หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : อีกหนึ่งการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนเป็นที่ตั้ง(วิทยาลัยดุริยางคศิลป์,คณะพยาบาลศาสตร์,ชมรมทอฝัน)


การเรียนรู้บนฐานรากของชุมชนและวัฒนธรรม เป็นการเรียนที่ไม่ฉีกแยกออกไปจากความเป็นจริงของคนและสังคม

กิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน  เดินทางมาร่วมครบขวบปี  แต่หากพิจารณาทวนกลับไปยังชื่ออย่างเป็นทางการ จะพบว่า “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” นั้นกำลังเดินทางมาร่วมๆ จะ ๑ ทศวรรษเลยทีเดียว

มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน  มีชื่อเล่นเรียกเป็นวาทกรรมเชิงรุกว่า “๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน”  ซึ่งผมริเริ่มไว้อย่างเป็นทางการเมื่อเกือบๆ จะ ๑๐ ปีที่แล้ว ณ บ้านหนองแข้ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

กิจกรรมในครั้งนั้น  ผมมีมุมมองประมาณว่า “เมื่อมหาวิทยาลัยมาตั้งรกฐานในชุมชนแถวนี้ ก็ควรที่จะทำอะไรเพื่อชุมชนบ้าง อย่างน้อยก็ค่ายอาสาพัฒนานิสิตนี่แหละ...”

แน่นอนครับ  วิธีคิดของผมไม่ใช่วิธีคิดที่ทรงพลังพอที่จะตอบอะไรๆ ได้อย่างเป็นวิชาการนักหรอก  ผมถนัดอะไรก็คิดมาในมุมนั้น  และรู้แต่เพียงว่า “ผมอยากทำ”  หรือรู้ทั้งรู้ว่า “คงยากที่จะขับเคลื่อนให้หน่วยงานใดๆ ในมหาวิทยาลัยเห็นพ้องกับผมได้”  ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นจากการ “คิดเอง..ทำเอง”

ระยะแรก,  ผมพยายามหางบประมาณจากทบวงมหาวิทยาลัย  ถัดมาก็ระดมทุนผ่านวิถีกิจกรรมของนิสิต  จากนั้นก็มาเขียนหนังสือ เร่ขายหนังสือ  เพื่อเอาทุนเล็กๆ น้อยๆ ไปจัดกิจกรรมในหมู่บ้านตามโอกาสต่างๆ...

     ยิ่งทำก็ยิ่งเห็นภาพร่างทางความคิดของตัวเองชัดขึ้น 
     ยิ่งทำยิ่งเห็นว่านิสิต หรือกิจกรรมนอกชั้นเรียนนี่แหละ  คือสะพานใจที่จะเชื่อมร้อยให้มหาวิทยาลัยและชุมชนเกิดความรักและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแท้จริง  
     และยิ่งทำยิ่งค้นพบว่าหมู่บ้านรายรอบมหาวิทยาลัยนี่แหละ คือ “ห้องเรียนชีวิต” ที่นิสิตควรต้องก้าวเข้าไป “เรียนรู้”

 

 

ผมตัดสินใจเดินหน้าเรื่อง ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านแบบไม่ย่อท้อ   รู้ทั้งรู้ว่านิสิตจากสโมสรคณะต่างๆ ยังขาดความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการให้บริการวิชาการแก่สังคมอย่างมาก  เพราะส่วนใหญ่ก็ล้วนสาละวนอยู่กับกิจกรรมประเพณีภายใน  ไม่ว่าจะเป็นรับน้อง  ซ้อมเชียร์ ตักบาตร เลี้ยงรับขวัญ,  กีฬา ฯลฯ

การเริ่มต้นในครั้งนั้น  ผมพยายามสร้างวาทกรรมเข้ามายึดโยง  เช่น “มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”  เพื่อมุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้และตระหนักว่ามหาวิทยาลัยมีพันธกิจต่อชุมชนอย่างไร และที่ๆ ที่เหยียบยืนอยู่ ก็ล้วนเป็นที่สาธารณะที่ชาวบ้านเคยได้พึ่งพาร่วมกันมาหลายชั่วอายุคน

ครับ,  มันเหมือนวาทกรรมกำลังบอกกับนิสิตว่า “นี่คือกระบวนการของการสำนึกรักบ้านเกิด, สำนึกของการรู้บุญคุณ...”

 

 

นอกจากนั้น  ผมยังพยายามใช้วาทกรรมอื่นๆ ปลุกเร้าให้นิสิตเห็นคุณค่าของตัวเอง  เช่น “กิจกรรมนิสิต คือพันธกิจของการบริการสังคม”  ซึ่งวาทกรรมนี้ชี้ประเด็นว่ากิจกรรมนอกชั้นเรียนของนิสิตนั้น  ไม่ได้เป็นเหมือนเก่าก่อนเสียทั้งหมด  ไม่ใช่กิจกรรมที่มุ่งแต่เฉพาะ “ตีกลองร้องเต้น” ไปวันๆ หากแต่มีสถานะของการให้บริการวิชาการแก่สังคมเหมือนกัน  เพราะกิจกรรมหลายๆ กิจกรรมที่นิสิตจัดขึ้น ก็ล้วนแล้วหยิบจับความรู้ในตัวตนของนิสิตไปประยุกต์ให้บริการแก่สังคมทั้งสิ้น งแม้จะไม่โดดเด่นแจ่มชัดและทรงพลังเหมือน “นักวิชาการ,นักวิจัย”  แต่ก็มีความงามและนุ่มเนียนเกินมองข้ามไปได้ 

แน่นอนครับ  วาทกรรมหลังนี้  ไม่เพียงปลุกเร้านิสิตให้เห็น “ศักยภาพ” หรือ “คุณค่าตัวเอง” เท่านั้น  แต่กำลังสะท้อนภาพไปยังมหาวิทยาลัยด้วยเหมือนกัน  เพราะถ้าไม่เคยมาสัมผัสกับกิจกรรมนิสิต  ก็โปรดอย่ากรุณาพิพากษาว่านิสิตจัดเป็นแต่เฉพาะกิจกรรมเริงรมย์อย่างเดียวเท่านั้น...

ทั้งปวงนั้น  ผมถือเป็นโจทย์ที่ท้ายอย่างมาก  เพราะเป็นความแปลกใหม่ที่นิสิตจากคณะต่างๆ ยังไม่คุ้นชิน  รู้ทั้งรู้ว่านี่คือกิจกรรมที่ใช้กระบวนการที่บูรณาการ ผมยิ่งท้าทายและไม่ยี่หระที่จะให้นิสิตได้เรียนรู้

 

กรณีดังกล่าวปรากฏชัดในช่วงที่นิสิตจากสโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มุ่งหน้าลงสู่ชุมชน  โดยมีภารกิจสำคัญคือการเทพื้นใต้ถุนศาลาการเปรียญวัดชัยจูมพลด้วยงบประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท  เพื่อใช้เป็นห้องประชุมของพระสงฆ์และชาวบ้านบ้านขามเรียง หรือแม้แต่กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น ก็สามารถรองรับกรบวนการเหล่านั้นได้อย่างไม่เคอะเขิน

การงานในครั้งนั้นต้องสารภาพตามตรงว่าทั้งสององค์กรเป็น “มือใหม่หัดขับ” จริงๆ...


ผมพยายามกระตุ้นอย่างถี่ครั้งเพื่อให้พวกเขามีความกระหายอยากที่จะเรียนรู้  โดยไม่ติดยึดว่างาน “ผสมปูน เทปูน ฉาบปูน” เป็นงานไกลเกินเอื้อมสำหรับพวกเขา หรือแม้แต่พยายามบอกเสริมทัศนคติในการทำงานประมาณว่า “การเทปูนฉาบปูนเป็นเพียงพาหนะของการนำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องที่เราไม่เคยเรียนรู้...เราต้องกล้าเรียนรู้ในสิ่งแปลกใหม่  อย่ากลัวความแปลกไม่  เพราะความกลัวจะทำให้เราไม่เกิดความรู้...ไม่เกิดปัญญา”  

นอกจากนั้นยังบอกเสริมอีกรอบว่า “เทพื้นศาลาเสร็จ ก็ค่อยต่อยอดด้วยการตรวจสุขภาพ  สอนดนตรีและนาฏศิลป์ หรือจะทำบูรณาการไปพร้อมๆ กันก็ได้...”

 

ระยะแรกเริ่มผมยืนยันกระบวนการบูรณาการสำคัญๆ เพียงไม่กี่อย่าง  เช่น  การฝากตัวเป็นลูกฮัก  เทพื้นใต้ถุนศาลาวัด พัฒนาสิ่งแวดล้อมในวัดและชุมชน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม  ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องบ้านเกิดให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน  

ครั้งนั้น  ด้วยความที่ว่าทั้งสององค์กรไม่สันทัดในการงานที่ว่า  ผมจึงชักชวนให้ “ชมรมทอฝัน”  เข้ามาเป็น “พี่เลี้ยง”  อย่างใกล้ชิด  โดยให้ถือว่าสมาชิกชมรมทอฝันก็เป็น “ลูกฮัก” ของชาวบ้านขามเรียงด้วยเหมือนกัน

     นี่คือภาพสะท้อนเล็กๆ ในเชิงเครือข่ายที่นิสิตควรต้องบูรณาการความร่วมมือมาสู่กัน  
     นี่คือภาพสะท้อนการบริหารจัดการการเรียนรู้ด้วยการนำพาระบบ “พี่เลี้ยง” เข้ามาประคองการเรียนรู้ให้กันและกัน ...
     ซึ่งคาดว่านิสิตคงพอจะเข้าใจและเห็นความสำคัญของการผนึกกำลังในแบบที่ผมหยิบยื่นไปให้

และที่สำคัญก็คือ...

"...นี่คือการผลักให้นิสิตได้เผชิญกับการเรียนรู้นอกตำราเรียนอย่างแท้จริง  เพราะ “งานปูน” ที่ลงแรงไปนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนในวิชาชีพพยาบาลและดนตรีเลยสักนิด  หากแต่เป็นการเรียนรู้ที่ใช้ “ชุมชน หรือ "วัฒนธรรมชุมชน” เป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่การเรียนที่ใช้ “ความรู้” เป็นตัวตั้ง  ซึ่งการเรียนแบบนั้นน่าจะก่อให้เกิด "ปัญญา" ได้น้อยมาก  เมื่อเทียบกับการเรียนรู้บนฐานรากของชุมชนและวัฒนธรรม  เพราะการเรียนในวิธีนี้ เป็นการเรียนที่ไม่ฉีกแยกออกไปจากความเป็นจริงของคนและสังคม..."

 

 

 

อย่างไรก็ดี  เป็นที่น่ายินดีว่าหลังการขับเคลื่อนกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านไปได้ระยะหนึ่ง  มหาวิทยาลัยก็ประกาศนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน  หรือแม้แต่การประกาศให้ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เป็นปีแห่งเรื่องจิตสำนึกสาธารณะ  โดยมุ่งให้แต่ละคณะนำนิสิตลงเรียนรู้ชุมชน ควบคู่ไปกับการบริการวิชาการแก่สังคม  ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยได้ปักธงให้ชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนเป็นฐานรากของการเรียนรู้อย่างแท้จริง...

 


และถัดจากนี้ไปก็คือภาพสะท้อนการเรียนรู้เล็กๆ อันเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของนิสิตที่ผมได้รับรู้มา  

        “...นิสิตคณะพยาบาลฯและวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านการสร้าง หรืองานค่ายอาสาพัฒนา แต่ก็อดทนต่อการเรียนรู้วิธีผสมปูน วิถีฉาบปูนจากพ่อช่างที่เป็นชาวบ้าน...”

        “...นิสิตชมรมทอฝัน  มีประสบการณ์ด้านค่ายอาสาพัฒนา  ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงนิสิตจากทั้งสองคณะได้เป็นอย่างดี  โดยผสมผสานการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงร่วมกับชาวบ้าน  บางครั้งเป็นทั้งลูกมือและบางครั้งก็ได้รับมอบหมายให้ผสมปูนและฉาบปูนเอง....”

        “...งานมีไม่เยอะ  นิสิตส่วนหนึ่งก็ทำหน้าที่ปฏิคมเสิร์ฟน้ำนิสิตและชาวบ้านไปพรางๆ  ส่วนหนึ่งแยกไปทำความสะอาดบริเวณวัด เล่นกับเด็กๆ  สอบถามเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน ...” 

ส่วนชาวบ้าน ก็บอกกล่าวกับผมในทำนองว่า 

         "...ใต้
ถุนศาลาวัด  ไม่ใช่แต่เฉพาะของชาวบ้าน  ถ้านิสิตประสงค์จะมาใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม  ก็ให้มาใช้ได้เลย  เพราะมันเป็นมรดกร่วมกัน...”

 

 

หมายเลขบันทึก: 463364เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2011 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขับเคลื่อนด้วย "ใจ" ใช่ "หน้าที่" ;)...

สบายดีนะครับ

มาสนับสนุนแนวปฎิบัติดีๆเช่นนี้ที่เยาวชนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยจิตอาสา เพื่อความยั่งยืนค่ะ

มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน..ปรัชญาที่น่าเอาเป็นตัวอย่างคะ :-)

จากภาพแรก มาภาพสุดท้าย เห็นแล้วภูมิใจ

เมืองไทยจะไปรอด

มีทางออกที่สวยงาม

อยู่ที่นี่ ที่ตรงนี้

ใช้ชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนเป็นที่ตั้ง

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ผมสบายดีครับฯ  ฟังข่าวคราวเชียงใหม่น้ำหลากเหลือทน วันก่อนเห็นภาพถนนต้นยางแถวสารภีน้ำท่วม  ยิ่งคิดถึงห้วงเวลาที่เคยได้ท่องเส้นทางสายนั้นร่วมกัน...

ดูแลสุขภาพกันให้ถ้วนทั่วนะครับ,  สำคัญสุดๆ ก็คือ "สุขภาพใจ" ...

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ตอนนี้ผมกำลังคิดและวางระบบแนวทางเพื่อผูกโยงเรื่องชุมชนสู่การเรียนรู้ในสองสามประเด็น ครับ

  • ห้องเรียนความดี (84 พรรษา จิตอาสา มมส เพื่อพ่อหลวง)
  • ธนาคารความดี ผ่านระบบการเรียนการสอนในวิชาศึกษาทั่วไป

ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก...

 

สวัสดีครับ คุณ ป.

...จริงๆ แล้วปรัชญามหาวิทยาลัย คือ ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน...
ผมชอบวาทกรรมนี้มาก  มันเป็นเรื่องจิตอาสา,เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องพลเมืองของชาติของสังคมโลก  แต่การขับเคลื่อนก็เป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง  ซึ่งยังต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ...

เหนื่อยครับในบางโอกาส  แต่พลังในตัวตนก็มีมากกว่าความเหนื่อยล้า...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ทพญ.ธิรัมภา

สิ่งที่ผมเชื่อและศรัทธาเสมอมาก็คือ "จิตอาสา..คือทางออกของสังคม" ...การเรียนนอกชั้นเรียน  คือการเรียนที่ไม่แยกส่วนไปจากชีวิตและสังคม

หลายคนทักผมว่าทำไมต้องวางระบบคิดให้นิสิตเครียดกับกิจกรรม  เช่น ลงชุมชนไปทำค่าย ทำไมต้องให้โจทย์การเรียนรู้ชุมชนไปด้วย  มันเหมือนเพิ่มภาระงานให้นิสิต  ทำงานเสร็จยังต้องมา "โสเหล่" , และถอดบทเรียนเขียนโน่นนี่เป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง...

ผมคิดว่า "หนักวันนี้"  คือ ทุนที่แน่นหนักเพื่อวันหน้า...
และการเรียนรู้ในแบบฉบับเช่นนั้น  เสมือนนำพาให้เขาเรียนรู้เหมือนระดับบัณฑิต/ ป.โท ด้วยซ้ำไป

ขอบคุณครับ

 

เรียนท่านอาจารย์

  • ยอดเยี่ยมมากค่ะ ถ้าขยายผลไปยังคณะอื่นๆได้อีกคงเป็นภาพรวมที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็น " มมส" ได้เป็นอย่างดีค่ะ อยากให้เด็กๆสำนึก "รักบ้านเกิด"กันมากๆค่ะ
  • คุณยายเป็นกำลังใจให้นะคะ

"...นี่คือการผลักให้นิสิตได้เผชิญกับการเรียนรู้นอกตำราเรียนอย่างแท้จริง....เป็นการเรียนรู้ที่ใช้ “ชุมชน หรือ "วัฒนธรรมชุมชน” เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่การเรียนที่ใช้ “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ..."

....สิ่งที่ผมเชื่อและศรัทธาเสมอมาก็คือ "จิตอาสา..คือทางออกของสังคม" ...การเรียนนอกชั้นเรียน  คือการเรียนที่ไม่แยกส่วนไปจากชีวิตและสังคม

..."หนักวันนี้"  คือ ทุนที่แน่นหนักเพื่อวันหน้า...


 ..." มันเป็นเรื่องจิตอาสา,เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องพลเมืองของชาติของสังคมโลก  แต่การขับเคลื่อนก็เป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง  ซึ่งยังต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ...

เหนื่อยครับในบางโอกาส  แต่พลังในตัวตนก็มีมากกว่าความเหนื่อยล้า..."

อ่านแล้วชื่นใจ มีความหวัง และภาคภูมิใจแทนเยาวชนที่โชคดี มีครูบาอาจารย์ที่...ห่วงใยและทุ่มเทแรงกายแรงใจเกินร้อยเช่นนี้ค่ะ 

        ด้วยจิตคารวะ

สวัสดีครับ พี่มนัสดา

ปีงบประมาณ 2555 เป็นอีกปีที่ชุมชนบ้านขามเรียง ได้รับเลือกจากคณะพยาบาลศาสตร์ให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม "1 หลักสูตร 1 ชุมชน"  ซึ่งมุ่งเน้นไปในเรื่อง "สุขภาพ" ตามสายวิชาชีพนั่นเอง  ซึ่งในบางส่วนก็ดำเนินการไปแล้ว เช่น สำรวจสุขภาวะชุมชน นำข้อมูลมาวิเคราะห์และออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์รองรับการให้บริการควบคู่ไปกับการเรียนรู้ชุมชน

 

ด้วยเหตุนี้ จึงถือโอกาสกลับมาทบทวนเรื่องราวต่างๆ อีกครั้ง

สวัสดีครับ คุณ Tawandin

ในทุกๆ ปัญหา ผมก็พยายามมองเชิงบวกไว้ก่อน
เพราะวิธีการเช่นนั้น ช่วยให้เรามีพลังในการรับมือกับมัน
เรื่องจิตอาสาก็เช่นกัน ไม่มีทางสร้างได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่วัน...
แต่ต้องบ่มเพาะไปเรื่อยๆ..

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท