ตัวแปร (Variable)


เมื่อเห็นรายชื่องานวิจัยเราน่าจะวิเคราะห์ตัวแปรจากชื่อรายงานวิจัยได้ว่างานวิจัยนั้นเกี่ยวข้องกับตัวแปรใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรตามควรจะกำหนดได้ทันที

ตัวแปร (Variable)

             ตัวแปร (Variable) หมายถึง คุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะของสิ่งใด ๆ ที่ผู้วิจัยกำลังศึกษา โดยคุณลักษณะดังกล่าว สามารถแปรค่าไปในด้านปริมาณ เช่น ความสูง อายุ น้ำหนัก ความเร็ว เป็นต้น หรืออาจเป็นไปทางด้านคุณภาพ เช่น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา เป็นต้น

 ประเภทของตัวแปร

                การแบ่งประเภทของตัวแปรขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่นำไปใช้พิจารณาคุณสมบัติของค่าตัวแปร การจัดประเภทของตัวแปร  ดังเช่น

                1. ใช้ระดับของการวัดเป็นเกณฑ์ในการแบ่งตัวแปร จะแบ่งตัวแปรได้ 4 ระดับ เช่น

                       1.1 ตัวแปรนามบัญญัติ (Nominal Variable) คือ ตัวแปรจัดประเภทหรือตัวแปรจัดกลุ่ม  เป็นตัวแปรที่แบ่งตามชื่อหรือกลุ่มหรือประเภทของสิ่งนั้น ๆ เช่น เพศ แปรเป็น ชายและหญิง  ศาสนา แปรเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม อื่น ๆ เป็นต้น

                        1.2 ตัวแปรอันดับ (Ordinal Variable) เป็นตัวแปรที่แบ่งตามระดับของตัวแปรที่สามารถจัดลำดับได้ หรือทราบได้ชัดเจนว่าอะไรมากกว่า หรืออะไรเกิดก่อน หรืออะไรดีกว่า เช่น ลำดับการเกิด ระดับของข้าราชการ ยศ ตำแหน่ง เป็นต้น

                        1.3 ตัวแปรอันตรภาค (Interval Variable) เป็นตัวแปรที่เกิดจากระดับการวัดแบบอันตรภาค คือการวัดที่เริ่มจากศูนย์สมมุติ  และช่วงระหว่าง 1 หน่วยการวัดมีค่าเท่ากันตลอด เช่น อุณหภูมิในระบบองศาเซลเซียส  คะแนนสอบ เป็นต้น

                        1.4 ตัวแปรอัตราส่วน (Ratio Variable) เป็นตัวแปรที่เกิดจากระดับการวัดที่มีศูนย์แท้ (Absolute Zero) และ 1 หน่วยใด ๆ มีค่าเท่ากันหมด เช่น ความสูง ความเร็วรถ เป็นต้น

                2. ใช้การทำหน้าที่ของตัวแปรเป็นเกณฑ์ จะแบ่งตัวแปรได้ 5 ประเภท ได้แก่

                        2.1 ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ (Independent Variable) คือตัวแปรที่ทำหน้าที่เป็นสาเหตุของความผันแปรในสิ่งที่สนใจศึกษาในเรื่องหนึ่ง  ๆ เช่น อาชีพ และระดับการศึกษาของผู้ปกครอง เป็นตัวแปรต้น ในงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียน”

                        2.2 ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือตัวแปรที่เป็นผลของตัวแปรต้นหรือคือตัวแปรที่ผู้วิจัยสนใจศึกษา เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นตัวแปรตามในงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อฐานะทางเศรษฐกิจของคนไทย”

                        2.3 ตัวแปรรอง (Moderator Variable) จัดเป็นตัวแปรต้นชนิดหนึ่ง แต่มีความสำคัญเป็นรองจากตัวแปรต้น บางทีอาจเรียกว่าตัวแปรกลาง เป็นตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตามด้วย เช่น การเปรียบเทียบผลการสอนภาษาญี่ปุ่นด้วยวิธีทีพีอาร์กับวิธีปกติ มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งถือเป็นกลุ่มทดลองได้รับการสอนด้วยวิธีทีพีอาร์ และนักเรียนอีกลุ่มหนึ่งได้รับการสอนด้วยวิธีปกติ ผลการเปรียบเทียบพบว่าผลสัมฤทธิ์นักเรียนทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงพบว่ามีความแตกต่างกัน หากนักวิจัยไม่สนใจตัวแปรรอง อาจทำให้สรุปผลวิจัยคลาดเคลื่อนได้ กรณีนี้

                                ตัวแปรต้น คือ วิธีสอน

                                ตัวแปรตาม คือ ผลสัมฤทธิ์ภาษาญี่ปุ่น

                                ตัวแปรรอง คือ เพศ

                    2.4 ตัวแปรแทรกซ้อน (Extraneous  Variable) คือตัวแปรที่นักวิจัยไม่ได้สนใจศึกษาแต่เป็นตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตาม เนื่องจากในปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตัวแปรทั้งหลายมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เป็นการยากที่จะศึกษาผลของตัวแปรตามกับตัวแปรต้นที่สนใจเท่านั้น เช่น ต้องการศึกษาว่าการออกำลังกายจะช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้มากน้อยเพียงใด ในเรื่องนี้ การออกกำลังกายเป็นตัวแปรต้น อาการภูมิแพ้เป็นตัวแปรตาม ตัวแปรแทรกซ้อนอาจมีได้มากมาย ได้แก่ ความสะอาดของที่พักอาศัย การแต่งกายให้ร่างกายอบอุ่น การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า เป็นต้น ตัวแปรแทรกซ้อนนั้นมีอยู่ในปรากฏการณ์ปกติ นักวิจัยต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบและวางแผนที่จำกำจัดหรือควบคุมให้ได้ เพื่อให้ผลการวิจัยมีความถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

                    2.5 ตัวแปรสอดแทรก (Intervening Variable) คือตัวแปรที่มีผลต่อตัวแปรตาม แต่นักวิจัยไม่ได้ตั้งในที่จะศึกษาอิทธิพลของตัวแปรนั้น ๆ ทำนองเดียวกับตัวแปรแทรกซ้อน  แต่ตัวแปรสอดแทรกเป็นตัวแปรที่นักวิจัยไม่สามารถควบคุมได้  ตัวแปรแทรกซ้อนเช่น ความร่วมมือของกลุ่มตัวอย่าง เป็นต้น

 การวิเคราะห์ตัวแปร             

                เมื่อเห็นรายชื่องานวิจัยเราน่าจะวิเคราะห์ตัวแปรจากชื่อรายงานวิจัยได้ว่างานวิจัยนั้นเกี่ยวข้องกับตัวแปรใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรตามควรจะกำหนดได้ทันที  นอกจากนี้เรายังสามารถคาดเดาตัวแปรได้จากส่วน   ต่าง ๆ ของงานวิจัยได้อีกหลายส่วน เช่น วัตถุประสงค์การวิจัย คำถามวิจัย และสมมุติฐานการวิจัย เป็นต้น

 การกำหนดตัวแปร

     การกำหนดตัวแปรตาม โดยทั่วไปเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจศึกษานั้นจะเป็นตัวแปรตาม เช่น

-   “การศึกษาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นป. 3” แสดงว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวแปรตาม

-   “ ผลของการออกกำลังกายที่มีต่อสมรรถภาพทางกายของเยาวชน” แสดงว่า สมมรรถนะทางกาย เป็นตัวแปรตาม

      การกำหนดตัวแปรต้น ผู้วิจัยต้องมีความรู้หรือศึกษาเรื่องที่สนใจจนรอบรู้ตัวแปรต่าง ๆ ในปรากฏการณ์ธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และผู้วิจัยกำหนดกรอบการวิจัยซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยสามารถระบุตัวแปรต้นและตัวแปรตามที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป

 เอกสารอ้างอิง

อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2551). ระเบียบวิธีวิจัย. พิษณุโลก : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

 

หมายเลขบันทึก: 462015เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท