๒๑๐.ข้อเท็จ-จริง : รูปแบบและสารัตถะในเทศกาลกฐินทาน


หลายๆครั้ง ที่ผิดหลักการ และการแย้งในที่สาธารณะก็ไม่สะดวก หรืออีกประการหนึ่ง หากเราเข้าใจสมมุตแล้ว ก็จะพึงเข้าใจเองว่า สรรพสิ่งย่อมเป็นสมมุตสัจจะ กล่าวคือสมมุตว่าเป็นความจริงอย่างหรือ?

    

     วานนี้ (๒๘ ตุลา ๕๔) มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นเจ้าภาพทอดถวายพระกฐินพระราชทาน ณ วัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งมีบุคลากรมหาวิทยาลัยเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี ได้ปัจจัยทั้งหมด ๑,๑๑๙,๑๖๙ บาท

 

     วันนี้ (๒๙ ตุลา ๕๔) ผู้เขียนได้รับนิมนต์ให้ไปนำกล่าวถวายผ้ากฐิน โดยเจ้าภาพหลักคือ ผศ.คะนอง วังฝายแก้ว หัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ มจร.พะเยา ทอดถวาย ณ วัดป่าตุ้ม อำเภอเมืองพะเยา

 

     วัดแรก เป็นกฐินพระราชทาน หรือกฐินหลวง ผู้เขียนอยู่ในฐานะผู้รับ

     วัดที่สอง เป็นกฐินสามัคคี หรือกฐินราษฎร์ ผู้เขียนอยู่ในฐานะผู้ถวาย

     การทำบุญทั้งสองวัดนี้ มีเนื้อหาที่คล้าย ๆ กัน แต่พิธีการที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม กฐิน เป็น กาลทาน คือการถวายในสมัย หรือ กาละ หรือ เขตที่กำหนด เท่านั้น ไม่เหมือนการถวายทานทั่วไป ซึ่งการทำบุญในลักษณะนี้ มีอานิสงส์ทั้งปฏิคาหก(คนรับ)และทายก (คนถวาย)

 

     กล่าวคือ ปฏิคาหก/คนรับ(พระสงฆ์) จะมีอานิสงส์ ๕ ประการ ได้แก่

๑) ไปไหนไม่ต้องบอกลา (เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย)

๒) อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ (ผ้ครองทั้ง ๓ ผืน)

๓) ฉันเป็นหมู่คณะได้

๔) เก็บอติเรกจีวรได้ตามใจปรารถนา คือการเก็บจีวรสำรองไว้ได้ให้เหมาะสมแก่สมณะภาวะ

๕) จีวรลาภเกิดขึ้นในอาวาสใด ก็เป็นสิทธิ์ของภิกษุในอาวาสนั้น

 

     ส่วนทายก/คนถวาย (ชาวบ้านหรือพระสงฆ์นำไปถวายก็ได้) จะมีอานิสงส์ ที่ได้อะไรได้ดังใจคิด ด้วยระยะเวลาที่ต้องการ

 

    จากการสัมผัสกิจกรรมหรือพิธีทอดกฐินหลาย ๆ งานที่ผ่านมา ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ได้กระบวนคิด ดังนี้

     กฐิน เป็นรูปแบบหนึ่งทางประชาธิปไตย ที่พระจำนวน ๕ รูปขึ้นไปจำพรรษาครบไตรมาสในอาวาสนั้นๆ โดยเปรียบผ้ากฐินที่ทายกนำมาถวายเป็นของบริสุทธิ์ดุจล่องลอยในอากาศ ไม่เป็นของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นของสงฆ์ทั้งหมด

 

     ดังนั้น จึงมีผู้เสนอ/อุปโลกน์ขึ้นมาว่า สงฆ์จะพร้อมใจกันทำกฐินหรือไม่? พระโดยมากจะรับว่า "สาธุ" แปลว่าดีแล้วละ หรือ พร้อมแล้วครับ จากนั้นพระอีกรูปหนึ่งก็จะเสนอว่าควรมอบให้ใครดี (โดยมากเป็นเจ้าอาวาส)และเว้นระยะเพื่อให้มีการคัดค้าน แต่เมื่อไม่มีใครคัดค้านก็จะให้รับสาธุ

 

     ประเด็นแรกคือ รูปแบบนั้นเป็นเหมือนประชาธิปไตย แต่เวลาปฏิบัติเหมือนภาวะจำยอม คือสงฆ์ในที่ประชุมจะรับพร้อมกันว่าสาธุพร้อมกัน ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องยอมมากกว่า เนื่องด้วยวัฒนธรรมไทย ที่ให้ความเคารพแก่พระเถระ หรือผู้บังคับบัญชา โดยไม่ได้พิจารณาร่วมกันอย่างจริงจังว่าใครที่สมควรได้รับ เช่น ใครมีผ้าที่ขาด เก่า สภาพใช้ไม่ได้ มีความจำเป็นในการใช้มากกว่า ฯลฯ

     ประเด็นที่สองคือ ประเด็นข้อเท็จจริง ตามพุทธบัญญัติระบุว่าในอาวาสหนึ่ง ๆ ต้องมีพระภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป และต้องอยู่ครบไตรมาส คือจำพรรษาครบ ๓ เดือน ภิกษุทั้งห้าจะต้องไม่ขาดพรรษาด้วย จึงจะรับกฐินได้ แต่หากไม่ครบ จะนำพระมาจากวัดอื่นได้หรือไม่? ประเด็นนี้คือไม่ได้แน่นอน เนื่องจากไม่ครบหลักเกณฑ์ของกฐิน จึงมีผลเป็นแค่ผ้าป่าเท่านั้น

 

     ประเด็นหลังนี้ เมื่อชาวบ้านเรียกว่ากฐิน เพราะอยู่ในช่วงเวลาและมีการประกาศว่าเป็นกฐิน แต่หากนำเอาหลักการของพุทธบัญญัตมาจับแล้ว เทศกาลกฐินที่เกิดขึ้นและนิยมกันโดยทั่วไป จะเป็นกฐินเทียมทันที นี้คือข้อเท็จจริง ดังนั้น ข้อเท็จที่มาร่วมกับข้อจริง  เมื่อโยมบอกว่านี้คือกฐิน แต่ผู้เขียนเรียกผ้าป่า

     อย่างไรก็ตามในเมื่อประชาชนเรียกกฐิน ในประเด็นนี้ต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ผ่านวันเวลาไปเท่านั้น

 

     ยิ่งร้ายไปกว่านั้น การจัดขบวนไปทอดจุลกฐิน ซึ่งบางวัดรับกฐิน ๒ ครั้ง อันนี้ก็ผิดหลักการของพุทธบัญญัติเช่นกัน เพราะในความเป็นจริง วัดหนึ่ง ๆ จะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวในรอบ ๑ ปี หรือหลังพรรษาในปีนั้น ๆ

 

     หลายๆครั้ง ที่ผิดหลักการ และการแย้งในที่สาธารณะก็ไม่สะดวก หรืออีกประการหนึ่ง หากเราเข้าใจสมมุตแล้ว ก็จะพึงเข้าใจเองว่า สรรพสิ่งย่อมเป็นสมมุตสัจจะ กล่าวคือสมมุตว่าเป็นความจริงอย่างหรือ?

 

     พระและโยมส่วนมาก จะอนุโลมโดยเข้าใจว่า การทำบุญจะเป็นกฐินหรือผ้าป่า ก็คือการสร้างบุญเหมือนกัน ไม่ต้องเรื่องมากอะไร?...

     ประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดอยู่ ๒ แบบ คือเมื่อมนุษย์เป็นพุทธบัณญัตติ และกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมา ก็ควรจะ...

     ๑.หากพระธรรมวินัยเปรียบเหมือนรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นพุทธบัญญัติเหล่าสาวกก็ควรจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้น ๆ เสีย เพื่อไม่ให้เสียหลักการที่วางเอาไว้

     ๒.หากคิดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สอดรับกับสถานการณ์ ก็ควรจะยกเลิกเสีย เพื่อไม่ให้ผิดพุทธบัญญัติ

 

.....หรือผู้รู้เห็นเป็นประการใดบ้าง?.....

  

   

หมายเลขบันทึก: 466557เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2011 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

ทุกครั้งที่ไปถึงจ.พะเยา จะไปกราบนมัสการพระเจ้าตนหลวงเป็นอันดับแรกค่ะ

ถึงแม้น้ำจะท่วม แต่ยอดกฐินก็ยังงามนะเจ๊า

  • นมัสการท่าน
  • สบายดีไหมครับ
  • ทางมหาจุฬาฯที่วังน้อย
  • แย่เลยครับ

เจริญพรคุณโยมเอื้องแซะ ที่แวะมาทักทาย

คำว่า กฐิน มีความหมายหลายประการ เช่น หมายถืงสิ่งของ-ผ้าไตร, หมายถึงกริยา -ที่ทอดถวาย, หมายถึงสังฆกรรม-สงฆ์สวดกฐิน ฯลฯ แต่ปัจจุบัน(ทั้งพระทั้งโยม)มักจะหมายถึง ปัจจัย (เงิน) ที่ได้รับ -อันนี้แปลกมาก

เจริญพรอาจารย์ขจิต อาตมาสบายดี? แต่ภาระมีมากไปหน่อย

ตอนที่ท่านอาจารย์กับคุณกล้วยไข่ ไปช่วยอบรมการเขียนบันทึก น้ำยังไม่ท่วม

ปัจจุบัน (๘ พฤศจิกา ๕๔) มหาวิทยาลัยฯ วังน้อย ยังอยู่ในช่วงปิดอยู่เลย ถ้าน้ำไม่ขัง ก็ปิดซ่อมแซมกันยกใหญ่

สรรพสิ่งล้วนอนิจจัง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท