แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของนักปราชญ์กรีก : เฮซิออด (Hesiod)


อาจจะกล่าวได้ว่าแนวความคิดเชิงปรัชญาหรือภูมิปัญญาที่มีมาในแต่ละยุคสมัย ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางด้านศาสตร์แขนงต่าง ๆ ทั้งด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับภูมิปัญญาของตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก แม้ว่าหลักปรัชญาเหล่านั้นจะไม่ได้มุ่งเน้นไปทางด้านใดด้านหนึ่งของศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่การสะท้อนออกมาของแนวทางความคิดนั้นก็มีผลคลอบคุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งแน่นอนที่สุดศาสตร์ทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ของตะวันตกหรือศาสตร์ของตะวันออกล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของแหล่งที่มาและภูมิศาสตร์นั้น ๆ อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในกระบวนการทางความคิด แต่ที่สำคัญสุดคือเป็นแหล่งเพาะความรู้และช่วยต่อยอดทางพัฒนาการด้านความคิดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ปรัชญาหรือภูมิปัญญาที่สะท้อนออกมาเป็นศาสตร์หลาย ๆ แขนงย่อมมีปัจจัยพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม วีถีชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสะท้อนออกมาทางความคิดจึงแตกต่างกันหรือแม้แต่ปรัชญาที่มาจากภูมิภาคเดียวกันยังมีความแตกต่างกันทางกระบวนการทางความคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอิสรภาพทางความคิด และสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจหรือมุมมองที่แตกต่างออกไป ซึ่งท้ายที่สุดของความเห็นที่แตกต่างกันนี้มักจะนำไปสู่กระบวนการการพัฒนาศาสตร์ต่อไปเรื่อย ๆ เสมอ

          แนวความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ของตะวันตกถูกยกให้เป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจจะมีบางช่วงที่ตกต่ำหรือถูกโจมตีบ้างแต่ท้ายที่สุดก็ยังเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศที่ยึดหลักหรือแนวทางการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเรื่อยมาและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าแนวความคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีความชัดเจนตามหลักตรรกะทางคณิตศาสตร์สามารถจับต้องได้และเห็นภาพได้ชัดเจน เพราะถ้านักเศรษฐศาสตร์ทุกคนเห็นตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจแล้วก็จะสามารถวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจและแนวโน้มของเศรษฐกิจในอนาคตโดยอาศัยสมติฐานและทฤษฎีต่าง ๆ มารองรับได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าแนวความคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีจุดแข็งตรงที่มีความชัดเจทางตรรกะคล้ายกับหลักการทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งกล่าวได้ว่าแนวความคิดเชิงปรัชญาที่สะท้อนออกมาตั้งแต่ในอดีตมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน

 

             วิชาเศรษฐศาสตร์ในยุคของกรีกนั้นมีชื่อว่า การบริหารจัดการครัวเรือน (oikonomia) หรืออาจจะเรียกว่าการจัดการเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งจะต่างกับการบริหารรัฐ (polis) นักคิดที่มีผลงานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของกรีกคือ

เฮซิออด (Hesiod : ศตวรรษที่ ๘ ก่อนคริสตกาล) ถือได้ว่าเป็นนักคิดที่มีผลงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ของกรีกเป็นคนแรกที่มีการบันทึกไว้ โดยที่เฮซิออดเป็นกวีที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นและใช้ผลงานกวีผสานกับดนตรีเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาแก่ผู้คน ในบรรดาคำกลอน ๘๒๘ บทของเขา มีอยู่ถึง ๓๘๓ บทว่าด้วยปัญหาเศรษฐกิจของความจำกัดของทรัพยากรที่จะต้องนำมาบำบัดความต้องการของมนุษย์ที่หลากหลายและไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฮซิออดได้เปรียบ “ยุคทอง” ของมนุษย์เหมือนกับแดนสวรรค์ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ปรารถนาอย่างไม่จำกัด ไม่มีปัญหาขาดแคลน เนื่องจากไม่ว่าจะคิดอย่างใดก็จะได้อย่างใจปรารถนาทันที เพราะมนุษย์ถูกขับไล่จากสวรรค์ ความขาดแคลนจึงเข้ามาเยือนแทนที่ คนจะต้องทำงานหนักโดยไม่ได้พักผ่อนทั้งวัน และเสี่ยงต่อการหมดลมหายใจในตอนกลางคืน เนื่องจากว่าเฮซิออดมีชีวิตอยู่ในชุมชนเกษตรขนาดเล็ก เขาจึงมีความคุ้นเคยกับสภาพความขาดแคลนเป็นอย่างดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งแรงงาน วัตถุดิบ และเวลาจึงต้องถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความขาดแคลนดังกล่าวได้รับการแก้ไขเพียงบางส่วน ด้วยการทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับการใช้ทุน แรงงาน งานเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากมนุษย์จะต้องสนองความจำเป็นในชีวิต ประกอบกับสังคมไม่ยกย่องความเกียจคร้าน และที่สำคัญคือการพยายามที่จะเลียนแบบพฤติกรรมการบริโภคของผู้อื่น ความพยายามดังกล่าวมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเอาอย่างและแข่งขัน ซึ่งเฮซิออดเรียกว่า “ความขัดแย้งที่ดี” (good conflict) อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาเบื้องต้นของการขาดแคลน และเพื่อให้การบริโภคเป็นไปอย่างยุติธรรมและราบรื่น จะต้องขจัดการได้มาของทรัพย์ที่ไม่ถูกวิธี การขโมย หรือแย่งชิง ส่งเสริมให้มีกติกาและเคารพความเป็นธรรม เพื่อสร้างกติกาและความสงบเรียบร้อยในสังคมจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อาจกล่าวได้ว่า เฮซิออดเห็นด้วยกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เน้นคุณค่าแรงงานและการแข่งขัน

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เฮซิออด (Hesiod)
หมายเลขบันทึก: 467442เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถึงยามค่ำน้ำกระฉอกระลอกคลื่น

สะดุ้งตื่นเหว่ว้าน้ำตาไหล

ในคืนเปลี่ยวเดี๋ยวนี้ไม่มีใคร

แฝงพิษภัยไร้หวังให้กังวล

 

ขอบคุณมากครับ คุณโสภณ เปียสนิท และ ดร.ภิญโญ  ที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ

ผู้สนใจประวัติศาสตร์

ผมอยากทราบว่าทำไมเฮซิออดถึงอยากแบ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ออกเป็น5แบบ แล้วแต่ละแบบมันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง รบกวนถ้ารู้ข้อมูลช่วยแจ้งทีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท