ทรัพย์ : เครื่องปลื้มใจ


ถึงแม้ว่าเศรษฐีจะมีจิตใจน้อมไปในการบริโภคใช้สอยแต่น้อยนิด แต่ถ้าวินิจฉัยในหลักพระพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับ “การใช้จ่ายไปในทรัพย์” แล้วจะพึงเห็นได้ว่า ไม่ถูกกับคุณค่าที่วางเป็นหลักใหญ่เอาไว้เพราะไม่เป็นไปในลักษณะของการใช้เพื่อเลี้ยงตนเองรวมถึงครอบครัวและบริวารที่อยู่ในการปกครองของตน (ประโยชน์แห่งโภคะข้อที่ ๑) ให้เกิดความสุขสวัสดี ซึ่งในกรณีของเศรษฐีโกลิยะดังกล่าวถือได้ว่า มีทรัพย์ก็เปล่าประโยชน์และยังมีโทษต่อตัวเอง คือ รู้สึกเสียดายที่จะใช้จ่ายไปได้แต่นั่งมองนอนมองทรัพย์สมบัติที่กองอยู่เต็มบ้านแต่ไม่ได้นำมาเพื่อสร้างความเบิกบานและปลื้มใจให้กับเจ้าของนั้นเลย...

พระอาทิตย์ ลาลับขอบฟ้าเสมือนหนึ่งว่าม่านดำตามธรรมชาติถูกดึงลงมาปกคลุมผืนแผ่นดินเอาไว้ให้ตกอยู่ในความมืดมิดของยามราตรี ณ ที่ห่างไกลจากใจกลางเมืองหลวงกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร ยังมีหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไกลจากความเจริญทางด้านวัตถุและแสง สี เสียง ทำให้ในยามค่ำคืนทั่วทุกอณูของหมู่บ้านตกอยู่ในความเงียบสงบ มีเพียงหรีดหริ่งเรไรที่ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์เสมอมาในการขับกล่อมดนตรีที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งธรรมชาติจนโสตประสาทสัมผัสได้ในความสุนทรี

 

            ในค่ำคืนนี้ที่ราตรีเงียบสงัดพ่อของผมก็ยังคงมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตัวเองอยู่เสมอมาในการเล่านิทานให้ผมฟังเหมือนเช่นดังทุกคืนวันที่ผ่านมา...ก่อนที่พ่อจะเริ่มเล่าท่านได้ถามผมว่า

            “วันนี้ลูกอยากฟังนิทานเรื่องเกี่ยวกับอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า” พ่อถามผมด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนอันเป็นคุณลักษณะประจำตัวของท่าน

            “วันนี้ผมมีเรื่องสงสัยอยากจะถามพ่อบางอย่างครับ” ผมไม่ได้ตอบคำถามพ่อแต่กลับเป็นการตั้งคำถามกลับไปด้วยอารมณ์ที่ไม่สบายใจ ผมสังเกตเห็นพ่อทำหน้าสงสัยอยู่นิดนึงก่อนที่ท่านจะถามขึ้นด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติ

           “ลูกมีเรื่องสงสัยอะไรจะถามพ่องั้นหรือ” ท่านถามด้วยน้ำเสียงที่เจือไปด้วยความรักความเอ็นดูมิมีเสื่อมคลาย

            “วันนี้ผมไปเล่นกับเจ้าแสนมา มันพูดว่าพ่อของมัน (เถ้าแก่สูบ) บอกว่าที่พ่อไม่รวยเหมือนแกเป็นเพราะพ่อเอาแต่ใจดีในเวลาที่มีลูกค้ามาซื้อของ พ่อชอบแถมโน่นแถมนี่ให้คนนั้นทีคนโน้นที แล้วอย่างนี้พ่อจะมีกำไรมาจากไหน” ผมตัดสินใจถามออกไปเพราะได้ยินไอ้แสนมันพูดให้ฟังแถมมันยังพูดให้ผมเจ็บใจว่าทำยังไงผมก็ไม่มีวันมีของเล่นดี ๆ เหมือนกับมัน โดยเฉพาะวันนี้มันเอาหุ่นยนต์ตัวใหม่มาอวดทำให้ผมอยากได้เป็นอย่างมาก

           พูดถึงเจ้าแสนที่เป็นเพื่อนเล่นในกลุ่มของพวกเราแล้ว ถือได้ว่าครอบครัวของมันร่ำรวยเข้าขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐีประจำอำเภอ โดยเถ้าแก่สูบพ่อของมันเป็นเจ้าของโรงสีขนาดใหญ่ในจังหวัดเลยก็ว่าได้ แต่ถึงแม้ว่าแกจะร่ำรวยมากแค่ไหนแต่ก็ถูกชาวบ้านค่อนแคะว่าเป็นคนขี้เหนียวและแล้งน้ำใจ ในขณะที่เจ้าแสนก็มักมีของเล่นอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ มายั่วน้ำลายผมและเพื่อน ๆ ในกลุ่มเสมอ ซึ่งทำให้พวกเราทั้งหมดรู้สึกอิจฉาเจ้าแสนมัน

          เมื่อผมพูดจบพ่อก็หัวเราะก่อนตอบกลับมาว่า

          “พ่อนึกว่าเรื่องอะไร ที่ไหนได้เป็นเรื่องที่ลูกกังวลใจว่าพ่อจะไม่ได้กำไรนี่เอง” พ่อพูดขึ้นอย่างคนอารมณ์ดีในขณะที่ผมยังคงหงุดหงิดในหัวใจ

          “แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่เราจะรวยหละครับพ่อ” ผมพูดขึ้นตามความคิด

          “รวยที่แปลว่าเศรษฐีนั่นหรือลูก” พ่อถามขึ้น

           “ก็ใช่นะสิพ่อ...ผมเห็นใคร ๆ ในหมู่บ้านของเราก็อยากจะรวยเป็นเศรษฐีกันทั้งนั้น” ผมพูดตามที่เคยได้ยินผู้ใหญ่หลาย ๆ คนพูดกัน

            “งั้นดีแล้วหละลูก... ไหน ๆ ลูกก็พูดถึงเรื่องนี้แล้ว พ่อขอถามลูกนิดนึงซิ ‘เศรษฐี’ ในความเข้าใจของลูกเป็นยังไงเหรอ” พ่อถามขึ้นด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

           “ก็เป็นอย่างเถ้าแก่สูบไง” ผมตอบออกไปในทันทีแทบจะไม่ต้องคิด “มีบ้านหลังใหญ่ ๆ มีรถยนต์หลาย ๆ คัน มีเงินมาก ๆ อยากได้อะไรก็ได้” โดยเฉพาะของเล่นแบบเจ้าแสนผมคิดต่อภายในใจแต่ไม่ได้พูดออกไป

            พ่อยิ้มบาง ๆ ก่อนตอบว่า “ที่ลูกเข้าใจก็ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด”

            “ยังไงหรือครับพ่อ” ผมถามขึ้นอย่างกระตือรือร้นกว่าเดิม อันเป็นลักษณะนิสัยที่ใคร่รู้ที่ติดตัวมาเหมือนกับพ่อซึ่งมีหลาย ๆ คนบอกผมอย่างนั้น ซึ่งจุดนี้เองที่พ่อชอบเอามาใช้หลอกล่อในยามที่ผมอารมณ์ไม่ดี โดยการแกล้งพูดในลักษณะที่ค้าง ๆ คา ๆ ให้ชวนสนใจติดตามในตอนต่อไป...ซึ่งมันก็ได้ผลทุกครั้งรวมทั้งครั้งนี้

            “จริง ๆ แล้ว ‘เศรษฐี’ ก็คือ ‘เสฏฐะ (เสด-ถะ)’ ในภาษาบาลีที่แปลว่า “ประเสริฐ” คนที่เป็นผู้ประเสริฐ (เป็นเศรษฐี) จึงต้องมีมากกว่าความร่ำรวย นั่นคือต้องมีความดีกำกับความรวยด้วยเสมอไป” พ่อเริ่มอธิบายก่อนที่จะขยายความต่อว่า

             “ดังนั้นความประเสริฐที่ว่านี้นอกจากรวยแล้วต้องประกอบไปด้วยการไม่เบียดเบียนตัวเอง (ขี้เหนียวตระหนี่เกินไป) และต้องมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น (การให้ทานหรือการช่วยเหลือผู้อื่น)  

             “มีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนอื่นผมพอเข้าใจครับพ่อ แต่ไอ้ที่บอกว่าต้องไม่เบียดเบียนตัวเองผมยังไม่ค่อยเข้าใจครับ” ผมพูดขึ้นตามความรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ
 

          พ่อยิ้มอีกครั้งก่อนพูดขึ้นว่า “การไม่เบียดเบียนตัวเองมันก็เกี่ยวเนื่องในการใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้นั้น โดยสิ่งสำคัญในหลักการทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้พึงเข้าใจและคำนึงไว้เสมอว่า ให้ใช้จ่ายไปในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น หากใช้จ่ายไปในทางที่ไม่มีประโยชน์แล้วการแสวงหาและได้มาแห่งทรัพย์ดังกล่าวก็เปล่าประโยชน์และอาจจะมีโทษ รวมทั้งไม่มีค่าหรือความหมายใด ๆ โดยแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สวัสดีในชีวิตมี ๕ ประการ กล่าวคือ

            ๑. ใช้ทรัพย์ไปในการเลี้ยงตัว เลี้ยงมารดา บุตร ภรรยา รวมทั้งคนที่อยู่ในการปกครองทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี

            ๒. ใช้ทรัพย์ไปในการบำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี

            ๓. ใช้ทรัพย์ไปในการปกป้องรักษาสวัสดิภาพรวมทั้งทำตนให้มั่นคงปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่มี

            ๔. ใช้ทรัพย์ไปในการเพื่อพลี เป็นไปในลักษณะที่จะสละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง

                ๔.๑ ญาติพลี คือ สงเคราะห์ญาติ

                ๔.๒ อติถิพลี คือ ต้อนรับแขก

                ๔.๓ ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญหรืออุทิศส่วนบุญกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

                ๔.๔ ราชพลี คือ การบำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

                ๔.๕ เทวตาพลี (ถวายเทวดา) คือ ทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชาตามความเชื่อถือ

           ๕. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ รวมถึงเหล่าบรรพชิตผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบและผู้ที่ไม่มีความประมาทมัวเมาทั้งหลาย”

           พ่ออธิบายในขณะที่ผมยังคงงง ๆ พ่อจึงเอามือจับที่ศีรษะของผมและเขย่าเบา ๆ ก่อนพูดต่อว่า “ที่พ่ออธิบายให้ฟังซะยืดยาวในตอนนี้ ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ แต่เมื่อลูกเติบใหญ่ลูกก็จะเริ่มข้าใจได้แจ่มแจ้งและแทงตลอด แต่ที่พ่อพูดให้ฟังก่อนก็เพื่อให้ลูกได้ยินและทำความคุ้นเคยในเบื้องแรกก่อนเท่านั้นเอง ซึ่งลูกอาจจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไรเอาไว้ลูกจะค่อย ๆ เรียนรู้ไปเองในอนาคต” พ่อพูดตัดบทก่อนที่จะต่อด้วยหมัดเด็ดเมื่อเห็นผมยังคงง ๆ อยู่ “แล้วตอนนี้อยากฟังนิทานหรือยังหละ” ซึ่งผมก็พยักหน้าด้วยความเต็มใจ

 

           เรื่องที่พ่อเล่านั้นเป็นไปในทำนองที่ว่าการมีทรัพย์เพื่อเป็นเครื่องปลื้มใจหากไม่รู้จักใช้จ่ายในทรัพย์นั้น ความปลื้มใจอันที่คิดว่าแน่แท้ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ระทมขมขื่นใจ ดังในเรื่องที่เคยเกิดขึ้นสมัยพุทธกาลที่ท่านเล่าไว้โดยมีเนื้อหาสาระสอนใจดังนี้ :

 

***กิระดังได้ฟังมาความว่าไว้ ในสมัยพุทธกาลเนิ่นนานมามีนิคมหนึ่งที่ชื่อว่า “สักกระ” มีระยะทางไม่ห่างไกลจากกรุงราชขคฤห์มากนัก ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของเศรษฐีใหญ่นามว่า “โกสิยะ” เป็นที่เล่าลือกล่าวขานกันว่าท่านมีทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) แต่มิพึงต้องการใช้ประโยชน์ใด ๆ ในทรัพย์นั้นเพื่อไปสงเคราะห์ผูใดหรือแม้กระทั่งตัวเอง!

          อยู่มาวันหนึ่งซึ่งเศรษฐีโกสิยะได้ไปเข้าเฝ้าพระราชา ตอนกลับมาจากเข้าเฝ้าระหว่างทางเขาได้พบกับชาวบ้านที่ยากจนคนหนึ่งซึ่งกำลังนั่งกินขนมเบื้องด้วยท่าทางเอร็ดอร่อย ชะลอยเพราะมีความหิวที่บังคับบีบคั้นเริ่มปะทุขึ้นมาทำให้เศรษฐีโกสิยะนึกอยากกินขึ้นมาบ้าง แต่ด้วยความที่มีนิสัยไปในทางตระหนี่จึงคิดหาวิธีที่จะกินขนมเบื่อง (ราคาแสนถูก) นั้นตลอดเส้นทางกลับบ้าน แต่นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกเพราะหากจะบอกกับภรรยาว่าอยากกิน ก็เกรงว่าหากได้ยินถึงหูคนอื่นภายในบ้านทุกคนก็จะมีความต้องการเหมือนตนจึงยอมอดทนอดกลั้นต่อความหิวนั้นไว้ อันความทุกข์ใดไหนเล่าจะยิ่งใหญ่เท่ากับกับความทุกข์ใจที่ไม่ได้รับสนองตอบต่อความต้องการ (กิน) ของตน เมื่อจนด้วยปัญญาเพราะว่ากลัวจะเสียทรัพย์ จึงก้มหน้ารับเอาความเศร้าเก็บไว้ในใจเพียงลำพัง จนทำให้ร่างกายผ่ายผอมและทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงไป

        ฝ่ายภรรยาของเศรษฐีโกสิยะเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีเมื่อเห็นสามีของตนหน้าตาหม่นหมอง รวมทั้งร่างกายผ่ายผอมลงนับตั้งแต่วันที่กลับมาจากเข้าเฝ้าพระราชา ดูเหมือนกับว่าสามีกำลังกลุ้มใจในอะไรบางอย่างจึงเลียบเคียงถามว่า

         “ท่านเป็นอะไร หรือว่ามีเรื่องไม่สบายใจหรือเปล่า?”

          โกสิยะเศรษฐีผู้เป็นสามีส่ายหน้าด้วยท่าทีที่เหนื่อยล้า

          “หรือว่าพระราชาทรงกริ้วท่านหรือ?” ผู้เป็นภรรยายังคงคะยั้น

          “ไม่ใช่อย่างนั้น” ผู้เป็นสามีตอบออกไปในที่สุด

          “ถ้ายังงั้น มีใครทำให้ท่านไม่สบายใจหรือเปล่า?” ฝ่ายภรรยายังคงรบเร้าถามต่อ

         “ไม่มี!” ท่านเศรษฐีย้ำอย่างหนักแน่น แต่ในใจข้างในสุดแสนจะทรมาน

         “ถ้ายังงั้น เป็นเพราะอาหารไม่ถูกปากหรือว่าท่านอยากจะทานอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?” ถามต่อเพราะเห็นร่างกายของสามีที่ผ่ายผอมลงโดยคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ไม่เจริญอาหาร ซึ่งก็เข้ากับความต้องการที่มีของเศรษฐีพอดี...แต่เมื่อเขาฉุกคิดดูอีกทีเพราะกลัวเสียทรัพย์จึงได้แต่ทำหน้าบอกบุญไม่รับดังเดิมและไม่ได้กล่าวอะไรออกมา ภรรยาจึงรบเร้าหนักขึ้น ในขณะที่เศรษฐีโกสิยะกลืนน้ำลายลงคอที่แห้งผากด้วยความยากลำบากก่อนที่จะหลุดปากออกมาว่า

         “ใช่! ฉันต้องการทานอะไรบางอย่าง”

        ภรรยาได้ฟังถึงกับอ้าปากค้างด้วยความแปลกใจแต่ก็รู้สึกผ่อนคลาย เพราะเคยคิดว่าคงมีเรื่องคอขาดบาดตายอะไรที่ทำให้สามีเป็นทุกข์ใจได้ถึงเพียงนี้ แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นเรื่องเล็ก (สำหรับเธอ) นิดเดียวเท่านั้นเอง

 “แล้วท่านอยากทานอะไรหรือคะ” ภรรยาถามขึ้นในทันใดเพื่อที่จะได้จัดหามาให้สามีสุดที่รัก

 “ฉันอยากกินขนมเบื้อง” เขาพูดออกมาเบา ๆ พร้อมกับเหลียวซ้ายแลขวาเพราะกลัวว่าจะมีใครมาได้ยิน ฝ่ายภรรยาเมื่อได้ฟังดังว่าและเห็นกิริยาอาการก็อดที่จะขบขันไม่ได้จึงแสร้งเบือนหน้าไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาของสามีไปได้

            “ขำอะไรนักหนา!”

          ภรรยาจึงหยุดและพูดขึ้นว่า “ท่านฝืนทนอยู่ทำไมจนทำให้ร่างกายผ่ายผอม หากแค่ยอมบอกออกมาว่าอยากทานขนมเบื้องเพียงเท่านั้นก็สิ้นเรื่อง ดีเหมือนกันจะได้ทำเลี้ยงคนจนทั้งเมืองไปด้วยพร้อมเลย” ภรรยาเอ่ยขึ้นด้วยความที่เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี

       แต่ท่านเศรษฐีถึงกับตกใจเลยสวนขึ้นในทันใด “อย่าว่าถึงคนจนทั้งเมืองเลยแม้แต่ทุกคนภายในบ้านฉันก็ไม่ต้องการให้ทานด้วย ฉันต้องการทานเพียงลำพังแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น!”

      ครั้นภรรยารับคำที่จะทำขนมเบื้องให้เพียงพอเฉพาะสามีที่รับประทานเพียงคนเดียวแล้ว เศรษฐีโกลิยะก็ยังอุตส่าห์วางเงื่อนไขไว้ให้เอาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวสาร น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้งและเนยใสโดยที่ให้ใช้ในปริมาณน้อย ๆ เท่านั้นโดยเฉพาะข้าวสารก็ให้เอาข้าวสารอย่างเลวคือแบบหัก ๆ หรือป่น ๆ ไปทำเท่านั้น...

 

         โดยในท้ายที่สุดพ่อก็สรุปให้ฟังว่า “นี่คือเนื้อเรื่องบางส่วนในสมัยพุทธกาลที่พ่อต้องการหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการใช้ไปในทรัพย์ ซึ่งจากนิทานจะเห็นได้ว่าท่านเศรษฐีโกสิยะถึงแม้ว่าจะเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์มากมายกว่า ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) แต่ก็ยอมอดทนอดกลั้นต่อความอยาก (กินขนมเบื้อง) จนทำให้ตัวเองลำบากทุกข์ใจและทุกข์กาย (ผ่ายผอม) ด้วยความตระหนี่ที่เกินพอดี

 

         ถึงแม้ว่าเศรษฐีจะมีจิตใจน้อมไปในการบริโภคใช้สอยแต่น้อยนิด แต่ถ้าวินิจฉัยในหลักพระพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับ “การใช้จ่ายไปในทรัพย์” แล้วจะพึงเห็นได้ว่า ไม่ถูกกับคุณค่าที่วางเป็นหลักใหญ่เอาไว้เพราะไม่เป็นไปในลักษณะของการใช้เพื่อเลี้ยงตนเองรวมถึงครอบครัวและบริวารที่อยู่ในการปกครองของตน (ประโยชน์แห่งโภคะข้อที่ ๑) ให้เกิดความสุขสวัสดี ซึ่งในกรณีของเศรษฐีโกลิยะดังกล่าวถือได้ว่า มีทรัพย์ก็เปล่าประโยชน์และยังมีโทษต่อตัวเอง คือ รู้สึกเสียดายที่จะใช้จ่ายไปได้แต่นั่งมองนอนมองทรัพย์สมบัติที่กองอยู่เต็มบ้านแต่ไม่ได้นำมาเพื่อสร้างความเบิกบานและปลื้มใจให้กับเจ้าของนั้นเลย...

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 467569เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท