จิตตปัญญาเวชศึึกษา 176: ผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of Interest


ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อย่อยของสาระวิชาจริยศาสตร์การแพทย์ (medical ethics) มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งนัยยะที่มา ผลกระทบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางปฏิบัติ ในยุคแห่งการสื่อสารที่มีกลเม็ดเด็ดพรายของภาษา การชักจูงอารมณ์ และ "อารมณ์เป็นใหญ่" จนกระทั่งภาษาทาง ethics ที่เป็นภาษาของเหตุผล หลักการ ดูจะ "ยี้" ไม่ทันสมัย ไม่ถึงใจ

นิยามง่ายๆก็คือ ในสายวิชาชีพใดก็ตามจะมีวัตถุประสงค์หรือหลักการที่สำคัญที่สุด เรียกว่า "วัตถุประสงค์หลัก" และก็จะมีวัตถุประสงค์รองๆจำนวนหนึ่ง เมื่อไรก็ตามที่พฤติกรรม "ดูเหมือนจะทำเพื่อวัตถุประสงค์รองมากกว่าคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลัก" ก็จะเกิด "สภาวะมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน" เกิดขึ้น

การมีผลประโยชน์หลายประการจากกิจกรรมหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเสมอไป ตราบเท่าที่ primary objectives หรือวัตถุประสงค์หลัก ยังคงถูกเคารพและปฏิบัติตาม และการมีสภาวะผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีคนกระทำผิด เจตนาไม่ดี เจตนาเลวเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะแค่ "สามารถเกิดการรับรู้ไปในทางไม่ดี เกิดความสงสัยจากสาธารณชน" เท่านั้นเอง

ในสาขาอาชีพที่ "จำเป็น" ต้องคงไว้ด้วย "ความน่าเชื่อถือ" การจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนจึงสำคัญมาก ยิ่งจำเป็นต้องได้รับความเชื่อถือ ไว้วางใจเท่าไหร่ กระบวนการจัดการประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนยิ่งต้องชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น องค์กรหรือกลุ่มวิชาชีพที่พึ่งพา values อันนี้นั้น (ความน่าเชื่อถือ) ก็จะเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความยุติธรรม ความจริง ความดี ความปลอดภัย สุขภาวะของประชาชน ความมั่นคงของประเทศชาติ เป็นต้น 

อะไรบ้างล่ะ? ที่อยู่ในกลุ่มนี้

ศาลสถิตยุติธรรม ตำรวจทหาร องค์กรศาสนา ครู/อาจารย์ การศึกษา การแพทย์ เศรษฐกิจการคลัง จะว่าไปก็ครอบคลุมเยอะมาก จนแทบจะเรียกว่าเกือบทุกวงการ แต่หลักๆที่ต้องค่อนข้างจะ "เข้มข้น" คงจะเป็นที่กล่าวมา

ทำไม?

ก็เพราะว่า ถ้าคุณค่าด้านความน่าไว้วางใจขององค์กรเหล่านี้ถูกเคลือบแคลงเมื่อไร ก็จะเกิดผลเสียต่อสาธารณชนโดยรวมอย่างมากมาย

  • ซื้ออาวุธจากประเทศคู่สงคราม หรือมีปัญหาชายแดน
  • ตำรวจที่ได้รับเบี้ยพิเศษจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของชุมชนเท่านั้น
  • โรงเรียนที่มีอคติต่อความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งโดยเฉพาะ
  • วงการศาลที่รับ sponsor จากผู้บริจาคหลักโดยเฉพาะ
  • วงการสาธารณสุขที่รับ sponsor จากผู้ขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ
  • ฯลฯ

ถ้าหากองค์กรเหล่านี้ มีพฤติกรรมที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สาธารณชนก็อาจจะเกิดความสงสัยเคลือบแคลงว่า ไอ้ที่แนะนำ ไอ้ที่ทำๆ นั้น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือของส่วนตัวกันแน่ ก็อาจจะเกิดความไม่ร่วมมือกับคำแนะนำ หรือข้อปฏิบัติที่ออกมาจากองค์กรเหล่านี้ ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะถูกกระทบกระเทือน และมีผลเสียต่อสังคมได้มากมาย

"ความน่าเชื่อถือ" นั้นเป็น values เป็นคุณภาพที่ต้องทะนุถนอม 

เพราะว่า "สร้างยาก" และ "ทำลาย สูญเสียง่าย" และ "สร้างว่ายากแล้ว สร้างใหม่หลังเสียหายไป ยิ่งยากกว่าเป็นทวีคูณ" พูดง่ายๆก็คือ ต้องเน้น "ปกป้อง ป้องกัน" มากกว่า "ตามล้าง ตามเช็ด ตามแก้"

กระบวนการทำให้ความน่าเชื่อถือนั้นมีหลายวิธี ทั้งตรงไปตรงมาก็มี ทั้งโดยทางอ้อมก็มี เช่น

  1. declaration
  2. rule sets
  3. professional organization protocols
  4. public debate or hearing

Declaration หรือ การป่าวประกาศแสดงความโปร่งใส เพื่อให้สาธารณชนสามารถใช้วิจารณญานของตนเองได้อย่างเต็มที่ว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อดี นั่นคือการทำให้ "ที่มา และกระบวนการได้มา" ของสิ่งที่ทำ/แนะนำ นั้นชัดเจน ทำไมหมอถึงแนะนำยาตัวนี้ เพราะมันมีประโยชน์ดังนี้ๆ จากการศึกษาแบบนี้ๆ ในประชากรแบบไหน กี่คน ระเบียบการวิจัยแบบไหน และสามารถทำไปถึงขนาดประกาศว่างานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยาอะไร บริษัทเครื่องมือแพทย์อะไร เพื่อให้คนรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ถ้าจะเชื่อก็จะได้เชื่อจากการวิเคราะห์ใคร่ครวญข้อมูลที่โปร่งใสชัดเจน

เหมือนกับเราไม่มีอะไรต้องปกปิด เดินไปในตลาด ประกาศว่าฉันทำอย่างนี้เพราะอะไร เพราะอย่างนี้ๆ

declaration เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่หิริโอตตัปปะยังใช้การได้อยู่ ใช้ได้ในสังคมที่ความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาป ต่อความผิด ต่อความฉ้อฉลยังทำงานอยู่ เพราะพื้นฐานแล้ว มนุษย์อยากจะถูกยอมรับนับถือ

ห้ามใช้ ใช้ไม่ได้ หรือใช้ไม่ได้ดี ในสังคมที่สับสนในความดี ความงาม สังคมที่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ใช้ความง่ายเข้าตัดสินเรื่องราวต่างๆ ใช้ความดุดัน ใช้กำลังเข้าตัดสินความถูก/ผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ใช้ผลประโยชน์เข้าชี้นำพฤติกรรม

จะเห็นว่าในข้อสอง สาม และสี่นั้น ประการหนึ่งก็คือ เราควรจะหลีกเลี่ยงตัดสิน ฟันธงเรื่องนี้ ด้วยลำพังคนๆเดียว เพราะคนเดียวสามารถถูก "อารมณ์" เข้ากลบเกลือนเหตุผลที่แท้จริงไปได้ง่ายเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องนำเอา public concern หรือความกังวลของสาธารณชนเข้ามาด้วย ต้องการมุมมองที่กว้างเท่าไหร่ ครบทุกมุมได้เท่าไหร่ ยิ่งดี

มิฉะนั้น จะเกิด logic ประเภท

  • อืม.. ผมคิดว่าไม่ผิดนะ ดังนั้นไม่น่าจะผิด (ใช้ตัวเองเป็นหลัก)
  • อืม.. อาจารย์ผมว่าไม่ผิดนะ ดังนั้นไม่น่าจะผิด (ใช้ reference เดียวเป็นหลัก)
  • อืม.. ใครๆก็ทำนะ เราทำบ้างดิ (ไม่ได้ยึดหลัก "ความดี" แต่เอา selective examples เป็นหลัก)
  • อืม.. ไอ้คนที่ว่าเรามันเป็นคนไม่ดี เราไม่ต้องฟังมัน (ใช้ one us/ one them เป็นหลัก คือขอ "ตีตรา" ว่ามันเลวก่อน dehumanize มันก่อน)
  • อืม.. พูดยังงี้มันด่าเรานี่หว่า (ใช้อารมณ์ ใช้ความกลัวเป็นหลัก)
  • ฯลฯ

จริงๆแล้ว conflict of interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ทำให้กระจ่างเท่าไหร่ กลับเป็นการ "เพิ่ม credit เพิ่มความน่าเชื่อถือ" ให้แก่องค์กรนั้นๆมากขึ้นเท่านั้น องค์กรที่เน้นธรรมาภิบาลจะไม่มีปัญหาในการแก้ไขเรื่องนี้เลย และสามารถใช้กระบวนการมากมาย ทำให้เกิด transparency ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เข้ามาอธิบายให้เกิดความชัดเจนในสังคม ใช้เป็นโอกาสชี้นำสังคม และเพิ่มมุมมองด้าน integrity ขององค์กรและหลักจริยธรรมได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างง่ายๆ รัฐบาลมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ อาทิ มะเร็งปอด ปอดอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอุดตันเรื้อรัง เกิดภาระโรคต่อประเทศอย่างมาก ก็จะทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์ทุกภาคส่วนของสังคมในการแก้ปัญหาอันนี้ จะเชิญตัวแทนจากทุกวงการมานั่งล้อมวงคุยกันว่าจะทำยังไงดี มีทั้งหมอ พยาบาล ตัวแทนโรงพยาบาล ตัวแทนนักกฏหมาย ตัวแทนประกันชีวิต ประชาชน ตัวแทนผู้เจ็บป่วยโรคที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มาประชุมกัน ก็ต้องมีการเตรียมสถานที่ หาทุนค่าเดินทางต่างๆมากมาย ใช้เงินไม่น้อย แต่ปรากฏว่างานประชุมครั้งนี้ในที่สุด ได้รับ sponsor จากบริษัทขาบบุหรี่ข้ามชาติ ใหญ่ระดับโลก

จะเป็นยังไง?

  • นโยบายที่ออกมาจากโปร่งใส น่าเชื่อถือหรือไม่?
  • จะมีคนสงสัยว่าสิ่งที่ออกมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หรือ compromize ให้บริษัทบุหรี่ที่ออกเงินให้หรือไม่
  • มีผลกระทบอย่างไรต่อภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร ตัวแทน ที่มาร่วมงานในครั้งนี้บ้าง?
  • มีผลกระทบอย่างไรต่อ trust-worthiness ขององค์กร ตัวแทน และวิชาชีพบ้าง?
  • เป็นต้น

ในปัจจุบันเรื่อง conflict of interest จะฉิวเฉียดกับวิชาชีพที่ว่านี้มากขึ้น ในวงการการตลาด (Marketing) มีเรื่อง Corperate-Social Responsibility (CSR) ที่กำลังแพร่หลาย บริษัทใหญ่ๆพบว่าการมี association ระหว่างชื่อบริษัทและความดีต่างๆในสังคม เป็นอะไรที่จะกลับมาเป็น "ต้นทุนสำคัญ" ขององค์กรได้อย่างยั่งยืนและทรงพลัง เรียกว่าเป็น​ "การลงทุนที่ได้ผลคุ้มค่า" นั่นเอง

ในที่นี่จะพบว่าในตลาด จะมีสินค้าบางชนิด ที่ไม่ได้จัดอยู่ใน basic needs ของชีวิต ได้แก่ ของฟุ่มเฟือย ของที่ส่งเสริม vanity หรือกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงสินค้าที่ตัวมันเองส่งผลลบได้ค่อนข้างมาก ในกลุ่มหลังๆจะมีประเด็นเรื่อง "ภาพลักษณ์" เยอะกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้นอะไรก็ตามที่จะมาแก้ไขเรื่องนี้ ก็จะเป็นผลดีมากต่อยอดขายและการหาผลกำไร CSR ก็จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่แก้ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ได้โดยตรง

ถ้าจะเล่นเรื่อง "ภาพลักษณ์" จะแก้เรื่องภาพลักษณ์ที่ไม่งดงาม ก็ต้องเอาอะไรที่มีผลตรงกันข้ามมาเป็น presenters เราอาจจะจำได้การโฆษณาที่ค่อนข้างจะ "เกิน" รสนิยม เกินงาม เช่น เอาครูมาโฆษณาขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เอาหมอฟันมาโฆษณาแปรงสีฟัน ยาสีฟัน หรือเอาหมอมาขายตรงอาหารเสริม ยาบำรุง เพราะบุคคลเหล่านี้ ไม่ได้พามาแค่ตัวตนของเขา แต่มีคราบตัวแทนวิชาชีพที่ดี ที่มีคุณค่า น่าเชื่อถือ ห้อยติดมาด้วย คงจะไม่มีอะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาภาพลักษณ์ด้านตัวทำลายสุขภาพได้ดีไปกว่าเอาแพทย์มาแก้ตัวให้ ก็เป็น strategy white-wash  ที่ทรงพลัง

สิ่งที่คนในวงการวิชาชีพต้องระมัดระวังให้ดีก็คือ ในขณะที่องค์กรสามารถรับเงินบริจาคต่างๆ for good cause ที่เราจำเป็นต้องทำ เราชื่นชม "การบริจาค" แค่ไหนก็ตาม เรายังไม่ต้องเป็น defender of characters ของคนบริจาคว่าเป็น "คนดี" ขนาดไหนในสังคม เพราะการเป็นคนดีนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการมีเงินบริจาค และเงินบริจาคไม่สามารถจะซื้อความเป็นคนดี หรือซื้อความดีได้ ความดีเป็นการลงทุนโดยพฤติกรรมต่อสังคมเท่านั้น ไม่ได้มีป้ายราคา หรือ threshold ว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ องค์กรไหนจึงได้ certificate of good guy ไปอย่างง่ายๆ

"ทาน" คือ การให้ ถ้าเพื่อวัตถุประสงค์คือ "ได้บุญ" บุญนั้นคือจิตใจผ่องใสเบาสบาย ซึ่งผู้ใดที่บริจาคเงิน for good cause ก็จะได้ทันทีทันใดที่บริจาคเงิน เดินออกมาจากโต๊ะบริจาคอิ่มบุญไปในทันที

ในสังคมเรา มีการเชื่อมโยงการบริจาคเข้ากับเรื่องอื่นๆ รวมทั้ง status ทางสังคม มีจัด ranking อันนี้เริ่มทำให้เกิดความ blur ขึ้นทันที เพราะนอกจาก "บุญ" แล้ว ยังเกิด incentive อื่นๆแก่ผู้ให้อีก และถ้า incentive นี้ เกิดหวนกลับไปเป็น profit ได้ด้วย การบริจาคก็จะไม่ต่างอะไรกับการลงทุนชนิดหนึ่งที่จะมี return of what invested กลับมาได้ด้วย

นี่คือ "ประเด็นทางจริยธรรม" ที่แต่ละองค์กรวิชาชีพ น่าจะลอง exercise คิดวิเคราะห์และเผยแพร่หาข้อสรุปที่เป็น win/win/win สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หมายเลขบันทึก: 462898เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2011 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • อ่านบทความของอาจารย์ แล้วติดใจตรง declaration เป็นการเพิ่ม credit พอเห็นภาพได้ในระดับองค์กรคะ ขณะเดียวกัน ในระดับส่วนตัว เช่นวิจารณญาณของแพทย์ ก็น่าคิด น่าจะเป็นการป้องกันปัญหาฟ้องร้องได้ทางหนึ่ง หากแพทย์ชี้แจงข้อมูล (ว่าอาจไม่ได้ผล 100%) ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ กับผู้ป่วยเสมอ
  • สำหรับการทำดี แล้วนำเสนอสื่อมวลชน เพื่อขอ certificate of good guy หนูมองกลางๆ ว่า หากชื่นชม ณ ปัจจุบันขณะที่เขาให้ทาน ก็เป็นการ exercise appreciation (ซึ่งหนูรู้สึกมันแล้งๆ พิกลในสังคมเรา)  เพียงแต่ไม่ยึดติด ตัดสินด้วยมิติเดียวคะ

ชมคนนั้นไม่ยากครับ ถ้าเราชมที่ "พฤติกรรม" ไม่ได้ชมไปที่ตัวบุคคล

เหมือนศึกษาธรรมะเพื่อนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ใส่พานบูชา ถ้าหากเราทำเช่นนี้ พฤติกรรมที่เราชื่นชอบสักวันหนึ่งก็อาจจะกลับกลายเป็นสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราปฏิบัติเอง

ปัญหามันจะไปอยู่ที่แทนที่เราจะชมพฤติกรรม การทำดี เราดันไปงงงวย ชมไปที่ตัวบุคคลมากเกินไป คิดว่า "ความดี" ติดอยู่ที่ตัวบุุคล อันที่จริงความดีอยู่ที่วัตรปฏิบัตินั้นๆต่างหาก เราทราบแต่วัตรที่ดี ทำให้เราชม แต่คนๆเดียวกันนี้อาจจะมีวัตรอื่นๆที่เราไม่ทราบ และอาจจะเป็นวัตรที่ไม่ค่อยดี ไปจนถึงเลวร้ายก็ได้ เราก็ควรจะแยกแยะว่า วัตรไหนที่น่าชื่นชม และวัตรไหนที่ไม่ดี ให้ได้ ให้ชัดเจน คงจะไม่ด่วนตัดสินคนเพียงเพราะเขาให้เงินเรามาสิบล้าน (แต่ผลจากการทำเช่นนั้น เขาได้คืนไปยี่สิบล้าน!)

ถ้าเราฝึกทำเช่นนี้บ่อยๆ เราจะเข้าใจในธรรมะ ไม่ติดกับดักพระพุทธรูป สัญญลักษณ์ใดๆ

เมื่อวานคุยกันว่า

บุคคลหนึ่งทำงานดีมาก จนมีโอกาสได้ถูกส่งชื่อไปพิจารณารางวัลที่ทรงเกียรติ แต่คนนี้มีประวัติว่า เป็น second wief

อาจารย์มองว่า เธอสมควรได้รับรางวัลหรือไม่

พี่แก้วครับ

ตัวผมเองมอง "รางวัล" เป็นคนละเรื่องกับ "ความดี" ส่วนเรื่อง "ทรงเกียรติ" นี่ยิ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลยิ่งขึ้นไปอีก

"รางวัล" เป็นสิ่งสมมติ ดังนั้นถ้าเราจะให้สิ่งสมมติกับใคร ก็ต้องสมมติ criteria ขึ้นมาก่อน คนสมมติก็มนุษย์ขี้เหม็นธรรมดาๆเรานี่แหละครับ ซึ่งทำให้เราอย่าไปคาดหวังอะไรสูงมากกับ criteria เพราะมันมีแนวโน้มและมีสิทธิ์ที่จะเป็นไปได้ทุกอย่างที่คนมีหน้าที่สมมติ จะสมมติออกมา

และใครอยากจะได้รางวัลนี้จริงๆ สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ เราอยากจะได้สิ่งที่เขาสมมติขึ้น ทำใจได้แล้ว ก็เล่นไปตาม imagined rules ที่ว่านี้

ผมจึงไม่เคยคิดที่จะไปคิดว่าใครควร/ไม่ควรได้รางวัล ถ้าระบบการสมมตินั้นๆไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับชีวิตของผมโดยตรง (ซึ่งค่อนข้างยากที่จะมี) เดี๋ยวนี้รางวัล miss world, miss galaxy, miss universe ก็เริ่มเพิ่ม (สมมติ) rules เช่นห้ามถ่ายโป๊ ถ่ายหวิว ฯลฯ สุดแล้วแต่ vanity ของคนตั้ง criteria ที่ไม่มีอะไรนอกเหนือจากคิดว่าเพิ่มไปแล้ว มันจะเสริมบารมีคนตั้งกฎขึ้นมาเท่านั้นเอง ว่าชั้นคิดถึงส่วนรวม คิดถึงความดี ก็ว่ากันไป

ในกรณีที่ถามมา ก็ต้องไปถามคนที่มีสิทธิตั้งกฎ เขาว่ายังไงก็ว่าไป เพราะรางวัลเป็นของเขา เขาอยากจะมี condition ตาเหล่หนึ่งข้าง หน้าเหลี่ยม หรือว่าต้องทึ่มๆ ก็เป็นสิทธิของเขาอย่างสิ้นเชิง คนอยากจะได้รางวัลของเขาก็ต้อง play his rule เท่านั้นเอง 

ไม่งั้นจะเหมือนกรณี DTAC ที่ขายโทรศัพท์ บอกให้เข้าคิว คนไปถึงทีหลังบอกว่าคิวนั้นไม่นับ ต้องเอาคิวที่เขาเข้าใหม่นี่ อันนี้มันกลับ work ในเมืองไทยนะ เมืองอื่นไม่ work อยากจะได้ของๆเขา ดันไม่เคารพกฎ ไม่ฟัง criteria ก็ทุกข์ไปเท่านั้น

คงจะต้องอ้างอิงจริยธรรมของโคลเบิร์กนะครับ  ทั้งหมดมีหลายขั้น ผมจำไม่ได้แล้ว  แต่สรุปประมาณเริ่มตั้งแต่การพัฒนาจริยธรรมตั้งแต่ขั้นหวังรางวัล หลีกเลี่ยงการลงโทษ    ทำตามสังคม   จนถึง การมีจริยธรรมสากล (ผมยกมาอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง)

   คือ "ประเด็นทางจริยธรรม" ที่แต่ละองค์กรวิชาชีพ น่าจะลอง exercise คิดวิเคราะห์และเผยแพร่หาข้อสรุปที่เป็น win/win/win สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

    ผมคิดว่ายังงี้ครับ

    ๑.  ในระดับองค์กร  น่าจะต้องกำหนดประเด็นจริยธรรมขององค์กรเอาไว้เลย  เป็นค่านิยมให้ทุกคน  รู้ เข้าใจ  และ  นำไปปฏิบัติ  เช่น  ในโรงเรียน  อาจจะกำหนดไว้ว่า  ครูทุกคน ต้องสอนให้เต็มเวลา  เต็มหลักสูตร

    ๒. ทีนี้  ถ้าจะมีการให้รางวัล  มีอำนาจ  มีผลประโยชน์  หรือ มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ  ซึ่งคิดว่ายังไงก็ต้องมี  เพราะอยู่ในระบบอำนาจผลประโยชน์   ถ้าจะมีก็คงจะต้องให้มีขึ้นมาได้  ภายใต้พื้นฐานที่ว่า  คุณครูต้องสอนเต็มเวลา  เต็มหลักสูตร  ก่อน  นั่นคือ  จะต้องไม่ไปทำลายจริยธรรม ที่ว่า เต็มเวลา  เต็มหลักสูตร

      สรุป  จริยธรรมหลัก คือ เต็มเวลาเต็มหลักสูตร   ส่วนผลประโยชน์ทับซ้อน ( เช่น  สอนพิเศษ   ขายประกัน ) จะต้องเข้ามานอกเหนือจากนี้  เป็นคนละส่วนกัน  หรือ แยกส่วนกัน

 

 

ตามมาขอบคุณค่ะ

พี่สงสัยอะไร มักจะได้คำตอบดีดีจากอาจารย์เสมอ

เพราะว่า "สร้างยาก" และ "ทำลาย สูญเสียง่าย" และ "สร้างว่ายากแล้ว สร้างใหม่หลังเสียหายไป ยิ่งยากกว่าเป็นทวีคูณ" พูดง่ายๆก็คือ ต้องเน้น "ปกป้อง ป้องกัน" มากกว่า "ตามล้าง ตามเช็ด ตามแก้"

สิ่งควรสร้างวางระบบระบอบไว้               ถูกจริงใช่ปกป้องกรองสิ่งเสีย

หลักการชาติผิดพลาดไกลจึงไม่เคลียร์   ทำง่อยเปลี้ยเสียระบอบไร้ชอบธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท