กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๓๕) : การสื่อสารที่นำไปสู่การศึกษา (๑)


 

วันที่  ๒๓  กันยายน ๕๔  ท่านชยสาโร ภิกขุ และพี่ๆ เพื่อนๆ จากโรงเรียนทอสีและโรงเรียนปัญญาประทีป มาเยี่ยมโรงเรียนเพลินพัฒนาเพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องของการทำ Lesson Study และ Open Approach ที่ทางโรงเรียนเริ่มทำกันไปได้พักใหญ่

 

กิจกรรม “การเปิดชั้นเรียน” เพื่อให้เพื่อนครูได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหน่วยวิชามานุษกับโลก (ชั้น ๑) หน่วยวิชาคณิตศาสตร์ (ชั้น ๒ และชั้น ๔) และหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย (ชั้น ๖) ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การเปิดชั้นเรียนเป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มากมาย ทั้งกับตัวครูผู้เป็นเจ้าของชั้นเรียนนั้น และกับกลุ่มเพื่อนที่เข้าไปร่วมเรียนรู้

 

กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนที่กล่าวถึง เป็นการขออาสาสมัครครูที่พร้อมจะเปิดชั้นเรียนให้เพื่อนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสะท้อนตั้งแต่ขั้นของการตั้งโจทย์สถานการณ์เปิดที่จะนำไปสู่กระบวนเรียนรู้เรียนแบบเปิด  การเข้าสังเกตการณ์การเรียนรู้ในชั้นเรียนของเพื่อนที่เข้าไปร่วมคิดแผน และการสะท้อนผล และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่การเรียนการสอนจบลง กระบวนการนี้จะทำต่อเนื่องกันไป ๓ – ๖ รอบ

 

วันนี้จึงเป็นโอกาสที่คุณครูเจ้าของห้องจะมาแบ่งปันการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

 

คุณครูนุ่น – พรพิมล  เกษมโอภาส  คุณครูหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ ๒ เล่าว่า การเปิดชั้นเรียนช่วยให้เราได้กลับมามองจริงๆ ว่าเป้าหมายของครูคืออะไร เด็กมีความรู้อะไรอยู่ และ met before ของเขาคืออะไร  ครูจะตั้งคำถามอะไรที่จะช่วยให้เด็กอธิบายวิธีการคิดของตัวเองออกมาได้  เพื่อที่ครูจะได้รับรู้จริงๆ ว่าเขารู้อะไร

 

การเปิดชั้นเรียนทำให้ปัญหาอุปสรรคของเราที่เคยมีมาได้คลี่คลายไป  ทำให้ได้พบว่าต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องมีสติมากขึ้น ทำให้เราช้าลง และทำอะไรทีละอย่าง นุ่นได้พบว่าการที่เราต้องกำกับดูแลเด็ก ทำให้สุดท้ายเด็กกลับมากำกับเรา ทำให้เราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน

 

การได้ทบทวนทำให้เรามีความแม่นในคอนเซ็ปต์ และเมื่อพบกับสถานการณ์ในชั้นเรียนเราก็สามารถแก้ไขได้

 

นุ่นทำงานที่เพลินพัฒนามา ๔ ปี ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเท่ากับการได้มาทำ Open Class ๑ สัปดาห์ ที่ทำให้เราได้ยินเสียงของเด็กจริงๆ ว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้อย่างนี้  และเรายอมรับอย่างที่เขาเป็น เรารับรู้จริงๆ ว่าอะไรที่เขาไม่เข้าใจ

 

คุณครูนัท – นันทกานต์  อัศวตั้งตระกูลดี คุณครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๒ เล่าว่า การเปิดชั้นเรียนช่วยให้ได้เห็นวิธีกระตุ้นการเรียนรู้ และดึงความรู้ของเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด  ครูได้ความชัดเจนว่าแต่ละคาบเรียนจะเน้นอะไร ซึ่งตัวสถานการณ์เปิดต้องพาไปให้ถึง การเปิดชั้นเรียนเป็นช่วงของการเรียนรู้ที่ดีมากสำหรับตัวเอง

 

ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ทบทวนตัวเองเท่าไหร่ หลังจากที่เปิดชั้นเรียน และมีคนมาร่วมสะท้อนทำให้เราได้เห็นตัวเองว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราต้องการจะปรับจริงๆ  อย่างเช่นการพูดเสียงดังเคยคิดว่าดี  หรือจังหวะการสอนที่คุณครูปาดแนะว่าควรจะต้องมีเว้นวรรค

 

การเปิดชั้นเรียนครั้งนี้ทำให้ได้เข้าถึงประสบการณ์ในการการคิดเตรียมคำตอบให้มากกว่าที่คิดว่าเด็กจะตอบ  และได้เห็นว่าการสอนให้เด็กเข้าถึงความดีงามในภาษาและ วรรณคดี ต้องใช้ความรู้สึกมากกว่าการใช้ความคิด  ที่สำคัญคือเราได้รู้ว่าเราควรจะปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อจะได้เป็นครูที่ดีต่อไป

 

คุณครูโน้ต – สุมนา  แทนบุญช่วย  คุณครูหัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ จากฝ่ายวิชาการ เล่าว่า สองครั้งแรกที่เปิดชั้นเรียนยึดติดกับแผน รู้สึกเป็นทุกข์ มาครั้งที่สามที่เป็นครั้งสุดท้ายที่เพิ่งจบลงไป เมื่อเขียนแผนเสร็จแล้วเก็บแผนไว้ที่โต๊ะเลย  แต่กลับเป็นครั้งที่เรารู้สึกไม่คับแคบ และเป็นครั้งแรกที่เด็กหัวเราะกับเรื่องที่เราพูดได้  ครูปาดบอกตอนสะท้อนหลังสอนว่าครั้งนี้ทำตามแผนได้ละเอียดกว่า ๒ ครั้งที่ผ่านมา

 

เราได้นำเอาจุดที่เป็นปัญหามาปรับให้ดีขึ้นทุกครั้ง  มีบางครั้งที่โจทย์สถานการณ์เปิด ง่ายไปเด็กไม่ท้าทาย ทำเสร็จเร็วมาก  บางครั้งยากไปเด็กทำไม่ได้  ก็ลองปรับกันจนทำได้พอดี เมื่อทุกอย่างลงตัวก็เห็นว่าเด็กเรียนรู้ได้ตลอด  ทำให้เราได้ทุกนาทีที่มีความหมายกับเด็ก  เห็นว่าเขาอธิบายวิธีการคิดของเขาให้กับเพื่อนได้  และเพื่อนก็ได้เข้าใจวิธีคิดของเพื่อน  ได้ “อ่านเด็ก”แต่ละคนเหมือนอ่านหนังสือทีละหน้าอย่างที่คุณครูปาดแนะนำไว้

 

การเข้าชั้นเรียนครั้งนี้จึงมีความหมายทั้งกับตัวเราและตัวเด็ก คำว่า “เขาไม่ใช่เด็กของโน้ต” ที่เป็นคำที่เคยพูดในสองครั้งแรกที่ลงสอนห้องนี้ตอนช่วงสะท้อนหลังสอนหายไปแล้ว เพราะในการเปิดชั้นเรียนครั้งสุดท้ายนี้ที่ทำให้รู้สึกว่าเรากับเด็กไปด้วยกันได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 462739เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วเห็นภาพ เข้าใจ มีอารมณ์ร่วมกับการเรียนรู้ภายในของครูแต่ละคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท