หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : ค่อยเป็นค่อยไป ...จากบ้านสู่โรงเรียน..พี่นำร่อง น้องทำตาม (สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์)


รุ่นพี่ก็จัดระบบแบบแผนการทำงานอีกรอบ ครั้งนี้แทนที่จะกลับไปสู่ชุมชนในฐานะลูกฮักเหมือนที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับพ่วงพาเอาน้องใหม่ไปฝากตัวเป็นลูกฮักเพิ่มเติมแบบยกใหญ่ พร้อมๆ กับการส่งพันธกิจทางใจสู่รุ่นน้องให้ “สานต่อ”

(๑)

วันสองวันที่ผ่านมา มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานกับอาจารย์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับโครงการ  "มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน หรือ “หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน” ที่ผมนำร่องไปร่วมปี


อาจารย์ท่านนั้น  มีความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผมขับเคลื่อนเป็นอย่างมาก  ท่านเข้าใจเจตนารมณ์ที่ผมคิดและอยากจะทำเพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน)  โดยมีนิสิตเป็น “สะพานใจ” เชื่อมร้อยเข้าหากัน  ภายใต้กิจกรรมหลักคือการฝากตัวเป็น ลูกฮัก   การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ทำค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ ผสมผสานไปกับการบริการวิชาการสู่สังคม

 

นอกจากนั้นท่านยังเห็นด้วยกับมิติของความมุ่งมั่นที่จะเสริมพลังให้ “ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย” เป็นเสมือนสถานีชีวิต หรือ “ห้องเรียน” อีกห้องหนึ่งที่นิสิต หรือแม้แต่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปเรียนรู้และร่วมผนึกกำลังให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและลุกขึ้นมาขับเคลื่อนตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี  ทั้งจากพลังภายในของชุมชนและการสนธิพลังร่วมกับภาคีภายนอก

 

และนั่นยังรวมถึงกระบวนการของการปลูกฝังให้นิสิต หรือแม้แต่คนในชุมชนได้ตั้งคำถามเรื่อง “สำนึกรักษ์บ้านเกิด” ไปพร้อมๆ กัน  เฉกเช่นกับการซ่อนนัยสำคัญของการจะสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำนิสิตในสังกัดสโมสรนิสิตคณะต่างๆ นั้น  มีทักษะการทำกิจกรรมเพื่อบริการสังคมซักกี่มากน้อย  เพราะความจริงที่เห็นเด่นชัดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ องค์กรแทบนิ่งงันอยู่กับกิจกรรมประเพณีนิยมในระบบเท่านั้น  น้อยนักที่จะมีกิจกรรมที่มุ่งสู่การเรียนรู้และให้บริการแก่สังคมอย่างที่ผมกำลังขาย “ไอเดีย” (ความฝัน)

 

 

 

 (๒)

 

การพูดคุยกันในครั้งนั้น  หลักๆ ผมยืนยันหนักแน่นว่ากระบวนคิดที่มีขึ้น  ผมใช้เวลาขบคิดมาร่วมสิบปี  วันเวลาเปลี่ยนผ่านรุดเร็วแค่ไหน  ผมก็ไม่เคยละวางไปจากจุดยืนทางความคิด  และที่สำคัญ, ผมเปิดเปลือยให้อาจารย์ท่านนั้นฟังในทำนองว่า “..ปลายทางแห่งความฝันที่ว่านี้  ผมปรารถนาเห็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้จับมือกันสร้างระบบ หรือวัฒนธรรม “ลูกบุญธรรม” หรือหอพักแบบ “โฮมสเตย์”  ด้วยซ้ำไป...”

 

 

 

ครับ-นั่นเป็นความฝันที่ผมเฝ้าฝันและปรารถนาเรื่อยมา   กระทั่งสบโอกาสก็ผุดโครงการ “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” (๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน) ขึ้นมา  โดยรู้และตระหนักล่วงหน้าแล้วว่าการงานในครั้งนี้จะหนักหน่วง แสนสาหัสอย่างมหาศาล  เพราะมันมีรายละเอียดปลีกย่อยซ้อนทับอยู่เยอะแยะไปหมด  บางอย่างมองเห็นเด่นชัด สามารถแก้ไขได้  แต่ผมก็จำต้องกัดฟันที่จะไม่ผลีผลาม หรือรุกร้อนเข้าไปสะสางและนำพาได้ด้วยตัวเองเสียทั้งหมด  ไม่ใช่ละเลย เพิกเฉย หากแต่เป็นความพยายามที่จะเปิดพื้นที่ให้ “คนหน้างาน” ที่หมายถึงนิสิตและทีมงานจากคณะได้ทำงานร่วมกัน  หรือแม้แต่ได้สนธิพลังกับชุมชนเพื่อถอดรหัสนั้นร่วมกันให้ได้มากที่สุด 

  

ส่วนประเด็นปัญหาที่ยังมองไม่เห็น  ผมจะพยายามไม่นำมากดทับตัวเองจนเกิดความขลาดกลัวที่จะเริ่มต้น  เพราะโดยส่วนตัว  ผมเชื่อและศรัทธาต่อกระบวนการ “ทำไป เรียนรู้ไป”  หากหัวสมองเต็มไปด้วยความวิตกและหวาดหวั่นต่ออุปสรรคที่ซุกตัวอยู่บนทางสายไกลของวันข้างหน้า  ย่อมไม่มีทางที่จะเริ่มต้นอะไรได้  ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ลังเลที่จะเริ่มต้นกับความฝันของตัวเอง  ซึ่งหมายถึง “เริ่มลงมือทำ และเริ่มเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ”

 
 

 

(๓)

 

การพูดคุยดังกล่าว  ผมพยายามสื่อให้อาจารย์ได้เห็นภาพความคิดว่าไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจากหาย  แต่ผมพยายามสร้างกระบวนการทางความคิดให้นิสิตขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชนของพ่อฮักแม่ฮักอย่างต่อเนื่อง...(ไม่อัดแน่น แต่ให้เคลื่อนตัวไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ แต่สม่ำเสมอ...)

 

กระบวนการเช่นนั้น  ทั้งผมและทีมงานพยายามจัดวางกิจกรรมอื่นๆ เสริมเข้าหนุนเป็นระยะๆ  ขณะที่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความคิดของนิสิตและชาวบ้านโดยที่ผมและทีมงานไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรูปแบบ หรือทิศทางใดๆ ดังจะเห็นได้จากการไปต่อยอด “พันธกิจทางใจ” ในวาระต่างๆ เช่น  ดำนา เกี่ยวข้าว  ช่วยงานกฐิน  ช่วยงานแต่ง  ทอดผ้าป่า ปลูกกระท่อมท้ายทุ่ง  ตรวจสุขภาพ  สอนการบ้านและการวาดภาพ  ถวายเทียนพรรษา  สอนดนตรีและกีฬา รณรงค์การเลือกตั้ง  ฟังเทศน์  ร้องสรภัญญะ  สู้ภัยน้ำท่วม  ฯลฯ

 

 

(๔)

 

กรณีบ้านหัวหนอง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแนวคิดดังกล่าว  โดยมีสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบต่อกระบวนการของการเป็น “ลูกฮัก” 

เบื้องต้นชาวบ้านแจ้งความประสงค์ที่จะให้นิสิตเข้าไปช่วยเหลือเกี่ยวกับการซ่อมแซมศูนย์ข้อมูลชุมชนในศาลาประชาคม หรือ “ศาลากลางบ้าน”  ซึ่งสร้างไว้ร่วมสิบปี  แต่ปัจจุบันเริ่มทรุดโทรมไปตามห้วงเวลา หรือแม้แต่เสื่อมทรุดไปเพราะแรงเฉื่อยภายในของผู้คนก็เป็นได้เช่นกัน  แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆ ที่ผมเก็บงำไว้เงียบๆ คนเดียวเรื่อยมา  โดยไม่ถือเป็นประเด็นของการต้องทำให้กิจกรรมต้องชะงักงัน  เพราะยังไงเสีย ผมก็ยังยืนยันว่าการงานในระยะเริ่มต้นนั้นต้องเอา “ความต้องการ” ของชุมชนเป็น “โจทย์” แห่งการเรียนรู้...
 


ผมค่อนข้างอุ่นใจกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น  เพราะอย่างน้อยที่สุดการซ่อมแซมศูนย์ข้อมูลที่ว่านั้นจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้นิสิตได้ลงพื้นและมีเวลามากพอกับการเรียนรู้ชุมชนผ่านการสำรวจข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้าน 

โดยส่วนตัวผมมองว่าการสำรวจที่ว่านั้นจะเป็นกระบวนการอันสำคัญที่ทำให้นิสิตได้ลงสู่ชุมชนอย่างจริงๆ จังๆ  และมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านแบบชิดใกล้และเป็นกันเอง  หากโชคดีอาจทะลุสู่การเรียนรู้เรื่องราวในเชิง “มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน”  ไปในตัว  ส่วนข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ ย่อมถูกแปรรูปเป็นสื่อมอบให้กับชุมชน  เพื่อจัดแสดงไว้ในศาลาประชาคมหลังเล็กๆ หลังนั้น

 

 

ผมอุ่นใจในกระบวนการที่ว่านั้นอย่างมหาศาล  เพราะอย่างน้อยก็เห็นการคิดเชิงระบบของนิสิตและชาวบ้าน  เพราะแทนที่จะทำเฉพาะเรื่อง “ข้อมูลทั่วไป” หรือ “ข้อมูลพื้นฐาน” ของหมู่บ้านเท่านั้น  แต่ยังขยายงานไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ ไปในตัวอย่างไม่รีรอ 

การขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ นั้นมีหลายกิจกรรมที่เห็นเป็นรูปธรรม  เช่น  จัดตกแต่งสวนหย่อมบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ทาสีกระถางผักสวนครัว เรียนรู้กระบวนการเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่จากปราชญ์ชาวบ้าน  มิหนำซ้ำยังทะลุไปสู่การเรียนรู้ในโรงเรียนของชุมชน (โรงเรียนบ้านหนองขามหัวหนองสามัคคี) อย่างเสร็จสรรพ 

 

 

(๕)

 

แต่ถึงอย่างไรก็ดี  นอกเหนือจากผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ในรูปกิจกรรมภาคสนามเหล่านั้น  ผมก็ยังอุ่นใจและสุขใจกับกระบวนการบางอย่างที่นิสิตพยายามขับเคลื่อนขึ้น  นั่นก็คือการวางแผนการทำงานเป็นห้วงๆ ...

 

 

การทำงานเป็นห้วงๆ ที่ว่านั้นก็คือในระยะต้นเป็นการทำงานของนิสิตรุ่นพี่ทั้งสิ้น  แกนนำในสโมสรนิสิตได้ลงพื้นที่พบปะเก็บข้อมูลอันเป็นความต้องการของชุมชน  จากนั้นก็ออกแบบกระบวนการเพื่อไปให้ถึงความต้องการของชุมชน  โดยมีชุมชนเป็นกลไกภายในของการขับเคลื่อนทั้งปวง จวบจนกิจกรรมในชุมชนยืนระยะได้บ้างแล้ว  ก็เปลี่ยนทิศไปสู่สถานศึกษาในชุมชนนั้นๆ ... 

เช่นเดียวกับการทิ้งระยะห่าง  คล้ายกับจะประเมินให้ชุมชนได้ทบทวนตัวเองว่า  “ในฐานะของการเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น มีการตระหนักต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกี่มากน้อย  และมีการขยับเพื่อต่อยอดสิ่งเหล่านั้นเช่นใดบ้าง...”

 

ครับ-การทิ้งระยะห่างเช่นนั้น  ผมมองว่าสำคัญมาก  เพราะมันคือภาพสะท้อนของนิยามแห่งการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่นิสิตและชาวบ้านต้องตระหนักไว้อย่างหนักแน่น  เพราะกระบวนการที่ว่านั้นคือรากฐานอันแท้จริงของการสร้างความ "เข้มแข็ง-มั่นยืน" ของชุมชน

 

และยิ่งไปกว่านั้น  เมื่อถึงคราเปิดภาคเรียนต้น ๑/๒๕๕๔  นิสิตรุ่นพี่ก็จัดระบบแบบแผนการทำงานอีกรอบ  ครั้งนี้แทนที่จะกลับไปสู่ชุมชนในฐานะลูกฮักเหมือนที่ผ่านมา  ตรงกันข้ามกับพ่วงพาเอาน้องใหม่ไปฝากตัวเป็นลูกฮักเพิ่มเติมแบบยกใหญ่  พร้อมๆ กับการส่งพันธกิจทางใจสู่รุ่นน้องให้ “สานต่อ”  สู่การเรียนรู้และบริการสังคมในแบบที่ถนัด เช่น  ทำความสะอาด ปรับภูมิทัศน์  จัดทำสื่อ  จัดบอร์ด  ทาสีกระถางพืชผัก  ทางสีกำแพงโรงเรียนและห้องเรียน  เป็นต้น

 

 

และนี่คือภาพสะท้อนเล็กๆ ของความสำเร็จที่เกิดจากเวที ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านที่ผมเป็นเพียง “คนขายไอเดีย” ที่เฝ้ามองและอดทนต่อการให้ “คนทำงาน”  ซึ่งหมายถึงนิสิตและชาวบ้านได้เพียรพยายามทำทุกอย่างร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดยไม่จำเป็นต้องติดยึดอยู่ที่ผมเพียงคนเดียว 

ครับ, สำหรับผมแล้ว  ผมถือว่านี่คือความสำเร็จเล็กๆ ในระยะต้นที่ดู “เรียบง่ายแต่งดงาม”  ในเส้นทางของกิจกรรมนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน)  และความสำเร็จที่ว่านี้  ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับกระบวนการ หรือความสำเร็จจากโครงการใหญ่ๆ ที่ลงทุนไปอย่างมหาศาล...

เพราะนี่คือวิถีของนิสิต 
นี่คือวิถีกิจกรรมแห่งการเรียนรู้ที่นิสิตพยายามรังสรรค์ควบคู่ไปกับการบริการสังคมเท่าที่ศักยภาพของเขาพึงกระทำได้

ครับ,ทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไป...
ทำได้แบบ "พี่นำร่อง..น้องทำตาม"

 

...

๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน
ณ บ้านหัวหนอง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
โดย สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม
งบประมาณดำเนินการ ๓๐,๐๐๐ บาท

 

 

หมายเลขบันทึก: 466505เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2011 02:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อรุณสวัสดิ์รับรู้ด้วยความสดชื่นสุขใจกับการปลูกจิตสำนึกดีๆให้แก่เยาวชนรักษ์ท้องถิ่นเช่นนี้ค่ะ การเริ่มต้นที่ดีทั้งแนวคิดและการลงมือปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดัน และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ย่อมจะสร้างรากฐานที่ยั่งยืนสืบต่อไปนะคะ ขอสนับสนุนแบบอย่างดีๆเช่นนี้ค่ะ

เยี่ยมมากๆครับ เรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองทำ ย่อมเป็นคำตอบในใจสำหรับทุกๆคนครับ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ไม่ว่าในเวทีใดก็ตาม  ผมพยายามบอกเล่าให้เข้าใจว่ากิจกรรมที่นิสิตจัดขึ้นนั้น มีพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  รูปแบบของค่ายต่างๆ ไม่จำเป็นต้องฝังตัวอยู่หลายวัน ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยตรง แต่สามารถทำในแบบบูรณาการได้  และที่สำคัญก็คือนิสิตสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในภาคสนามได้เป็นอย่างดี  เป็นเสมือนเครื่องมือในการนำพาไปสู่การเรียนรู้  ถึงแม้กระบวนการ หรือเครื่องมือที่นำไปใช้จะไม่ถึงระดับการบริการวิชาการแก่สังคมของนักวิชาการ หรือนักวิจัยก็ตาม  แต่นั่นก็ถือว่าในเนื้อหาและกระบวนการ หรือแม้แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาก็เป็นความสำเร็จในมุมของนิสิตที่เราต้องทำความเข้าใจ-ชื่นชมและยกย่องอย่างต่อเนื่อง  เพราะหากทำได้มันจะกลายเป็นพลังที่มีตัวตนและเป็นรูปธรรม มีมาตรฐานขึ้นเรื่อยๆ...

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ คุณPeter p

ทำเอง..เรียนรู้เอง...รู้และตระหนักเอง  ผมถือว่าเป็นหัวใจของการเรียนรู้...
ในเรื่องเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างลงมือปฏิบัติสู่เป้าหมายเดียวกัน แต่อาจมีวิธีการต่างกัน ได้ปลายทางอันหมายถึงเป้าหมายเดียวกันก็จริง  แต่ในบริบทย่อยที่เกิดขึ้นระหว่างการขับเคลื่อน หรือเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น  ผมเชื่อว่าแต่ละคนจะได้มุมมอง เกร็ดความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งเหมือนและต่าง...

สำคัญอยู่ที่ว่า เสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว  จะมีเวทีให้แต่ละคนนำสิ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกี่มากน้อยเท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

ขอชื่นชมและขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

  • ถ้าอาจารย์แม่เป็นคณบดีหรือรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ. อุบลฯ จะนำบันทึกเรื่องนี้ไปเป็นกรณีศึกษาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคณะกรรมการสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์
  • จะลองปริ๊นท์บันทึกนี้ไปฝากน้องที่เป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะครุฯ ไม่ทราบว่าน้องจะอ่านไหม ก็คงทำได้แค่นี้ ค่ะ

สวัสดีครับ คุณอักขณิช

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
เสียดายที่สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ยังไม่สามารถปรับแต่งกิจกรรมไปสู่การสอนหนังสือเด็กในหมู่บ้านได้  ซึ่งคาดว่าสักระยะอาจผุดแนวคิดนี้ขึ้นมาได้เอง  เพราะถ้าทำได้ก็ไม่น่าจะหนักหน่วงอะไร เนื่องจากนิสิตมีทักษะวิชาชีพในทำนองนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

สวัสดีครับ อ.แม่ (ผศ. วิไล แพงศรี)

แปลกแต่ก็จริงนะครับ ในวันที่เขียนบันทึกนี้เสร็จสิ้นลง  ผมนึกถึงอาจารย์แม่มากเลย คิดในใจว่าท่านจะแวะมาอ่านเรื่องราวที่ผมเขียนหรือเปล่า  และนั่นก็คือความมหัศจรรย์ของกระแสจิตกระมังครับอาจารย์แม่ฯ กลับมาเยี่ยมเยียนอย่างน่าทึ่ง

ตอนนี้ผมกำลังหาวิธีผนวกกิจกรรมเหล่านี้ลงในวิชาเรียน โดยเฉพาะวิชา "พัฒนานิสิต" (ศึกษาทั่วไป) ที่ผมรับผิดชอบอยู่  และอีกไม่นานนี้ก็จะพานิสิตกลับไปจัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูเรื่องกฐินโบราณ  ซึ่งผมเองก็เพิ่งกลับจากประชุมชาวบ้านมา  ชาวบ้านตื่นตัวกันมาก พรุ่งนี้แกนนำนิสิตจะลงประสานงานและหารือกับชาวบ้านกันอีกรอบ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท