งานเดือนสิบที่เมืองคอน


การทำบุญเดือนสิบคือการจัดหมรับ เป็นเตรียมอาหารเพื่อนำไปถวายพระ และอุทิศส่วนกุศลให่แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

                        ในช่วงนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชมีงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่คือ ประเพณีงานเดือนสืบ  วันนี้ ( 26 กันยายน 2554 )  โรงเรียนจะปิดครึ่งวันให้เด็กๆได้ไปแจกจ่ายขนมเดือนสิบให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ   พ่อแม่จะพาเด็กๆไปกราบไหว้ญาติพี่น้องที่ใกล้บ้านและห่างไกล  ส่วนใหญ่จะพาไปบ้านปู่-ย่า  ตา-ยาย  ลุงๆป้า น้าอา  ฯลฯ 

                      ในแต่ละอำเภอก็จะมีการจัดขบวนรถแห่หมรับ  มีสาวงามประจำอำเภอแต่งตัวสวยงาม   นั่งรถแห่ ไปรอบๆเมือง    มีการประกวดขบวนรถแห่ทุกอำเภอ     ในขบวนรถจะนำขนมเดือนสิบ  และดอกไม้ต่างๆมาประดับประดา สวยงาม  ยากที่จะบรรยาย 

          ขนมเดือนสิบ  ประกอบไปด้วยขนม 5 อย่าง 

1. ขนมพอง  เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติทางพุทธศาสนา

2. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม

3. ขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

4. ขนมบ้าำ เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้าสำหรับผู้ล่วงลับไปแล้วใช้เล่นในวันสงกรานต์

5. ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ยไว้ใช้จ่าย

 

   ประเพณีชิงเปรต ลูกหลานแย่งชิงขนมอย่างสนุกสนาน

                      วันนี้หลานสาว  ของผู้เขียนได้ร่วมขบวนการแห่ของอำเภอลานสกาด้วย  จึงนำภาพบางส่วน มาให้ผู้อ่านได้ชมด้วยค่ะ


ความเป็นมาของงานเดือนสิบ

                ความเป็นมาของงานเทศกาลเดือนสิบ  “งานเทศกาลเดือนสิบ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี  พ.ศ. 2466 ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช  เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการ ซึ่งชำรุดมาก ในช่วงนั้น พระภัทรนาวิก  จำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร  และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการได้ร่วมกันจัดงานประจำปี โดยกำหนดงานทำบุญเดือนสิบเป็นงานประจำปี  พร้อมมีการออกร้าน  และมหรสพต่างๆ ได้กำหนดระยะเวลาการจัดงาน 10 วัน 10 คืน   กระทั่งถึงปี  พ.ศ. 2535  จังหวัดฯ ได้ย้ายสถานที่จัดงานไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  84 (ทุ่งท่าลาด)  ซึ่งมีบริเวณกว้าง และมีการจัดตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม   รวมทั้งได้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานไปจากเดิมหลายประการ

    ความสำคัญของประเพณีสารทเดือนสิบ  เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์โดยถือเป็นคติว่าปลายเดือนสิบของแต่ละปี  เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล  เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเกษตร  ชื่นชมยินดีในพืชของตน  ประกอบด้วยเชื่อกันว่า  ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต”  จะถูกปล่อยขึ้นมาจากนรก  เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่  ปู่ย่า  ตายาย พี่น้อง  ลูกหลานที่ล่วงลับไป  โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด  เรียกว่า  “ตั้งเปรต”  ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย  ซึ่งเรื่องนี้ได้พัฒนามาเป็น  “การชิงเปรต”  ในเวลาต่อมา

    หัวใจของการทำบุญเดือนสิบ คือ การจัดหฺมฺรับ  เป็นการเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะ เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเดือนสิบ  เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน  หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  ได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ  หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงเวลาหนึ่ง  และต้องถึงเวลากลับไปใช้กรรมตามเดิม  ฉะนั้น  บรรดาลูกหลานก็จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้  อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่องแล้วบรรจงจัดลงภาชนะ  ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ให้สวยงาม  เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้บรรพบุรุษ  ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก  ความผูกพัน  และความกตัญญู กล่าวคือ   วันหฺมฺรับเล็ก  ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ  เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน  ซึ่งลูกหลานจะจัดสำหรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดเป็นการต้อนรับ  บางท้องถิ่นเรียกว่า  “วันรับตายาย” วันจ่าย ตรงกับวันแรม 13 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่เตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ  โดยไปตลาดเพื่อจับจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ   วันยกหฺมฺรับ  ตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม  หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านใกล้เรือนเคียง ไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้   วันหฺมฺรับใหญ่ หรือวันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ  เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่  ทำพิธีบังสุกุล  อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน  และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล  ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้  ขณะเดียวกันก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา  การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน   สะดวกในการจัดเก็บรักษา   นิยมจัดในภาชนะกระบุง  กะละมัง  ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง  ตามด้วยเรื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว  ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหาร แห้ง  หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน  ส่วนหัวใจของหฺมฺรับ ที่เป็นเอกลักษณ์  ขาดไม่ได้มี ๕ อย่าง (บางแห่งมี๖อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง  ลักษณะของขนม เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น  และควรมีสำหรับเปรต  คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง (ไข่ปลา) และลาลอยมัน

    การ ตั้งเปรต ในการทำบุญสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะทำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆของวัด ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ หรือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม และอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต” การ ชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน

        ปีนี้มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน-30 กันยายน 2554    วันนี้เป็นวันที่เด็กจะนำขนมเดือนสิบไปแจกจ่ายและมอบให้กับญาติผู้ใหญ่   พรุ่งนี้เป็นวันรวมญาติ  ทุกครอบครัวจะร่วมกันไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน  เมื่อเสร็จจากพิธีพระ  ก็จะชวนกันไปกราบไหว้พระบรมธาตุเมืองนคร  และไปเที่ยวชมงานที่ทุ่งท่าลาด  จะมีมหรสพมากมาย  หนังกลางแปลง  หนังตะลุง  มโนราห์  เวทีประกวดนางงาม  แต่สิ่งที่เพลิดเพลินคือการเดินชมและจับจ่ายสินค้าในเมือง    เด็กๆชอบการนั่งชิงช้าสวรรค์  ม้าหมุน  ยิงปืน  ฯลฯ  เป็นความฝันของเด็กทุกยุคทุกสมัย   ประทับใจไม่รู้ลืมกับการเที่ยวงานเดือนสิบบ้านเรา

 


หมายเลขบันทึก: 462771เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะพี่ครูkasorn

  • สวยงามมากค่ะพี่ อยากไปดูของจริงจังเลย
  • คิดถึงเสมอนะคะ

  อยากชวนน้อง และทุกคน มาเที่ยวจัง

          มันเป็นประเพณีที่ชาวคอนฯภาคภูมิใจค่ะ

          วันงานยังมีอีกหลายวัน ถ้าว่างมานะคะ

 

ขอบคุณค่ะ มาชมประเพณีงานบุญของบ้านเกิดเมืองบิดรของพี่ใหญ่ค่ะ

  • เป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม..ที่คนรุ่นหลังควรยึดถือต่อๆไปค่ะพี่ครู

    อยากชวนพี่ใหญ่มารำลึกความหลังสักครั้ง

            ประเพณีนี้สืบทอดต่อกันมาช้านาน

           รุ่นเราต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานค่ะพี่

ค่ะน้องครูกาญจน์ เป็นหน้าที่ของคนรุ่นพี่ที่ต้องช่วยกันส่งเสริมประเพณีที่ดีงาม

         และเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองคอนที่ต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืนตลอดไปค่ะ

วันนี้คนไทยเรียก"สารทไทย"ค่ะ

ขนมที่ทำและนำไปวัดคือ"กระยาสารท"

  ประเพณีบ้านพี่ขนมที่นำไปวัดเรียกว่าขนมเดือนสิบประกอบด้วยขนม 5 อย่างคือ ขนมพอง  ขนมลา ขนมไข่ปลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ค่ะ

 

   ยินดีต้อนรับนะคะ 

   มีเวลาอีกหลายวัน  หลังจากวันงานครบ 10 วันแล้ว ยังสนุกกับการจับจ่าย อีก 2-3 วันค่ะ

  • งานเดือนสิบที่เมืองคอน เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้วนะครับ 
  • ชอบใจตรง..เป็นการช่วยจัดเตรียมเสบียงให้กับญาติพี่น้อง เพื่อนำกลับไปใช้ในนรกภูมิ ประเพณีสำคัญ เก่าแก่ ที่อิงอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตคนเราดีครับ 
  • ขอบคุณความรู้ครับพี่..

    เป็นประเพณีของท้องถิ่น  ใครไม่ได้ทำบุญเขาจะกังวลใจว่าญาติพี่น้องที่ล่วงลับเขา(ยมบาลมั่ง) เขาปล่อยให้มาพบญาติพี่น้อง ...แล้วไม่พบใคร  กลัวว่าจะอดอยากไม่สุขสบาย  ทุกคนจึงต้องไปทำบุญส่งบุญกุศลไปให้เขา  ... ที่สำคัญญาติพี่น้องจะกลับมาอยู่กันครบหน้า  ใครมีเขยมีสะใภ้  มีลูกมีหลานก็จะนำมาให้รู้จักญาติพี่น้องและกับคนอื่นๆในหมู่บ้านค่ะ

ได้ความรู้ดีจังคะ เคยสงสัยว่า ทำไมขนมลา ถึงเป็นแผ่นกว้างๆ :-)

ขอบคุณที่มาเป็นกำลังใจค่ะ

  • น่าชื่นชมชาวเมืองคอนที่ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามอย่างดี
  • ขอบพระคุณสำหรับบันทึกประสบการณ์ดี ๆ ที่น่ารู้ค่ะ

            คนรุ่นก่อนเขาสร้างสมไว้   คนรุ่นพี่ต้องรักษาประเพณีนี้ไว้ให้ลูกหลานต่อไป

          ขอบคุณที่เป็นกำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะพี่krusorn

ได้ความรู้ ขนมทุกอย่างล้วนมีความหมายนะค่ะ

เสียดายที่อยู่ไกลอยากมีส่วนร่วมจัง น่าประทับใจ ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ ภาพสวยมากค่ะ

สวัสดีครับ  ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่นำมาแบ่งปัน...ครับ

Ico48   ขอบคุณค่ะน้องถาวร  ที่มาเยี่ยมค่ะ

           ขนมทุกชนิดมีความหมายเพื่อให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว

          อยู่ในปรโลกอย่างมีความสุข  เป็นความเชื่อที่ถ่ายทอดและปลูกฝันกันมาโดยตลอด

            วันนี้จึงเป็นที่ลูกหลานถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูด้วยค่ะ

   ขอบคุณที่แวะมาเป็นกำลังใจค่ะ  ท่าน"หนุ่มกร "

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท