ชีวิตที่พอเพียง : 1427. ทำไมน้ำไม่ท่วมอำเภอปากเกร็ด


คำตอบคือเพราะชุมชนเข้มแข็ง และเทศบาลนครปากเกร็ดก็เข้มแข็งด้วย มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สู้เต็มที่ มีการวางเวรยามคอยเฝ้าตลอด ๒๔ ชั่วโมง เมื่อพนังรั่ว (ผมไม่ชอบคำว่าแตก เพราะมันให้ความรู้สึกว่า หมดหวังเยียวยา) ก็รีบช่วยกันซ่อมทันที และมีอาสาสมัครชาวบ้านมาช่วยกันบรรจุทรายลงถุงตลอดคืน

ชีวิตที่พอเพียง  : 1427. ทำไมน้ำไม่ท่วมอำเภอปากเกร็ด

เว็บไซต์ของ นสพ. บางกอกโพสต์ ลงบทความนี้ในวันที่ ๑ พ.ย. ๕๔ เป็นข้อมูลตอบคำถามนี้ได้อย่างดี   คำตอบคือเพราะชุมชนเข้มแข็ง และเทศบาลนครปากเกร็ดก็เข้มแข็งด้วย  มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน   สู้เต็มที่ มีการวางเวรยามคอยเฝ้าตลอด ๒๔ ชั่วโมง   เมื่อพนังรั่ว (ผมไม่ชอบคำว่าแตก เพราะมันให้ความรู้สึกว่า หมดหวังเยียวยา) ก็รีบช่วยกันซ่อมทันที   และมีอาสาสมัครชาวบ้านมาช่วยกันบรรจุทรายลงถุงตลอดคืน    มิน่า ผมไปดูตอนเช้ามืดรู้สึกว่าถุงทรายเพิ่มขึ้นมาก

วันนี้มีโอกาสคุยกับคุณสมชายเพื่อนบ้านติดกัน   คุณสมชายอยู่ที่ปากเกร็ดมานาน รู้จักคนกว้างขวาง และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมที่ช่วยกันป้องกันปากเกร็ดไว้ได้   ท่านบอกว่าข้อโชคดีคือมีดินสำหรับเอามาถมทำ พนังกั้นน้ำอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องไปซื้อไกล   คือจากสถานที่ก่อสร้าง ขส. ทบ. ใกล้วัดสลักเหนือตรงริมน้ำเจ้าพระยา นั่นเอง

นอกจากนั้น ชุมชนที่นี่มีประสบการณ์สู้กับน้ำตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๙   และเข้มแข็งขึ้นมากในปีนี้ รวมทั้งทางเทศบาลมีเครื่องกลหนักอย่างดี   และตอนนี้การสื่อสารก็สะดวก ไม่ต้องขี่รถมาตามตัว    “เลขา” บอกว่าการประชาสัมพันธ์ให้ข่าวของทางเทศบาลก็ดีมาก   ให้ข่าวตรงความเป็นจริง

เมื่อวาน “เลขา” ไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ได้รูปและคำอธิบายว่าน้ำมันมากแค่ไหน และทหารทำงานช่วยเหลือชาวบ้านอย่างน่าชื่นชมเพียงไร   ดูได้ที่นี่ 

อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ไปประชุมคณะกรรมการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลกับผมที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ในเช้าวันที่ ๒๘ ต.ค.  บ่ายกลับคอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เพราะน้ำท่วมสูง    หลบไปนอนกับเพื่อน   รุ่งขึ้นเช้าขับรถ CRV เสี่ยงลุยกลับ   รถจึงจมน้ำต้องลงเดินลุยน้ำกลับคอนโด   และให้บริษัทฮอนด้าไปลากรถ ในอีก ๒ วันต่อมา    ยังมีใจส่งลิ้งค์รูปน้ำท่วมสวยๆ มาให้ ดูได้ที่นี่   เป็นบริเวณพาต้าปิ่นเกล้า     และรูปก็สื่อความ น่าชื่นชมทหารที่ไปช่วยเหลือชาวบ้านอย่างมีน้ำใจ   ผมชอบรูปชายหนุ่มแต่งตัวดีหน้าตายิ้มแย้มที่หอบถุงอาหาร ลุยน้ำกลับบ้าน   หลังจากไปทำงานตามปกติตลอดวัน    คนที่มีสติมั่นคงเช่นนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลของคน โดยรอบได้มาก

บ่ายวันที่ ๑ พ.ย. ทราบข่าวว่า ม. มหิดล ศาลายาป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยได้   นี่ก็เหมือนกัน รอดเพราะความเข้มแข็งทั้งป้องกันตนเองและช่วยเหลือชาวบ้าน   รวมทั้งทำอาหารกล่องส่ง ไปช่วยเหลือคนน้ำท่วมวันละ ๕,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ กล่อง    แม่กองงานนี้คือ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดี    

ค่ำวันที่ ๑ พ.ย. เว็บไซต์ของ บางกอกโพสต์ ลงข่าวสรุปเหตุการณ์ดังนี้   และที่นี่

ข่าวจากปลาวาฬที่นี่

เช้ามืดวันที่ ๒ พ.ย.​ ผมขับรถขึ้นทางด่วนไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไปบรรยายที่เชียงใหม่    วันนี้ทางไปที่จอดรถชั้น ๕ ปิด   เจ้าหน้าที่บอกว่าให้ไปเข้าที่ชั้น ๑ แล้ววนขึ้นไปหาที่จอด   ซึ่งจริงๆ แล้วมีรถ มาจอดเต็มหมด รวมทั้งจอดปะหน้า ซ้ายขวา ๒ แถวด้วย   ผมไปได้ที่จอดปะหน้าเหมือนกันที่ชั้น 4 แถว D   ความรู้สึกที่เกิดคือทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่มาจัดระเบียบการจอดรถ   คำตอบอาจอยู่ตอนขาออก ผมเตรียมเงิน ไปจ่ายอย่างเคย   เจ้าหน้าที่บอกว่า “จอดฟรีค่ะ”

เมื่อเครื่องบินการบินไทยบินขึ้นผมก็นึกขึ้นได้ว่าลืมเอากล้องถ่ายรูปมา    มีแต่ iPhone พอแก้ขัด   บริเวณโดยรอบสนามบินแห้งสนิท   แต่พอบินขึ้นเหนือมาหน่อยเดียว คงจะแถวปทุมฯ ก็เริ่มเห็นน้ำท่วม   เหนือขึ้นมาอีกมีแต่น้ำ มีบ้านเป็นเหมือนเกาะกลางน้ำเป็นหย่อมๆ    บ้านเหล่านี้คงจะท่วมมาเป็นเดือนแล้ว      

ผมชอบบทบรรณาธิการเรื่อง No to Obama’s pharma in Asia ที่แสดงว่า ปธน. โอบามา ทนแรงบีบ ของบริษัทยาอเมริกันไม่ไหว    ต้องเปลี่ยนท่าทีหันมาปกป้องธุรกิจยาของตน   โดยที่ท่าทีแรงยิ่งกว่าสมัย ปธน. บุชผู้ลูกเสียอีก    

เย็นวันที่ ๒ พ.ย. หลังกลับจากเชียงใหม่ ผมใช้เวลาขับรถจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับบ้านเกือบ ๔ ชั่วโมง  ตั้งแต่ ๑๖.๓๐ น. ถึงเกือบ ๒๐.๓๐ น.    รถเคลื่อนตัวทีละ ๑ - ๓ ช่วงตัวรถแล้วหยุดนานตั้งแต่ช่วงก่อนถึง ด่านเก็บเงินด่านแรก จนเมื่อผ่านทางออกงามวงศ์วานรถจึงแล่นได้คล่องตัว    ยังดีที่เมื่อรถเริ่มติดก็มีป้ายไฟฟ้าบอก ว่ารถจะติดเช่นนี้จนถึงทางลงงามวงศ์วาน

นสพ. Wall Street Journal เมื่อ ๒ พ.ย. ลงบทความวิจารณ์น้ำท่วมประเทศไทยที่นี่    เป็นวาทกรรมที่ผม คิดว่าเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว    ไทยเราควรคิดรอบคอบรอบด้านกว่าที่เขาเขียน   แต่ที่เขาเขียนก็ เป็นข้อเตือนสติที่ดี   ซึ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งคือค่าแรงในบ้านเราต่ำเกินไป    ผมได้ยินผู้ว่าการธนาคารแห่ง ประเทศไทย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวในงานของธนาคารไทยพาณิชย์ว่า ในช่วงเวลา ๓๐ ปี real wage ของแรงงานไทยลดลง ๑๐%    โปรดสังเกตว่าผู้เขียนบทความนี้เป็นคนไทย   

วันที่ ๒ พ.ย. เช่นเดียวกัน ผมได้รับแจ้งแถลงการณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ว่าได้เตรียมพร้อมรับ สถานการณ์น้ำท่วมไว้อย่างดี ดังข่าวนี้ 

เช้าวันที่ ๓ พ.ย. เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ลงข่าวว่าเมื่อคืนมีคนไปทำลายคันกั้นน้ำคลองประปาอีกแล้ว ที่นี่  และมติชนลงข่าวที่นี่    และข่าวที่ให้รายละเอียดของการต่อสู้ป้องกันน้ำท่วมส่วนสำคัญของกรุงเทพคือข่าวนี้   เห็นได้ชัดเจนว่าตอน วันที่ ๓ พ.ย. ยังเป็นช่วงที่น้ำคืบคลานเข้ากรุงชั้นใน เช่นข่าวนี้ และข่าวนี้    สถานที่ที่น้ำท่วม เต็มพื้นที่ ๑๐๐% แล้วเกิดความสะเทือนใจผู้คนคือ สนามบินดอนเมือง  กองทัพอากาศ  และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน

บ่ายผมขับรถไปรับสาวน้อยที่สนามบินสุวรรณภูมิ    พอออกจากด่านจ่ายเงินรถก็เริ่มติด แต่ยังพอเคลื่อนตัวไปทีละน้อย ดีกว่าเมื่อคืนตอนกลับจากสนามบิน    ฟังวิทยุ จส. ๑๐๐ จึงทราบว่ารถติดเพราะปฏิบัติการย้ายรถที่หนีน้ำขึ้นมาจอดบนทางด่วน แบบจอดซ้อนคัน    พอเลยทางลงพระราม ๖ รถก็วิ่งคล่อง

ที่จอดรถของสนามบินวันนี้โกลาหลยิ่งกว่าเมื่อวาน   หาทางเข้าที่จอดไม่ได้ ผมต้องวน ๓ รอบจึงหาที่จอดได้ริมถนน แล้วเดินทะลุที่จอดรถชั้น ๕ ไปรอรับสาวน้อย   สภาพของการจอดรถที่สนามบินนี้ สะท้อนความไร้ความสามารถในการจัดการของการท่าอากาศยาน   ซึ่งผมยังเห็นอีกหลายจุดที่การท่าฯ น่าจะปรับปรุงได้   เพื่อให้ท่าอากาศยานเป็นหน้าตาของประเทศ    ไม่ปล่อยให้ไร้ระเบียบในหลากหลายจุด  

เช้าวันที่ ๔ พ.ย. เข้าเว็บ นสพ. ต่างๆ เห็นว่าน้ำรุกล้อมกระชับพื้นที่กรุงเทพส่วนในเข้ามาเรื่อยๆ    มีบางข่าวว่าท่วมหมด แต่เพียง ๑๐ - ๒๐​ ซ.ม.   ข่าวที่ผมชอบคือของบริษัททีมที่นี่   ดูแผนที่น้ำท่วมวันที่ ๒ พ.ย. ได้ที่นี่        

วิทยุจุฬาบอกว่าน้ำเข้ามาถึงห้าแยกลาดพร้าวตรงวิภาวดีแล้ว   คือน้ำลามเข้ากรุงเข้ามาเรื่อยๆ   และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินรัชดาต้องเตรียมป้องกัน    และเมื่อฟังข่าว ๗ น. ของวิทยุแห่งประเทศไทยผมก็ขัดใจ ว่าทำไมวิทยุของราชการจึงออกข่าวที่ดูถูกความสามารถของคนไทยถึงเพียงนี้   จากข่าวคุณภาพน้ำประปา ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสวิตเซอร์แลนด์มาตรวจ และรับรองว่าคุณภาพดี   เรื่องง่ายๆ แค่นี้ต้องไปเชิญเขามาจาก สวิสเชียวหรือ   ใช้เงินไปเท่าไร   หรือเป็นเพราะคิดว่าคนไทยเชื่อฝรั่งมากกว่า    นี่คือสิ่งที่เราควรขจัดไป หากจะพัฒนาความเข้มแข็งของสังคมไทย 

ดูจากแผนที่ดาวเทียมใน Facebook นี้ เห็นชัดว่าภาคกลางน้ำท่วมเป็นพื้นที่กว้างเหลือกรุงเทพส่วนใน อยู่นิดเดียว    และเห็นการทำงานโดยไม่หาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วย EM ที่ , ,   รวมทั้งข่าวนายกฯ จะเอาก้อน EM ใส่บาตรพระ    ผมจึงส่ง อีเมล์ เสนอความเห็นต่อทั้ง ผอ. สวทช. และอธิการบดี ม. มหิดล ให้รีบเผยแพร่ความรู้เรื่องจุลินทรีย์ Bacillus บำบัดน้ำเสีย ที่นักวิจัยของ ม. มหิดลค้นพบ และจะร่วมกับ สวทช. ผลิตในปริมาณมากเพื่อแจกจ่ายแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในช่วงน้ำลด   วันที่ ๕ พ.ย. ปลัดฯ ทส. ออกมาโต้ดังข่าวนี้   และกลายเป็นวิวาทะในสื่อมวลชนในวันที่ ๖ พ.ย.

ตอน ๙ น. เศษ สาวน้อยชวนไปดูน้ำที่วัดบางพัง    พบว่าระดับน้ำลดลงไปประมาณ ๑ ฟุตแล้ว    ผมได้ไปทำบุญทอดกฐินด้วย 

เช้าวันที่ ๕ พ.ย. น้ำที่เอ่อเข้ากรุงเทพชั้นในยังคงคืบหน้าและสูงขึ้น    พร้อมกับภาพความขัดแย้ง ในสังคม ดังข่าว , , ,  เพราะการแก้หรือป้องกันปัญหาให้แก่ส่วนหนึ่งของเมือง  คนอีกส่วนหนึ่งก็ ต้องรับเคราะห์กรรมเพิ่มหรือนานขึ้น    หรือเพราะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อหาเสียง    หรือเพราะภาครัฐ ที่รับผิดชอบไม่สื่อสารกับชาวบ้านแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่เคารพชาวบ้าน    ชาวบ้านจึงเกิดความไม่เชื่อถือ ไว้วางใจและต่อต้านการตัดสินใจของภาครัฐ    

สรุปว่าในวันที่ ๕ พ.ย. น้ำยังคงคืบคลานเข้ากรุงเทพชั้นใน   ห้าแยกลาดพร้าวน้ำเต็มแล้ว   กำลังไป สุทธิสาร   และสามเหลี่ยมดินแดงก็เสี่ยงมาก   แม้ว่าการวาง “บิ๊กแบ็ก” ๖ ก.ม. กั้นไม่ให้น้ำเหนือไหลบ่าเข้ากรุง จะเสร็จแล้วตอนเที่ยงวันนี้   แต่น้ำบนถนนวิภาวดีและพหลโยธินก็ยังไม่ลดตามคำบอกของนักวิชาการและ ศปภ.   และเริ่มมีข่าวใหม่ว่าถนนพระราม ๒ อาจถูกน้ำท่วมภายใน ๒ วัน   เป็นการยอมให้น้ำผ่านไปลงทะเลโดยเร็ว ดังข่าวนี้   และวันนี้ถนนลาดพร้าวตั้งแต่ซอย ๑ ถึงซอย ๔๓ ปิดการจราจรแล้วดังข่าวนี้

กฟผ. แถลงข่าวมีข้อมูลประกอบอย่างเป็นวิชาการน่าเชื่อถือ ว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีส่วน ทำให้น้ำท่วมหรือไม่   แถลงมา ๒ - ๓ วันแล้ว เอามาเก็บไว้อ้างอิงที่นี่  

เช้าวันที่ ๖ พ.ย. น้ำยังคงคืบคลานเข้ากรุงชั้นในอย่างช้าๆ    ทาง ศปภ. เตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง โดยบอกว่าน้ำจะไม่สูง    ในขณะที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากเกร็ดลดลงอีก อยู่ที่ ๒.๙  

เห็นได้ชัดว่าทาง ศปภ. ดำเนินการผิดพลาด เอาใจใส่ชาวบ้านที่โดนน้ำท่วมมานานน้อยเกินไป   เช่นที่ ลำลูกกา จนชาวบ้านรวมตัวกันหาทางช่วยตัวเองโดยการไม่ร่วมมือกับการจัดการผันน้ำที่เขาคิดว่าไม่เอื้อเฟื้อต่อ พวกเขา ดังข่าวนี้ และข่าวประชาชนในสถานที่อื่นด้วย  

ตกเย็น ศปภ. ออกทีวีบอกว่า บิ๊กแบ็ก ได้ผล กันน้ำไหลเข้ากรุงเทพได้ส่วนหนึ่งจริง 

เช้าวันที่ ๗ พ.ย. น้ำยังคงคืบคลานเข้ากรุงเทพชั้นใน    รูปและคำอธิบายที่ดีที่สุดคือของ อ. ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่นี่ 

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 467445เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 05:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 03:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท