เคล็ดลับที่ Steve Jobs ไม่ยอมบอกคุณ: บทเรียนจากปาฐกถาที่ Stanford 2005


“ทำในสิ่งที่รัก” นอกจากทำให้ทุกนาทีของชีวิตมีความสุขแล้ว ยังช่วยกระตุ้นรีดเร้นศักยภาพสูงสุดในตัวเราได้มากกว่าการทำเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

(www.siamintellignece.com)



ผ่านมาแล้วหลายปีดีดัก แต่สุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย Stanford
ในครั้งนั้นยังคงติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม
ไม่ใช่แค่คนที่ได้ฟังในวันนั้นเท่านั้น แต่คือ “คนทั้งโลก”
ที่ต่างก็หลงใหลและเกิดแรงบันดาลใจเปี่ยมล้นในการค้นหาความฝันอันยิ่งใหญ่


 


ในเมืองไทยก็ฮือฮาไม่แพ้กัน มีคนแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอยู่หลายสำนวน ที่ล้วนสร้างความอิ่มหนำเบิกบานใจ ล่าสุด “คนชายขอบ” นักคิดนักเขียนไฟแรง ได้นำมารวมกับสุนทรพจน์ของสุดยอดมนุษย์อีกหลายท่าน โดยตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ชื่อว่า วิชาสุดท้าย ซึ่งขายดิบขายดีตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก


สุนทรพจน์ Stanford 2005 กระตุ้นบางอย่างในตัวเรา


 





ที่มา – Flickr, โดย ♥ China ♥ guccio

 


ผมยอมรับว่าหลงใหลและชื่นชม Steve Jobs จากปาฐกถาครั้งนั้น
ทั้งที่ตัวเองไมใช่คนที่บ้าคลั่ง (Geek) ในเทคโนโลยีเลย
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงวันนี้
ผมได้มีมุมมองที่แตกต่างจากความหลงใหลในวันนั้น
จึงอยากลองวิเคราะห์สุนทรพจน์ Stanford 2005 จากมุมมองส่วนตัว ดังนี้


1. Connecting the dots


Jobs
ได้เล่าถึงชีวิตส่วนตัวในวัยเด็กจากการเป็นมนุษย์ที่ไม่มีใครต้องการ
จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อมาเรียนในสิ่งที่อยากเรียน
แล้ววันหนึ่ง “วิชาที่เรียนเพราะรัก”
ได้กลายมาเป็นองคาพยพหนึ่งในความสำเร็จของเขา


ข้อสรุปของ Jobs คือ
เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้จะเชื่อมต่อกันอย่างไรเพื่อนำไป
สู่อนาคต ดังนั้น จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ
แม้ว่าจะยังไม่เห็นแสงริบหรี่เพียงนิดที่ปลายอุโมงค์ก็ตาม


วิธีการนี้เอง ที่ทำให้ Jobs ไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่จะทำตามที่ฝัน ทำในสิ่งที่เชื่อ เพื่อจะสร้างความแตกต่างให้ชีวิต


Connecting the dots ได้จุดไฟโรแมนติคให้ลุกโชติช่วงในใจเรา
จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนจะนำมาใช้เป็นคติประจำใจ เพื่อทดลองทำในเส้นทางใหม่ๆ
โดยหวังว่าทุกสิ่งจะเชื่อมต่อกันอย่างดี
เพื่อปูทางไปสู่อนาคตอันสดใสเช่นเดียวกัน


แต่ยังมีอีกรายละเอียดอีกเล็กน้อยที่ Jobs ละเลยที่จะเล่าให้ฟัง
นั่นคือ การ Connecting Talents
จากทั่วทุกสารทิศมาช่วยสร้างความสำเร็จในทุกอย่างก้าวสำคัญของชีวิต
ซึ่งไม่ใช่เพียง Steve Wozniak หรือ Jonathan Ive เท่านั้น แต่ยังมีวิศวกร
นักลงทุน และสุดยอดฝีมืออีกจำนวนมากที่ Steve Jobs ได้ใช้เสน่ห์ บุคลิก
และศิลปะในการเจรจา เพื่อโน้มน้าวคนเหล่านี้ให้มาร่วมกันสร้างความยิ่งใหญ่



Do you want to spend the rest of your life selling sugared water or do you want a chance to change the world?


ประโยคนี้แสดงถึงพรสวรรค์ในการ Connecting Talent ของ Jobs
โดยเฉพาะเมื่อ John Sculley มีตำแหน่งที่มั่นคงในบริษัทยิ่งใหญ่เยี่ยง
Pepsi แต่ยังยินดีที่จะเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงโลก โดยการทำงานกับ Jobs
ที่บริษัทแอปเปิ้ล ที่น่าตลกคือ John Sculley
ได้เป็นส่วนหนึ่งในแนวร่วมเพื่อขับไล่ Jobs ออกไปจากบริษัทในเวลาต่อมา


มนุษย์ย่อมมีขีดจำกัดในการ Connecting the dots
หรือทดลองทำสิ่งใหม่นับร้อยนับพันชนิด
แล้วยังต้องคอยภาวนาให้มันมาเชื่อมต่อกัน ดังนั้น ทางที่ดีกว่า คือ
Connecting Talents
เพื่อให้สิ่งเก่าหรือความเชี่ยวชาญของแต่ละคนที่สั่งสมและบ่มเพาะมาหลายปี
นั้น
ได้เชื่อมต่อร้อยเรียงกันเป็นสิ่งใหม่ที่มีความมหัศจรรย์เหนือกว่าพลังสร้าง
สรรค์ของตัวเราแต่เพียงลำพัง


สมัยริเริ่มก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล Jobs มักจะถูกกล่าวหาว่า “ไม่ทำอะไร
นอกจากกระโดดไปกระโดดมา” ซึ่งก็น่าจะมีความจริงอยู่บ้าง
เพราะความรู้ด้านอิเลกทรอนิกส์นั้น จะมีใครล้ำหน้าไปกว่า Steve Wozniak
เพื่อนรักของ Jobs หากทว่าสิ่งที่ Jobs ได้มอบให้กับโลกไอที คือ
การเชื่อมต่อ Talent จากทั่วทุกสารทิศเข้าด้วยกัน
เพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อันยิ่งใหญ่ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล


แน่นอน Jobs
มีพรสวรรค์ในเรื่องรสนิยมทางสุนทรียะและการทำเทคโนโลยีให้เป็นเรื่องง่ายและ
มีความสุขสำหรับผู้บริโภค แต่กระนั้นก็ต้องขอบคุณ Xerox
ที่ช่วยเปิดห้องทดลอง PARCให้ Jobs
ได้เชื่อมต่อนวัตกรรมสุดยอดของโลกเข้ามาในหัวของเขา


Mouse และ GUI ที่ช่วยพลิกโฉมวงการคอมพิวเตอร์ในช่วงตั้งไข่นั้น
ก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้หาก Jobs มัวแต่ Connecting the dots
ไปอย่างสะเปะสะปะ
ไปนั่งเรียนรู้วิชาการและเทคโนโลยีมากมายเพียงเพื่อจะมาสร้างสรรค์ในสิ่งที่
คนอื่นได้ทำไว้แล้ว ในห้องทดลองอันน่าทึ่งของ Xerox


ใช่หรือไม่ว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ในห้องทดลอง PARC ของ Xerox
ก็ไม่ได้เกิดจากการ Connecting the dots ของคนเพียงคนเดียว
หากทว่ามาจากConnecting Talents ให้มาร่วมกันสร้างสรรค์ความมหัศจรรย์
ที่สักวันหนึ่งจะมี Talents จากภายนอกมาช่วยกัน “หยิบยืม (Steal)”
ไปใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้


Connecting the dots
ช่วยปลดปล่อยตัวเราจากความหวาดกลัวที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่
โดยที่ไม่อาจรู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรในอนาคต แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะ
Connecting Talents เพื่อจะได้ไม่ปล่อยตัวเองให้ลอยไปตามยถากรรม
และพึ่งมาค้นพบว่าสิ่งใหม่ที่เราได้ลงทุนค้นหานั้นได้มีใครสักคนบนโลกใบนี้
เคยค้นพบมาก่อนแล้วและทำได้ดีกว่าเราอีกด้วย


Connecting Talents คือ การค้นหา “เพื่อนร่วมทาง” เพื่อจะได้ตามหาความฝัน Connecting the dots อย่างมั่นใจและทำได้ดีกว่าเดิม


2. You’ve got to find what you love


Jobs เล่าว่า เมื่ออายุ 30 ปี
เขาถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตนเองเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมา แต่เนื่องจาก
Jobs รักในสิ่งที่เขาทำ จึงไม่ย่อท้อที่จะเริ่มต้นใหม่
และกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งกับบริษัท Pixar ที่ทำให้ Jobs
ได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับโลกภาพยนตร์


“ทำในสิ่งที่รัก” นอกจากทำให้ทุกนาทีของชีวิตมีความสุขแล้ว
ยังช่วยกระตุ้นรีดเร้นศักยภาพสูงสุดในตัวเราได้มากกว่าการทำเพื่อเงินเพียง
อย่างเดียว

Steve Jobs โชคดีที่ค้นพบสิ่งที่รักตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม
แต่กลับโชคดียิ่งกว่าที่ได้ถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตนเองก่อตั้งขึ้นมา
เพราะนั่นคือจุดสูงสุดของบริษัทแอปเปิ้ลในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
หลังจากนี้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จะมีสมรภูมิที่ต่างออกไป นั่นคือ
การต้องเลือกที่จะผลิต Hardware หรือ Software เพียงอย่างเดียว
และทำให้ดีที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ซึ่งไม่ใช่เกมที่ท่านศาสดา Jobs
มีความเชี่ยวชาญหรือปรารถนาจะกระทำ


สิ่งที่ Jobs ละเลยไม่ได้บอกกับเราก็คือ “ทำในสิ่งที่รัก” ยังไม่เพียงพอ แต่ยังต้องทำในเวลาที่เหมาะสม และด้วยวิธีที่เหมาะสมอีกด้วย


เราคงบอกได้ยากว่า Bill Gates มีความรักในสิ่งที่ทำในบริษัท Microsoft
มากหรือน้อยไปกว่าความรักของ Jobs ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของ Apple
แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ Bill Gates
ได้ทำสิ่งที่รักด้วยวิธีการและกลยุทธ์ที่ดีกว่า Jobs นั่นคือ การมุ่งไปที่
Software ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องแบบที่ Jobs ได้กระทำ


แน่นอนว่า Gates รักและหลงใหลในคอมพิวเตอร์
และก็เคยคิดที่จะสร้างบริษัทเพื่อขายคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัท
ในยุคนั้น แต่เนื่องจากตระหนักได้ว่า Software เป็นสิ่งสำคัญของคอมพิวเตอร์
และบริษัทส่วนใหญ่ยังละเลยที่จะมุ่งเป้ามาที่ตลาดนี้ Gates
จึงได้ค้นพบวิธีการและกลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่าในการทำสิ่งที่รัก
แทนที่จะหลับหูหลับตาทำตามๆกันเหมือนคนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน


โชคดีที่บริษัท Traf-O-Data ของ Gates ไม่ประสบความสำเร็จ
เขาจึงได้ปรับยุทธศาสตร์จากการเขียน Software
ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทตัวเอง มาเป็นการสร้างบริษัท Software
เพื่อขายให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะ
นั้น และกลายมาเป็นบริษัท Microsoft ที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา


เช่นเดียวกัน คงยากบอกได้ว่า Jobs
รักในคอมพิวเตอร์หรือเสียงดนตรีมากกว่ากัน แต่กระนั้นการที่ Jobs
ได้บุกเบิกเข้ามาในตลาดดนตรีด้วยการสร้าง iPod แทนที่จะหมกมุ่นตัวเองใน
iMac เพียงอย่างเดียว ย่อมมาจากสาเหตุที่ว่า Jobs
มองเห็นโอกาสทางการตลาดและค้นพบกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการที่จะแทรกตัวเข้ามาใน
ธุรกิจเครื่องฟังดนตรีนี้


การค้นหาสิ่งที่รัก เพื่อจะแปรเปลี่ยนเป็นงานที่รัก
นอกจากจะทำให้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่ต้องอยู่กับงานนั้นมีคุณค่าความหมาย
แล้ว
ยังทำให้มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จเหนือคู่แข่งที่ทำงานเพียงเพราะต้อง
การเงิน แต่กระนั้น
การทำในสิ่งที่รักจะสำเร็จสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อสามารถค้นพบวิธีการและ
กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการเอาชนะคู่แข่ง
มิเช่นนั้นการทำในสิ่งที่รักก็จะกลายเป็นเพียงแค่ฝันกลางวัน


จงอย่าทำงานด้วยหัวใจหรือมันสมองเพียงอย่างเดียว
เพราะคุณจะกลายเป็นบุคคลที่ล้มเหลวในยุคแห่งการแข่งขันอันเดือดพร่าน
แต่จงปลดปล่อยตัวเองจากการมองสรรพสิ่งอย่างแข็งทื่อตายตัว
ทั้งการปฏิเสธหัวใจตัวเอง เพราะคิดว่าทำไม่ได้ในเชิงธุรกิจ
หรือการดึงดันแต่จะทำในสิ่งที่รัก ด้วยรูปแบบและวิธีการเดิมๆ
โดยขาดการมองโลกอย่างเปิดกว้าง
เพื่อค้นหาวิธีการและกลยุทธ์ที่ฉลาดกว่าในการทำสิ่งที่รักให้เป็นจริง



3. Stay Hungry. Stay Foolish.


Jobs บอกให้เราใช้วิธีคิดที่ว่า นี่คือวันสุดท้ายของชีวิต
เพื่อที่จะปลดปล่อยตัวเราจากสิ่งที่ไร้สาระหรือมีความสำคัญในระดับรองๆลงไป
เพื่อมุ่งสมาธิไปยังสิ่งสำคัญยิ่งยวดในชีวิต


“คิดถึงความตายทุกวัน” ช่วยปลดปล่อยตัวเราจากความอาย ความหยิ่ง
ความกลัว และความคาดหวังจากคนรอบข้างทั้งมวล
เพื่อสร้างอิสระทางความคิดและเปิดมุมมองที่กว้างไกลให้กับญาณหยั่งรู้
(Intuition) และการทำในสิ่งที่หัวใจปรารถนา


สิ่งที่ Jobs ไม่ได้บอกเราก็คือ
การคิดถึงความตายเป็นเพียงการสร้างอิสรภาพให้กับความคิดในตัวเราเท่านั้น
แต่ยังต้องอาศัย “ข้อมูลจากภายนอก”
เพื่อนำไปสู่การหยั่งรู้ทางธุรกิจและค้นพบความปรารถนาในใจเรา


Jobs
ดูเหมือนจะเป็นคนที่หยิ่งยโสและเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองอย่างหัวชนฝา
แต่กระนั้น Jobs ก็เป็นคนที่ใฝ่รู้และค้นหาความจริงจากโลกภายนอกอยู่เสมอ
ตั้งแต่ในวัยหนุ่มที่เดินทางไปอินเดียเพื่อแสวงหาความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ
จากปรมาจารย์ในเทือกเขาหิมาลัย ต่อมาก็ยังยื่นข้อเสนอให้ Xerox
ลงทุนในบริษัท Apple ได้ 1 ล้านดอลลาร์
เพื่อแลกกับการได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัย PARC
และหลังจากถูกไล่ออกจากบริษัท
ก็ยังไปคลุกคลีกับวงการวิชาการที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยเฉพาะการได้พบกับ
Paul Berg นักไบโอเคมีที่ได้รับรางวัลโนเบล
จนนำไปสู่ไอเดียธุรกิจในการสร้างคอมพิวเตอร์สำหรับตลาดมหาวิทยาลัย
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การก่อตั้งบริษัท NeXT


Stay Hungry ก็คือ การกระตุ้นเร้าจากเสียงภายใน
ที่ตระหนักรู้ว่าความตายอาจกำลังมาเยือนตัวเรา ดังนั้น
จึงต้องเร่งกระหายที่จะทำในสิ่งที่ปรารถนา
แต่เราจะไม่มีวันรู้ว่าตนเองต้องการอะไร
และจะใช้วิธีใดในการบรรลุความต้องการ หากไม่รู้จักคำว่า Stay Foolish
นั่นคือ การยอมรับว่า “ไม่รู้”
และเปิดโอกาสให้ความรู้จากภายนอกได้เข้ามาเติมเต็ม


Jobs เลิกเรียนมหาวิทยาลัยแต่กลางคัน ชอบหมกมุ่นกับตัวเอง
และไม่นิยมให้บริษัทของตนเองลงทุนด้านR&D แต่กระนั้น Jobs
ก็เป็นผู้แสวงหาความรู้ในรูปแบบที่หลากหลายและบางครั้งก็ยังขัดแย้งอยู่ในที
ตั้งแต่ปรัชญา Zen และการหลุดพ้นแบบโลกตะวันออก
พรมแดนความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกตะวันตก
จนกระทั่งสุนทรียะของโลกแห่งดนตรีและศิลปะ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ได้เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการหล่อหลอมให้ Jobs
สามารถประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจและชีวิต


จงเชื่อมร้อยเสียงภายในให้เป็นหนึ่งเดียวกับเสียงภายนอก
แล้วตกผลึกกลั่นกรองเป็นนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว (Originality)
เพื่อจารึกร่องรอยอันสุขุมของเราไว้ในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของโลกใบนี้


3 เรื่องเล่าของ Jobs ในงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
นับเป็นคัมภีร์สำหรับสำเร็จกิจการใหญ่โดยไม่ต้องสงสัย
แต่การอ่านตามตัวอักษรโดยไม่พิเคราะห์ไตร่ตรองและค้นคว้าเพิ่มเติมย่อมเป็น
เรื่องที่ผิดพลาด เพราะชีวิตของคนๆหนึ่งนั้น
ยังมีอะไรมากกว่าสิ่งที่พูดออกมา


จงฟังในสิ่งที่เขาพูด แต่จงเชื่อในสิ่งที่เขาทำ



หมายเลขบันทึก: 463960เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2011 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอร่วมไว้อาลัยคนเก่ง-คนดีที่จากไปแต่กาย..ขอบคุณที่สร้างเครื่องมือสื่อสารและผลิตภัณท์ Apple น่าใช้มาให้พวกเราค่ะ..

เคยฟังทาง Youtube นะครับ ฟังแล้วชอบมากๆ ได้ข้อคิดเยอะทีเดียว

ขอบคุณอย่างยิ่งครับ สำหรับทุกความเห็น

Steve Jobs จากไปแล้ว หากทว่า "นวัตกรรม สุนทรียะ และแรงบันดาลใจ" จะคงอยู่คู่ฟ้าดินครับ

สิ่งที่เค้าทำ ถอดมาเป็นชุดความรู้เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้แก่ผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการหาเส้นทางเดินของตนเองต่อไปนะค่ะ

ถึงแม้เค้าจะจากไปแล้ว แต่แนวคิดและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อโลกของเค้ายังคงอยู่ บทเรียนที่เค้าฝากไว้มีค่าต่อการเรียนรู้มากเลยนะค่ะ

ขอไว้อาลัยกับการจากไปของ Steve Jobs ค่ะ

“คิดถึงความตายทุกวัน” ช่วยปลดปล่อยตัวเราจากความอาย ความหยิ่ง
ความกลัว และความคาดหวังจากคนรอบข้างทั้งมวล
เพื่อสร้างอิสระทางความคิดและเปิดมุมมองที่กว้างไกลให้กับญาณหยั่งรู้
(Intuition) และการทำในสิ่งที่หัวใจปรารถนา

Job ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ขอให้ไปสู่สุคติด้วยเถิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท