กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๓๖) : การสื่อสารที่นำไปสู่การศึกษา (๒)


 

คุณครูปราง – ปรางอุษา  ตันติอนันท์กุล  หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒  เล่าว่า ตอนที่เริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่เคยมีความรู้มาก่อน แต่ก็เชื่อมั่นว่าน่าจะทำได้  ช่วงแรกรู้สึกงงๆ บ้างแต่ก็ได้คุณครูปาดมาช่วยในเรื่องแนวความคิด และช่วยลำดับทิศทางการเดินด้วย รวมถึงการช่วยจัดวาระว่านี่คือวาระที่ทุกคนจะเดินเรื่องนี้ไปด้วยกัน  

 

จากนั้นก็มีการวางจังหวะในการให้ in put ครูอย่างเหมาะสม  เพื่อให้เขาได้เรียนรู้แบบไม่คุกคาม มีการติดตามการทำงานทุกสัปดาห์ จัดเวลา วิธีการ ให้มีความเป็นไปได้ ทั้งหมดนี้การจัดการเวลายากที่สุดเพราะต้องสัมพันธ์กับเพื่อนที่จะมาเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม  ตั้งแต่ขั้นการวางแผน ขั้นการเข้าสังเกตการณ์ในชั้นเรียน และขั้นของการสะท้อนกัน ที่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะจะก่อประโยชน์มาก เมื่อคนทำเกิดความสุข ความสุขก็จะกระจายไปในกลุ่มด้วย

 

คุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์  ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒  เล่าว่า ได้เข้ามาช่วยจัดระบบ logistic ของครูช่วงชั้นที่ ๒ ให้ความคิดที่วางแผนไว้เกิดการปฏิบัติได้จริงแรกซึ่งทีเดียวโครงการนี้เริ่มจากการสร้างความเข้าใจในกลุ่มครูแกนนำคือครูวิชาการก่อน

 

เริ่มจากเชิญอาจารย์ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาบรรยายกึ่งสาธิตที่โรงเรียน จากนั้นก็ไปเข้าร่วมการสัมมนาวิชาการที่เชียงใหม่กัน เพื่อให้กลุ่มครูแกนนำเกิดความเข้าใจในกระบวนการการจัดชั้นเรียนแบบเปิด

 

เมื่อได้แกนนำที่เข้าใจแล้วก็มาช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ขั้นทดลองในชั้นเรียนที่ตนลงไปสอน จากนั้นก็ออกแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทำการสาธิตให้ครูคนอื่นๆ เข้าใจในแนวทาง โดยตั้งเป้าหมายไว้กับหน่วยวิชาที่พร้อมในการนำร่องก่อน

 

ตอนแรกที่เริ่มทำคิดว่าในการจัดโครงสร้างเวลาให้ครูหลายคนมีเวลาว่างตรงกันต้องยากแน่  ต้องสละทุกอย่างให้ครูสามารถเข้าสังเกตกันได้  เหมือนเล่น Sudoku ที่มีเงื่อนมากมาย  ตอนที่จัดตารางเสร็จทีแรกคิดว่าดีแล้ว พอเอาไปให้แต่ละวิชาดู ก็ต้องเปลี่ยนกันอีก เพราะมีเงื่อนไขเพิ่ม  การทำงานนี้เงื่อนไขความสำเร็จอยู่ที่ใจเราที่จะต้องเปิดกว้าง รับเอาคำแนะนำไปปรับปรุงได้

 

ก่อนหน้านี้เคยเศร้าใจเมื่อมีครูมาสะท้อนว่าทำไมตารางสอนของครูอีกคนดีกว่า แต่เมื่อย้อนถามตัวเองว่าเราได้พยายามทำเพื่อเด็กให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ก็ได้คำตอบมาว่าถ้าเราทำทุกอย่างเพื่อเด็กเราก็จะมั่นคง

 

คุณครูน้อย – จันทนา  เภกะสุต  หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๑  เล่าว่า ปีการศึกษานี้ที่ช่วงชั้นมีครูใหม่ ๑๘ คน  เรื่องใหม่ที่นำเข้ามาจึงดำเนินไปได้ง่าย  เพราะครูยังไม่มีความคุ้นชินเดิมอย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อน ส่วนครูเก่าก็มีอาการกังวลอยู่บ้างเพราะต้องใช้เวลาเพิ่มมากกว่าปกติ  ตอนนี้เริ่มทำวิชานำร่องคือวิชาคณิตศาสตร์ และมานุษกับโลก  เหตุการณ์ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าถ้าผู้นำเชื่อ และมีท่าทีที่มั่นคง ก็จะมีการเติบโตที่ดีให้เห็น  

 

ครูแจ๊ด – พัชนา  มหพันธ์  รองผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาประทีป  ถามว่า เท่าที่ได้ไปเห็นห้องเรียนชั้น ป.๑  พบว่าเด็กสามารถสื่อสารอธิบายสิ่งที่คิดออกมาได้ดีมาก  ไม่ทราบว่าโรงเรียนมีวิธีการอย่างไร

 

คุณครูอ้อ – วนิดา  สายทองอินทร์  คุณครูหัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย  ตอบว่า ที่เพลินพัฒนาทุกวิชาส่งเสริมกันหมด  กระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นเปิดโอกาสให้เด็กได้นำเสนอความคิด ความเข้าใจของตนออกมา

 

เมื่อครูได้ยิน และเข้าใจสิ่งที่เด็กพูดแล้วหากไม่ได้แก้ไขให้เขาพูดให้ถูกต้อง จะทำให้เด็กกลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง แล้วเพื่อนก็ไม่ฟังเพื่อน เพราะเพื่อนพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง แต่จะรอฟังครูอธิบายแทน  นอกจากนี้ก็จะส่งเสริมให้ให้เด็กได้ใช้ภาษาทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน  และไม่ออมคำศัพท์ที่ครูใช้กับเด็ก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ความหมายไปในการใช้จริง

 

ครูน้อย – จันทนา  เสริมว่า ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้  ทางช่วงชั้นที่ ๑เริ่มปลูกฝังจากการสร้างเด็กให้รักการอ่าน จึงทำมุมอ่านหนังสือกับเพื่อนและครูในบรรยากาศสบายๆ ทำให้เขาอยากมาโรงเรียนแต่เช้า  และจะเลือกหนังสือที่เหมาะกับพัฒนาการให้เด็กอ่าน  มีกิจกรรมสนับสนุนให้เขาเข้าไปอ่านหนังสือ

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีกรรมหน้าเสาธง หลังเคารพธงชาติจะมีการร้องเพลงที่มีความหมายดีๆ ด้วยกันเพื่อให้เด็กได้ซึมซับถ้อยคำดีๆ ที่มีความงามทางภาษา  ที่สำคัญคือต้องฝึกคุณครูให้เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเมื่อเด็กสังเกตเห็นอะไร เขาก็จะพูดออกมา ถ้าเขาพูดได้ถูกแล้วครูต้องช่วยย้ำให้เกิดความมั่นใจ

 

คุณครูอ้อน – บุปผาสวัสดิ์  รัชชตาตะนันท์  ผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี  ถามว่าคุณครูสอนสัปดาห์ละกี่คาบ 

 

คุณครูปาด – ศีลวัต  ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนเพลินพัฒนา ตอบว่า  ประมาณ ๑๒ – ๑๔ คาบต่อสัปดาห์  เพื่อที่ครูจะมีเวลาได้พัฒนาตนเอง และดูแลเด็ก  การออกแบบกระบวนการเรียนรู้จัดทำเป็นหน่วยวิชา  มีการจัดช่วงเวลาให้นำเสนองาน และประมวลความรู้ในโครงงาน “ ชื่นใจ...ได้เรียนรู้”

 

โครงงานดังกล่าวจะมีวิชาประยุกต์เป็นแกนนำ โดยครูหน่วยวิชาอื่นจะให้งานที่สอดคล้องกัน และมาออกแบบร่วมกันว่างานของแต่ละวิชาจะสานกันอย่างไร  เท่าที่ได้ทำไป OA เป็นการเรียนเชิงชั้นเรียน ที่ไม่มีการเรียนเชิงชีวิต คิดว่าการทำโครงงานจะช่วยผสานได้

 

อาจารย์วิทิต รัชชตาตะนันท์  ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาประทีป สะท้อนว่าประทับใจคุณครูที่บอกว่า ทำงานมา ๔ ปี ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเท่ากับการได้มาทำ Open Class ๑ สัปดาห์ คิดว่ากระบวนการที่ทำอยู่นี้เป็นการพัฒนาครูให้ได้เรียนรู้ และเป็นการเปิดอัตตาตัวตนของครูไปด้วย เป็นกระบวนการที่ดีมาก 

 

หมายเลขบันทึก: 462743เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท