คิดเรื่องงาน (72) : ดูตัวเรา เมื่อเขามาเยือน


ผมไม่ใช่เป็นคนหัวสมัยใหม่เสียทั้งหมด ผมยังให้ความสำคัญกับการพูดคุย บรรยายและเสวนา เพราะนั่นคือสิ่งที่มีชีวิต จริงใจ...เปิดเปลือย แต่การนำเอาสื่อ หรือนวัตกรรมมาใช้นั้น น่าจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างพลังของการเรียนรู้ในเวทีนั้นๆ

       (๑)

ในรอบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าต้นสังกัดที่ผมทำงานมีหน่วยงานเข้ามาศึกษาอยู่งาน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันค่อนข้างมาก เฉลี่ยเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย

       กรณีดังกล่าว  ผมเคยได้ฝากให้ทีมงานได้คิดและค้นหาคำตอบเป็นการภายในเองว่าปรากฏการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  เกิดขึ้นเพราะการสร้างภาพ หรือเกิดขึ้นเพราะคุณภาพ

       แต่ที่แน่ๆ ผมไม่เคยจัดสัมมนาว่าด้วยการประกันคุณภาพให้แก่ผู้นำนิสิตโดยตรง  หรือที่แน่ๆ ผมไม่เคยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการเขียนโครงการ หรือการบริหารโครงการแบบชัดแจ้งใดๆ ให้กับเด็ก และนั่นก็ไม่เคยกำหนดวาระบรรยายให้ความรู้เรื่อง PDCA อย่างเป็นรูปธรรมสักครั้ง

       ทั้งปวงนั้น  ผมพยายามขับเคลื่อนกระบวนการทุกกระบวนการอย่างเนียนๆ ผ่านกลไกของการจัดการความรู้  (Knowledge Management) เป็นที่ตั้ง  รวมถึงเน้นกระบวนการทำไปเรียนรู้ไป (Learning by Doing) โดยพยายามสร้างผลผลิตจากการทำไปเรียนรู้ไปให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด  ด้วยการผุดโปรเจค "นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส" มาเป็นตัวรองรับ
      หลายสถาบันถามผมแบบตรงไปตรงมาประมาณว่า "ทำไมไม่มีกิจกรรมที่ว่าด้วยเรื่องประกันคุณภาพ,PDCA โดยตรง"
      ผมตอบแบบรวมๆ ในสไตล์ที่ถนัดแบบเปิดเปลือยในทำนองว่า "ผมไม่อยากตีกรอบอะไรมาก  ไม่อยากทำกิจกรรมในแบบวิชาการ หรือ "ตัวชี้วัด" มากจนจินตนาการหดหาย การไม่สร้างเวทีเหล่านั้นโดยตรง ก็ไม่ได้หมายถึงการละเลย เพิกเฉยต่อการให้ความรู้ภาคทฤษฎีต่อนิสิต..."

      ครับ, ผมพูด หรือคิดเช่นนั้น  เพราะผมได้วิเคราะห์แล้วว่านิสิตล้วนมี "ทุน" ในเรื่องเหล่านั้นอยู่บ้างแล้ว  จึงพยายามปล่อยให้เขาทำงานไปตามสไตล์ของเขา  เพียงแต่เราเข้าไปเน้นในช่วงปฏิบัติการ และถอดบทเรียนอย่างจริงๆ จังๆ  โดยบทเรียนที่ได้ก็พยายามสร้างสรรค์ให้มีชีวิตชีวา สามารถแตะต้องสัมผัสได้ และที่สำคัญก็คือมีพลังต่อการนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกัน

 

(๒)

 

ย้อนกลับมามายังประเด็นการศึกษาดูงานอีกครั้ง

       ในทุกครั้งของการรับแขกบ้านแขกเมือง  ผมมักกระตุ้นให้ทีมงานคิดกันเองว่านอกจาก "มันสมองหรือความรู้" ที่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง...
       โดยส่วนตัวผมไม่ชอบการนั่งโต๊ะบรรยาย พูดสดๆ ไม่มีสื่อ หรือนวัตกรรมใดๆ ให้ดูชม  เพราะบางทีเล่าหรือบรรยายยืดยาดก็ชวนหลับ  บางทีคนพูดก็ไม่ใช่ "ปัญญาปฏิบัติ"  เพราะไม่ "ลึก" พอกับสิ่งที่พูด  ยิ่งพูดยิ่งออกทะเล หรือไม่ก็เป็นประเภท "น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง"

       ดังนั้น  ผมจึงพยายามกระตุ้นให้นำสื่อสำเร็จรูปมาทำหน้าที่ร่วมกับการบรรยายเปิดหัวเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมอ ...นอกจากนั้น ยังพยายามให้นำเอา "สื่อ นวัตกรรม หรืองานสร้างสรรค์" ที่ได้ผลิตออกมาได้เผยแพร่ให้มากที่สุด  เพราะนั่นคือผลงานเชิงประจักษ์ที่สามารถนำพาไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันได้
       มิหนำซ้ำยังถือกลับไปศึกษาต่อได้ด้วยตนเองอีกต่างหาก...
       แน่นอนครับ  ข้อดีในประเด็นนี้ ผมมองว่ามันคือภาพสะท้อนของ "พัฒนาการ" บางอย่างของเราเอง 
       ทั้งนี้ขอยืนยันว่าผมไม่ใช่เป็นคนหัวสมัยใหม่เสียทั้งหมด ผมยังให้ความสำคัญกับการพูดคุย บรรยายและเสวนา เพราะนั่นคือสิ่งที่มีชีวิต จริงใจ...เปิดเปลือย  แต่การนำเอาสื่อ หรือนวัตกรรมมาใช้นั้น น่าจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างพลังของการเรียนรู้ในเวทีนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
       และที่สำคัญก็คือ สื่อ หรือนวัตกรรมที่ว่านั้น คือกระจกที่ส่องสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรของเรามีสถานะทางศักยภาพในระดับใดกันแน่!

 

(๓)

 

       การพูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี...
       นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก  และถือเป็นหัวใจหลักของการนำเสนอต่อแขกผู้มาเยือน
       ประเด็นดังกล่าว  ผมมีความหมายในสองมุม (๑) พูดความจริงในสิ่งที่ทำ ทั้งจุดเด่นอันเป็นความสำเร็จ และจุดเด่นที่ข้ามพ้นอุปสรรค หรือแม้แต่จุดด้อยที่เป็นหลุมดำที่เราข้ามยังไม่พ้น  (๒)  ให้คนทำงานจริงเป็นคนที่พูดความจริง  หรือให้พระเอก นางเอกตัวจริงเป็นผู้มีบทบาทในเวทีนั้นๆ

       ในประเด็นที่สองนั้น  บ่อยครั้งผมมักถูกมองว่า "ลอยตัว" จากเวที
       แต่ในความเป็นจริง  ผมก็อยากอธิบายเหมือนกันว่า  นั่นคือระบบการสร้าง "ผู้นำ" ในวิถีของผม  ใครทำจริงก็ควรได้รับการหยัดยืนและเผยแพร่สิ่งนั้นด้วยตนเอง  เพราะหลายเรื่องผมก็ไม่ใช่ "ปัญญาปฏิบัติ"  คนชัดเจนและลุ่มลึกที่สุดก็คือ "คนที่ทำ" เรื่องนั้นๆ ต่างหาก 
       ครับ, ผมอาจจะมองกว้าง...แต่ในความลึกของการมองนั้น ต้องยกให้พระเอกและนางเอกตัวจริง เสียงจริงเป็นผู้นำเสนอ...

        ถ้าใครไม่ใช่คนทำจริง แล้วยังพูดพร่ำเรื่อยไปราวกับทำเองนั้น  ผมถือว่า "สร้างภาพ" !
        หรือแม้แต่คนที่ทำเรื่องนั้นๆ มาโดยตลอด แต่พูดและนำเสนอไม่ได้ ก็ต้องถามกลับไปยังตัวเขาเองว่า "มีความรู้ใดบ้างในตัวตนของเขา"...
        ครับ, มันเป็นทั้งความรู้ที่ว่าด้วยประสบการณ์ทางการทำงาน และความรู้ที่ว่าด้วยทักษะของการนำเสนอเป็นสำคัญ
       
        นั่นคือมุมมอง และวิธีการของผม-
        นั่นคือสิ่งที่ผมตระหนักในยามที่มีคนมาดูงาน  ซึ่งหมายถึงเราก็ต้องดูงาน อันหมายถึง "ดูตัวเอง" ไปในตัวด้วยเหมือนกัน
        ถ้าไม่มีคนมาดูงาน เราก็อาจจะนิ่งๆ อยู่กับงานที่ทำ แต่เมื่อใดมีคนขยับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเรา นั่นก็คือการกระตุ้นให้เราได้ "ทบทวนตัวเอง" หรือ "ดูตัวเอง"  เพื่อที่จะแต่งองค์ทรงเครื่องให้เหมาะกับการรับผู้มาเยือน...

 

(๔)

         วันนี้
        
ถึงแม้จะยังมีการบรรยายให้ความรู้แบบดั้งเดิมอยู่บ้าง  แต่ผมก็ไม่ได้ผิดหวังกับระบบคิด (กระบวนทัศน์) เช่นนั้น  ใครถนัดอะไร ก็ปล่อยไปตามวิถีนั้นๆ...
         ส่วนผมเอง ก็ยังใช้ระบบของการบรรยาย บอกเล่าเรื่องราว ปลุกพลังผสมผสานไปกับการสร้างพื้นที่ให้ สื่อ หรือนวัตกรรม หรือแม้แต่งานสร้างสรรค์ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่
         และที่แน่ๆ สิ่งที่ผลิตเป็นรูปธรรมนั้น ได้กลายเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้มาเยือนอย่างภาคภูมิ..(แล้ว)

 

หมายเลขบันทึก: 466443เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2011 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

พี่ชื่นชมวิธีการทั้งปวงเหล่านี้ที่ได้นำมาแบ่งปันค่ะ..

..แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไม่เคร่งครัดกับรูปแบบและทฤษฎีที่ยุ่งยากซับซ้อน..

..ไม่ใช้คำใหญ่ๆที่ยากต่อการเข้าใจ..และกลัวที่จะสัมผัส..เพราะหาทางออกไม่พบ

.. มุ่งเน้นรูปธรรมที่ปฏิบัติและเข้าถึงได้ง่าย ไม่สร้างความต่างระดับในปัญญา

.. ทำให้ดูอยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่างแห่งแรงบันดาลใจ

สวัสดีครับ อ.โสภณ เปียสนิท

วันนี้น้ำท่วมทั่วไทยจริงๆ..
แต่ก็ดีหน่อย ที่น้ำใจของคนไทยไม่เหือดแห้งไปจากกันและกัน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ

บันทึกนี้เขียนขึ้นสดๆ ได้แรงบันดาลใจจากการมาดูงานของสถาบันแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้  ซึ่งผมไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการ  แต่เห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่อดที่จะทบทวนในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้

พอเสร็จสิ้นการศึกษาดูงาน ก็นำบันทึกนี้มาเสวนากับนิสิต ได้ทั้งรอยยิ้ม เสียงฮา และบางสิ่งที่ต้องจดจำเพื่อนำไปขายผลจริงๆ..

ขอบพระคุณครับ

  • คุณภาพมักควบคู่มากับการสร้างภาพ  ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนเล็กๆขาดทั้งงบประมาณและกำลังคนการสร้างภาพไม่สวยงาม  ผู้ตรวจงานจะเขียนว่าเป็นโรงเรียนไม่มีคุณภาพ
  • แต่ระดับมหาวิทยาลัยมีทุกอย่างพร้อมพรัก  ไม่ต้องสร้างภาพ  คุณภาพก็เพียบพร้อม
  • แต่สิ่งที่พิสูจน์คุณภาพของงานคือสิ่งที่เป็นรูปธรรม  ที่เป็นเชิงประจักษ์
  • ชื่นชมผลงานของมหาวิทยาลัยอาจารย์  นิสิตนักศึกษา และที่สำคัญคือ น้องอ.แผ่นดินค่ะ
  • ขอบคุณสิ่งดีดีที่นำมาแบ่งปันค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้ว ได้"ดูตัวเอง" ไปด้วยคะ :-)

ตอกย้ำแรงบันดาลใจ...เรียนรู้จากงาน เรียนไปใช้ มิใช่นำไปโชว์

"(Learning by Doing) โดยพยายามสร้างผลผลิตจากการทำไปเรียนรู้ไปให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด.."

.

และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ว่า จะไม่สามารถรับเป็นวิทยากรเรื่องใด จนกว่าจะได้ทำเรื่องนั้นกับมือ

จนมีความรู้มือหนึ่งของตนเองเสียก่อน

การพูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี...

ขอแสดงความคารวะความเป็นตัวของตัวเองของอาจารย์มา ณ ที่นี่คะ

สวัสดีค่ะ พี่พนัส ที่เคารพ

  • ชื่นชมแนวคิดในการนำการจัดการความรู้มาผสานกับกระบวนการทำไปเรียนรู้ไป
  • สู่การสร้างผลผลิตที่เป็นรูปธรรมในนาม"นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส"ค่ะ
  • ไม่ตีกรอบเกินไปเปิดโอกาสให้นิสิตได้มีอิสระในการผลิตผลงานจากจินตนาการ
  • เป็นกลยุทธ์ของการจัดการเรียนรู้อันแยบยลที่จะให้นิสิตแสดงพลังศักยภาพออกมา
  • ชอบมากกับการสะท้อนพัฒนาการจากสื่อนวัตกรรมงานสร้างสรรค์สู่การเรียนรู้ร่วมกัน
  • หลักในการพูดในสิ่งที่ทำย้ำในสิ่งที่มีและเปิดให้โอกาสผู้ทำเพื่อที่จะสร้าง"ผู้นำ"
  • แง่คิดในการมาดูงานของผู้มาเยือนทำให้องค์กรมโอกาสทบทวนดูตัวเอง...ชอบค่ะ
  • ท้ายที่สุดที่ทำให้แป๋มอ่านไปอมยิ้มไปก็คือสิ่งที่ผลิตเป็นรูปธรรมนั้น
  • ได้กลายเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้มาเยือนอย่างภาคภูมิจนมองเห็นภาพเลยค่ะ
  • ทั้งหมดขอชื่นชมเนื้อหาสาระจากบันทึกอันทรงคุณค่านี้ที่จักเป็นประโยช์ต่อแป๋มมากๆ

ด้วยความระลึกถึงและขอขอบพระคุณพี่พนัสมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ. 

ดีครับพี่พนัส

แม้อ่านบันทึกพี่ที่ไร ได้สาระล้นหลามโดยที่เดียว ไม่ผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นสาระ หลักการ วิธีคิด วิธีปฎิบัติ หลากหลายมุมมองมากเลยที่เดียว และที่สำคัญมันยังช่วยให้ผมอยากที่จะเขียน อยากที่จะเป็นดังเช่นนั้นบ้าง แม่อาจจะยังอยู่ไกล แต่ไม่เคยท้อเพราะมีบันทึกดีๆๆ ค่อยเป็นแรงขับอยู่

ขอคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท