เกร็ดประชุมวิชาการ "สถาปนาคณะสหเวชฯ ครบรอบ 10 ปี"


วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2549 วันแรกของ "การประชุมทางวิชาการเนื่องในโอกาส สถาปนาคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ครบรอบ 10 ปี"  ณ โรงแรมท๊อปแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ดิฉัน ประทับใจสีสันในครึ่งเช้าของวันนี้ ซึ่งเป็นการอภิปรายหมู่ เรื่อง “บทบาทของวิชาชีพทางด้านสหเวชศาสตร์ต่อความต้องการของสังคมในทศวรรษหน้า” มาก

เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่นายกสภาวิชาชีพ และประธานคณะกรรมการวิชาชีพทั้ง 4 สาขา (เทคนิคการแพทย์  เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก  กายภาพบำบัด และรังสีเทคนิค) ได้มาพร้อมหน้าพร้อมตาพูดคุยกัน แม้จะต่างสาขากัน  แต่ก็มีจุดร่วมตรงกันในเรื่องการพัฒนาวิชาชีพ  ประมวลภาพ 

ผู้จัด ได้บันทึก VDO ช่วงนี้ไว้ด้วยแล้ว กำลังเร่งรีบแปลงให้เป็น file เพื่อนำไปแปะไว้ที่หน้าแรกของ website คณะสหเวชฯ มน. นะคะ

พี่ใหญ่ที่เกิดก่อน  คือเทคนิคการแพทย์ และกายภาพบำบัด  ขณะนี้มีสภาวิชาชีพเป็นของตนเองแล้ว  ในขณะที่น้องรังสีเทคนิคและเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ยังจับตัวกันในรูปของคณะกรรมการวิชาชีพ  ภายใต้ร่มเงาของกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข

พี่ใหญ่บอกว่า การมีสภาฯ เป็นของตนเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่จะมีข้อดีมากกว่า ถ้าโตพอ (mature) และมีจำนวนบุคลากรในวิชาชีพมากระดับหนึ่ง  หากชิงสุกก่อนห่าม  อาจเกิดข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะจำนวนคนที่น้อย  ตัวเลือกก็น้อยตาม  คนที่ยังไม่ mature หากมีกฎหมายอยู่ในมือ  แล้วใช้ไม่ถูกต้องจะเป็นอันตรายมาก

ทั้งนี้ ระหว่างรอให้เติบโตสมบูรณ์พร้อม ต้องสั่งสมทั้งวิชาความรู้และเงินทองไว้ด้วย  เนื่องจากการเป็นสภาฯ ต้องเลี้ยงตัวเอง  ไม่มีกองประกอบโรคศิลปะคอยเกื้อหนุนค้ำจุนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นสภาวิชาชีพ หรือคณะกรรมการวิชาชีพ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หน้าที่ ที่จะต้องพัฒนาวิชาชีพให้ได้มาตรฐาน ในระหว่างที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านเล่าเรื่องตามประเด็นอภิปรายต่างๆ จากประสบการณ์อันหลากหลาย มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันสัมผัสได้ด้วยกระแสจิตและสรุปเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะเป็นผู้นำของวิชาชีพนั้นๆ  คือ  ต้องมีความรักและปรารถนาดีต่อวิชาชีพอย่างแรงกล้า บวกกับความเสียสละที่อยู่ในระดับเกินพิกัดปกติ 

การอภิปรายจบลงอย่างรู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน  สรุปได้ว่า  “บทบาทของวิชาชีพทางด้านสหเวชศาสตร์   เพื่อสนองตอบต่อ  ความต้องการของสังคมในทศวรรษหน้า”  ประกอบด้วยคำสำคัญ 2 คำ  เรียกสั้นๆ ว่า 2 ค  คือ  เครือข่าย และ คุณภาพ  กล่าวคือ บุคลากรในวิชาชีพจะต้องมุ่ง 

  1. สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่มั่นคงเหนียวแน่นต่อกันในวิชาชีพ ทั้งที่เป็นกลุ่ม สภาวิชาชีพ  กลุ่มสถาบันผู้ผลิต และสมาคมวิชาชีพ   
  2. รักษาคุณภาพ และมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งจรรยาบรรณ และคุณธรรมในวิชาชีพ

ภาคบ่าย เป็นการนําเสนอผลงานวิชาการด้วยวาจา แบบรวมมิตร อีกเช่นกัน

 

  

การวางโปรแกรมช่วงเตรียมงานของผู้จัด ตั้งใจว่าจะแยกเป็นห้องๆ  ตามสาขา  แต่พอใกล้วันจริง เปลี่ยนแผนจัดให้มาอยู่รวมกันเลย (เพราะจำนวน paper ไม่มากนัก)

นับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ดิฉันได้ฟัง oral presentation แบบสหเวชฯ จริงๆ  โดยกรรมตัดสิน ก็เป็นคณาจารย์จากทุกสาขา  ทำให้ประจักษ์ชัดว่า เรื่องของสาขาอื่นที่ไม่ใช่ของตัวก็ฟังรู้เรื่องนี่นา  แถมน่าสนใจอีกตะหาก  มีหลายแบบดีไม่น่าเบื่อ 
หลังจากจบการนำเสนอและซักถาม  ใช้เวลาเพียงไม่นานนัก  กรรมการก็ส่งผลการประกาศรางวัลแก่ผู้นําเสนอผลงานด้วยวาจาดีเด่น โปสเตอร์ดีเด่น และ นวัตกรรมดีเด่น ได้รวดเร็วทันใจ  เพื่อมอบโล่กันเลย

ดิฉันขอนำมาประชาสัมพันธ์ เป็นการแสดงความยินดีและชื่นชมไว้ ณ blog แห่งนี้อีกครั้งหนึ่งนะคะ

รางวัลการนําเสนอผลงานด้วยวาจาดีเด่น (oral presentation) ได้แก่
ผลงานชื่อ : ผลการฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้าต่อสมรรถภาพปอดในผู้สูงอายุ โดย คุณธนารัตน์  เหล่าอรรคะ  นักศึกษาปริญญาโท จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลการนำเสนอประเภทรายงาน (poster presentation) ได้แก่ ผลงานชื่อ : กรณีศึกษา : ผลของการใช้ม้ารักษาต่อการตอบสนองทางระบบหายใจในเด็กสมองพิการ โดย รศ.ดร.กรกฎ  เห็นแสงวิไล ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่

รางวัลการนำเสนอประเภทนวัตกรรม (Innovation presentation) ได้แก่ ผลงานชื่อ : การใช้อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำเป็นต้นกำเนิดแสงเซฟไลท์ โดย คุณนิรุตติ์  น้อยยม  กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช  จังหวัดสุพรรณบุรี

ในวันถัดๆ มา คือวันที่ 8 ถึง 11  ก็เป็นรายการแยกตามสาขา แหม! ถึงตอนนี้ ถ้าแยกร่างไปอยู่ทุกกลุ่มได้คงทำแล้ว  อย่างเช่น วันที่ 8 ช่วงเช้า  รายการของคุณหมอพิเชฐ  บัญญัติ จากโรงพยาบาลบ้านตาก ซึ่งสาขารังสีเทคนิค เรียนเชิญมาบรรยาย เรื่อง การจัดการความรู้แบบบูรณาการ  ดิฉันในฐานะแฟนพันธุ์แท้ของคุณหมอ "แพทย์ชนบทดีเด่น"  ขวัญใจชาว KM  จองนั่งฟังแถวหน้าเลยทีเดียว ดิฉันเชื่อแน่ว่า ทุกท่านที่ได้ร่วมรับฟังการบรรยายในวันนั้น ต้องติดใจ ทั้งเนื้อหาสาระ ความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ได้ความรู้  และประกายความคิดดีๆ พกติดตัวกลับไปโขทีเดียว   

เสร็จจากงานนี้ อาจารย์คณะสหเวชฯ หลายท่าน ยังบอกว่า ควรจัดประชุมวิชาการอย่างนี้ทุกปี แหม....ไฟแรงจริง จรื๊ง...... 

 

หมายเลขบันทึก: 46386เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2006 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท