพ่อเคยมีอาการไอเป็นเลือดด้วยน้ำท่วมปอดพร้อมมีคลื่นหัวใจผิดปกติ แล้วต้องกินยาสลายลิ่มเลือดเมื่อ 2 ปีก่อน จนปัจจุบัน เมื่อ 2 เดือนก็เหนื่อยง่าย มีไอเสมหะมาก แต่เพิ่งเห็นมีอาการไอเป็นเลือดวันนี้)

จากนั้นคุณพ่อก็นอนลงบนเตียงล้อเข็นแล้วเรียกขอที่บ้วนน้ำลาย ปรากฎว่า คุณพ่อก็ไอออกมาเป็นลิ่มเลือดอีก 2 รอบ แพทย์จึงส่งคุณพ่อไปเอ๊กซเรย์ปอด มีพยาบาลมาวัดความดันโลหิตอีกครั้ง ดร.ป๊อปรออยู่ซัก 10 นาที ก็ต้องเดินไปถามแพทย์ว่า "ผลการตรวจและเอ๊กซเรย์ปอดของคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้าง"

แพทย์ได้อธิบายกับดร.ป๊อป อย่างดีว่า "อาจมีน้ำเหลือง น้ำเลือด หรือเสมหะในปอดข้างขวา ทำให้ฟิลม์ดูไม่โปร่งเท่าปอดข้างซ้าย" จากนั้นก็ไม่ได้สนทนากับผู้ป่วย แต่ให้เวรเปลเข็นไปห้องแยก ซึ่งอยู่ภายในห้องฉุกเฉิน ผมก็เลยถามต่อว่า "แยกไปเพื่ออะไร" แพทย์บอกว่า "กลัวจะมีเชื้อวัณโรค เลยให้แยก" 

ผมก็เข้าไปอยู่ในห้องแยกกับคุณพ่อนานถึง 45 นาที นี่ถ้าคุณพ่อมีเชื้อ ดร.ป๊อป ก็ติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว ไม่มีใครมาแนะนำการปฏิบัติตัวใดๆ ในห้องแยกที่ดูสะอาดดี ดูส่วนตัว และดูแยกจากผู้คนอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่ภายนอกห้อง คุณพ่อนอนบนเตียงล้อเข็น ผมนั่งทำสมาธิแล้วคอยดูว่าคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้าง พยายามใช้ความรู้ทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ให้เกิดความเงียบเพื่อเป็นเวลาที่คุณพ่อจะพักผ่อนแล้วเรียนรู้ความคิดของอาการเจ็บป่วยของตนเอง จากนั้นผมชวนคุยว่า "เมื่อกี้แพทย์ได้ตรวจร่างกายและพบว่ามีของเหลวในปอดข้างขวา...คงต้องรอตรวจดูว่าของเหลวนี้ติดเชื้อหรือเกิดขึ้นจากอะไร" จากนั้นก็มีพยาบาลมาวัดคลื่นหัวใจ แต่ไม่มีใครมารายงานผลให้ทราบว่า "วัดแล้วปกติไหม" ดร.ป๊อป ก็แอบดูกราฟที่ออกมาก็คิดว่าปกติ จากความรู้ทางสรีรวิทยาที่เคยเรียนมานานแล้ว พยาบาลอีกท่านก็เจาะเส้นเลือดของแขนขวาด้วยเข็มยาวมาก (สงสารพ่อที่ดูสีหน้าน่าจะเจ็บไม่น้อย) เพื่อนำเลือด 3 หลอดตรวจ จากนั้นอีก 30 นาทีก็มีบุรุษพยาบาลมานำเลือดจากปลายนิ้วของแขนซ้าย ทั้งนี้ไม่มีการสื่อสารบอกกล่าวว่าจะต้องรอนานแค่ไหน รออะไร แล้วการตรวจเลือดนั้นจะออกมามีผลให้นอนในโรงพยาบาลหรือไม่ อย่างไร คำถามวนเวียนในสมองของผม แต่ไม่ดีอย่างหนึ่งที่ดร.ป๊อป เงียบ ไม่ซักถามไปตรงๆ และคาดว่าคงจะมีแพทย์เจ้าของคนไข้มาสรุปทุกอย่างเอง ผมติดระบบการสื่อสารที่เป็นกระบวนการกฎหมายสิทธิผู้ป่วยของออสเตรเลีย ถึงแม้ว่าจะช้ากว่าระบบฉุกเฉินของไทยก็ตาม

เวลา 18.30 น.

โชคดีที่มิตรแท้เจ้าของรถที่นำคุณพ่อและผมไปส่งโรงพยาบาลเข้ามาดูพวกเราในห้องแยก หลังจากนั่งรอนอกห้องฉุกเฉินตั้งแต่เวลา 17.15 น. มิตรแท้ของผมได้ถามว่า "ต้องรอนานแค่ไหน" พยาบาลท่านหนึ่งก็บอกว่า ผลเลือดยังไม่ออกมา ผมจึงชวนมิตรแท้ไปซื้ออาหารเย็น ซึ่งก็ไปซื้อเผื่อคุณพ่อโดยไม่รู้ว่าจะนำเข้าไปให้คุณพ่อทานในห้องแยกนั้นได้หรือไม่ ผมเข้าใจว่าเป็นห้องแยกปลอดเชื้อและไม่แน่ใจ จึงให้มิตรแท้ช่วยถามว่า "คุณพ่อทานอะไรได้หรือไม่ขณะรอผลเลือด" พยาบาลบอกว่า "ทานได้ แต่ญาติต้องสวมหน้ากากด้วย" จริงๆ ผมรอกับคุณพ่อในห้องแยกนั้นก่อนหน้านี้โดยไม่มีใครแนะนำใดๆ ว่าต้องใส่หน้ากากและนำอาหารมาให้คุณพ่อทานได้ ผมรู้สึกแย่มากๆ ที่ต้องคอยถามข้อมูลแบบนี้ นี่ถ้าญาติผู้ป่วยอื่นๆ เค้าไม่มาถามแบบนี้ มัวรอจนถึง 2 ทุ่มก็ไม่มีการเรียกญาติเข้าไปดูแลในห้องฉุกเฉิน ผมคิดว่า "กำลังใจในสภาวะของผู้ป่วยแบบนี้สำคัญและต้องการความชัดเจนของข้อมูลเหตุผลทางคลินิกและกระบวนการที่เป็นหัตถการทั้งหมด

เวลา 19.45 น.

มิตรแท้ชวนผมเข้าไปถามพยาบาลถึงผลเลือด ปรากฎแพทย์ที่ตรวจครั้งแรกก็อยู่ แต่ไม่มีการเข้ามาชี้แจ้งกระบวนการใดๆ ไม่มีการเรียกจากพยาบาลว่าผลเลือดออกมาหรือยัง ซึ่งเมื่อไปถาม ผมถึงทราบว่า ผลเลือดมาแล้ว พยาบาลท่านหนึ่งบอกว่า "เบิกค่ารักษาพยาบาลอย่างไร" ผมก็ตอบว่า "เบิกตรง" ในใจคิดว่า ก็น่าจะตรวจสอบข้อมูลในแฟ้มประวัติได้นะ ทำไมต้องมาถามซ้ำๆ

จากนั้นดร.ป๊อป รู้สึกแย่มากและได้ซักถามให้ชัดเจนว่า "จากผลเลือดนั้น...คุณพ่อต้องทานยาหรือลดยาอะไรตอนนี้ และต้องทำอะไรต่อ จะให้ญาติกลับบ้านก่อนแล้วให้คุณพ่ออยู่ที่ห้องแยกนี้ถึงเมื่อไร ให้เบอร์ไว้ติดต่อได้อย่างไร" พยาบาลอีกท่านก็บอกว่า "ผลเลือดพบว่า เลือดไม่แข็งตัว ต้องรอจนถึงเที่ยงคืนถึงจะตรวจอีกครั้ง แล้วต้องรอตรวจเชื้อวัณโรค แต่คนไข้ไม่ไอ อาจต้องรอถึง 3 วัน จึงจะทราบผลว่าติดเชื้อหรือไม่"

ผมจึงถามซ้ำเป็นชุดอีกว่า "แล้วจะให้ญาติกลับบ้านก่อนหรือต้องรอถึงเที่ยงคืน ซึ่งก็นอนเฝ้าในห้องแยกนี้ไม่ได้ หรือมาอีกครั้งหนึ่งพรุ่งนี้ เวลาเท่าไร ขอเบอร์ติดต่อด้วย" พยาบาลอีกท่านหนึ่งมาตอบ "จะนำผู้ป่วยกลับบ้านแล้วมาตรวจใหม่พรุ่งนี้ก็ได้ หรือจะให้นอนห้องแยกจนกว่าจะถึงพรุ่งนี้ และจะให้คุณพ่อเก็บเสมหะด้วยตัวเองอย่างไร"

ผมชักไม่แน่ใจว่า "ทำไมแพทย์หรือพยาบาลไม่แนะนำความคิดเห็นที่เหมาะสมเลย ทำไมไม่มีใครคิดว่า น้ำท่วมเส้นทางไกลที่จะมาถึงโรงพยาบาลนี้...แล้วจะพาคนไข้มาได้ง่ายหรือยากลำบากอย่างไร ถ้าไอเป็นเลือดที่บ้าน จะทำอย่างไร ต้องพามานั่งรออยู่ในห้องแยก ถ้าเป็นพ่อของแพทย์หรือพยาบาลเหล่านี้ เค้าจะทำอย่างไรกันแน่ ระบบนี้ไม่ดี แต่ผมคิดไม่ออกว่าจะพาคุณพ่อไปในระบบที่ดีได้อย่างไร"

เวลา 20.15 น.

ดร.ป๊อป ตัดสินใจให้คุณพ่ออยู่ในห้องแยก แล้วจะมาหาในวันรุ่งขึ้นโดยจะนำอาหารเช้ามาให้ แล้วได้พูดคุยกับคุณพ่อจนท่านสบายใจ จากนั้นผมต้องหาซื้อน้ำเปล่าที่ไม่แช่เย็นให้คุณพ่อไว้ทานยา ผมต้องเดินไปไกลนอกโรงพยาบาลกว่าจะซื้อโหลละ 90 บาท (แพงตามสภาวะวิกฤติน้ำท่วม) อุ้มมาแบ่งซัก 3 ขวดไว้ให้คุณพ่อที่ห้องแยกพร้อมบอกลาให้คุณนอนพักผ่อน แล้วแนะนำให้กินยาที่ผมเบิกที่ห้องยา เป็นยาแก้ไข แล้วขอที่เก็บเสมหะว่าไว้ให้คุณพ่อเก็บเสมหะเองด้วย หากมีอะไรก็ให้เรียกพยาบาล

สรุปบทเรียนครั้งนี้ "ผมสงสารระบบการจัดการข้อมูลแบบองค์รวมของทีมฉุกเฉินในโรงพยาบาลแห่งนี้ และคงต้องทำใจเย็นเพื่อยอมรับสภาพ พร้อมค่อยๆ คิดแก้ไขสถานะการณ์ป่วยของคุณพ่อยามน้ำท่วมแบบนี้ต่อไป"   

หมายเลขบันทึก: 468042เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กราบนมัสการและขอบพระคุณท่านพระมหาแล อาสโย ขำสุข

  • น้อง Dr.Pop ขอให้พ่อหายไว
  • ผมเสียพ่อไปด้วยโรคนี้เหมือนกัน
  • พ่อไอเป็นเลือดออกมาตอนตี 3
  • กว่าจะไปถึงมีหมอก็แย่แล้ว

ขอบคุณที่สะท้อนประสบการณ์ให้พวกเราได้เรียนรู้ และตระหนักความสำคัญของการให้ข้อมูลคะ

อีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนา คือการให้ feedback ต่อสถานพยาบาลนั้น

เชื่อว่า..เขาน่าจะรับฟัง อย่างเรื่องการวนมาถามสิทธิประกันสุขภาพ

หากเขาทราบว่ามีการถามซ้ำซ้อน อาจปรับระบบได้ไม่ยากคะ

..

ขอส่งกำลังใจให้คุณพ่ออาจารย์ป๊อปด้วยนะคะ

  • จากการที่ได้อ่านข้อความบรรยาย อย่างละเอียด ชัดเจน ตามลำดับเวลาโดยมีข้อมูลเวลาประกอบ ทำให้ดิฉันมีการรับรู้ในความรู้สึกนึกคิด (Empathy) ของ Dr. Pop เป็นอย่างดี ซึ่งก็ตามมาด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) ค่ะ
  • นอกจากความรวดเร็วในการให้บริการตามสภาพปัญหาและความต้องการ (Need) ของคนไข้แต่ละคน แล้ว การสื่อสารให้คนไข้และญาติคนไข้เข้าใจว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรในแต่ละเรื่อง และจะต้องรอนานแค่ไหนในแต่ละขั้นตอน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และก็มักจะเป็นจุดอ่อนที่ดิฉันพบเห็นบ่อยครั้ง ในการให้บริการทางสาธารณสุขค่ะ
  • ถ้าได้รับบริการที่โรงพยาบาลป่าติ้ว ของ "คุณอุ้มบุญ" คงไม่มีปัญหาเช่นนี้นะคะ
  • มีครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 13 ปีมาแล้ว ดิฉันกำลังทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรม เรื่อง "กลุ่มสัมพันธ์และการทำงานเป็นทีม" ให้กับตำรวจชุดมวลชมสัมพันธ์ ในสังกัดกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 3  (ขออภัยค่ะ ถ้าเรียกชื่อหน่วยงานคลาดเคลื่อน) จำนวน 7 จังหวัดในภาคอีสาน (เป็นวิทยากรหญิงคนเดียว) วันแรกของการอบรมในรุ่นนั้น ดิฉันมีอาการหูอื้อข้างหนึ่ง เลยได้ไปพบหมอที่ คลินิกหู คอจมูก แห่งหนึ่ง หมอได้ตรวจและใช้วัสดุที่มีสำลีพันปลายแหย่เข้าไปในหูข้างที่อื้อ และคว้านไปรอบๆ (ดิฉันรู้สึกเจ็บจนต้องซี้ดปากโดยอัตโนมัติ) เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย หมอก็ไม่ได้ให้คำบอกเล่าใดๆ ดิฉันเลยถามว่าตนเองหูอื้อเพราะอะไร หมอก็บอกสั้นๆ ว่า เพราะมีเชื้อราในรูหู ดิฉันถามต่อว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราในรูหูได้อย่างไร หมอบอกว่า จะไปป้องกันทำไม หูอื้อเมื่อไหร่ก็มาหาหมอแค่นั้นเอง จำได้ว่า ตนเองหัวเราะหึหึ...พออกมาจากคลินิก อาการก็เปลี่ยนจาก "หูอื้อ" ไปเป็น "หูก้อง" ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับหูให้สามารถรับสัมผัสได้เป็นปกติ    
  • ชื่นชมในการดูแลบุพการีเป็นอย่าดีของ Dr.Pop ค่ะ 
  • ภาวนาให้คุณพ่อของ Dr.Pop ได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาลเป็นอย่างดี หายจากอาการเจ็บป่วย และได้กลับบ้านโดยเร็วนะคะ   

ขอบคุณมากครับพี่ อ.ดร.ขจิต คุณหมอ ป. และผศ. วิไล

คุณพ่ออาการดีขึ้นและกลับบ้านแล้วครับ

ขอบคุณมากครับคุณหญ้าและดร. ธวัชชัย

ขอบคุณมากครับ อ.ดร.จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท