วันวานก่อนการบูรณะสนามหลวง ภาพที่เห็นจนชินตากับลานกว้างเปิดโล่งต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาใช้สอยพื้นที่ รายล้อมด้วยกิจกรรมอันหลากหลายรูปแบบทั้งกลางวันและกลางคืน เสมือนฉากหนึ่งบนโรงละครขนาดใหญ่โดยมีท้องสนามหลวงเป็นตัวรองรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเล่นว่าว เตะฟุตบอล ขายน้ำ ขายอาหาร เป็นที่พักของคนไร้บ้าน หรือแม้แต่กิจกรรมทางการเมือง นั้นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนการที่จะมีการปรับปรุงท้องสนามหลวง...
หลังปิดปรับปรุง มานาน ท้องสนามหลวงก็ได้ฤกษ์เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 บรรยากาศภูมิทัศน์ภายในท้องสนามหลวงดูสวยงาม หญ้าที่ปูไว้เขียวขจี ทำให้บริเวณโดยรอบ ยิ่งมองก็ยิ่งสบายตา บรรดาเจ้านกพิราบก็ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ทำให้รู้สึกถึงวันวานเก่าๆ ที่เราจะได้เห็นบรรดานกพิราบบินว่อนทั่วพื้นที่
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่าท้องสนามหลวงนี้ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานกทม.เท่านั้น แต่คนไทยทุกคนต่างร่วมเป็นเจ้าของ เป็นสาธารณะสมบัติอันล้ำค่า ฉะนั้นต้องช่วยกันดูแลไม่ให้ท้องสนามหลวงกลับไปอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม เป็นแหล่งมั่วสุม แหล่งค้าประเวณีทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองเสียไป หลังจากนี้กทม.คงต้องทำงานหนักเพื่อปกป้องและรักษาภูมิทัศน์สวยงามนี้ไว้
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณะสนามหลวง ให้สัมภาษณ์ ว่า สนามหลวงถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แบบสวนสาธารณะ สนามหลวงรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงแตกต่างจากเดิม ประชาชนควรเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะเป็นปอดขนาดใหญ่กลางกรุง สนามหลวงพื้นที่ 73ไร่ ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนมาร่วมกันดำเนินการ โดยได้งบจากโครงการไทยเข้มแข็งเป็นเงิน 181 ล้านบาท มาทำการปรับปรุง คนไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยก็มีการจัดการให้จากกรมพัฒนาสังคม มีโครงสร้างที่มองไม่เห็น ข้างใต้มีระบบระบายน้ำจากใต้ดินเมื่อมีฝนตก จะมีการระบายน้ำลงใต้ดิน ออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงหน้าแล้งก็จะมีการนำน้ำเจ้าพระยามาฉีดรดสนามหญ้าด้วย
จากที่เคยเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าไปได้อย่างอิสระ “สนามหลวง” ก็ได้สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่ไม่ทราบข่าวที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งผู้ที่ทราบข่าวก็ยังต้องแปลกใจกับรั้วที่ล้อมรอบซึ่งตั้งอยู่สุดขอบพื้นที่
ล่าสุด ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการใช้อย่างชัดเจนออกมา เบื้องต้นจะอนุญาตเฉพาะพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญ พร้อมกับอนุญาตให้พักผ่อน นั่ง-นอนเล่น ขี่จักรยาน และห้ามกิจกรรมละเล่น กีฬา คอนเสิร์ต จอดรถ และโรงทาน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเสื่อมโทรม และรักษาความเป็น “โบราณสถาน”
ก่อนที่จะมีขนาดกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ “สนามหลวง” ในอดีตเคยมีขนาดราวครึ่งหนึ่ง ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีการยกเลิกวังหน้า พื้นที่จึงได้รับการขยับขยายจนมีขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวาอย่างในปัจจุบัน ในช่วงแรกการใช้งานพื้นที่จะให้น้ำหนักไปกับการเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” เสียเป็นส่วนใหญ่ ในลักษณะพระราชพิธีต่างๆ ก่อนที่จะมีวิวัฒนาการไปยัง “พื้นที่สาธารณะ” และตัดสลับกลับไป-มาตามเหตุปัจจัย
ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เชื่อมโยงอดีตของ “สนามหลวง” ให้เห็นวิวัฒนาการในการใช้พื้นที่ว่า จุดเปลี่ยนแรกที่สนามหลวงเริ่มมีความเป็นสาธารณะ เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปรับความคิดสมัยใหม่จากโลกตะวันตก เริ่มมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น แข่งกีฬาต่างๆ (แต่ก็ยังจำกัดไว้เฉพาะเจ้านายและผู้ดี) และมีการเปลี่ยนแปลงเด่นชัดขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของคณะราษฎร โดยเริ่มมีการใช้งานเกี่ยวกับ “รัฐพิธี” ที่เกี่ยวกับชาติมากขึ้น มีกิจกรรมที่สามัญชนเข้าไปใช้มากขึ้น
“สนามหลวงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์จริง ไม่มีใครปฏิเสธ เพียงแต่ว่ารัฐต้องคำนึงด้วยว่า มันไม่ใช่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่เป็นพื้นที่ไม่มีคนอาศัย สนามหลวงเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคนอาศัยอยู่ต่อเนื่อง มันไม่ใช่แค่อดีต มันเป็นปัจจุบัน และมันก็เป็นอนาคตด้วย ปัจจัยแค่เพียงเป็นโบราณสถานมันไม่สามารถกำหนดกฎระเบียบและการใช้งานในอนาคตได้” เขามองว่า ณ ปัจจุบัน สนามหลวงในสังคมไทย เป็นการต่อสู้กันระหว่างมุมมองสองแบบ ซึ่งในอดีตบางช่วงมันจะสามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่วินาทีปัจจุบัน กลุ่มคนที่อยากให้สนามหลวงเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” จะไม่ยอมให้ “พื้นที่สาธารณะ” มาซ้อนทับกันอีกแล้ว“มันน่าตลกมากที่รัฐมักอ้างว่าออกแบบเพื่อเรา แต่เขากลับไม่เคยฟังความเห็นของเราเลย”
จากเอกสาร “ข้อมูลสรุปการดำเนินงานปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สนามหลวง” บอกเหตุผลในปฏิบัติการภายใต้งบประมาณ 181 ล้านไว้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา สนามหลวงต้องรองรับการจัดงานพิธีและสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้ว่างเว้น พื้นที่จึงมีสภาพเสื่อมโทรมลง แม้กรุงเทพมหานครจะมีการซ่อมแซมอยู่ทุกปี แต่เป็นการปรับปรุงเป็นบางแห่งเท่านั้น ต่างจากครั้งนี้ที่เป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 1 ราวปี 2525 ครั้งที่ 2 ราวปี 2542) เพื่อให้สวยงามเหมาะสมกับเป็น “โบราณสถาน” เกิดความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย
จากที่เคยเป็นพื้นที่ทรุดโทรมลงตามวัน-เวลา ก็มีหญ้าสีเขียวสดอยู่เต็มพื้นที่ โดยเว้นบริเวณรอบๆ ไว้สำหรับคนทั่วไปมาใช้พักผ่อน และเว้นบริเวณตรงกลางไว้สำหรับเดินตัดผ่านจากฝั่งศาลฎีกา มายังหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งรอบพื้นที่จะมีรั้วเหล็กสีเขียวสูงราว 1.7 เมตรอยู่รอบบริเวณ มีทางเข้าเป็นจุด และอนุญาตให้เข้าไปภายในเฉพาะ 05.00 – 22.00 น. (หากมีผู้บุกรุกโบราณสถานจะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. โบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504)
เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพมหานคร มองว่า สนามหลวงเป็นพื้นที่สำหรับพิธีกรรมทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากปี 2491 ที่มีตลาดนัดเกิดขึ้น ก็เริ่มมีคนจรจัด มีคนขายของ แม้จะย้ายไปอยู่ที่ “ตลาดนัดจตุจักร” ในปัจจุบันแล้ว แต่ปัญหานั้นก็ยังคงอยู่ การปรับปรุงครั้งใหญ่ครั้งนี้จึงตั้งใจเก็บรักษาไว้สำหรับพิธีกรรมตามประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลัก
“เราตั้งใจใช้เป็นพื้นที่จัดพิธีกรรมตามประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์ที่สวยงามเป็นหลัก และอนุญาตให้คนเข้ามาพักผ่อน มาปิคนิคในระหว่างวัน เป็นที่จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อที่จะเชิดหน้าชูตาของประเทศ และสามารถเป็นที่ที่ปราศรัย รวมตัวของประชาชนได้ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบ ปราศรัยเสร็จ ตอนเย็นก็ต้องเลิก ไม่ใช่ค้างคืน ก็เป็นที่ของประชาชน ที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นระเบียบ” โฆษกกรุงเทพมหานครกล่าว
ณ ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สนามหลวง” เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา เป็นเหตุให้รัฐเลือกที่จะเก็บโบราณสถานแห่งนี้เอาไว้อย่างทะนุถนอม หากแต่ชาตรี ประกิตนนทการ กลับมองว่าความเป็น “โบราณสถาน” ของ “สนามหลวง” มีความต่างกับของที่อื่น เพราะสถานที่แห่งนี้ยังมีการใช้งาน ยังมีความเคลื่อนไหว นั่นคือเป็น “โบราณสถานมีชีวิต”
การกำเนิดของท้องสนามหลวง หรือ “ทุ่งพระเมรุ”
เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ฝั่งเดียวนั้น พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะรังสรรค์กรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นปึกแผ่นเกรียงไกรเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา และสืบทอดโบราณราชประเพณีอันยิ่งใหญ่
มาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริว่าทุ่งพระเมรุเมื่อว่างเว้นจากการพระราชพิธีก็เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวทำนาหลวง ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าชื่อที่ผู้คนเรียกว่าทุ่งพระเมรุ ซึ่งนานๆจะมีงานพระเมรุครั้ง เป็นชื่อที่ฟังดูไม่ดี จึงได้พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” เมื่อ พ.ศ.2398 และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและประเพณีสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
พระราชพิธีพืชมงคล ณ สนามหลวงในสมัย ร.4จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขอบเขตพระบรมมหาราชวังขึ้น และเว้นพื้นที่ที่มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระหว่างพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง กับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าไว้ เพื่อสร้างพระเมรุมาศอันงามวิจิตรสำหรับประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุส่งเสด็จองค์สมมุติเทพและพระบรมวงศ์ชั้นสูงคืนสู่สวรรคาลัย และประกอบพระราชพิธีสำคัญของพระนคร
สำหรับพระเมรุมาศอันงามวิจิตรที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกบนพื้นที่แห่งนี้คือ พระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และยังโปรดเกล้าฯให้มีการถวายพระเกียรติยศเฉกเช่นการออกพระเมรุของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อครั้งกรุงเก่า ทั้งการบำเพ็ญพระราชกุสลและมหรสพนานาชนิด ในครั้งนั้นพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างหลั่งไหลมาร่วมงานพระราชพิธี และรื่นเริงกับมหรสพอันหลากหลายรายล้อมรอบพระเมรุ และได้ร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยความจงรักภักดี และนับแต่นั้นเป็นต้นมา พื้นที่หน้าพระบรมมหาราชวังจึงได้รับการขนานนามว่า “ทุ่งพระเมรุ”
ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ.2425 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี และงานแสดงสินค้านาเชอนนัล เอกฮิบิเชน (National Exhibition) ซึ่งถือเป็นการประกาศความเจริญของประเทศให้ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ ในปี พ.ศ.2440 ท้องสนามหลวงยังถูกใช้เป็นที่ตั้งเวทีขนาดใหญ่สำหรับการรับเสด็จ ร.5 เสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรก มาใน พ.ศ.2442 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนราชดำเนิน ปรับรูปลักษณ์ของท้องสนามหลวงให้เป็นวงรีสวยงามดังเช่นจัตุรัสเมืองในเมืองหลวงสำคัญๆของประเทศยุโรป และทรงให้ปลูกต้นมะขามเรียงคู่เป็น 2 แถวโดยรอบเพื่อความร่มรื่นสวยงาม และสื่อถึงความน่าเกรงขาม นอกจากนี้ยังใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่เล่นว่าวซึ่งมีมาตั้งแต่สมัย ร.4 แต่ไม่นิยมนัก ใช้เป็นสนามแข่งม้าแห่งแรกของสยาม และยังพระราชทานสนามหลวง สนามหน้าศาลสถิตบุติธรรม และสนามไชยให้เป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของสยามอีกด้วย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2455 ท้องสนามหลวงได้บทบาทใหม่ในการเป็นท้องพระโรงกลางแจ้ง สถานที่เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชของพระองค์เอง ซึ่งทำให้พสกนิกรชาวไทยได้แสดงความจงรักภักดีและชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดมีม้านั่งอยู่รอบบริเวณสนามหญ้าเขียวขจีทั้งยังโปรดเกล้าฯให้จัดพื้นที่สนามหลวงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการแข่งขันรถยนต์ครั้งแรกในสยาม และเมื่อกีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเหล่าทหารกรมกองต่างๆ จึงได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงสำหรับฝึกซ้อมฟุตบอลด้วย
มาในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2475 ทรงโปรดให้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เนื่องในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี มีการสวนสนาม พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแห่เหล่าทหาร และเสด็จออกมหาสมาคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพสกนิกร
ต่อมาเมื่อ ปี 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ หลายพื้นที่ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงท้องสนามหลวงก็ได้ถูกท่วมจนสามารถนำเรือออกมาพายได้ ถัดมาใน พ.ศ.2489 ในสมัยของรัชกาลที่ 8 พระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีสวนสนามของทหารสหประชาชาติ ณ ท้องสนามหลวงแห่งนี้
จนมาในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ในพ.ศ.2491 สนามหลวงถูกใช้เป็นตลาดนัดหลังบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตผลพวงจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และย้ายไปบริเวณพหลโยธินเมื่อ พ.ศ.2524 อันเป็นจุดกำเนิดของตลาดนัดจตุจักรในปัจจุบันใน พ.ศ.2525 ท้องสนามหลวงถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ต่อมาใน พ.ศ.2530 ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จนเมื่อ พ.ศ.2539 ท้องสนามหลวงก็ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และในปีเดียวกันก็ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ประกอบพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เนื่องในการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ซึ่งถือเป็นการครองราชย์สมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่อมาในปีพ.ศ.2551 สนามหลวงได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และถือเป็นงานพระราชพิธีสุดท้ายก่อนจะปิดสนามหลวงชั่วคราว
ถ้าเปรียบท้องสนามหลวงคือโรงละคร เรื่องราวในอดีตได้ถูกถ่ายทอดถูกแสดงตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนและเหตุการณ์ต่างๆตามหน้าประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่างๆได้ดำเนินไปมิได้มีวันหยุด โรงละครแห่งนี้ไม่เคยร้างผู้คน หลายๆเหตุการณ์ล้วนถูกเติมเต็มให้เป็นเรื่องราวที่น่าจดจำ บางเรื่องราวอาจมีร่องรอยของคราบน้ำตาและบางเรื่องราวถึงกับเสียเลือดและชีวิต วันเวลาได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปโรงละครแห่งนี้ได้ถูกปรับปรุงใหม่ภายใต้พื้นที่เดิม ความทรงจำอันเดิม แต่เหตุการณ์ใหม่ๆคงไม่เหมือน เพราะประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ปัจจุบันของคนในอดีตที่ได้ร่วมกันสร้างไว้.....
ไม่มีความเห็น