แนวคิดพื้นฐานในการทำงานประเด็นเด็กไทยกับไอซีทีในยุค ศตวรรษที่ ๒๑ รู้เท่าทัน ใช้สร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาสังคม


เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารสื่อสารองค์ความรู้ : คิดใหม่ ทำใหม่ ใช้ออนไลน์สร้างสรรค์ เด็กไทยในศตวรรษที่ ๒๑ กับการใช้สื่อใหม่ ในการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

แนวคิดพื้นฐานกับมาตรการที่เกี่ยวข้องในระบบการทำงานเพื่อการจัดการปัญหาเด็กกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

๑     เพื่อทำให้เกิดการจัดทำมาตรการที่ครบถ้วนรอบด้านจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าถึงและใช้งานมีทั้งโอกาสของการใช้งาน และ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้ สามารถจำแนกได้เป็น๓ ประเด็นกล่าวคือ[1]

          (๑) เนื้อหาของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หากเด็กและเยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อการศึกษาและการเรียนรู้เชิงลบจากเนื้อหา เช่น สื่อลามกอนาจาร สื่อความรุนแรง เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากเด็ก และเยาวชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาสื่อที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ ทั้ง เรื่องการส่งเสริมระบบคิด ความรู้ทางวิชาการ ทักษะชีวิต ความหลากหลายในทางสังคม และ การส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ย่อมส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์

(๒) พฤติกรรมการใช้งาน พบว่า ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาจจะมีทั้งการใช้งานเพื่อสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้ใช้งานทั้งต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ กล่าวคือ การล่อลวง การหลอกลวง การหมิ่นประมาทบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การเจาะระบบ การปลอมแปลงข้อมูล และอาจจะส่งผลต่อการกักขังหน่วงเหนี่ยว การข่มขืนกระทำชำเรา การหลอกลวงให้ถ่ายภาพลามกอนาจาร เป็นต้น แต่หากมีการใช้งานเชิงสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์ ทั้งเรื่อง การติดต่อสื่อสาร เช่น การสนทนาออนไลน์ การประชุมออนไลน์ รวมทั้ง การได้แสดงตัวตนของตนเองผ่านระบบเครือข่าย

(๓) วัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หากมีการใช้งานไอซีทีอย่างไม่พอเหมาะอาจะส่งผลต่อภาวะการติดเกม การติดอินเทอร์เน็ต และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเรื่องของสุขภาพ การเรียน เวลาในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลต่อการเลียนแบบเชิงพฤติกรรมจากเนื้อหาในสื่อ แต่หากมีการใช้งานไอซีทีในลักษณะการใช้ประโยชน์จากไอซีที ที่เรียกว่า วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้ไอซีที เป็นการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และ สังคม ก็จะทำให้ผู้ใช้งานได้รับการพัฒนา

๒     ในการทำงานเพื่อจัดการปัญหาเกี่ยวกับเด็กในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถจำแนกระยะและมาตรการในการทำงานเพื่อจัดการปัญหาได้เป็น ๓ ระยะ กล่าวคือ (๑) ก่อนที่เด็ก เยาวชน จะเข้าถึงและใช้สื่อ (๒) ในขณะที่เด็ก เยาวชน เข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ (๓) ในขณะที่เด็ก เยาวชน เข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยในแต่ละระยะสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน

ระยะของการจัดการ

มาตรการในการทำงาน 

(๑)       ก่อนที่เด็ก เยาวชน จะเข้าถึงและใช้สื่อ

๑.๑ กติกาพื้นฐานในครอบครัว เพื่อสร้างกติการ่วมกันในครอบครัว ถึง เวลา ปริมาณ และ สถานที่ในการใช้งาน

๑.๒ การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาของเกมคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่เป็นเกมคอมพิวเตอร์ ต้องมีการจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเลือกรับสื่อให้กับเด็กในครอบครัว 

๑.๓ ในกรณีที่เป็นเว็บไซต์ หรือ เกมออนไลน์ในโปรแกรมของ flash ในระบบอินเทอร์เน็ต จำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งโปรแกรมการกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน (กรณีที่เป็นเด็ก) และ ในระดับภาพรวมต้องการปิดกั้นกลั่นกรองเนื้อหาในประเด็นวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ทั้งในเรื่องเพศ ยาเสพติด

(๒)      ในขณะที่เด็ก เยาวชน เข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

๒.๑ มาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่ผู้ให้บริการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในที่สาธารณะหรือผ่านสื่อสาธารณะ

๒.๒ การปรามปรามเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ทั้ง การละเมิดต่อประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ และ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

๒.๓ การส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ที่ประกอบด้วย ทักษะการเรียนรู้เท่าทันสื่อใหม่ (เท่าทันสารสนเทศ เท่าทันการสื่อสาร เท่าทันเทคโนโลยี) และ ทักษะการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม

๒.๔ การส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเนื้อหาออนไลน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เท่าเทียมในทุกล่วงวัยและคลอบคลุมทุกกลุ่มประชากร โดยเน้นให้เด็ก เยาวชน เป็นผู้พัฒนาผลงาน

(๓) หลังจากเด็กและเยาวชนเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

๓.๑ การแก้ไขปัญหาการติดเกมคอมพิวเตอร์

๓.๒ การแก้ไขปัญหาการติดอินเทอร์เน็ต

โดยการใช้แนวคิดใน ๒.๓ เข้ามาเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

 



[1] อิทธิพล ปรีติประสงค์ , รายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง  Girls in Cyberspace : Opportunities and Risks องค์การแพลนแห่งประเทศไทย ,๒๕๕๓ 

หมายเลขบันทึก: 462598เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2011 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท